แนะรัฐตั้งกองทุนออมวัยเกษียณ รองรับสังคมผู้สูงอายุ

ปี2014-04-11

นักวิชาการแนะรัฐบาลตั้งกองทุนออมเพื่อเกษียณรับมือสังคมสูงอายุ หนุนประชาชนออมเงินระยะยาวตลอดวัยทำงานไม่น้อยกว่า 30 ปี หลังผลศึกษาความเหลื่อมล้ำพบ 40% ของครอบครัวที่รายได้ต่ำที่สุด มีหัวหน้าครอบครัวเป็นคนชรา ที่ต้องเร่งแก้ไขเพราะจะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและภาระงบประมาณในระยะยาว

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล นักวิเคราะห์อาวุโส มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2567 และในปี 2573 ประชากรของประเทศไทยที่อยู่ในวัยผู้สูงอายุหรือมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นจาก 4 ล้านคนเศษในปัจจุบันเป็น 17.7 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีประชากรผู้สูงอายุสูงมากประเทศหนึ่งในเอเชีย

อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้สูงอายุไทยจำนวนมากยังไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องเงินออมสำหรับวัยเกษียณ โดยข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ระบุว่ามีคนไทยจำนวน 22.6% ที่ไม่มีเงินออมไว้ใช้ยามเกษียณ

จากการศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในสังคมไทย พบว่าในครอบครัวที่อยู่ในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำที่สุด ในประเทศไทยจำนวน 2 ล้านครัวเรือน พบว่ากว่า 40% ของครอบครัวกลุ่มนี้ มีคนชราเป็นหัวหน้าครอบครัว โดยเฉพาะคนชราในชนบท มีรายได้หลักในการดำรงชีวิตจากเงินที่ลูกหลานส่งมาให้ โดยแทบไม่มีรายได้จากแหล่งอื่น ส่วนรายได้จากสวัสดิการรัฐได้แก่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขณะนี้ไม่เพียงพอที่จะให้ผู้สูงอายุใช้ในการดำรงชีวิตได้ เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน

“การไม่มีเงินออมเพื่อใช้ในวัยเกษียณ ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศไทยไม่ดีนัก ขณะเดียวกันก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้ประชากรวัยแรงงาน มีภาระในการเลี้ยงดูประชากรในวัยพึ่งพิงมากขึ้น ตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องนี้หากไม่มีการวางแผนแก้ไขอย่างเร่งด่วนจะเป็นปัญหาของประเทศในระยะยาว”

แนวทางในการแก้ไขที่เหมาะสม คือ รัฐบาลจะต้องมีการวางแผนนโยบายการออมสำหรับประชาชนในระยะยาว โดยต้องมองไปในอนาคตว่าประชากรที่กำลังจะเกษียณอายุแต่ละคน มีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพคนละเท่าไหร่ เพื่อให้สามารถจัดระบบสวัสดิการในการจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญให้กับผู้สูงอายุได้ ในจำนวนเงินที่เพียงพอ และขยายระบบสวัสดิการในการจ่ายเงินบำเหน็จ บำนาญไปให้ครอบคลุมประชากรสูงอายุทุกกลุ่ม ไม่จำกัดเฉพาะข้าราชการวัยเกษียณเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่องบประมาณในระยะยาว รัฐบาลอาจจะใช้วิธีจัดตั้งกองทุนการออม เพื่อวัยเกษียณขึ้นมาและกำหนดระยะเวลา ในการออมเงินให้กับประชาชนตั้งแต่เริ่มวัยทำงาน หรือมีระยะเวลาในการออมเงินในระหว่างวัยทำงานไม่ต่ำกว่า 30 ปี และจะต้องมีมาตรการในการกระตุ้นและจูงใจให้การออมเงินของประชาชนเป็นไปอย่างสม่ำเสมอและมีความยืดหยุ่นโดยมีเป้าหมายให้ประชาชนมีเงินที่เพียงพอไว้ใช้ในวัยเกษียณ

“การออมเงินต้องดูภาพรวมตลอดช่วงชีวิตของแต่ละคนว่าในช่วงเวลาใดประชากรจะมีความจำเป็นในการใช้เงินจำนวนมาก เช่น ช่วงที่บุตรกำลังรับการศึกษา อาจจะลดเงินออมลงบ้าง ขณะที่ช่วงที่มีรายได้มากขึ้น ก็จะสามารถเพิ่มเงินในการใส่เข้ากองทุนได้ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องทำควบคู่ไปกับการให้ความรู้เรื่องการออมเงินและสร้างนิสัยการออมให้กับประชาชน”

ข้อเสนอดังกล่าวสอดคล้องกับงานวิจัยของ ผศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา, ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ จากสถาบันทีดีอาร์ไอ ที่ได้เสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนบำนาญแห่งชาติขึ้น เพื่อสร้างหลักประกันด้านรายได้ยามชราภาพเพื่อผู้สูงอายุให้ครอบคลุมอย่างถ้วนหน้า ยกเลิกระบบการสงเคราะห์เพื่อการยังชีพสำหรับผู้สูงอายุที่มีอยู่ โดยการโอนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ได้รับเงิน เบี้ยยังชีพและงบประมาณภายใต้ระบบนั้นมาอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของกองทุนบำนาญแห่งชาติ โดยที่จัดตั้งกองทุนบำนาญแห่งชาติขึ้นมาเพื่อประชาชนทุกคนที่ที่มิใช่ข้าราชการหรือข้าราชการบำนาญ

กองทุนบำนาญแห่งชาติที่ตั้งขึ้นใหม่นั้นมีลักษณะเป็นแบบประชาส่วนมีส่วนร่วมในการออมสำหรับผู้ที่มีอายุ 20-59 ปี และรัฐบาลมีบทบาทในการอุดหนุน ทางการเงินบางส่วนเท่านั้น ส่วนผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป (ผู้รับเบี้ยยังชีพในปัจจุบัน) รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบทางการเงินทั้งหมดเนื่องจากไม่สามารถออมเงินภายใต้ระบบใหม่ได้ทันโดยจ่ายให้ทุกคนยกเว้นข้าราชการคนละ 500 บาทต่อคนต่อเดือน

ทั้งนี้ โครงสร้างของหลักประกันด้านรายได้ยามชราภาพพื้นฐานเพื่อผู้สูงอายุของประเทศในภาพรวม ประกอบด้วย ระบบหลัก คือ ระบบบำนาญสำหรับข้าราชการและกองทุนบำนาญแห่งชาติ


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 11 เมษายน 2557