เด็กไทย…สอบตลอดชีวิต?

ปี2014-04-29

จากกรณีนิสิต นักศึกษา หลายสถาบันไม่เห็นด้วยกับการจัดทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา หรือ ยูเน็ต ในปีการศึกษา 2557

นายอนุไชย ทองไถ่ผา ผู้ดูแลเพจการต่อต้านการสอบยูเน็ต กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการสอบยูเน็ต เพราะไม่เชื่อว่าจะมีข้อสอบกลางที่เป็นมาตรฐาน อย่างเช่น การสอบภาษาไทย แน่นอนที่สุด ผู้ที่เรียนเอกวิชาภาษาไทย จะมีความรู้ลึกมากกว่าผู้ที่เรียนในสาขาอื่นๆ

อยากจะถาม สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ว่า สอบทำไม สอบเพื่ออะไร

นายทัดชมน์ กลิ่นชำนิ ประธานสภาผู้แทนนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กล่าวว่า เรื่องการสอบยูเน็ตมีข่าวมานานพอสมควร ซึ่งหลายคนต่างได้รับประสบการณ์กับการทดสอบของ สทศ.มาแล้ว ก่อนที่จะเข้ามาสู่รั้วมหาวิทยาลัย เมื่อประกาศออกมาอย่างนี้ ทำให้การคัดค้านลุกลามอย่างรวดเร็ว ถึงแม้จะให้เป็นความสมัครใจของสถาบันต่างๆ ก็ตาม

การจัดสอบยูเน็ต ถือเป็นการบ่อนทำลายความคิด วิจารณญาณของนิสิต นักศึกษาทั่วประเทศ เพราะเมื่อทุกคนเรียนจบแล้ว ต่างก็จะมีการต่อยอดความคิด ความรู้ พัฒนาทักษะต่างๆ ในการทำงานอยู่แล้ว

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค นักวิจัยด้านการศึกษา ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การสอบในลักษณะนี้ ในต่างประเทศก็มีทั้งในมหาวิทยาลัย และนอกมหาวิทยาลัย เพื่อดูมาตรฐานการศึกษาของประชากรในประเทศจริงๆ แล้ว ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างสอบก็ได้

สิ่งที่ สทศ. จะต้องตอบคำถามให้ได้คือ สอบแล้วมีผลอะไรบ้างต่อตัวนักศึกษา

และที่สำคัญการสอบยูเน็ต ไม่ควรจะเชื่อมโยงกับการไปสมัครงาน

ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร สทศ. กล่าวว่า การจัดสอบ เป็นการสมัครใจโดยสถาบัน เพราะเป็นการวัดมาตรฐานการศึกษา ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นมาก่อนหน้านี้หลายปีแล้ว

สำหรับการสอบในเรื่องของการคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา และมีวิจารณญาณ เรื่องนี้ก็ใช้มาแล้วในการสอบแกต-แพต

ส่วนคะแนนที่ได้จะมีผลต่อการสมัครงานหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับ บริษัท ห้างร้าน ว่า จะมีระบบการรับสมัครอย่างไร อย่างเช่น บริษัทแห่งหนึ่งต้องการผู้ที่มีทักษะความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ก็จะมีการสอบ แต่เมื่อเขารู้ว่า มีการสอบของ สทศ.แล้ว ก็ใช้คะแนนจากการสอบยูเน็ต ในการพิจารณารับบุคคลเข้าทำงานได้เลย ไม่ต้องมาจัดสอบอีก

ทั้งนี้ สทศ.จะจัดสอบให้เฉพาะคณะ/สาขาที่ไม่มีสภาวิชาชีพดูแลเท่านั้น ส่วนสาขาที่มีสภาวิชาชีพกำกับดูแล เช่น เภสัชกร แพทย์ พยาบาล ฯลฯ จะไม่จัดสอบเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 29 เมษายน 2557

ชมรายการ คมชัดลึก ตอน ‘เด็กไทย…สอบตลอดชีวิต?’ ได้ที่นี่