เร่งส่งออกข้าวทะลุ ‘9 ล้านตัน’ ผู้ส่งออกเสนอ คสช. ตั้ง ‘ไรซ์บอร์ด’ วางนโยบาย

ปี2014-06-06

“ทีดีอาร์ไอ” เสนอ เร่งเช็คสต็อกแยกข้าว เลิกระบบอุดหนุนราคา

“ผู้ส่งออกข้าว” เล็งเสนอ คสช. ตั้ง “ไรซ์ บอร์ด” หวังวางนโยบายข้าวระยะยาว ปลอดการเมือง ชี้ กขช. นักการเมืองแทรกตลาดข้าวพัง แนะวิธีดันราคาข้าวระยะสั้น ตรวจสต็อก หาตลาดขายข้าวล่วงหน้ามั่นใจราคาข้าวเปลือกฤดูกาลใหม่แตะตันละ 9,000 บาทได้ ประเมินปีนี้ส่งออกพุ่ง 9 ล้านตันจากเป้าหมายเดิม 7.5 ล้านตันเป็นอันดับ 2 รองจากอินเดีย

ภายหลังจากการควบคุมอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ปมประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ต้องเร่งแก้ไข คือ นโยบายจำนำข้าวในราคาสูงบิดเบือนกลไกตลาด ทำให้โครงสร้างตลาดข้าวไทยพังลง มีหลายภาคส่วนได้พยายามนำเสนอความเห็นไปยังคสช.เพื่อหาทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯเตรียมยื่นข้อเสนอ คสช. ในการบริหารจัดการข้าวไทย เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่เหมาะสมและอุตสาหกรรมข้าวไทยพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมาตรการระยะยาวเห็นว่า ควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการข้าวภาคเอกชน (Rice Board) ซึ่งประกอบด้วย เกษตรกร ผู้ประกอบการ โรงสีข้าว และผู้ส่งออก เพื่อให้ผู้มีส่วน ได้เสียในธุรกิจนี้ สามารถกำหนดนโยบายได้ ลดผลกระทบที่เกิดจากการใช้นโยบาย การเมือง มากำหนดทิศทางอุตสาหกรรมข้าวของไทย

ทั้งนี้ ในส่วนของคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.) ไม่น่าจะสามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้ เพราะมีแต่ภาครัฐเป็นกรรมการและสามารถควบคุมได้ด้วยภาคการเมือง

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดคณะกรรมการ จะต้องมาหารือถึงความเหมาะสม ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง แต่ให้เน้น หลักการคือความเสมอภาค ในการแสดงความเห็นการกำหนดทิศทางสินค้าข้าว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ถูกขับเคลื่อนอย่างไร้แผนที่เหมาะสม จนสร้างความเสียหายแก่ธุรกิจ ในทุกขั้นตอนทั้งต้นน้ำ คือ ชาวนา กลางน้ำ โรงสีและปลายน้ำคือผู้ส่งออก

นอกจากนี้ ควรสนับสนุนให้อุตสาหกรรมข้าวไทยกลับสู่กลไกตลาดอย่างสมบูรณ์ ปลอดอิทธิพลทางการเมือง และส่งเสริมให้ชาวนาสามารถเพิ่มรายได้ด้วยการลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตเพื่อให้สามารถแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)ได้

แนะเร่งตรวจสต็อกแยกข้าวโกดังรัฐ

นายเจริญ กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการระยะสั้น เพื่อดูแลราคาข้าวให้สูงขึ้นจากในปัจจุบันที่พบว่าตกต่ำลง โดยราคาข้าวเปลือกเจ้าเฉลี่ยตันละ 7,500 บาทเท่านั้น โดยรัฐบาลควรตรวจสต็อกข้าวทั่วประเทศ เพื่อแยกปริมาณ ชนิด คุณภาพ สำหรับใช้เป็นข้อมูลการวางแผนระบายต่อไป ซึ่งการระบายจากนี้ จะต้องให้เป็นไปอย่างโปร่งใสกำหนดราคาขายตามเกรดและชนิดของข้าวอย่างแท้จริง

แนะใช้ข้าวในตลาดส่งจีทูจีดันราคา

ส่วนการรองรับข้าวเปลือกฤดูกาลใหม่ที่กำลังจะออกสู่ตลาดในช่วง ต.ค.นี้ รัฐบาลควรเน้นการหาตลาดข้าวไว้ล่วงหน้า ทั้งรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และแบบอื่นๆ รวมถึงการนำจีทูจีกับจีนที่มีอยู่ 1 ล้านตัน ซึ่งการส่งมอบ ยังไม่มีความคืบหน้านั้น ให้ระงับการนำข้าวจากโกดังรัฐ เพื่อส่งมอบไว้ก่อน และให้นำข้าวในตลาดไปส่งมอบ เพื่อสร้างดีมานด์ ที่จะทำให้ราคาข้าวในตลาดเพิ่มขึ้น

เบื้องต้นพบว่า สัญญาจีทูจีดังกล่าวปริมาณรวม 1 ล้านตัน กำหนดส่งมอบล็อตแรก 1 แสนตัน สิ้นสุด เม.ย. ที่ผ่านมานั้น ยังไม่สามารถดำเนินการตามแผนได้ “มาตรการที่จะดูแลสินค้าข้าวทั้งระยะสั้นและระยะยาว สมาคมได้มีการหารือกันก่อนได้ข้อสรุปนี้และถ้ามีโอกาสจะนำเสนอให้ คสช.เพื่อนำไปพิจารณา ซึ่งเชื่อว่าจะมีการนำแนวจากส่วนอื่นๆ มาร่วมพิจารณาด้วย เพื่อให้ทิศทางสินค้าข้าวจากนี้ไม่ สะเปะสะปะเหมือนที่ผ่านมา หากผู้มี อำนาจเห็นด้วย เชื่อว่าจะทำให้ราคา ข้าวเปลือกในตลาดปรับขึ้นได้ถึงตันละ 8,000-9,000 บาทอย่างที่ชาวนาต้องการ’นายเจริญ กล่าว ขณะที่ข้อเสนอของกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการให้คสช.ใช้มาตรการแทรกแซง ตลาดข้าว มองว่าหากมีความจำเป็นก็ทำได้ แต่ควรเป็นครั้งคราว ไม่ควรดำเนินการในระยะยาว เพราะข้าวที่แทรกแซง ต้องแบก ภาระขาดทุน ต้องหาวิธีการให้เกิดการขาดทุนน้อยที่สุด

นายมานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า สมาคมโรงสีเสนอให้ผู้มีอำนาจรัฐปลดล็อกข้อห้ามโรงสีซื้อข้าวข้ามเขต หลังไม่มีโครงการรับจำนำ เพื่อจะให้โรงสีสามารถเข้าไปแข่งขันซื้อข้าวในตลาดได้มากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการยกระดับราคาได้

ชี้ข้าวไทยแข่งอินเดีย-เวียดนามได้

ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกข้าวในช่วงครึ่งปีหลัง เชื่อว่าไทยอาจจะแซงอินเดียได้ เนื่องจากราคาข้าวไทยยังต่ำกว่าคู่แข่ง โดยราคาข้าวอินเดีย อยู่ที่ตันละ 420-430 ดอลลาร์ ส่วนราคาข้าวเวียดนามอยู่ที่ประมาณ ตันละ 400 ดอลลาร์ ประกอบกับจีนมีความต้องการนำเข้าข้าวมากขึ้น อินเดียอาจทบทวนนโยบายส่งออกข้าว และสภาพอากาศของโลก ยังมีโอกาสเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทำให้ข้าวไทยมีแนวโน้มส่งออกได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การที่ไทยยังมีสต็อกมากถึงเกือบ 10 ล้านตัน ทำให้ราคาข้าวไทยอาจจะปรับขึ้นได้เพียง ตันละ 10-20 ดอลลาร์เท่านั้น

ส่งออกปีนี้ 9 ล้านตันรั้งที่ 2

ขณะที่กระทรวงเกษตรของสหรัฐ คาดการณ์ภาวะการค้าข้าวของโลกในปีนี้ จะมีปริมาณรวม 40.79 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 4.64 %เมื่อเทียบกับปีก่อน และคาดว่าไทยจะส่งออกเป็นอันดับที่สอง ที่ปริมาณ 9 ล้านตัน

ส่วนแชมป์ส่งออกข้าวอันดับ 1 คาดว่าจะเป็นอินเดีย ส่งออกได้ที่ปริมาณ 10 ล้านตัน ตามด้วยเวียดนาม 6.5 ล้านตัน สอดคล้องกับการคาดการณ์ของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ที่คาดว่าปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้ 9 ล้านตัน มูลค่า 4,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 150,000 ล้านบาท ซึ่งจีนยังนำเข้าข้าวมากที่สุด ในโลกที่ปริมาณ 3.2 ล้านตัน หรือ อาจจะ มากถึง 5 ล้านตัน เพราะยังมีข้าวผ่านแดนหลายล้านตันที่ไม่ได้ถูกบันทึกในรายการนำเข้าของจีน

สำหรับการส่งออกข้าวไทยช่วง 5 เดือนแรก ตั้งแต่ 1 ม.ค.-20 พ.ค. 2557 ไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับ1 ของโลก ปริมาณ 3.93 ล้านตัน ตามด้วยอินเดีย 3.74 ล้านตัน และเวียดนาม 2.4 ล้านตัน ซึ่งการพยากรณ์ของสหรัฐสอดคล้องสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยที่ปรับคาดการณ์การส่งออกปีนี้ใหม่เป็น 9 ล้านตันจากเดิม 7.5 ล้านตัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากค่าเงินที่อ่อนค่าลงอยู่ที่ 32.80 บาทต่อดอลลาร์ การที่อิรักยกเลิกห้ามนำเข้าข้าวจากไทย การไม่มีระบบการแทรกแซง ทำให้กลไกตลาดทำงานเต็มที่

คาดปีหน้าไทยทวงแชมป์ส่งออกคืน

ส่วนการส่งออกในปี 2558 นั้นคาดว่าไทยจะส่งออกข้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 อีกครั้งที่ปริมาณ 10 ล้านตัน อินเดีย 9 ล้านตัน และเวียดนาม 6.70 ล้านตัน โดยมีผู้นำเข้ารายใหญ่ คือจีน ไนจีเรียและฟิลิปปินส์ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายการบริหารข้าวของภาครัฐด้วย ประกอบกับปัจจัยตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะนโยบายของอินเดียที่เป็นคู่แข่งสำคัญ ก่อนหน้านี้การส่งออกข้าวไทยหลังนโยบายรับจำนำของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2555 ไทยส่งออก 6.95 ล้านตันไปอยู่อันดับ 3 ก่อนมาส่งออก 6.72 ล้านตันในปี 2556 ตามหลังอินเดียและเวียดนามที่รั้งอันดับ 1และ 2 ตามลำดับ

ทีดีอาร์ไอแนะเร่งตรวจสต็อก

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยที่ไม่ต้องใช้เงินจำนวนมากในการอุดหนุนเกษตรกรหรือชาวนาขณะนี้ คือการเร่งทำบัญชีโครงการรับจำนำข้าว เพื่อตรวจสอบสต็อกเข้าที่ชัดเจนว่าขณะนี้มีจำนวนเท่าไร โดยเฉพาะการทำบัญชีระบายข้าวทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นแบบรัฐต่อรัฐ หรือรัฐกับเอกชน

“ต้องทำบัญชีในแต่ละโกดังเลยว่า เข้ามาเท่าไร ออกไปเท่าไร และเหลือเท่าไร ในจำนวนนี้เป็นข้าวเก่าเท่าไร ข้าวใหม่เท่าไร หลังจากนั้นก็ทำบัญชีตรวจสอบ โดยใช้มืออาชีพในการเข้าตรวจสอบ ซึ่งคนตรวจสอบต้องเป็นหน่วยงานอิสระ” นายนิพนธ์กล่าวและว่า หากสต็อกน้อยกว่าตลาดคาดหวัง เช่นสมมติว่าตลาดคาดว่าจะมีสต็อก 16-17 ล้านตัน แต่พอตรวจนับจริงอาจมีสูญหายหรือเสียหายทำให้เหลือแค่ 10 ล้านตัน ถ้าตลาดรับรู้ ราคาข้าวในตลาดโลกปรับขึ้นแน่นอน

ส่วนการอุดหนุนด้านราคาไม่ว่าจะด้วยวิธีไหน ถือเป็นเรื่องอันตราย แม้จะใช้วิธีประกันรายได้ขั้นต่ำ เพราะจูงใจให้ผลิตเพิ่มขึ้น กลายเป็นปัญหาทางการเมืองได้

หนุนจัดระบบสวัสดิการพื้นฐาน

นายนิพนธ์ กล่าวว่า แนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรที่ดี โดยไม่เป็นการสร้างภาระทางการคลังที่มากเกินไป คือ การจัดระบบสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ซึ่งระบบนี้นอกจากจะช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว ยังช่วยเหลือประชาชนคนจนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นเกษตรกรด้วย

“เวลานี้เราต้องตั้งกองทุนน้ำมัน เพื่อพยุงราคาน้ำมัน เก็บภาษีคนใช้น้ำมันเบนซิน มาอุดหนุน คนใช้ดีเซล หรือแก๊ส ซึ่งมันบิดเบือนไปหมด ทำไมเราไม่หันมาใช้ระบบอุดหนุนง่ายๆ อย่างระบบสวัสดิการ โดยอุดหนุนทุกคนที่เป็นคนจน ซึ่งทำได้โดยการจดทะเบียนคนจน” นายนิพนธ์กล่าว

นอกจากนี้ยังมีระบบสวัสดิการอีกประเภท คือ การจัดตั้งกองทุนการออม เพราะในเวลานี้ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรืออย่างเกษตรกรเอง อายุเฉลี่ยก็สูงกว่า 50-55 ปี ดังนั้นจึงควรมีกองทุนประเภทชราภาพเพื่อเลี้ยงดูคนเหล่านี้ “เรามีกฎเกณฑ์ของกองทุนเหล่านี้แล้ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบสวัสดิการขั้นพื้นฐาน แต่ต้องไม่ใช่การให้อะไรที่มากมายเกินไป” นายนิพนธ์กล่าว

เขากล่าวด้วยว่า เรื่องนี้ทางทีดีอาร์ไอเคยจัดทำเสวนาในต่างจังหวัด และก็ได้สอบถามคนในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับระบบดังกล่าว โดยคนส่วนใหญ่บอกว่าแม้รัฐบาลจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) เพิ่มขึ้นแต่ถ้าเก็บแล้วไม่รั่วไหล นำไปใช้ในระบบสวัสดิการเหล่านี้ พวกเขาก็ยอมรับได้


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 5 มิถุนายน 2557