ผ่าระบบประกันสุขภาพ ไม่ควรร่วมจ่าย(จริงหรือ)?

ปี2014-07-23

พวงชมพู ประเสริฐ

สร้างความกังวลให้คนไทยกว่า 48 ล้านคนที่ใช้สิทธิรักษาพยาบาลในกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ “บัตรทอง” หรือ เดิมเรียกว่า “30 บาท” เป็นอย่างมาก เมื่อมีข่าวว่าผู้ใช้บริการต้อง “ร่วมจ่าย” ค่ารักษาพยาบาล จากที่เดิม “รักษาฟรี” ประเด็นนี้สืบเนื่องจากข่าวที่แพร่กัน ในโซเชียลมีเดียก่อนว่า นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอให้ประชาชนร่วมจ่ายการรักษาพยาบาล 30-50% โดยชงเรื่องให้ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย หัวหน้า ฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่เดินทางไปตรวจเยี่ยม สธ.ครั้งแรกเมื่อ 31 พ.ค.2557

อย่างไรก็ดี เมื่อประเด็นนี้กลายเป็นข่าวครึกโครมทางสื่อกระแสหลัก นพ.ณรงค์ ได้ออกมาชี้แจงว่า สธ.ไม่เคยมีแนวคิดในเรื่องให้ประชาชน “ร่วมจ่าย” ต่อมาปรากฏภายหลังว่าผู้ที่พูดเรื่องนี้ภายหลังการประชุมระดมความคิดเห็นเรื่องหลักประกันสุขภาพ คือ นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

แท้จริงแล้วเรื่อง “การร่วมจ่าย” ไม่ได้เพิ่งถูกพูดถึงเป็นครั้งแรก เพราะ ในยุคเริ่มของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ก็ให้ประชาชน “ร่วมจ่าย” จากการเก็บ ค่าบริการ 30 บาท

ต่อมาในยุครัฐบาลขิงแก่ที่มี นพ.มงคล ณ สงขลา เป็น รมว.สธ.เคย พูดถึงเรื่องนี้ และล่าสุดเมื่อปี 2556 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะฝ่ายเลขาฯ ของคณะกรรมการบริหารหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ก็เคยเสนอวาระเข้าสู่การพิจารณา แต่ต้องถอน เพราะภาคประชาสังคมคัดค้าน จนถึงตอนนี้จึงยังไม่มีใครกล้า

ที่สำคัญ มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 กำหนดไว้ว่า ให้บุคคลที่เข้ารับการบริการสาธารณสุขต้องร่วมจ่ายค่าบริการในอัตราที่กำหนดให้แก่หน่วยงานในแต่ละครั้งที่เข้ารับบริการ เว้นแต่ผู้ยากไร้หรือบุคคลที่กำหนดให้ไม่ต้องจ่าย แม้คณะกรรมการกฤษฎีกาจะเคยตีความว่า “ทำไม่ได้” แต่นั่นอาจหมายถึงเฉพาะเรื่องสิทธิประโยชน์พื้นฐานที่ประชาชนต้องได้รับ หากเป็นสิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นก็น่าจะทำได้

ความจริงขณะนี้คนไทยก็ “ร่วมจ่าย” การรักษาพยาบาลอยู่แล้วในทุกสิทธิรักษาพยาบาล โดย “ประกันสังคม” ผู้ประกันตนจะต้องถูกหักเงินเป็นประจำทุกเดือน คล้ายการจ่ายเบี้ยประกันล่วงหน้า ขณะที่ “สิทธิสวัสดิการข้าราชการ” ก็ต้องร่วมจ่ายบางอย่างที่นอกเหนือสิทธิ เช่น ค่าเซ็ต น้ำเกลือ หรือส่วนเพิ่มของค่าห้องพิเศษ เป็นต้น

แม้แต่บัตรทองก็มีส่วน “ร่วมจ่าย”เช่นกัน อาทิ จ่าย 500 บาทสำหรับการฟอกไต และการจ่าย 30 บาทต่อการเข้ารับบริการแต่ละครั้ง ซึ่งกลับมาเรียกเก็บตามความสมัครใจในปี 2555 ช่วงที่ นายวิทยา บุรณศิริ เป็น รมว.สธ. และประกาศยกเว้นผู้ที่ไม่ต้องจ่ายไว้ทั้งสิ้น 21 กลุ่ม หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการยกเลิกการเก็บ 30 บาทไปแล้วเมื่อปี 2549 สมัยที่ นพ.มงคล เป็น รมว.สธ. เพราะเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์ที่จะเก็บและไม่ต้องการให้เป็นเครื่องมือหาเสียงของพรรคการเมือง

การที่คนไทยตกใจกับเรื่องการ “ร่วมจ่าย” อาจเป็นเพราะติดอยู่กับคำว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” หรือ “รักษาฟรี” ที่พรรคการเมืองนำมาใช้หาเสียง จนหลงลืมสภาวะความเป็นจริง!

ทว่า ด้วยระบบสาธารณสุขของไทยในปัจจุบันที่ประชาชนใช้บริการรักษาพยาบาล 4-5 ครั้งต่อคนต่อปี จากเดิม 1-2 ครั้งต่อคนต่อปี ทำให้มีค่าใช้จ่ายของระบบประกันสุขภาพพุ่งสูงขึ้น โดยสิทธิบัตรทอง เพิ่มขึ้นจาก 54,429 ล้านบาทในปี 2549 เป็น 101,057.97 ล้านบาทในปี 2554 สิทธิสวัสดิการข้าราชการปี 2549 จำนวน 37,005.45 ล้านบาท เพิ่มเป็น 61,844.27 ล้านบาทในปี 2554

นอกจากนั้น หลายโรงพยาบาลยังประสบภาวะวิกฤติเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน และอนาคตประเทศไทยต้องเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ ค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มมากขึ้น อาจมีความจำเป็น ที่จะต้องให้คนวัยหนุ่มสาวหรือผู้ที่มีศักยภาพต้อง “ร่วมจ่าย” เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบ เหมือนที่หลายประเทศดำเนิน อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นต้น เพียงแต่การจะให้คนไทย “ร่วมจ่าย” ต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์ ที่เหมาะสม ทั้งรูปแบบการร่วมจ่าย บุคคลที่ต้องร่วมจ่าย และไม่ต้องร่วมจ่าย อาทิ ผู้ที่มีรายได้ระดับไหนควรจะต้องร่วมจ่าย หรือผู้ที่ป่วยเป็นโรคจากพฤติกรรมตนเอง เช่น จากการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ควรร่วมจ่าย ทั้งนี้ ต้องไม่ละทิ้งวัตถุประสงค์เดิมของกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพ และไม่ล้มละลายจากการรักษาพยาบาล

นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การร่วมจ่ายก็เพื่อให้ประชาชนหันมาดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น ประชาชนควรมีส่วนร่วมในการรับ ผิดชอบสุขภาพ ซึ่งการเสนอก็เพื่อแก้ ปัญหาโดยรวมของประเทศ จะอ้างว่า เมื่อร่วมจ่ายแล้วประชาชนจะล้มละลายก็ไม่จริง เพราะรัฐไม่ปล่อยให้เกิดเหตุเช่นนั้นแน่นอน และการร่วมจ่ายก็เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ

อย่างไรก็ดี ดร.อัมมาร สยามวาลานักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองต่างมุมว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะให้คนไทยร่วมจ่ายเมื่อป่วยแล้ว แม้จะเป็นในอัตรา 1-2% ก็ไม่ควร เป็นเรื่องที่สุดซอย การ “ร่วมจ่าย” ต้องเป็นไปเพื่อปรับพฤติกรรมของผู้ป่วย ไม่ใช่เพราะเงินไม่พอเหมือนที่ผู้ให้บริการพยายามผลักดัน ทั้งนี้ รูปแบบการร่วมจ่ายที่ดีที่สุด คือรูปแบบของประกันสังคมที่ให้จ่ายล่วงหน้าเป็นรายเดือนตอนที่ยังไม่ป่วย ไม่เกี่ยวกับสุขภาพหรืออายุ และหากปรับให้มีการเสียตามรายได้ด้วยก็จะดีมากขึ้น

“การจะให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองมาร่วมจ่ายในรูปแบบรายเดือนเหมือนกับประกันสังคม ถ้าทำได้ก็ดี แต่ทำยาก เพราะการเก็บเงินทำได้ลำบาก ไม่มีนายจ้างหักเงินเดือนส่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทุกเดือนเหมือนสิทธิประกันสังคม ดังนั้นในเมื่อรัฐใช้เงินจากภาษีที่ทุกคนจ่าย รัฐก็ต้องทำหน้าที่ในการรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล รัฐสัญญาอะไรไว้ก็ต้องทำตามนั้น” ดร.อัมมาร กล่าว

วันนี้อาจยังไม่ใช่ช่วงเวลาสุกงอมที่จะต้องดำเนินการเรื่องร่วมจ่าย แต่การจะให้มีการร่วมจ่ายหรือไม่ รูปแบบใด เมื่อไร และใครต้องจ่ายบ้าง เป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายต้องพิจารณา แต่เหนือสิ่งอื่นใด…ใครล่ะจะกล้าหักด้ามพร้าด้วยเข่า!

21 กลุ่มบุคคลได้สิทธิบัตรทองไม่ต้องร่วมจ่าย 30 บาทในปัจจุบัน

1.ผู้มีรายได้น้อย

2.ผู้นำชุมชน ได้แก่ กำนัน สารวัตรกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และบุคคลในครอบครัว

3.อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานครและบุคคลในครอบครัว

4.ผู้ที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีบริบูรณ์

5.เด็กอายุไม่เกิน 12 ปีบริบูรณ์

6.คนพิการ

7.พระภิกษุ สามเณร แม่ชี นักบวช นักพรต และผู้นำศาสนาอิสลามและครอบครัว

8.ทหารผ่านศึก

9.นักเรียนไม่เกินชั้นมัธยมศึกษา ตอนต้น

10.นักเรียนทหารและทหารเกณฑ์

11.ผู้ได้รับพระราชทานเหรียญงาน พระราชสงครามในทวีปยุโรปและบุคคลในครอบครัว

12.อาสาสมัครมาลาเรียและบุคคลในครอบครัว

13.ช่างสุขภัณฑ์หมู่บ้านและบุคคลในครอบครัว

14.ผู้บริหารโรงเรียน และครูในโรงเรียนเอกชนที่สอนศาสนาอิสลามควบคู่กับสามัญและวิชาชีพและบุคคลในครอบครัว ในเขต จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ระนอง กระบี่ พังงา และภูเก็ต

15.ผู้ได้รับพระราชทานเหรียญราชการชายแดน

16.ผู้ได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน

17.สมาชิกผู้บริจาคโลหิตของสภากาชาดไทย

18.หมอ อาสาหมู่บ้านตามโครงการกระทรวงกลาโหม

19.อาสาสมัครคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม

20.อาสาสมัครทหารพรานสังกัดกองทัพบก และ

21.บุคคล ที่แสดงความประสงค์ไม่จ่าย

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 23 กรกฎาคม 2557