กรุงเทพธุรกิจรายงาน: ‘ทีดีอาร์ไอ’ ชี้ยอดทุจริตแสนล้าน ขาดทุนจำนำข้าว 6.6 แสนล้าน

ปี2014-11-10

“ทีดีอาร์ไอ” เปิดผลศึกษา ระบุจำนำข้าวรั่วไหลจากการทุจริต 1.09 แสนล้านบาท ประเมินมูลค่าข้าวในสต็อกทำรัฐขาดทุนแล้ว 6. 6 แสนล้านบาท ชี้ใช้ระยะเวลาระบาย 10 ปียอดขาดทุนสะสม 9.6 แสนล้านบาท แนะรัฐเฉือนสต็อก 50% บริจาค WFP ด้านผู้ส่งออกวอนงดนโยบายแทรกแซงราคาทำตลาดป่วน แนะให้เงินชาวนาเพิ่มรายได้ “อัมมาร” ลั่นห้ามแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรส่งออก ชี้เป็นการทำลายขีดแข่งขัน ขณะที่ ธ.ก.ส.ปัดทั้งจำนำ-ประกันรายได้ รับไม่ไว้ใจ นักการเมืองเสี่ยงหนี้สาธารณะพุ่ง

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยในการสัมมนา “สู่แนวคิดใหม่ของนโยบายอุดหนุนภาคการเกษตร…บทเรียนจากนโยบายจำนำข้าว” ว่า มูลค่ารวมของการทุจริตในการระบายข้าวรวม 0.93-1.09 แสนล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าทุจริตจากการขายข้าวราคาถูก 75,148.63 ล้านบาท การทุจริตแบบจำลอง 93,911.30 ล้านบาทจากพฤติกรรม การขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ 7.8 ล้านตัน เลือกขายข้าวให้พ่อค้าพรรคพวก ข้าวถุงขององค์การคลังสินค้า (อคส.) 2.4 ล้านตัน ทุจริตทำให้ข้าวหาย 34,430 ล้านบาท จากพฤติกรรม กรณีไม่คืนข้าว 1.2 แสนตัน กรณีหาข้าวคุณภาพต่ำมาคืน 5.9 ล้านตัน

หลักฐานเชื่อมโยงการทุจริต มีทั้งการส่งออกข้าวนึ่งจำนวน 4.76 ล้านตัน ในช่วง ต.ค. 2554 – เม.ย. 2557 ทั้งที่โครงการจำนำไม่มีการทำข้าวนึ่ง ส่วนกรณีที่ข้าวขาดหายไป 2.9 ล้านตัน สันนิษฐานว่า เอามาจากรอบ 4 มาแทน เพราะอคส.หยุดรายงานสต็อกข้าวสาร การตรวจของคสช.พบข้าวหายเพียง 1.2 แสนตัน หลังจากมีข่าวข้าวหายไปเมื่อ 12 เดือนก่อนหน้า การตรวจสต็อกพบมีข้าวเพียง 14% ที่ได้มาตรฐานซึ่งมาจากการนำข้าวเก่า ข้าวจากต่างประเทศมาส่งมอบ รวมถึงปัญหาการเก็บรักษาไม่ได้มาตรฐาน

ชี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ปิดข้อมูลสต็อกข้าว

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่เปิดเผยผลตรวจข้าวในโกดัง การอนุมัติขายข้าวเก่า 2 ล้านตันอย่างลับๆ การที่กระทรวงพาณิชย์ อนุญาตให้นำข้าวเข้ามาจากเพื่อนบ้านทุกเดือน กระทรวงพาณิชย์ขยายเวลาส่งมอบข้าวเข้าโกดังการปกปิดข้อมูลการส่งออกของบริษัทพรรคพวกโดยขอโอนคืนการออกใบอนุญาตส่งออก จากสภาหอการค้าไปอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์

“ความเสียหายของโครงการรับจำนำเกิดจากความล้มเหลว ทั้งด้านตัวนโยบาย หรือความบกพร่องในการดำเนินงาน และยังมีความเสียหายที่ไม่สามารถวัดได้ ทั้งการทุจริตตั้งแต่จดทะเบียนถึงกลางน้ำ การทำลายชื่อเสียงข้าวไทยในตลาดส่งออก การใช้ระบบค้าขายแบบพรรคพวก การเร่งปลูกข้าวคุณภาพต่ำซึ่งทั้งหมดมาจากการใช้นโยบายหาเสียงโดยไม่รับผิดชอบไม่คำนึงถึงภาระงบประมาณและภาระการขาดทุนที่เป็นภาระด้านหนี้สาธารณะ” นายนิพนธ์ กล่าว

รัฐขาดทุนจำนำแล้ว 6.6 แสนล้าน

ทั้งนี้จากการประเมินมูลค่าข้าวในสต็อกรัฐบาล ณ เม.ย.2557 รัฐบาลขาดทุนแล้ว5.4 แสนล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 7.5 แสนล้านบาท ถ้าขายข้าวหมดภายใน 10 ปี ถ้าคำนวณปัญหาข้าวในสต็อก 85%ที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน (ต.ค. 2557) มูลค่าการขาดทุนจะเพิ่มเป็น 6.6 แสนล้านบาท และถ้าภายใน 10 ปียังขายข้าวไม่ได้จะทำให้มูลค่าขาดทุนเพิ่มเป็น 9.6 แสนล้านบาท

นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวกลับมาอีก ควรจัดทำบัญชีรวมโครงการประชานิยมทุกโครงการเมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐบาลและรัฐสภารับทราบค่าใช้จ่ายทั้งหมด รายรับ ผลกำไรขาดทุนตลอดจนความสำเร็จของโครงการ การเปิดเผยข้อมูลโครงการประชานิยมโดยการแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เพิ่มมาตรการที่กำหนดให้รัฐบาลต้องเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ที่เกิดจากการดำเนินนโยบายประชานิยม การจำกัดบทบาทรัฐในการแทรกแซงตลาด รัฐต้องตราพ.ร.บ.จำกัดขอบเขตการแทรกแซงตลาดและการประกอบธุรกิจที่แข่งกับเอกชนเพื่อมิให้นโยบายของรัฐบาลทำลายการแข่งขันในตลาด

แนะบริจาคข้าวให้โครงการอาหารโลก

การจัดทำรายงานอิสระเรื่องผลกระทบและบทเรียนจากโครงการรับจำนำข้าวเพื่อนำเสนอต้นทุนการศึกษา ภาวะขาดทุน ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ประชาชนรับรู้การแปลงภาระขาดทุนให้เป็นหนี้การคลัง หลังจากการตรวจสต็อกและจัดทำบัญชีรวมเสร็จสิ้น รัฐบาลควรทำการออกพันธบัตรเพื่อหาเงินชำระหนี้ และจัดทำแผนการชำระทั้งต้นและดอกเบี้ย รวมทั้งกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ และจัดทำแผนการชำระทั้งต้นและดอกเบี้ย รวมทั้งกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ให้ชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน กำหนดแนวทางการระบายข้าวในสต็อก เช่น ขจัดข้าวเสื่อมสภาพ บริจาคข้าวให้โครงการอาหารโลก (WFP) สัดส่วน 30-50% เพื่อลดสต็อกข้าวไม่ให้เป็นภาระ

“ส่วนข้อเสนอต่อคสช. คือ ควรเริ่มจัดวางระเบียบใหม่ว่าด้วยการแทรกแซงที่โปร่งใส กำหนดให้หน่วยงานรัฐจัดทำบัญชีรวมโครงการเสนอ คสช.และสนช.ทุกไตรมาส จัดตั้งคณะกรรมการอิสระสอบสวนปัญหาข้าวเพื่อหาผู้ทำผิด” นายนิพนธ์ กล่าว

ผู้ส่งออกวอนเลิกแทรกแซงตลาด

นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงกลไกตลาดเพื่อดันราคาให้สูงขึ้น เพราะการที่ราคาข้าวสูงมากไปจะทำให้ตลาดไม่ตอบรับ ดูได้จากราคาจำนำที่ตันละ 15,000 บาท เทียบเป็นราคาส่งออกที่ ตันละ 800 ดอลลาร์ แต่ราคาขายได้จริงจะเฉลี่ยเพียงตันละ 600 ดอลลาร์เท่านั้น แต่ด้านปริมาณตลาดส่วนใหญ่หันไปซื้อข้าวจากคู่แข่งแทน ทำให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในที่สุด

อย่างไรก็ตามการปล่อยให้ราคาข้าวต่ำเกินไปจะไม่จูงใจให้ชาวนาปลูกข้าว ดังนั้นรัฐต้องหาความสมดุล โดยอยากเสนอการจ่ายเงินให้ชาวนาเพื่อให้มีรายได้สูงขึ้นตามสมควรโดยตรงแทนที่การเข้าไปแทรกแซงราคาตลาด

ธกส. ปัดทั้งจำนำ-ประกันรายได้

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ไม่อยากให้มีทั้งโครงการรับจำนำข้าว หรือโครงการประกันรายได้ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเสี่ยงต่อการสร้างภาระหนี้สาธารณะ เพราะต้องยอมรับว่านักการเมืองอาจใช้วิธีเพิ่มมูลค่ารับซื้อข้าวหรือรายได้ให้ชาวนาเพื่อผลทางการเมือง ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้ศึกษาจากการลงพื้นที่แล้วพบว่า ระบบสหกรณ์จะช่วยให้ชาวนาสามารถเข้าถึงการผลิตที่มีประสิทธิภาพต้นทุนต่ำและการเข้าถึงตลาดได้ผ่านระบบสหกรณ์

โรงสีเจ๊ง ไม่กระทบ ธ.ก.ส.

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหาของเกษตรชาวนา รัฐบาลควรปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด ไม่ควรเข้าไปแทรกแซง ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำนำข้าว หรือประกันราคา ต่างก็ส่งผลเสีย โดยเฉพาะกำหนดนโยบายโดยนักการเมือง

สำหรับข้อสังเกตของทีดีอาร์ไอ ที่มองว่าในอนาคตโรงสีข้าว อาจจะต้องปิดกิจการ เพราะมีโรงสีข้าวเกิดขึ้นใหม่จำนวนมากในช่วงที่มีโครงการรับจำนำข้าวนั้น

ปัจจุบันมีโรงสีข้าวทั้งรายเล็กรายใหญ่หลายหมื่นราย แต่เฉพาะที่เกิดขึ้นใหม่มีประมาณ 3-4 พันแห่ง กำลังการผลิตรวมกันกว่า 100 ล้านตัน ขณะที่กำลังการผลิตข้าวทั่วประเทศอยู่เพียง 35-36 ล้านตัน จึงมีโอกาสที่โรงสีเหล่านี้จะอยู่ไม่ได้

นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ไม่ต้องการเห็นการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรทุกชนิดที่ต้องมีการส่งออกเพราะจะเป็นการทำลายขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในเวทีโลก และไม่เห็นด้วยที่จะมีระบบการรับจำนำสินค้าที่เน่าง่ายมาเก็บไว้เพื่อรอวันเน่าเสีย ไม่ว่าจะเป็นหอมแดง ข้าวโพดและข้าวสาร

ขอติดปีก “ป.ป.ช. เตือนไม่ฟัง” ฟันทันที

นายเมธี ครองแก้ว นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และอดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า อยากเสนอให้เพิ่มอำนาจให้ป.ป.ช.จากเดิมที่กฎหมายกำหนดให้ป.ป.ช.มีอำนาจในการเสนอ และแนะนำการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น ซึ่งหากป.ป.ช.ได้ดำเนินการแล้ว แต่รัฐบาลเพิกเฉย เช่น กรณีโครงการรับจำนำเช่นนี้ เมื่อเกิดความเสียหาย ป.ป.ช.สามารถเอาผิดและดำเนินคดีได้ทันที โดยไม่ต้องสืบสวนสอบสวนใหม่

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2557