‘TDRI’ จี้รัฐงดแทรกแซงราคาข้าว เสนอใช้นโยบายส่งเสริมตามระดับชาวนา 4 กลุ่ม

ปี2014-11-18

บทเรียนจากจำนำข้าว นักวิชาการ-เอกชนวิพากษ์นโยบายอุดหนุนภาคเกษตร “ดร.นิพนธ์” ชี้ชาวนาไทย 4 กลุ่ม ต้องใช้นโยบายต่างกัน เห็นร่วมต้องเน้นบริหารต้นทุน งดแทรกแซงราคา สร้างกลไกตลาด กังขา “โซนนิ่ง” ไปไม่รอด

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นำเสนอแนวคิดในงานสัมมนาสาธารณะเรื่อง “สู่แนวคิดใหม่ ของนโยบายอุดหนุนภาคการเกษตร… บทเรียนจากนโยบายจำนำข้าว” ว่า แท้จริงแล้วโครงสร้างชาวนาไทยไม่ได้เป็นกลุ่มยากจนทั้งหมด ดังนั้นการคิดนโยบาย ส่งเสริมจึงต้องแยกเป็น 4 โจทย์ คือ

1.กลุ่มชาวนาเงินล้าน ประมาณ 9 แสนครัวเรือน มีที่ดินทำกินเฉลี่ย 70-90 ไร่ อาศัยในเขตชลประทานลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา กลุ่มนี้อนาคตมีแนวโน้มจะขยายแปลงนาให้ใหญ่ขึ้นซึ่งทำให้ต้นทุนลด ดังนั้น ต้องแก้ไขอุปสรรคการรวมแปลงที่ดิน ปัญหากฎหมายเช่านา ลดดอกเบี้ยสินเชื่อ ซื้อที่ดิน และการส่งเสริมควรเน้นวิจัยตลาด และสายพันธุ์ข้าวที่ตลาดต้องการ โดย ไม่ต้องอุดหนุนเป็นเงินช่วยเหลือ

2.กลุ่มชาวนาทางเลือก ประมาณไม่เกิน 1 หมื่นครัวเรือน เช่น ชาวนาปลูกพันธุ์ข้าว ข้าวอินทรีย์ ข้าวเพื่อสุขภาพ กลุ่มนี้เป็นลักษณะปราชญ์ชาวบ้านสูงอายุ สามารถรวมกลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ราคาสูง และทำการตลาดเอง ซึ่งรัฐควรหานโยบาย ที่ส่งเสริมให้ชาวนากลุ่มนี้มีบทบาทนำ ในการพัฒนาข้าวไทย

3.กลุ่มชาวนารายเล็ก-กลาง ประมาณ 1.7-2 ล้านครัวเรือน ลักษณะเป็นชาวนา สูงอายุ ทำงานแบบผู้จัดการนา นาแปลงเล็ก กำไรต่ำ อาศัยรายได้จากสมาชิกชนชั้นกลางในครอบครัวที่ทำอาชีพอื่น หากรัฐ ไม่สร้างอนาคตให้การทำนา ต่อไปลูกหลาน อาจขายหรือให้เช่าที่นาให้กับชาวนา กลุ่ม 1 ดังนั้นรัฐควรใช้นโยบายทุ่มพัฒนา ความรู้สมัยใหม่ให้ อาจเป็นการรวมแปลง แก้ปัญหาชลประทาน รวมกลุ่มผลิต ปลูกพืชอื่นควบคู่ ซึ่งสามารถปรับให้เอกชน เข้ามาดำเนินการแทน

4.กลุ่มชาวนายากจน ประมาณ 1-1.3 ล้านครัวเรือน กลุ่มนี้มีที่ดินคุณภาพต่ำ ไม่เหมาะกับการทำนา รายได้จากนาข้าว เป็นเพียง 16% ของรายได้ครัวเรือน ทางออกเดียวคือออกนอกภาคเกษตร ควร ใช้นโยบายส่งเสริมทักษะความรู้เพื่อทำอาชีพอื่นและพัฒนาชนบท

ด้านนายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวในช่วงการเสวนาว่า นโยบายจำนำข้าวที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าการผูกขาดทางการ เมืองถือเป็นอันตรายต่อประเทศชาติ ต้องหาทางแก้ไข

“ผมเชื่อว่าตรงนี้เป็นจุดสำคัญ พวกเราต้องสนับสนุนคนที่มีไอเดียที่ทำให้รัฐบาลหรือใครก็แล้วแต่เข้ามาผูกขาดไม่ได้ ถ้าเขาผูกขาดทางการเมืองได้ ด้านเศรษฐกิจเขาก็ปู้ยี่ปู้ยำได้ และเราจะเป็นอันตราย มาก”นายวิชัยกล่าว

นายวิชัยเสนอแนะทางช่วยเหลือเกษตรกรด้วยว่า มี 2 วิธี คือการแก้ระยะยาว ด้วยการ สร้างประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพ ส่วนการแก้ระยะสั้น เพื่อต่อลมหายใจ ไม่ควรแทรกแซงราคาตลาด แต่ใช้วิธีจุนเจือรายได้ เช่น แจกเงินอุดหนุน 1,000 บาท/ไร่ แก่ชาวนา เป็นวิธีที่ ถูกต้องกว่า แต่ต้องระมัดระวังว่าชาวนา ก็มีหลายระดับรายได้ และการแจกเงินต้องใช้ภาษีประชาชน

รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ นำเสนอ ว่า เกษตรกรปัจจุบันนี้มีเหว 2 เหวที่ก้าวข้าม ได้ยากมาก คือ 1.การยกระดับการจัดการ ในไร่นา ที่เกษตรกรไม่รู้วิธีบริหารจนมีต้นทุนสูง ควรมีการรวมกลุ่มในพื้นที่ เพื่อหาความจำเพาะที่ต้องพัฒนา และมี หน่วยงาน เช่น มหาวิทยาลัย หน่วยราชการ เข้าไปทำภารกิจช่วยเหลือด้านการวิจัยระบบน้ำและที่ดิน และ 2.ระบบตลาด ต้องหาแนวทางที่ทำให้ชุมชนเข้าถึงระบบตลาด หากไม่มีการเชื่อมโยง สินค้าที่ผลิตจะเป็นเกรดของคละไม่มีคุณภาพ

“อย่างเราพูดเรื่องโซนนิ่งไปปลูกพืชอื่น แล้วเอาตลาดที่ไหนมารองรับ ทุกคนก็ยังตอบไม่ได้ ตรงนี้มีความสำคัญ มีหลักการที่จะช่วยได้ เช่น กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) แฟร์เทรด การตลาดที่เป็นธรรมในทุกห่วงโซ่ เพื่อจะเป็นสะพานทอดสำคัญให้เกษตรกรเข้มแข็ง” รศ.สมพรกล่าว

ด้าน ดร.นิพนธ์กล่าวถึงปัญหานโยบายอุดหนุนภาคเกษตรว่า การอุดหนุนด้านราคาทำให้เกิดผลผลิตส่วนเกิน และการชดเชยความเสียหายทุกกรณีทำให้เกษตรกรไม่วางแผนการผลิต การคิดนโยบายที่ไม่ประสบความสำเร็จต่าง ๆ เกิดจากระบบราชการที่นิยมคิดจากส่วนกลาง และเน้นให้สิทธิประโยชน์มากกว่าการพัฒนาเกษตรกร

“เราถูกความคิดเก่า ๆ ครอบงำ เป็นระบบคุณพ่อรู้ดี สังคมนิยมเคยเจ๊งเพราะโซนนิ่ง เราก็ยังจะทำโซนนิ่ง การอุดหนุนในแนวคิดใหม่ต้องเร่งสร้างสมรรถนะในการแข่งขัน เวลานี้เราต้องการเกษตรกรที่มีความรู้รุ่นใหม่แล้ว” ดร.นิพนธ์กล่าว

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 13-16 พฤศจิกายน 2557