อาเซียนกับระดับการค้ามนุษย์

ปี2015-04-30

 สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

อย่างที่หลายคนทราบ ขณะนี้รัฐบาลได้ประกาศการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2558 หลังไทยถูกลดระดับเป็นต่ำสุดคือ Tier 3 นัยว่าเพื่อแถลงจุดยืนให้โลก (หรือที่จริงคือสหรัฐ) รู้ว่ารัฐจะเอาจริงในเรื่องการขจัดการค้ามนุษย์

ผู้เขียนฟังวาทะของท่านนายกฯในวันประกาศวาระแห่งชาติแล้วคิดว่าท่านเข้าถึงเรื่องนี้พอสมควร ส่วนที่ผมค่อนข้างชอบคือ ที่ว่า “….เพื่อช่วยกันสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ …… และโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เข้าไปพัวพันกับขบวนการค้ามนุษย์ หรือละเลยไม่ทำหน้าที่ ขอประกาศว่าบุคคลเหล่านี้ต้องไม่มีที่ยืนในสังคมไทยอีกต่อไป”

ประเด็นสำคัญตรงนี้คือ การสร้างความรู้ความเข้าใจ และการพูดถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ไปพัวพันกับขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งทั้งสองประเด็นน่าจะเรียกได้ว่าเป็นจุดอ่อนของไทยในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ เพราะประเด็นแรกนั้นถือเป็นจุดอ่อนของไทยเองที่ไม่สามารถสร้างความเข้าใจในปัญหาการค้ามนุษย์ของไทยกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศรวมถึงสหรัฐ ในขณะที่ในประเด็นหลังเป็นประเด็นสำคัญและจุดอ่อนของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค เพราะรายงาน TIP กล่าวย้ำถึงสถานการณ์ต่างๆที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปพัวพันการค้ามนุษย์ในหลายกรณี แต่เราขาดมาตรการและผลงานที่ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาในจุดนี้อย่างไร

การสร้างความเข้าอกเข้าใจ ฟังดูเป็นเรื่องง่าย แต่ที่จริงเป็นโจทย์สำคัญในการประชาสัมพันธ์ตลอดจนวิธีการทูตของไทยที่ค่อนข้างเป็นเชิงรับให้เขาว่าอยู่ข้างเดียว

วันนี้ ในเนื้อที่อันจำกัดนี้ผู้เขียนขออนุญาตนำข้อมูลสถานการณ์การถูกจัดระดับของไทยและมิตรประเทศในอาเซียนว่า เป็นการปฏิบัติแบบครอบจักรวาล และเลือกปฏิบัติหรือไม่ อย่างไร (แน่นอนในส่วนที่เรารู้อยู่ในอกว่าเรามีปัญหาก็ต้องหาทางแก้ไขกันไป) แล้วดูว่าเขามีปฏิกิริยาหรือไม่ อย่างไร เพื่อประกอบการกำหนดแผนการและสถานการณ์ให้กับวาระของชาติ

ประเทศกลุ่มอาเซียนมีอยู่ 3 กลุ่ม กลุ่มอาเซียนแท้ 10 ประเทศ (ดูในตาราง) กลุ่มอาเซียนบวก 3 คือ อาเซียน กับ เกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่น และกลุ่มอาเซียน +6 คือ กลุ่มอาเซียน 10 +3 บวก อินเดีย นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย

การจัดอันดับปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศอาเซียนทั้งกลุ่มอาเซียนจริง (10 ประเทศ) และพันธมิตรทางการค้าของอาเซียนอีก 6 ประเทศดังกล่าวอาจสรุปได้ ดังนี้

ลำดับtier
(ที่มารูปภาพ: matichon.co.th)

1) กลุ่มอาเซียน 10 ล้วนมีปัญหาการค้ามนุษย์ทั้งสิ้น ในปี 2557 ไม่มีประเทศใดอยู่อันดับ 1 เลย มีประเทศที่อยู่อันดับ 2 คือ บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม (ประเทศที่ไม่ดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดการค้ามนุษย์ตาม Trafficking Victim Protection Act 2000 (TVPA) ประเทศที่อยู่อันดับ 2 ที่ถูกจับตา (Tier 2 Watch List) คือ กัมพูชา ลาว และพม่า และประเทศที่อยู่ท้ายสุดคืออันดับ 3 นอกจากไทยยังมีมาเลเซีย

2) กลุ่มบวก 3 มี เกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่น จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นซึ่งถือว่าเป็นประเทศพัฒนามากยังอยู่อันดับ 2 และจีนอยู่อันดับ 2 Watch List โดยเพิ่งได้รับการยกระดับจากระดับ 3 ซึ่งก่อนที่จะเป็นระดับ 3 จีนเคยเป็นระดับ 2 WL ถึง 9 ปี สำหรับเกาหลีใต้ที่ได้รับการจัดเป็นอันดับ 1 นั้น สหรัฐก็บอกว่าประเทศที่อยู่ในอันดับ 1 ก็มีปัญหาการค้ามนุษย์เช่นกัน เพียงแต่ว่าได้ดำเนินการสอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายของสหรัฐทั้งด้านการป้องกันและบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์และการคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์

3) กลุ่มอาเซียน +6 นั้นมีอินเดียอยู่อันดับ 2 ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ค้ามนุษย์เพื่อซื้อขายอวัยวะมาก ส่วนนิวซีแลนด์และออสเตรเลียอยู่อันดับ 1 แต่ก็ยังมีปัญหาการค้ามนุษย์เช่นที่กล่าวในข้อที่แล้ว

สังเกตได้ว่ามีการลักลั่น ลำเอียงหรือเลือกปฏิบัติในการจัดอันดับพอสมควร โดยเฉพาะกรณีจีนมีสถานการณ์แรงงานด้านการค้ามนุษย์และแรงงานบังคับในระดับชาติ และในปี 2556 เคยอยู่อันดับ 3 (TIER 3) ในปี 2556 จีนเป็นทั้งประเทศต้นทาง ทางผ่านและปลายทางของชาย หญิง และเด็กที่เสี่ยงต่อการค้ามนุษย์และการบังคับล่อลวงไปค้าประเวณี โดยมีผู้หญิงและเด็กจากอาเชีย เช่น พม่า เวียดนาม ลาว สิงคโปร์ มองโกเลีย เกาหลีเหนือ รวมทั้งรัสเซีย ยุโรป แอฟริกา และอเมริกาเป็นเหยื่อ ในขณะเดียวกันก็มีชาวจีนชาย หญิง และเด็กถูกล่อลวงและบังคับให้ทำงานและค้าประเวณีในหลายประเทศ แรงงานระดับล่างของจีนมีการย้ายถิ่นไปหางานทำในเหมืองถ่านหิน ร้านเสริมสวย งานก่อสร้าง และทำงานบ้าน และอยู่ในสภาวะถูกค้ามนุษย์โดยการยึดหนังสือเดินทาง หรือจำกัดเขตการเคลื่อนไหว การไม่จ่ายค่าจ้าง การล่วงละเมิดทางเพศ และข่มขู่ สาเหตุหนึ่งคือค่านายหน้าหางานที่สูงถึง 70,000 เหรียญ หรือ 2 ล้านกว่าบาท ทำให้เสี่ยงต่อการทำงานใช้หนี้ การค้ามนุษย์ภายในประเทศเองมีจำนวน 236 ล้านราย แรงงานบังคับรวมทั้งการบังคับให้ขอทานยังมีอยู่ทั่วไปในจีน

ในปี 2555 มีการรายงานการใช้แรงงานเด็กโดยสื่อ (แต่รัฐบาลเองจะให้ข้อมูลด้านนี้น้อยมาก) มีเด็กสาวจากทิเบตถูกพามาภาคอื่นของจีนเพื่อทำงานบ้านและบังคับให้แต่งงาน มีโรงเรียนที่บังคับให้นักเรียนทำงานในโรงงาน รัฐบาลเองก็มีแรงงานบังคับในโครงการที่เรียกว่า “ล้างสมองด้วยแรงงาน (Re-education through labor)” ซึ่งมีนักโทษและผู้ต้องขังในโครงการ (คุก) กว่า 320 แห่งที่ถูกบังคับให้ทำงานในศูนย์ผู้เสพติดยาก็มีการบังคับให้ทำงานเช่นกัน จีนมีการจับตัวและส่งกลับเหยื่อค้ามนุษย์ชาวเกาหลีเหนือทั้งๆที่รู้ว่าผู้ที่ถูกส่งตัวกลับมีโทษถึงตายรัฐบาลจีนไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำอย่างเต็มที่ในการขจัดการค้ามนุษย์และถูกจัดกลุ่ม TIER 2 WL ติดต่อกัน ถึง 9 ปี

จีนเคยได้รับการผ่อนผันไม่ให้ลดอันดับลงไปที่ TIER 3 แล้ว 2 ครั้งคือในปี 2554 และ 2555 ซึ่งตามกฎหมายขจัดการค้ามนุษย์ของสหรัฐจะยอมให้ผ่อนผันได้เพียง 2 ครั้ง ดังนั้นจึงไม่อาจได้รับการผ่อนผันต่อไป แต่ในปี 2557 จีนได้รับการผ่อนผันอีกครั้งและได้เลื่อนอันดับเป็น 2 WL เหตุผลหลักที่ทางสหรัฐอ้างคือ ทางการจีนได้ให้สัตยาบันที่จะเลิกการใช้แรงงานบังคับในภาครัฐ (Reform through labor: RTL) โดยสื่อและองค์กรเอกชนบางแห่งได้เปิดเผยข้อมูลว่ารัฐบาลได้ปล่อยตัวผู้ถูกกักกันและเลิกกิจการ RTL ในหลายแห่งแล้วมีการดัดแปลงศูนย์ RTL บางแห่งเป็นสถานบำบัด หรือสถานดัดสันดาน ทั้งที่การค้ามนุษย์ในด้านอื่นๆก็ยังเป็นไปอย่างเดิมๆ

สถานการณ์การค้ามนุษย์ในจีนนั้นค่อนข้างเลวร้ายและต่อเนื่องเป็นเวลานาน

ผู้คุ้มกฎก็ไม่เห็นทำอะไรได้ นักเลงโตซะอย่างจีน ญี่ปุ่น หรือแม้แต่มาเลเซีย

เรื่องการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ประสาราษฎรเต็มขั้น ผู้เขียนทำได้แค่ปลอบใจว่าเรายังมีเพื่อนอาเซียนอยู่ในระดับใกล้เคียงอีกมาก และขอเอาใจช่วยให้ท่านแก้ปัญหาได้อย่างที่หวังไว้

—————-

ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 30 เมษายน 2558 ใน “คอลัมน์: ดุลยภาพดุลยพินิจ: อาเซียนกับระดับการค้ามนุษย์”