อนาคตเด็กไทยในมือครู

ปี2015-01-12

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)


นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ระบุ การพัฒนาการศึกษาไทยให้ก้าวหน้า ครูควรปรับทักษะการสอน “ลดท่องจำ เน้นคิดวิเคราะห์หาคำตอบ” เพื่อความสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษา โดยเฉพาะ 3 วิชาหลักที่เด็กไทยยังอ่อน


ดร.ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยว่า ปัจจุบันประเทศไทยใช้ทรัพยากรจำนวนมหาศาลในการพัฒนาการศึกษาของประเทศเพื่อให้มีคุณภาพ โดยพบว่าในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ไทยทุ่มงบประมาณด้านการศึกษาไปถึง 4.2 แสนล้านบาท แต่กลับไม่ได้คุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้นโดยเห็นได้จากผลสะท้อนของการทดสอบระดับนานาชาติอย่าง Program for International Student Assessment (PISA) และผลการสอบ Trends in International Mathematics and Science Study (TIMSS) ที่ระบุว่า ผลการเรียนของเด็กไทยในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ไม่ได้มีการพัฒนาและต่ำลงอย่างต่อเนื่อง

ดร.ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ดร.ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร นักวิชาการทีดีอาร์ไอ

ซึ่งอนุมานได้ว่า ปัญหาของระบบการศึกษาไทย ไม่ได้อยู่ที่การขาดแคลนงบประมาณ แต่อยู่ที่ความด้อยประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรมากกว่า และเมื่อพิจารณาในภาพรวมพบว่า เด็กไทยยังอ่อนใน 3 วิชาหลัก ได้แก่ วิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ถึงแม้ว่านักเรียนไทยจะใช้เวลาในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนถึง 6 ชั่วโมงครึ่งต่อสัปดาห์ ซึ่งมากกว่านักเรียนในประเทศเกาหลี แต่ผลการสอบระดับนานาชาติกลับได้คะแนนต่ำกว่า ปัญหานี้ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการขาดแคลนครูที่มีทักษะในสาขาวิชาดังกล่าวด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ปัญหาที่สำคัญสำหรับการพัฒนาคุณภาพเด็กไทย นั่นคือ ความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษา โดยพบว่า เด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี ซึ่งมีค่าใช้จ่ายทางการศึกษามากกว่า จะมีคะแนนสอบที่ดีกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ในปี 2553 ซึ่งมีนักเรียนในสังกัด จำนวน 7.7 ล้านคน โดยนักเรียนจำนวนครึ่งหนึ่งมีฐานยากจน และได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มเติมเพียงปีการศึกษาละ 1,000 บาทต่อหัวเท่านั้น ซึ่งเงินจำนวนนี้ยังไม่เพียงพอต่อการยกระดับการศึกษาของเด็กยากจนมากนัก

ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวนักวิชาการทีดีอาร์ไอ ให้ข้อเสนอแนะว่า การพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศจำเป็นต้องพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนแต่ละวิชาใหม่ โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ  คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เริ่มตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรคำนึงถึง 3 เรื่อง หลัก ประกอบด้วย 1.การจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวแก่นักเรียนยากจนเพิ่มเติม ภายใต้บริบทของสังคมและโรงเรียนนั้นๆ ตามความเหมาะสม  2. การเพิ่มความรับผิดชอบของผู้อำนวยการโรงเรียนและครู ต่อผลการเรียนของเด็กให้มีความสัมฤทธิ์ผลมากขึ้น และ 3. การปรับเปลี่ยนการผลิตครูและการคัดเลือกครูที่มีคุณภาพ ด้วยการคัดครองบุคลากรที่เก่งเข้าสู่ระบบและเป็นไปตามความต้องการของโรงเรียน ขณะเดียวกันต้นสังกัดที่ทำหน้าที่ผลิตครูรุ่นใหม่ต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรการฝึกครูให้สามารถสอนได้หลากหลายวิชา โดยเฉพาะวิชาหลัก อาทิ ครู 1 คน มีทักษะการสอนวิชาคณิตศาสตร์เป็นหลัก แต่สามารถสอนวิชาวิทยาศาสตร์ได้ด้วย เป็นต้น สิ่งนี้จะสามารถตอบโจทย์เรื่องการขาดแคลนครูในวิชาหลักลงได้

นอกจากนี้ในส่วนของบุคลากรครู ควรปรับเปลี่ยนวิธีการสอนโดยลดการสอนนักเรียนแบบท่องจำ แล้วปรับเปลี่ยนเป็นการสอนแบบให้นักเรียนคิดวิเคราะห์และค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเองมากขึ้น โดยครูควรเป็นแรงพลักดันให้นักเรียนมีวินัยและมีความสนใจที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง หากการศึกษาของไทยมีคุณภาพที่ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ จะทำให้เด็กไทยในอนาคตเสียโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ระบุว่า การขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาของไทยควรเริ่มตั้งแต่ในวัยเด็กให้ได้มาตรฐานและคุณภาพที่ดีก่อน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพัฒนาครู สถานศึกษา และนักเรียนไปพร้อมๆ กัน เพื่อสร้างความสัมฤทธิ์ผลให้แก่เด็กและเยาวชน อันจะนำไปสู่บุคลากรที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต.