บทสัมภาษณ์ ศ.ดร.ไพจิตร เอื้อทวีกุล: 30 ปี ทีดีอาร์ไอ 30 ปี การพัฒนาเศรษฐกิจไทย

ปี2015-08-20

30 ปี ทีดีอาร์ไอ 30 ปี การพัฒนาเศรษฐกิจไทย: 

สนทนากับ  ศ.ดร.ไพจิตร เอื้อทวีกุล เรื่องปัญหาประเทศไทย การปฏิรูปการศึกษา และบทบาททีดีอาร์ไอ

สัมภาษณ์: 2 กรกฎาคม 2557

ปัญหาสำคัญของประเทศไทยในความของเห็นอาจารย์คืออะไร

เราพิจารณาปัญหาได้ในสองระดับ คือระดับพื้นผิวและระดับมูลฐาน การพัฒนาประเทศไทยใน 30 ปีที่ผ่านมามีปัญหาเยอะแยะไปหมด เพราะอะไร เพราะการวิเคราะห์วิจัยของเราทำเฉพาะในระดับพื้นผิว ในเวลานี้ มองไปรอบตัวมีแต่ปัญหา จนอย่าว่าแต่ 10 ปีเลย ผมคิดว่า 20 ปีก็แก้ไม่หมดมันเยอะเหลือเกิน

ถามว่าแล้วแบบนี้จะทำอย่างไร ก็ตอบว่าต้องจัดอันดับความสำคัญ ถ้าเราพิจารณาเฉพาะในระดับพื้นผิว เราจะไม่มีทางเดินต่อไปได้ นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และน่าเป็นห่วงมาก เพราะทุกคนปรารถนาดี ทุกคนอยากให้ทำสิ่งที่ตัวเองคิดว่าสำคัญ แต่เสร็จแล้วก็ทะเลาะกัน ไม่ใช่ทะเลาะกันเรื่องอะไรสำคัญหรือไม่สำคัญนะ ทะเลาะกันว่าคุณเห็นว่าของคุณสำคัญกว่าของผม เรื่องของผมสำคัญที่สุดในจักรวาลแล้วคุณไม่ทำ คุณจะทำเรื่องของคุณซึ่งเป็นเรื่องกระพี้ ทุกครั้งที่จะปฏิรูปก็จะเกิดปัญหานี้ แล้วก็ตกลงกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าคิดจะแก้ปัญหาของบ้านเมืองจริงๆ ขอให้ก้าวล่วงจากปัญหาพื้นผิวไปสู่ปัญหามูลฐาน

ถามว่าปัญหามูลฐานของสังคมไทยคืออะไร ปัญหามูลฐานของการพัฒนาประเทศไทยคืออะไร คำตอบของผมก็มีอยู่ประการเดียว คือการขาดจริยธรรPijit (8)มในทุกระดับของสังคม
คำว่าจริยธรรมแปลว่าอะไร แปลว่าการที่คุณรู้ว่าในตำแหน่งหน้าที่การงานของคุณ ในสถานะทางสังคมของคุณ มีอะไรที่พึงกระทำ มีอะไรที่ไม่พึงกระทำ ถ้าคุณไม่รู้สองข้อนี้ คุณมีปัญหาแน่ๆ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะผู้นำนะ ทุกคนในสังคมหรืออย่างน้อยที่สุดคนส่วนใหญ่ในสังคมต้องรู้เรื่องนี้ คนกวาดถนนก็ต้องมีจริยธรรม คนขับแท็กซี่ก็ต้องมีจริยธรรม นายกรัฐมนตรีก็ต้องมีจริยธรรม

แน่นอนจริยธรรมของนายกฯ สำคัญกว่าจริยธรรมของคนกวาดถนน ถ้าสังคมจะอยู่ได้ คนทุกระดับจะต้องรู้ว่าควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร ถ้าคุณเป็นคนกวาดถนน แล้วไม่รู้ว่าควรทำอะไร คุณขี้เกียจ คุณก็กวาดขยะลงท่อน้ำ ในที่สุดน้ำก็ท่วม แต่ถ้าคุณเป็นนายกฯ แล้วคุณเอาอำนาจไปโกงกินบ้านเมือง ทำความเสียหายให้บ้านเมืองทุกวัน นั่นคือความหายนะ

คนส่วนใหญ่ในสังคมต้องรู้ว่าในฐานะคนไทย ในฐานะคนกวาดถนน ในฐานะนายกรัฐมนตรี เราต้องทำอะไร เราต้องไม่ทำอะไร  ถ้าคุณไม่รู้ว่าต้องทำหรือต้องไม่ทำอะไร คุณล่มจมแน่นอน เพราะเมื่อคุณไม่รู้ว่าคุณควรทำอะไร คุณไม่ควรทำอะไร คุณก็ทำในสิ่งที่คุณคิดว่ามันสะดวกสบาย คุณก็ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตัวคุณเอง นี่คือสิ่งที่กำลังทำลายสังคมไทย

เมื่อไม่นานมานี้มีการสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาเรื่องคอร์รัปชัน ผลออกมาว่ากว่าร้อยละ 60 ยอมรับได้ถ้าได้ประโยชน์ด้วย  เรื่องนี้น่ากลัวมากเพราะนักศึกษาเป็นคนที่เราหวังว่ายังมีคุณธรรม ยังมีอุดมการณ์ ยังมีจริยธรรม ยังไม่ถูกทำให้แปดเปื้อนโดยสังคม เหมือนผ้าขาวสะอาด แต่คนพวกนี้บอกว่าถ้าได้ประโยชน์ คุณจะทำอย่างไรกับบ้านเมืองก็ได้ และนี่ก็เป็นความจริง มีรัฐบาลไหนในโลกที่ปู้ยี่ปู้ยำบ้านเมือง แต่เลือกตั้งทีไรก็ชนะทุกที เพราะคนยอมรับได้  คนยอมรับได้เพราะอะไร เพราะเขาได้ประโยชน์ด้วย

ในสภาพการณ์อย่างนี้คุณทำอะไรมันก็เน่า คุณทำอะไร มันก็ล่มจม เพราะอะไร เพราะคุณไม่รู้ดีรู้ชั่ว คุณก็รับเอาผลประโยชน์ใส่ไว้ในหัวใจ คุณก็รับเอาความชั่วใส่ไว้ในหัวใจ ว่านี่คือสรณะ นี่คือที่พึ่ง อะไรที่ได้ประโยชน์เอาทั้งหมด แล้วสังคมจะอยู่ได้อย่างไรเพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่ปฏิรูปเรื่องจริยธรรม คุณไม่มีทางรอด คุณล่มจมแน่นอน

อาจารย์คิดว่าปัญหามูลฐานที่สำคัญคือเรื่องจริยธรรมและคอร์รัปชั่น

คอร์รัปชั่นเป็นส่วนหนึ่ง ปัญหาของสังคมไทยก็คือการขาดจริยธรรมในทุกระดับ เอาความชั่วเข้าใส่ใจเป็นสรณะ นั่นแหละคือปัญหาที่แท้จริง

ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ก็เพราะผู้นำ ผู้รู้ องค์กรอิสระ องค์กรประชาสังคม องค์กรวิชาชีพ ปล่อยให้มันเป็นไปโดยไม่ทำอะไรเลย  ที่น่าเสียดายที่สุดก็คือศักยภาพของทีดีอาร์ไอ เรามีศักยภาพมหาศาล ผมไม่เคยเห็นที่รวมของคนที่มีคุณภาพมากขนาดนี้ แต่ขอใช้คำไม่สุภาพหน่อยนะ เรามันอวดดีเกินไป

Pijit (5)อีกเรื่องหนึ่งซึ่งอาจจะรุนแรงกว่า เป็นปัญหาทั้งในระดับชาติและระดับโลกก็คือการขาดจริยธรรมแห่งความยั่งยืน  เรื่องนี้ไม่เฉพาะคนไทย แต่คนทั้งโลกเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เราปล่อยให้โลกาภิวัตน์ครอบงำคนไทยจนหมดสิ้น ความเป็นเมืองพุทธ ความเป็นประเทศที่มีอารยธรรมตะวันออก เราทิ้งไปหมด แล้วเราก็เอาหลักของสังคมตะวันตกมาใช้เต็มตัว

สังคมตะวันตกในเวลานี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของอะไร สังคมตะวันตกตั้งอยู่บนพื้นฐานของความโลภแบบไม่มีขีดจำกัด ถามว่าแล้วมันชั่วร้ายอย่างไร ก็ อดัม สมิธ (Adam Smith) บอกแล้วไม่ใช่หรือว่าทุกคนจงโลภ แล้วมือที่มองไม่เห็นจะจัดระเบียบให้เราเอง  แต่คนที่คิดเรื่องนี้ไม่ใช่ อดัม สมิธ คนที่เริ่มคิดเรื่องนี้คือ อดัม เฟอร์กูสัน (Adam Ferguson) ปราชญ์ชาวสกอต รุ่นพี่ของ อดัม สมิธ เขาเอามาใช้กับการเมืองการปกครอง เขาบอกว่ามนุษย์ในทุกสังคม ต้องพยายามหาทางควบคุมการหาประโยชน์ใส่ตัวของคนในสังคม เนื่องจากทุกคนเห็นแก่ตัว ทุกคนพยายามเอาประโยชน์เข้าตัวให้มากที่สุด ถ้าอยู่คนเดียวในถ้ำก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าอยู่รวมกันหลายคน ทุกคนก็แย่งกัน มันต้องมีวิธีที่จะทำให้ทุกคนอยู่ในขอบเขต

หลายพันปีมาแล้ว ตั้งแต่เราเริ่มมีการบันทึกเรื่องราว ทุกระบบต่างก็หาทางจำกัดขอบเขตของความเห็นแก่ตัว ถามว่าควบคุมอย่างไรก็ต้องใช้อำนาจ อำนาจอย่างเบาหรืออำนาจอย่างหนักก็แล้วแต่ ท้ายที่สุดแล้วถ้าคุณเห็นแก่ตัวเกินไป คุณก็อยู่ในสังคมไม่ได้ เขาก็เอาไปทุบหัว มันก็เป็นอย่างนี้เรื่อยมา

จนมาถึงยุคปัจจุบัน มีความคิดอ่านเกิดขึ้นว่า การทำอะไรก็ตามมันไม่ได้ผลตรงตามที่เราตั้งใจทุกเรื่อง หรือทฤษฎีของการได้ผลที่ไม่ตั้งใจ ซึ่งบอกว่าแทนที่จะไปจำกัดไม่ให้มีเสรีภาพ เพื่อจะได้ไม่เห็นแก่ตัวมากเกินไป ยังมีอีกวิธีหนึ่งคือปล่อยให้ทุกคนมีเสรีภาพและเนื่องจากทุกคนก็ต้องการอย่างนั้น แต่ทำไม่ได้ เพราะคนอื่นเขาก็จะขัด ก็ปล่อยให้แข่งขันโดยเสรีสิ ใครแข่งขันชนะก็เอาไป นี่คือทฤษฎีของการได้ผลที่ไม่ตั้งใจ ถ้าไม่มีทฤษฎีนี้ ก็จะไม่มี อดัม สมิธ จะไม่มี The Wealth of Nations และจะไม่มีเศรษฐกิจทุนนิยม

คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) บอกว่าทุนนิยมอยู่ไม่ได้ เพราะความขัดแย้งภายในของระบบทุนนิยม แต่ปัญหาแท้จริงร้ายแรงกว่านั้น เมื่อ 22 ปีก่อน นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก 1,600 คน รวมทั้งหนึ่งร้อยกว่าคนที่ได้รับรางวัลโนเบลจาก 77 ประเทศ ออกแถลงการณ์เตือนมนุษยชาติว่ามนุษย์กำลังทำลายฐานรากของการดำรงอยู่ของตัวเอง เพราะเรากำลังช่วยกันทำลายดาวเคราะห์ดวงนี้จนย่อยยับ ทีนี้ถ้าโลกย่อยยับไม่สามารถฟื้นคืนมาได้ มันก็ไม่สามารถรองรับชีวิต สิ่งที่เราทำอยู่ในเวลานี้ไม่ได้ทำลายแค่ชีวิตของมนุษย์ แต่มันทำลายทุกชีวิตที่โชคร้ายต้องมาอยู่ร่วมโลกกับเรา เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนเขาเตือนไว้แล้ว

แต่คำตอบของนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายคือไม่ต้องเป็นห่วง หน้าที่ของเราคือรักษาเสถียรภาพระยะสั้น สำหรับเสถียรภาพระยะยาว ระบบจะดูแลตัวมันเอง โดยใช้ราคาเป็นเครื่องมือหลักซึ่งจะนำไปสู่การทดแทน อะไรที่ขาดแคลน ราคามันก็แพง เราก็เอาของที่ถูกกว่ามาทดแทน และความเจริญทางด้านเทคโนโลยีจะทำให้เราสามารถทดแทนได้ตลอดไป เพราะฉะนั้นไม่ต้องเป็นห่วงระบบมันดูแลตัวมันเองได้

แต่ในเวลานี้ผู้รู้จำนวนมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะในยุโรป เขาไม่ได้พูดกันเรื่อง growth เขาพูดกันเรื่อง degrowth ถ้าคุณหวังจะอยู่รอด คุณต้องบริโภคน้อยลง  ในเวลานี้ ถ้าคุณบริโภคอย่างนี้ มันล่มจมเศรษฐกิจโลกโตขนาดนี้ เราเอาไม่อยู่แล้ว เพราะอะไร เพราะเราใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินกว่าที่เรามีอยู่ไปแล้วครึ่งเท่าตัว หรือเท่ากับเราใช้โลกไปแล้วหนึ่งใบครึ่ง  องค์การสหประชาชาติประมาณการณ์ว่าภายใน 25-30 ปี เราจะต้องใช้ทรัพยากรของโลกสองใบ และภายใน 50 ปี เราจะต้องใช้ทรัพยากรของโลก 2.8 ใบ ถามว่าคุณจะไปหาโลกมาจากไหนอีกใบสองใบให้เราถลุงเล่น มันไม่มีทาง และเทคโนโลยีก็แก้ปัญหานี้ไม่ได้ เพราะปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่เราผลิตเกินตัว ปัญหาที่แท้จริงคือเราบริโภคเกินตัว

การบริโภคไม่ใช่ปัญหาเทคโนโลยี การบริโภคเป็นปัญหาค่านิยม คุณจะแก้ปัญหาค่านิยม คุณจะต้องแก้ที่จริยธรรม จริยธรรมอะไร ก็คือจริยธรรมแห่งความยั่งยืนนั่นเอง

ทุกอย่างมันโยงกันหมดใช่ไหมครับ

ทุกอย่างมันโยงกันหมด แม้แต่พวกนักโฆษณาที่ Madison Avenue ยังบอกว่าแทนที่เราจะใช้เงินประมาณหนึ่งล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีเพื่อโฆษณาสินค้า เพื่อบอกคุณว่าต้องบริโภคมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น ถ้าคุณจะมีความสุข คุณต้องบริโภคมากขึ้น เราเอาหนึ่งล้านล้านดอลลาร์สหรัฐมาส่งเสริมให้คนบริโภคเพื่อความยั่งยืนดีไหม หยุดขายสินค้า แต่จงหันมาขายความยั่งยืน เพราะนี่คือทางรอดของโลกและของมนุษย์

เพราะฉะนั้นปัญหาของเมืองไทย ในระดับชาติ ก็คือการขาดจริยธรรม ส่วนในระดับโลกก็คือการขาดจริยธรรมด้านความยั่งยืน เรามีปัญหาทั้งสองระดับ ถามว่า 30 ปีที่ผ่านมา ทีดีอาร์ไอทำอะไรได้บ้าง ตอนที่ผมเป็นประธานสถาบัน ก็พยายามบอกคนอื่นว่าเราชื่อสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ไม่ได้ชื่อสถาบันเศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนา เศรษฐศาสตร์ก็ดี ก็ทำไป แต่คุณอย่าหยุดแค่นั้น มันไม่พอ คุณต้องไปหาคนที่เก่งทางด้านคุณธรรม จริยธรรม ความอยู่รอด ซึ่งมี คุณต้องไปหามา คุณอย่าอ้างว่าฉันไม่ทำ เพราะฉันไม่มีความชำนาญพิเศษในเรื่องเหล่านี้ ฉันเก่งทางเศรษฐศาสตร์ ฉันก็จะทำเรื่องเศรษฐศาสตร์เท่านั้น

ตอนนั้นอาจารย์ชวนใครเข้ามาช่วยทำงานบ้าง

หม่อมราชวงศ์อคิน รพีพัฒน์ และคุณสงคราม กระจ่างเนตร แต่พอผมลาออก ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงตามมา

อย่างไรก็ตาม ที่พูดทั้งหมดนี้ ไม่ได้ตำหนิใครทั้งสิ้น มันเป็นเรื่องของความทะนงตน ในแวดวงสังคมศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ถือว่าตัวเองเก่ง ตัวเองเยี่ยม เพราะฉะนั้นคนอื่นอย่ามายุ่ง ฉันเก่งเรื่องนี้ ฉันจะทำเรื่องนี้

ระบบการศึกษาเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ ข้างต้นได้หรือไม่

คนที่ทำเรื่องการศึกษา จะต้องเข้าใจปัญหาที่แท้จริงเกี่ยวกับการศึกษา  50 ปีที่ผ่านมา เราปฏิรูปการศึกษามากี่ครั้งกี่หน ยิ่งปฏิรูปเท่าไร ยิ่งเลวลงเท่านั้น ในไบเบิลบอกว่า ตอนที่พระเจ้าสร้างโลก พระเจ้าบอกว่า “Let there be light; and there was light.” คือพระเจ้าประกาศิตว่าจงมีแสงสว่าง ก็มีแสงสว่างเกิดขึ้น ความมืดหายไป  แต่นักการศึกษาไทยบอกว่า “Let there be light; and the darkness was greater than ever before.” คือความมืดมันยิ่งมืดกว่าเดิม เพราะอะไร ปัญหามันเริ่มมาจากการทุ่มเทสร้างโรงเรียนฝึกหัดครู และเนื่องจากรีบทำก็เลือกเด็กไม่ได้ ใครมาก็รับหมด ทีนี้วิชาครูเราต้องยอมรับว่ามันไม่ใช่ต้องเก่งเป็นพิเศษถึงจะเรียนได้ ใครก็เรียนได้ เพราะฉะนั้นพวกเกรด 2.00 หรือใกล้เคียงก็รับหมด

Pijit (7) คุณเริ่มจากวัตถุดิบที่เลวที่สุดที่จะหาได้ ถูกไหม ตะบันกันอยู่อย่างนี้ ผลผลิตออกมา เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น มีแต่คนที่รู้วิธีสอน แต่ไม่รู้วิชาที่ตัวเองสอน ผมตั้งข้อสังเกตด้วยว่าที่บอกว่ารู้วิธีสอน ผมไม่เชื่อ เพราะถ้าเชื่อเขาจะไม่ปฏิรูปกันอย่างนี้ เราปฏิรูปกันอย่างไร กระโปรงสั้นกระโปรงยาว เดี๋ยวก็กระจายอำนาจ เดี๋ยวก็ child-centered learning เดี๋ยวก็ whole-school approach ก็ว่ากันไปเรื่อยๆ ที่ร้ายที่สุดคือนักการศึกษาไม่ยอมรับว่าปัญหาการศึกษาของเมืองไทยคือการที่ครูด้อยคุณภาพ ในเมื่อไม่ยอมรับเรื่องนี้ เวลาจะแก้ก็ไปแก้กันที่ระบบ เพราะบุคลากรดีอยู่แล้ว ปัญหาต้องอยู่ที่ระบบ เราก็แก้ระบบ ก็แก้ระบบจนไม่รู้จะแก้อย่างไร

ตัวอย่างที่ดีของปัญหาพื้นฐานของการศึกษาของไทย ก็คือการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ กว่าจะจบมัธยมปลาย เด็กของเราเรียนภาษาอังกฤษมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 ปี แต่ภาษาใช้ไม่ได้  มันจะใช้ได้ได้อย่างไร ในเมื่อครูผู้สอนก็ไม่รู้ภาษาอังกฤษ  อย่าว่าแต่ 12 ปีเลย ต่อให้ตะบันเรียนกัน 120 ปี มันก็ยังไม่ได้อยู่ดี  นี่ไม่เฉพาะภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ก็คือภาษา วิทยาศาสตร์ก็คือภาษา ถ้าครูไม่รู้ภาษาเสียแล้ว นอกจากจะสอนให้เด็กรู้ไม่ได้แล้ว ยังทำให้ได้ผลตรงกันข้ามกับเจตนา (counterproductive)  เด็กจะเกิดความเบื่อหน่าย ความกลัว และความอุดตันเชิงความคิด (mental block)  พอเห็นสัญลักษณ์ เห็นสมการ ก็ไข้ขึ้นแล้ว  เด็กไทยกี่ล้านคนที่เรียนอังกฤษ คณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ไม่ได้ เพราะครูผู้สอนไม่รู้ภาษา

ผมจะยกตัวอย่างให้คุณดูว่าทำไมมันจึงเลวทราม สมัยก่อนในชุมชนมีปูชนียบุคคลอยู่สามอย่าง คือพระ หมอ และครู ครูเป็นปูชนียบุคคล แม้แต่ศรีปราชญ์ก่อนตายยังบอกว่าเราก็ศิษย์มีอาจารย์สมัยก่อนครูนี่เรื่องใหญ่ แต่เดี๋ยวนี้ครูเป็นอะไร ครูเป็นคนรับจ้างสอนหนังสือ เรียนอย่างอื่นไม่ได้แล้วก็มาเรียนครู หลังจากปฏิรูปครั้งสุดท้าย ครูกลายเป็นอะไร ครูกลายเป็นคนที่มีหน้าที่เสิร์ฟอาหาร แล้วก็ฟ้อนรำรับแขก เวลาแขกเมืองมา ใช่หรือเปล่า เดี๋ยวนี้หน้าที่หลักของครูคือรำอวยพรแขกเมืองกับเสิร์ฟอาหาร แล้วครูที่อยู่ในฐานะอย่างนี้จะเป็นปูชนียบุคคลได้อย่างไร

ถ้าคุณต้องการครูที่มีคุณภาพ คุณต้องแก้ทางด้านอุปสงค์ เรื่องนี้มีตัวอย่างมาแล้ว ก่อนที่ฟองสบู่จะแตกในปี 2540 เด็กหัวกะทิที่จะเข้ามหาวิทยาลัยเขาสมัครเข้าคณะไหน แพทย์ วิศวฯ ไม่ใช่ เขาสมัครเข้านิเทศศาสตร์ นี่เรื่องจริงไปเช็กได้เลย เพราะบัณฑิตทุกคนที่จบมาจะมีงานดีๆ รออยู่อย่างน้อย7 งาน  เรื่องแบบนี้ไม่ต้องมีใครบอกเด็กเขาไม่โง่หรอก เพราะฉะนั้น ตราบใดที่เรายังปฏิบัติกับครูแบบนี้ คุณจะได้แต่พวกปลายแถว แต่เราต้องการระดับหัวกะทิ ถ้าสังคมไทยจะเจริญ คนที่จะดูแลสมองของลูกหลานเรา คนที่จะดูแลจิตใจของลูกหลานเรา จะต้องเป็นคนที่ดีที่สุดที่เราจะพึงหาได้

คุณจะไปหาคนพวกนี้มาจากไหน ถ้าคุณสร้างสิ่งจูงใจให้มันถูกจุด คุณก็ไม่ต้องไปบังคับใคร เขามาเอง การที่เราจะทำอย่างนี้หมายความว่าเราจะต้องสร้างระบบจูงใจให้ถูกต้อง ไม่เฉพาะแต่รายได้  สถานะของครูนี่สำคัญมากๆ ทำไมเด็กๆ ถึงได้ขวนขวายเรียนหมอกันนัก เพราะนอกจากจะรวยแล้ว มันยังมีสถานะในสังคม ใครๆ ก็เรียกคุณหมอ ใครๆ เจอหน้าก็ยกมือไหว้ อายุน้อยกว่าขนาดรุ่นลูกก็ยังต้องยกมือไหว้ เพราะเป็นหมอ แล้วถ้าครูยังไปฟ้อนรำอยู่อย่างนี้ ใครเขาจะมาเรียนครู

ซ้ำร้ายกว่านั้น เรายังสร้างค่านิยมที่ผิด คือสอนให้ครูโกง จากการปฏิรูปครั้งหลังสุด เราเอาอย่างพวกข้าราชการในมหาวิทยาลัย ใครอยากจะก้าวหน้าต้องเขียนผลงานวิชาการ เรียนฝึกหัดครูมาสี่ปี ไม่เคยเขียนผลงานวิชาการ แล้วทำอย่างไร อยากก้าวหน้าก็ไปจ้างเขาเขียน คุณสอนให้ครูทุจริตใช่หรือไม่ คุณบังคับให้ครูโกงใช่หรือไม่ แล้วคุณเอาคนพวกนี้มาสอนจริยธรรมให้ลูกหลานของคุณใช่หรือไม่ ครูเขาอยู่ดีๆ เขาไม่โกง คุณไปบังคับให้เขาโกง นี่คือผลพวงของการปฏิรูปการศึกษา

เพราะฉะนั้นถ้าคุณจะแก้ปัญหาเรื่องการศึกษา คุณต้องแก้ที่ครู การจะแก้ที่ครู ก็ต้องแก้ทางด้านอุปสงค์ไม่ใช่อุปทาน อุปทานมันตามมาเอง โจทย์อยู่ที่คุณจะทำอย่างไรกับครูที่มีอยู่สี่แสนกว่าคน ซึ่งส่วนมากด้อยคุณภาพ ครูเก่งครูดีมี แต่น้อยมาก คุณไล่คนพวกนี้ออกไม่ได้ เด็กสิบกว่าล้านคนจะเอาครูที่ไหนมาสอน และคุณก็ไม่ควรทำแบบนั้น เพราะมันไม่ใช่ความผิดของครู มันเป็นความผิดของคนที่ฝึกหัดครู

เราจะแก้ปัญหาเรื่องครูอย่างไร

วิธีแก้ง่ายๆ คือสร้างระบบคู่ขนาน ระบบเก่าก็ทำไป แต่คุณสร้างระบบใหม่ขึ้นมา ระบบใหม่คือครูคุณภาพ ฝึกหัดครูที่ทำๆ กันอยู่เลิกให้หมด เราห้ามคนมาเรียนไม่ได้ มหาวิทยาลัยมันเต็มประเทศ แต่เราต้องทำให้ทุกคนเข้าใจว่าตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เมื่อเรียนจบทางด้านนี้ยังไม่มีสิทธิ์สอนหนังสือแล้วใครจะมาสอน ครูคุณภาพมาจากไหน ก็ต้องต่อยอดมาจากบัณฑิตเฉพาะสาขาวิชา เข้ามาทำอะไร เข้ามาเรียนวิชาครูหนึ่งปี เพราะฉะนั้นจบมาแล้วถือว่าเป็นปริญญาโท 5 ปี มีเงินเพิ่มพิเศษ เหมือนหมอ เหมือนวิศวฯ จบออกมาแล้วได้เงินเดือนดีที่สุด ทางก้าวหน้าโล่งตลอด คุณไม่ต้องไปบริหาร ไม่ต้องเป็นอธิบดี คุณเป็นครูที่ดีคุณมีสิทธ์ได้ขึ้นเงินเดือน ทุกอย่างเราจะวางรูปแบบไว้หมดเรื่องสวัสดิการPijit (11) เรื่องสถานะทางสังคม เราจะตั้งสถาบันวิชาชีพครูขึ้นมา ใครเป็นสมาชิกแล้วมีหน้ามีตาในสังคม สถาปนิกเขาก็ต้องเป็นสมาชิกของสถาบันของเขา วิศวฯ ก็ต้องเป็น หมอก็ต้องเป็น ครูก็ต้องเป็น ใครมีประกาศนียบัตรนี้เอาไปติดหน้าบ้านได้เลย

ขณะเดียวกันครูสี่แสนกว่าคน จะทำอย่างไร หน้าที่อีกอย่างที่สำคัญของสถาบันนี้ก็คือยกระดับคุณภาพของครูที่มีอยู่ คือเราจะเปิดกว้างตลอดเวลา คุณย้ายจากสาย A มาสาย B ได้ตลอด ขอให้คุณสอบผ่าน ถ้ามีความก้าวหน้า มีสิ่งจูงใจแบบนี้ ครูขวนขวายแน่ ครูสอนภาษาอังกฤษ ให้ไปเรียนภาษาอังกฤษ ถ้าสอบไม่ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไม่ต้องผุดต้องเกิด คุณจะสอนคณิตศาสตร์ ก่อนที่ลูกของผมจะกลัววิชาคณิตศาสตร์ขี้หดตดหาย คุณต้องไปสอบให้ได้ สอบได้แล้วอ้าแขนรับเลย มาเลย มาเข้าสาย B เงินเดือนจากที่เคยได้ 10,000 เราให้คุณเลย 23,000 เอาไปเลย แต่คุณต้องสอบให้ได้

ถ้าเราทำอย่างนี้ เด็กที่หัวดีก็จะขวนขวายแล้วย้ายมาสายนี้ 10 ปี 20 ปี เราจะได้ระบบการศึกษาที่ดี ไม่ใช่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ คนไทยไม่โง่ คนไทยเก่งเท่ากับฝรั่ง พิสูจน์ได้ เรียนหนังสือเราโง่กว่าเสียเมื่อไร เพียงแต่เราให้โอกาสเขา ให้สิ่งจูงใจที่ถูกต้อง ปล่อยเขาไป เขาก็จะไปทำของเขาเองขอเพียงเท่านี้

คุณจะปฏิรูปอะไรก็ตาม ขอความกรุณาอย่าปฏิรูปการศึกษาได้ไหม ถ้าคุณจะทำอย่างเดิมก็ทิ้งมันเอาไว้ดีกว่า เพราะถ้าคุณปฏิรูปอย่างเดิมมันก็จะเลวลงไปอีก แล้วจะเสียทรัพยากรอีกไม่รู้เท่าไร

คุณต้องทำเรื่องการศึกษา แต่คุณต้องทำวิธีใหม่ คุณต้องจับให้ได้ว่าประเด็นปัญหามันอยู่ที่ไหน ประเด็นปัญหาอยู่ที่ครู คุณก็ต้องแก้ที่ครู แล้วคุณก็จะได้ระบบการศึกษาที่ดี และคุณต้องใจเย็น ประเทศสแกนดิเนเวียใช้เวลาสองชั่วคน เพื่อจะสร้างเด็กที่มีคุณธรรม ทำไมเราไม่ใช้เวลาสองชั่วคนเพื่อสร้างเด็กที่มีความรู้และคุณธรรม

หน้าที่ของครูไม่ใช่แค่ดูแลสมองของเด็กแต่ครูต้องดูแลจิตใจของเด็กด้วย และครูต้องเลิกเอาความชั่วใส่ในจิตใจของเด็ก เพราะไม่อย่างนั้นมันยิ่งฉลาดมันยิ่งโกง คนที่น่ากลัวมากๆ คือคนฉลาดที่โกง คนที่น่ากลัวมากกว่านั้นคือคนโง่ที่ขยัน พวกปฏิรูปการศึกษาคือคนโง่ที่ขยัน ปฏิรูปอยู่ได้ ไม่ยอมเลิก

แนวทางการแก้ปัญหาควรเป็นอย่างไร

ผมบอกไปแล้ว เรื่องการแก้ปัญหาการขาดจริยธรรม มันอยู่ที่ หนึ่ง ระบบการศึกษา ไม่ใช่ปฏิรูปอย่างที่ทำกันอยู่ คนที่จะดูแลจิตใจของเด็ก ต้องเป็นคนดี ต้องเป็นคนมีจริยธรรม ต้องเป็นคนที่รู้ว่าคนเป็นครูพึงทำอะไร คนเป็นครูไม่พึงทำอะไร เด็กที่จะเรียนจบออกไปเป็นบัณฑิต ต้องรู้ว่าบัณฑิตพึงทำอะไร บัณฑิตไม่พึงทำอะไร ต่อไปปัญญาชนพวกนี้จะเป็นผู้นำประเทศ พวกเขาต้องรู้ว่าผู้นำประเทศพึงทำอะไร ไม่พึงทำอะไร เราต้องทำกิจกรรม ต้องมีชมรม ต้องสั่งสอนเด็กให้ซึมซาบว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

สอง เราต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ขอยืมคำพูดของคุณยิ่งลักษณ์มาใช้หน่อยได้ไหม คือตั้งแต่หัวน้ำถึงท้ายน้ำ ที่ไม่ดีคือตำรวจ คืออัยการ คุณต้องปฏิรูปทั้งกระบวนการ โดยจัดระบบตำรวจใหม่ แต่ไม่ใช่ไปตั้งกระทรวงนะ แล้วก็ไม่ใช่ให้เป็นเรื่องของท้องถิ่น คุณต้องหาวิธีที่จะให้สิ่งจูงใจกับตำรวจ เช่นเดียวกับครู

กระบวนการยุติธรรมของเราไม่ดี เพราะตำรวจไม่ดี ต้องแก้ที่ตำรวจ ตำรวจดีให้เจริญ ตำรวจเลวให้ติดคุก อัยการก็เหมือนกัน อีกอย่างหนึ่งก็คือ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรอิสระ ให้ตรวจสอบได้ทุกเรื่อง ทำไมสิงคโปร์ทำได้ สิงคโปร์ทำสองอย่างควบคู่กัน แต่ของเขาง่ายกว่าเราเยอะเพราะเขามีคนน้อย  ถ้าข้าราชการดีเขาเพิ่มเงินเดือนให้ แล้วก็ให้ก้าวหน้า พอมีพอกินไม่ต้องโกง ไม่ต้องออกไปทำงานธนาคาร ทำราชการนี่แหละ  แต่ถ้าใครโกงเขาจับเข้าตะราง เกาหลีใต้ก็ทำ ประธานาธิบดีเข้าคุก ญี่ปุ่นเอานายกรัฐมนตรีเข้าคุก เขาทำจนกลายเป็นเรื่องปกติในสังคม รัฐมนตรีหญิงอังกฤษถูกหนังสือพิมพ์กล่าวหาว่าใช้เงินค่าเดินทางเกินสมควร เขาก็ลาออก ของอังกฤษเขาเพียงแค่หนังสือพิมพ์ แล้วก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่เลย เป็นคอลัมน์เล็กๆ บอกว่ารัฐมนตรีคนนี้ใช้เงินค่าเดินทางเกินสมควร อาทิตย์ต่อมา ลาออกเลย

เรื่องจริยธรรมแห่งความยั่งยืนเราจะจัดการกับมันอย่างไร

นี่เป็นเรื่องของผู้รู้โดยตรง ต้องเป็นผู้นำ เป็นคนเบิกทาง ทีดีอาร์ไอต้องเบิกทาง ไม่ใช่นั่งกระดิกเท้าสบายใจ เพราะถ้าโลกอยู่ไม่ได้ เมืองไทยอยู่ไม่ได้ ทีดีอาร์ไอก็อยู่ไม่ได้ คุณก็อยู่ไม่ได้ ลูกของคุณก็อยู่ไม่ได้  สิ่งที่ต้องทำโดยเร็วที่สุดก็คือ พวกผู้รู้ พวกสถาบันวิชาการ สถาบันอิสระ ต้องหันมาจับเรื่องความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญ ไม่ทำอย่างอื่นไม่ว่า แต่เรื่องนี้คุณต้องจับให้ได้ แล้วคุณจะต้องจับที่ต้นตอ ต้นตอของมันถ้าเราดูในระดับผิวเผินคือการบริโภคเกินควร แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ตัวแปรหลัก ตัวแปรหลักก็คือจริยธรรมของมนุษย์ จริยธรรมที่ตั้งอยู่บนความโลภอันไร้ขอบเขต โรคร้ายที่ทำให้สังคมมนุษย์อยู่ไม่ได้ อารยธรรมมนุษย์อยู่ไม่ได้ ดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่ไม่ได้ คือทุนนิยม

เราจะทำอย่างไรให้ทุนนิยมมันยั่งยืน

คุณต้องสร้างใหม่ทั้งหมด วิธีที่จะทำให้โลกยั่งยืนนั้นง่ายนิดเดียว คือคนจนและประเทศจนต้องมีลูกน้อยลง คนรวยและประเทศรวยต้องบริโภคน้อยลง เท่านี้ก็อยู่ได้ เราไม่มีปัญญาสร้างระบบเศรษฐกิจที่จะทำให้คนสองหมื่นล้านคนอยู่ดีกินดีได้ตลอดไป ไม่อย่างนั้นก็ต้องหาโลกมาอีกแปดใบ แต่เราทำให้คนไม่เกินแปดพันล้านคนมีชีวิตที่ดีพอสมควรทางด้านวัตถุได้ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาพัฒนาชีวิตทางจิตใจ มีชีวิตที่มีคุณธรรม และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น นี่คือทางออกPijit (4)

ประเทศไทยทำอะไรได้บ้าง

ที่ประเทศไทยทำได้คือทำการวิจัยเรื่องความไม่ยั่งยืน คุณชื่อสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ถ้าประเทศไทยล่มจมไม่มีอะไรให้พัฒนาแล้วคุณจะวิจัยอะไร ทำไมพรุ่งนี้ทีดีอาร์ไอไม่ตั้งโครงการวิจัยสำหรับทั้งสถาบัน ผมบอกชื่อคุณไปเลย กระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในโลกที่อิ่มตัวแปลว่าอะไร ตั้งแต่ยุคที่เริ่มมีโฮโมเซเปียนส์ มีมนุษย์ที่รู้ความ มาจนถึงทศวรรษที่ 3 ของศตวรรษที่ 20 เราอยู่ในโลกที่ว่างเปล่า แต่นับจากทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา เราอยู่ในโลกที่อิ่มตัว โลกที่ว่างเปล่าคือโลกที่การกระทำของมนุษย์ยังมีขนาดเล็ก ไม่กระทบกระเทือนถึงระบบทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศของโลก คือทำไปเถอะ มันเสียหายเฉพาะจุด แต่มันไม่ทำลายทั้งระบบ โลกที่อิ่มตัวคือโลกที่การกระทำของมนุษย์มีผลกระทบโดยตรงต่อระบบทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศของโลก สุดท้ายถ้าเราไม่ปรับตัว การกระทำของมนุษย์จะทำลายทั้งสองระบบจนย่อยยับ ไม่อาจฟื้นคืนมาได้ นี่คือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์พูด ไม่ใช่ผมพูด

30 ปี ทีดีอาร์ไออะไรคือความสำเร็จ อะไรคือความล้มเหลว

ผมคิดว่าสิ่งที่เชิดหน้าชูตาของเราคือความสามารถ ความเป็นผู้นำในการดึงดูดคนดี คนมีความรู้ คนมีฝีมือ มาอยู่เต็มสถาบันไปหมด เรื่องนี้ต้องถือเป็นความสามารถ แต่น่าเสียดายที่ไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ ทำอะไรก็ไม่รู้ บอกให้ไปทำเรื่องประชานิยม เรื่องคอร์รัปชั่น ก็ไปปฏิรูปการศึกษา บอกให้ไปทำเรื่องความยั่งยืน ก็ไปทำเรื่องอะไรไม่รู้

มันก็มีดีนะ ปรับปรุงระบบภาษีบ้างอะไรบ้าง ก็ไม่ใช่ว่าจะไร้ประโยชน์เสียทีเดียว แต่อย่างที่ผมบอกมันน่าเสียดายศักยภาพ คุณเอาคนระดับหัวกะทิมาอยู่ในมือ แล้วคุณไม่ใช้ให้เขาแก้ปัญหาของบ้านเมือง คุณทำอะไรกันอยู่

ถ้าเราเป็นคนมีจริยธรรม เราต้องรู้ว่าในฐานะ Think Tank ชั้นนำของประเทศ เราควรทำอะไร เราต้องแก้ปัญหาของบ้านเมือง สิ่งที่เราต้องทำก็คือหาให้พบว่าสังคมไทยมีอะไรที่เป็นจุดแข็ง แล้วช่วยกันเสริมสร้างให้มันแข็งยิ่งขึ้น ให้มันดียิ่งขึ้น ช่วยกันคิด ช่วยกันค้นคว้าวิจัยว่าประเทศไทยมีอะไรเป็นจุดอ่อน แล้วช่วยกันแก้จุดอ่อนให้มันดีขึ้น นี่คือสิ่งที่เราต้องทำ นี่คือหน้าที่ของเรา นี่คือจริยธรรมของเรา

ขณะเดียวกันเรามีอะไรที่ไม่พึงกระทำ เราต้องไม่กลัวนักการเมือง เราต้องไม่กลัวเศรษฐี เราต้องไม่กลัวคนที่ให้เงินสนับสนุน ถ้าทำแล้วเขาไม่พอใจ ไม่ให้เงินสนับสนุน เจ๊งก็เจ๊ง นี่คือหน้าที่ของเรา

 สัมภาษณ์: ปกป้อง จันวิทย์  เรียบเรียง: กิตติพงศ์ สนธิสัมพันธ์ ถ่ายภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง