แก้ความเหลื่อมล้ำในไทย ดร.สมชัย แนะสร้างระบบสวัสดิการทางเลือกที่ดีกว่า ทำประชานิยม

ปี2015-09-23

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอ รายงานวิจัยเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย : แนวโน้ม นโยบายและแนวทางขับเคลื่อนนโยบาย” ซึ่งมีข้อมูล ตลอดจนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สำคัญ ในขณะที่รัฐบาลกำลังเดินหน้านโยบายลดความเหลื่อมล้ำ ดังนี้

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึงสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ผู้เสนอรายงานวิจัย ได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วยการอัดฉีดเงินเข้าระบบในระดับหมู่บ้านไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้

มาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ประกอบไปด้วยมาตรการให้สินเชื่อปลอดดอกเบี้ยในระยะเวลา 2 ปีกับกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท และมาตรการการจ่ายเงินให้ตำบลต่างๆ ทั่วประเทศตำบลละ 5 ล้านบาทจะมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำได้ชั่วคราวประมาณ 1-2 ปี แต่ไม่ใช่นโยบายที่จะสามารถลดหรือแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน

DSC01798
ดร.สมชัย จิตสุชน นักวิจัยทีดีอาร์ไอ

 

นายสมชัยระบุว่าสาเหตุมาจากการใช้เงินตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นเรื่องวัดผลได้ยากว่าประชาชนที่ได้รับเงินนำไปทำอะไรบ้าง ตัวอย่างเช่น ข้อกำหนดที่บอกว่าห้ามนำเงินไปใช้หนี้นั้นในทางปฏิบัติไม่สามารถห้ามได้ ในส่วนของการนำเงินไปใช้ในการสร้างอาชีพก็ต้องมีการติดตามผลว่ามีการนำเงินจำนวน ดังกล่าวไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์นี้มากน้อยเพียงไร ซึ่งถ้าดูจากประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมาในปี 2543-2544 ที่รัฐบาลในขณะนั้นใส่เงินลงไปในกองทุนหมู่บ้านกว่า 1 แสนล้านบาทก็ช่วยในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะเวลาจำกัด 1-2 ปี เท่านั้น

“ที่จริงแล้วมีกลไกในระบบสถาบันการเงินที่จะส่งเสริม การเข้าถึงเงินทุนของประชาชนทั่วไปอยู่แล้วซึ่งเรื่องนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามทำอยู่ ขณะที่มาตรการที่รัฐบาลใช้โดยหวังผลในเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อเราไปดู ประสบการณ์จากในอดีตก็จะได้ผลในระยะหนึ่ง ขณะที่มีปัญหาในทางปฏิบัติในหลายส่วนและไม่ได้ช่วยในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ”

นายสมชัย เตือนว่าสถานการณ์ความ เหลื่อมล้ำในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นต่อไปในอนาคต และจะเกิดปัญหาทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมตามมาได้

เขาได้อ้างอิงดัชนีความยากจนที่ใช้ข้อมูลทางการที่ใช้การวัดค่าสัมประสิทธิ์ของจีนี่ (Gini Coefficient) ซึ่งวัดความแตกต่างระหว่าง รายจ่ายกับรายได้ของประชากรในประเทศจะไม่เพิ่มขึ้นในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาแต่พบว่าการเก็บข้อมูลโดยเฉพาะรายได้ของกลุ่มผู้ที่มีรายได้สูงของประเทศมีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากจำนวนหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่ดัชนีบ่งชี้ความเหลื่อมล้ำของทางการกลับบอกว่าความเหลื่อมล้ำไม่เปลี่ยนแปลง

“คาดว่ามาจากจำนวนรายได้ของคนรวยที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จึงสามารถตั้ง ข้อสังเกตได้ว่าข้อมูลเรื่องความเหลื่อมล้ำ ของทางการไม่สะท้อนความเป็นจริง”

นอกจากนี้เมื่อคาดการณ์แนวโน้มความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยโดยเทียบกับหลายประเทศ พบว่าสถานการณ์ของไทยย่ำแย่ลง

“ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนจากการศึกษาพบว่าเมื่อเทียบกับประเทศเกาหลีใต้และไต้หวันในช่วงเวลาที่มีระดับการพัฒนาเท่ากันเรามีความเหลื่อมล้ำสูงกว่า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายการคลังเรายังใช้จ่ายในเรื่องการคุ้มครองทางสังคม เช่นการศึกษา และการสาธารณสุขน้อยมาก โดยอยู่ที่ประมาณ 1.7% ของจีดีพีขณะที่เกาหลีใช้จ่ายประมาณ 4% ของจีดีพี ขณะที่จีนใช้จ่ายมากถึง 4.3% ของจีดีพีขณะที่บราซิลซึ่งเคยมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำสูงช่วงหนึ่งใช้จ่ายเงินในเรื่องการคุ้มครองทางสังคมและสวัสดิการสูงถึง 12.7% ของจีดีพีซึ่งช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ในระดับที่น่าพอใจ”

นายสมชัย มองว่าความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยยังเป็นปัญหาโครงสร้างอำนาจทางการเมือง ซึ่งความเหลื่อมล้ำอำนาจทางการเมืองนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และทำให้นโยบายที่จำเป็นสำหรับการเหลื่อมล้ำ เช่น นโยบายการปฏิรูปการศึกษาไม่ถูกนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ความยากจนและความเหลื่อมล้ำลดลงช้ากว่าที่ควร

นอกจากนั้นยังส่งผลต่อปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน โดยคนจนขาดทรัพยากรในการติดตามตรวจสอบคนรวยที่เข้าสู่อำนาจทางการเมือง ซึ่งแนวทางการแก้ไขในส่วนนี้ต้องมุ่งสร้างการพัฒนาระบบประชาธิปไตยจากฐานรากให้ประชาชนมีส่วนร่วมผลักดันการปฏิรูปมากกว่าการพัฒนาประชาธิปไตยในเชิงรูปแบบเท่านั้น

นายสมชัยเสนอว่าแนวทางการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างระบบสวัสดิการที่เหมาะสมกับประเทศไทยโดยมุ่งเน้นการสร้างทางเลือกที่ดีกว่านโยบายประชานิยม โดยนโยบายประชานิยม ส่วนหนึ่งเกิดมาจากการที่นักการเมืองเห็นช่องว่างจากความเหลื่อมล้ำและเสนอนโยบายที่จะลดความเหลื่อมล้ำและไม่ชอบธรรม

“นโยบายที่เสนอโดยนักการเมืองมักจะใช้งบประมาณจำนวนมากจนการคลังรับภาระไม่ไหว ดังนั้นทางเลือกที่ดีกว่านโยบายประชานิยมก็คือการจัดระบบสวัสดิการที่ดี เป็นระบบที่ครอบคลุม ทั่วถึง ยุติธรรม ยั่งยืน สามารถตอบสนองความต้องการระยะสั้นและระยะยาวโดยไม่เลือกกลุ่มรับผลประโยชน์”

9-23-2015 8-30-20 AM
ข้อมูลภาพจาก รายงานวิจัยโดย ดร.สมชัย จิตสุชน ปรับแต่งภาพโดย กรุงเทพธุรกิจ

นอกจากนั้นระบบสวัสดิการที่ดีต้องเป็นทางสายกลางระหว่างความทั่วถึง/เท่าเทียมกับ ความยั่งยืน ซึ่งหมายถึงเป็นระบบที่ไม่แพงเป็น ภาระของงบประมาณจนเกินไป รวมทั้งมีความ สมดุลระหว่างการรับภาระของภาครัฐและ ทุกภาคส่วน และเป็นระบบที่ตอบสนองต่อตลาดแรงงานคือไม่ใช่ระบบที่เอื้อให้คนพึ่งพาสวัสดิการมากจนไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพแรงงานประกอบกันด้วย

“นโยบายการคลังที่ช่วยสร้างระบบสวัสดิการสังคมที่ดีจะประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ความทั่วถึง ครบถ้วน ไม่แพงแต่มีประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ ได้จริง ให้น้ำหนักกับการลงทุนด้านสังคมโดยเมื่อกำหนดนโยบายหรือมาตรการต้องทบทวนมาตรการเป็นระยะๆ โดยต้องทำคู่กับการปฏิรูประบบการบริหารและเร่งสร้างประชาคมสวัสดิการ” นายสมชัยกล่าว

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูป แห่งชาติ (สปช.) ในฐานะผู้วิจารณ์งานวิจัย กล่าวเสริมว่าปัญหาการเหลื่อมล้ำในประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาเฉพาะในเรื่องของรายได้เท่านั้น แต่หากมองในเรื่องของการถือครองทรัพย์สินจะพบว่ามีปัญหาความเหลื่อมล้ำที่สูงมาก

นายกอบศักดิ์ ยกตัวอย่าง ตัวเลขเงินฝากในบัญชีพบว่าจากจำนวนเงินฝากทั้งหมด 86 ล้านบัญชี เงินฝากในจำนวนเพียง 100,000 บัญชีมีเงินฝากรวมกันถึง 5 ล้านล้านบาท ขณะที่บัญชีที่เหลืออีกประมาณ 85 ล้านบัญชี มีเงินฝากรวมกันเพียง 3 แสนล้านบาทเท่านั้น

DSC01945
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูป แห่งชาติ (สปช.)

ตัวเลขการถือครองที่ดินพบว่าผู้มีรายได้สูงที่สุด 10-20% แรกของประเทศถือครองที่ดินรวมกัน 80% ของที่ดินทั้งหมด ขณะที่ คนจนที่สุด10-20% ของประเทศถือครองที่ดินรวมกันเพียง 0.24% ของที่ดินทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนห่างกันประมาณ 800 เท่า

การแก้ไขในเรื่องนี้มองว่าการเก็บภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างยังมีความจำเป็นโดยเฉพาะที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เนื่องจาก มีงานวิจัยที่พบว่าเราสูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจจากการปล่อยที่ดินรกร้างกว่าปีละ 1 แสนล้านบาท

นอกจากนั้นควรมีการทบทวนมาตรการการยกเว้นภาษีใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่ภาษีเพื่อสนับสนุนการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่คิดเป็นเม็ดเงินที่รัฐต้องสูญเสียปีละกว่า 3-4 แสนล้านบาท ซึ่งต้องมาดูว่าอุตสาหกรรมที่ให้การส่งเสริมนั้นสามารถสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้คุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน เป็นอุตสาหกรรมที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่จะยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศหรือไม่

การหักลดหย่อนภาษีให้กับผู้ที่ซื้อกองทุน RMF-LTF ควรพิจารณาทบทวนใหม่ โดยเฉพาะผู้ที่ซื้อ LTF ที่มีจุดประสงค์ในการลดหย่อนภาษีมากกว่าการเก็บออมในระยะยาวโดยควรจะมีการกำหนดเพดานในการซื้อกองทุน LTF เพื่อไม่ให้รัฐสูญเสียรายได้มากนัก

ส่วนกองทุน RMF รัฐอาจสามารถให้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีต่อไปได้เนื่องจากเป็นกองทุนที่มีวัตถุประสงค์ในการเก็บออมเงินระยะยาวไว้ใช้ในช่วงเกษียณอายุ

สำหรับการใช้มาตรการทางการคลังในการลดความเหลื่อมล้ำก็ต้องมีการจัดสรรให้เหมาะสมกับกลุ่มคนที่ควรได้รับการอุดหนุนเท่านั้น เช่น มาตรการการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุซึ่งปัจจุบันมีผู้รับเบี้ยผู้สูงอายุอยู่ 8 ล้านคนคิดเป็นงบประมาณปีละประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งข้อมูลที่พบระบุว่าในกลุ่มนี้มีผู้สูงอายุที่ยากจนเพียง 1 ล้านคนเท่านั้น

“หากจัดสัดส่วนตรงนี้ใหม่จ่ายเงินเฉพาะผู้สูงอายุที่ยากจนจำนวน 1 ล้านคนจะสามารถเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเพิ่มให้เป็นคนละ 2,000-4,000 บาทต่อเดือนจากปัจจุบันจ่ายได้เพียงเฉลี่ย 700 บาทต่อคนต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งนโยบายสวัสดิการสังคมต้องมีการออกแบบให้มีความเหมาะสม”

——————-

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 22 กันยายน 2558 ในชื่อ “วิกฤติความเหลื่อมล้ำ’จน-รวย’ช่องว่างรายได้-สัดส่วนครองทรัพย์สินพุ่ง”

เทปบันทึกภาพและเอกสารการรายงานผลวิจัย “ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย : แนวโน้ม นโยบายและแนวทางขับเคลื่อนนโยบาย”