ความโปร่งใส 2.0 : นำเข้ามาตรฐานสากลเพื่อลดขัดแย้งและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

ปี2015-10-08

ธิปไตร แสละวงศ์
สุนทร ตันมันทอง

ในตอนแรกของบทความนี้ (ความโปร่งใส 1.0 : ว่าที่กฎหมายความโปร่งใสฉบับใหม่) ผู้เขียนได้กล่าวถึงการเปิดเผยข้อมูลของรัฐภายใต้กรอบ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ซึ่งกำหนดให้ตั้งคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ เพื่อ “ไล่บี้” หน่วยงานรัฐ ให้เปิดเผยข้อมูลแก่ประชาชน หากแต่ว่ากาลเวลาได้พิสูจน์ให้เห็นว่า กระบวนการทำงานแบบให้หน่วยงานรัฐติดตามการทำงานหน่วยงานรัฐด้วยกันเองนั้น เห็นผลสำเร็จล่าช้าและสิ้นเปลืองงบประมาณ

เวลาผ่านไปแล้ว 18 ปี หลังจากประเทศไทยมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ 2540 จึงถึงเวลาที่เราจะต้อง “อัปเดต” กระบวนการเปิดเผยข้อมูลเวอร์ชั่นใหม่ ที่ผู้เขียนเรียกว่า “ความโปร่งใส 2.0” ซึ่งเราสามารถเรียนรู้จากโครงการความโปร่งใสของต่างประเทศ 2 โครงการ ได้แก่ CoST (คอสท์ – Construction Sector Transparenct Initiative) หรือ “โครงการความโปร่งใสในโครงการก่อสร้างภาครัฐ” และ EITI (อีไอทีไอ-Extractive Industries Transparency Initiative) หรือ “โครงการความโปร่งใสในการสกัดทรัพยากรธรรมชาติ”

ทั้งสองโครงการถูกริเริ่มและได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ รัฐบาลและองค์กรพัฒนาเอกชนในต่างประเทศหลายแห่ง โดยเฉพาะธนาคารโลก รัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลนอร์เวย์ ในปัจจุบัน โครงการ CoST มีสมาชิกแล้วกว่า 14 ประเทศ ส่วน EITI มีประเทศที่สนใจเข้าร่วมถึง 48 ประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศพัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศไทยนั้น ได้สมัครเพื่อเข้าเป็นสมาชิกในโครงการ CoST ปลายปี 2557 และ EITI เดือนมิถุนายนปี 2558

คำถามที่ตามมาคือ โครงการชื่อแปลกๆ เหล่านี้คืออะไร ทำงานอย่างไร และสังคมไทยจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง

สำหรับคำถามแรก จุดประสงค์ที่สำคัญที่สุดของโครงการทั้งสองนี้มีอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน คือ หนึ่ง การส่งเสริมให้มีการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ โดยที่มีภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดมาตรฐาน และตรวจสอบการเปิดเผยข้อมูลและ สอง การนำข้อมูลที่ถูกเปิดเผยนั้นมาตรวจสอบความถูกต้อง และ “ย่อย” ให้อยู่ในรูปแบบที่คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้สังคมได้รับรู้และนำไปสู่การถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ต่อไป เพราะโครงการก่อสร้างของรัฐ และโครงการสัมปทานขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติ เป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอันดับต้นๆ และมีการจ้างงานจำนวนมาก เห็นได้จากมูลค่างบประมาณตามแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งปี 2558-2565 ที่ประเมินไว้ที่ 1.9 ล้านล้านบาท และมูลค่ารายได้ภาษีปิโตรเลียม 1 แสนล้านบาท หากแต่ว่าธุรกิจดังกล่าว ก็มักมีเรื่องปัญหาความขัดแย้งกับชุมชน การละเมิดสิทธิมนุษยชน การทำลายสิ่งแวดล้อม การจ่ายสินบน และการทุจริตคอร์รัปชันอยู่บ่อยครั้ง ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่รัฐจะต้องดำเนินงานอย่างโปร่งใส ตามมาตรฐานที่สากลกำหนดไว้อย่างมาก

CoST จะเน้นให้เปิดเผยข้อมูลการดำเนินโครงการก่อสร้างต่างๆ ของรัฐ ตั้งแต่โครงการที่ไม่ค่อยซับซ้อน อย่างถนนและท่อประปา จนถึงการก่อสร้างที่มีความซับซ้อนมาก เช่น สนามบินและรางรถไฟ เป็นต้น โดยจะติดตามตั้งแต่ช่วงการเริ่มขออนุมัติโครงการ จนไปถึงช่วงตรวจรับงาน ผลที่คาดหวังปลายทางเพื่อให้สังคมทราบว่า โครงการก่อสร้างของรัฐแต่ละแห่งนั้น ใช้งบประมาณเท่าไร มีประโยชน์ต่อประเทศเพียงใด มีผลกระทบกับใคร และจะชดเชยอย่างไร สุดท้าย หากมีปัญหาต้นทุนบานปลายหรือโครงการล่าช้า จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลเพื่อตอบสังคมให้ได้ว่า เพราะเหตุใด

สำหรับ EITI นั้น จะเน้นเพียงการเปิดเผยข้อมูลการใช้สัมปทาน และสิทธิในการขุดเจาะน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และการทำเหมืองแร่ โดยมีข้อมูลสำคัญๆ ได้แก่ ปริมาณน้ำมัน ก๊าซหรือแร่ที่มีอยู่ ปริมาณการผลิต รายได้จากการขายทรัพยากรธรรมชาตินั้นๆ ของบริษัทเอกชน และเงินที่รัฐได้จากการให้สิทธิเอกชน ข้อมูลทั้งหมดที่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานของสำนักเลขาธิการสากลของแต่ละโครงการ ซึ่งกำหนดไว้ว่า แต่ละประเทศที่เข้าร่วมโครงการ ต้องเปิดเผยข้อมูลอะไรบ้าง และภายในระยะที่กำหนด เราจึงมั่นใจได้ว่า ข้อมูลที่เปิดเผยมานี้เป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และก็เป็นข้อมูลที่ประเทศไหนๆ ก็เปิดเผยได้ และเคยเปิดเผยจริงๆ

สำหรับคำถามที่สองนั้น ในทางปฏิบัติ รัฐบาล ภาคประชาสังคม และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง จะต้องร่วมกันจัดตั้ง “คณะกรรมการผู้มีส่วนได้เสียหลายภาคส่วน”หรือ MSG (Multi-Stakeholders Group) ซึ่งเป็นหัวใจหลักของ CoST หรือ EITI เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็น โดยหน่วยงานรัฐหรือบริษัทเอกชนเจ้าของโครงการ จะต้องร่วมมือกับคณะกรรมการ MSG โดยการนำข้อมูลที่มีอยู่มาให้ แน่นอนว่าในความเป็นจริง การทำงานของสามภาคส่วนนี้ไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่น

จากประสบการณ์ของต่างประเทศ พบอุปสรรคสำคัญๆ ที่ทำให้คณะกรรมการ MSG ทำงานไม่ได้สองประการ คือ

หนึ่ง รัฐบาลไม่เล่นด้วยหรือขาดแรงผลักดันทางการเมือง และ สอง ตัวแทนภาคประชาสังคมไม่สามัคคี หรืออ่อนแอเกินไปที่จะต่อรองกับเอกชนและรัฐบาล อุปสรรคเหล่านี้ทำให้คณะกรรมการ MSG ขาดความน่าเชื่อถือ และทำงานไม่ได้ตามมาตรฐาน จึงเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้และระมัดระวังไม่ให้เกิดขึ้น

คำถามสุดท้าย แล้วสังคมไทยจะได้ประโยชน์อะไร

จากทัศนะของผู้เขียน นอกเหนือจากเรื่องข้อมูลของรัฐที่ประชาชนจะได้รับทราบมากขึ้นแล้ว CoST และ EITI จะช่วยสอนให้รัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมได้ทำงานร่วมกัน ผ่านการจัดตั้งคณะกรรมการ MSG จึงถือได้ว่าโอกาสนี้จะเป็นเวลาพิสูจน์ว่า รัฐบาลและภาคเอกชนมีความจริงใจเพียงใดในการสร้างความโปร่งใสในการดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน ที่ตั้งคำถามกับเรื่องนี้มานาน นอกจากนี้ ก็ยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับภาคประชาสังคม และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ที่เคยเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยกับโครงการต่างๆ ของรัฐ ได้แสดงศักยภาพให้สังคมได้เห็นว่า เมื่อโอกาสมาถึง ก็พร้อมที่จะปรับกระบวนการทำงาน เพื่อปกป้องผลประโยชน์โดยรวมของสังคมไทยเช่นกัน

เมื่อประเทศไทยได้ตัดสินใจว่า จะนำโครงการดังกล่าวมาใช้ แต่ถ้าการดำเนินโครงการดังกล่าวไปไม่รอด ประเทศก็คงไม่เสียอะไรไปมากกว่าการ “เสียหน้า” ในหมู่ประเทศสมาชิกด้วยกัน ที่รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่เข้าไปอยู่ใน “คลับ” ของประเทศที่อยากจะหนีให้หลุดจาก “ความเชย” ที่ทุกภาคส่วนยังทำงานแบบเดิมๆ ต่างคนต่างทำ

สุดท้ายนี้ “ความโปร่งใส 2.0” จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ก็คงต้องขึ้นอยู่กับคนในสังคมไทย ว่าจะสนใจผลักดันให้เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด

———–

ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 8 ตุลาคม 2558 ใน คอลัมน์: วาระทีดีอาร์ไอ: ความโปร่งใส 2.0 : นำเข้ามาตรฐานสากลเพื่อลดขัดแย้งและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘เผยแพร่ความรู้ด้านการเสริมสร้างธรรมาภิบาลและการลดคอร์รัปชัน’ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)