เปิด AEC กระทบตลาดข้าว แนวโน้มการบริโภคลดลง

ปี2015-12-22

ทีดีอาร์ไอเปิดผลวิจัยการบริโภคข้าวมีแนวโน้มลดลง กลุ่มค้าข้าวชี้เปิดเออีซี 2559 กระทบตลาดข้าวไทย เหตุแรงงานต่างด้าวกลุ่มบริโภคหลักย้ายกลับบ้าน ขณะที่ความต้องการใช้ข้าวในอุตสาหกรรมจะขยายตัว เชื่อการบริโภคข้าวหอมมะลิของไทยจะมีปริมาณเพิ่ม เนื่องจากประชาชนมีรายได้มากขึ้น

ที่โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 21 ธันวาคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แถลงผลการศึกษา “โครงการประมาณการบริโภคข้าว (Rice Balance Sheet : An estimation of uses of rice in Thailand)” โดย นายณัฐนันท์ วิจิตรอักษร นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ได้นำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นของการประมาณการบริโภคข้าวของไทย พบว่าในปี 2556 ประเทศไทยมีการบริโภคข้าวรวม 7.11 ล้านตัน แยกเป็นข้าวสารและก๋วยเตี๋ยว 5.3 ล้านตัน อาหารสำเร็จรูปที่ซื้อมาบริโภคที่บ้าน 924,000 ตัน และข้าวที่บริโภคนอกบ้าน 813,000 ตัน โดยในจำนวนนี้ได้รวมข้าวที่บริโภคโดยกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศด้วย โดยนักท่องเที่ยวในกลุ่มเอเชียตะวันออกเป็นกลุ่มที่บริโภคมากที่สุด ประมาณ 28,000 ตัน รองลงมาคือ ยุโรป 17,000 ตัน และอื่นๆ 7,000 ตัน

“ขณะที่ประมาณการใช้ข้าวในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ล่าสุดยังไม่สามารถสรุปได้ เพราะข้อมูลของโรงงานในประเทศไทยยังไม่ได้รับการปรับปรุง จึงทำให้การประมาณการใช้ข้าวทำได้ยาก แต่ถ้าดูข้าวที่นำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ พบว่ามีปริมาณทั้งหมด 1.51 ล้านตัน” นายณัฐนันท์กล่าว

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การบริโภคข้าวในภาพรวมยังไม่มีความกังวลว่าจะขาดแคลน เพราะปัจจุบันอัตราการบริโภคมีความเปลี่ยนแปลงน้อย ในภาพรวมการบริโภคข้าวของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 7 ล้านตันต่อปี หากนับรวมในอุตสาหกรรมแปรรูปอื่นๆ ที่ใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบจะอยู่ที่ 10 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ ยอมรับว่าอัตราการบริโภคข้าวของคนไทยมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะคนในเมืองซึ่งบริโภคข้าวเฉลี่ยเพียงคนละ 90-95 กิโลกรัมต่อปี ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมแป้งกลับมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น

ด้านนายสมเกียรติ มรรคยาธร นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย เปิดเผยว่า การเปิดประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการในปี 2559 จะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และจะกระทบต่อตลาดข้าวภายในประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวปริมาณแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทยจะเดินทางกลับไปทำงานยังประเทศของตนเองเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การบริโภคข้าวในไทย ซึ่งบริโภคเฉลี่ยคนละ 100-104 กิโลกรัมต่อปี จะปรับตัวลดลง จึงอยากให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ควรเตรียมพร้อมและปรับตัวรองรับสถานการณ์

“การเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปริมาณการบริโภคข้าวลดลง นับตั้งแต่ช่วงการเปิดประชาคมอาเซียนเป็นต้นไป ซึ่งจากที่ผ่านมากลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นกลุ่มที่บริโภคข้าวเป็นจำนวนมาก เมื่อย้ายกลับไปทำงานยังประเทศของเขา จะส่งผลให้สัดส่วนการบริโภคข้าวลดลงตามไปด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่า กลุ่มแรงงานที่จะย้ายกลับไปมีปริมาณมากน้อยเพียงใด จึงต้องรอดูสถานการณ์อีกครั้ง ขณะเดียวกันเชื่อว่าจากนี้ไปสิ่งที่จะมีความสำคัญขึ้นมาก็คือ ความต้องการใช้ข้าวในอุตสาหกรรมจะมีปริมาณมากยิ่งขึ้น ทั้งที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลังงาน หรือแปรรูปเป็นแป้งทำเส้นก๋วยเตี๋ยว” นายสมเกียรติกล่าว

นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย กล่าวว่า แม้ว่าในภาพรวมของการบริโภคข้าวจะลดลง แต่ในปีหน้ายังเชื่อว่า การบริโภคข้าวหอมมะลิของไทยจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นก็อยากบริโภคข้าวที่มีคุณภาพมากขึ้น ขณะที่ราคาก็ไม่ได้มีราคาที่สูงมากนัก คาดว่าความต้องการข้าวหอมมะลิในตลาดภายในประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ด้านการทำข้าวถุงในแต่ละปีนั้น เบื้องต้นมีความต้องการใช้ข้าวเพื่อทำข้าวถุงอยู่เฉลี่ยปีละ 4-5 ล้านตัน

ส่วนนายวราทัศน์ วงศ์สุรไกร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โรงเส้นหมี่ชอเฮง จำกัด กล่าวว่า เมื่อเปิดประชาคมอาเซียนมาแล้ว กังวลว่าโรงงานที่ผลิตแป้ง หรือผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวขนาดเล็กของไทยจะประสบปัญหาอย่างมาก เพราะจะไม่สามารถสู้กับต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นได้ โดยปัจจุบันแม้ว่า ไทยจะเป็นผู้ที่ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวที่มีคุณภาพมากที่สุดในภูมิภาค และเป็นที่ยอมรับของตลาด แต่ถ้าหากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา และเวียดนาม พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตขึ้นมาเทียบเท่ากับไทย โดยที่มีต้นทุนการดำเนินงานที่ถูกกว่า ทั้งค่าแรง และวัตถุดิบ จะทำให้ผู้ประกอบการของไทยเดือดร้อนอย่างแน่นอน.


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน ไทยโพสต์ เมื่อ 22 ธันวาคม 2558 ในชื่อ ‘เปิด AEC กระทบตลาดข้าว แนวโน้มการบริโภคลดลง’