แนะไทยงัด’ข้อยกเว้นพิเศษ’ รับผลกระทบเข้าร่วม ‘ทีพีพี’

ปี2016-02-25

 

วานนี้(24 ก.พ.) องค์การส่งเสริม การค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกันจัดสัมนาเรื่อง “สาระสำคัญและ ข้อกังวลแห่งการเข้าสมาชิก TPP” ในขณะที่ รัฐบาลไทยกำลังพิจารณาการเข้าร่วม ข้อตกลงดังกล่าว

การเคลื่อนไหวที่ต้องการให้ไทย เข้าร่วมข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เอเชีย-แฟซิฟิก (ทีพีพี) ยังมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากแรงกดดันจากนักลงทุน ต่างชาติและภาคธุรกิจ ในขณะที่รัฐบาลยังอยู่ระหว่างการศึกษาข้อดี-ข้อเสีย ซึ่งยังมีระยะเวลาอีกราว 2 ปี

ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯได้ประกาศจัดตั้งสำนักงานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจขึ้นในไทยเพื่อให้คำปรึกษาในเรื่องการเข้าร่วม”ทีพีพี” ปัจจุบัน ประเทศที่อยู่ในข้อตกลง ทีพีพี ประกอบด้วยสมาชิก 12 ประเทศ คือ สหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เม็กซิโก มาเลเซีย บรูไน เวียดนาม สิงคโปร์ ชิลี และเปรู

นายนาโอกิ คาชิวาบาระ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายหุ้นส่วนเศรษฐกิจ กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม ของญี่ปุ่น ระบุว่าจากประสบการณ์เจรจาการเข้าเป็นภาคีต่อข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ของญี่ปุ่นนั้นได้เผชิญกับประเด็นการเจรจาที่จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจการค้าของญี่ปุ่น ซึ่งได้เคยประสบมาในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีก่อนหน้านั้น

“ญี่ปุ่นจึงใช้ประสบการณ์เรื่องการนำสินค้าหรือ ภาคอุตสาหกรรมที่จะได้รับผล กระทบไปใส่ไว้ในรายการสินค้าอ่อนไหว เพื่อนำไปสู่การเจรจาที่จะเป็นผลดีต่อสินค้านั้นๆให้ได้มากที่สุด”

นายคาชิวาบาระ ชี้ให้เห็นว่าในกรอบ ทีพีพี ก็เช่นกัน ญี่ปุ่นได้นำกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบใส่ไว้ในรายการสินค้า อ่อนไหว อย่างไรก็ตาม ทีพีพี เป็นข้อตกลง ที่จะนำไปสู่การผลักดันทางการค้าให้ขนาดทั้งการค้าและการลงทุนกว้างขวางขึ้น และ ไม่เพียงจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ แต่ยังเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อย (เอสเอ็มอี) ซึ่งกฎระเบียบทางการค้าจากทีพีพี จะช่วยส่งเสริมให้เอสเอ็มอี สามารถออกไปลงทุนทำการค้าในต่างประเทศได้สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น

ด้านนายดาโต๊ะ สตีเวน หวัง ชิง หมิงรองหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร Institute of Strategic and International Studies (ISIS) กล่าวว่า ภายใต้ข้อตกลงทีพีพี จะมีการเจรจานอกรอบหรือที่เรียกว่า Side Letter หรือ ข้อยกเว้นพิเศษ ของแต่ละประเทศสมาชิกซึ่งว่าด้วยเรื่องข้อตกลงประเด็นอ่อนไหวที่สมาชิกบางส่วนมีต่อกัน รวมถึงการเจรจาเพื่อกำหนดรายการสินค้าอ่อนไหวซึ่งจะมีข้อตกลงเฉพาะเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากทีพีพี ต่อสินค้าหรือประเด็นนั้นๆ

ในส่วนมาเลเซีย มีรายการสินค้าอ่อนไหวและมีประเด็นที่ระบุใน Side letter หลายเรื่องเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะเป็นเรื่องของนโยบายของประเทศที่ต้องการสร้างรถยนต์แห่งชาติ การเปิดตลาดสินค้ายาสูบ ซึ่งเป็นเรื่องของสุขภาพที่แม้จะยังเปิดตลาด แต่ก็มีเงื่อนไขว่าด้วยเรื่องการจับตาดูตลาดสินค้านี้อย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มสินค้าอ่อนไหว แต่เห็นว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากทีพีพี โดยตรง แต่เป็นเรื่องของขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมนี้อันเกิดจากปัญหาตลาดโลกทั่วไป เป็นที่มาที่รัฐต้องอุดหนุนให้อุตสาหกรรมนี้จำนวนมหาศาล และหากเป็นเช่นนี้ต่อไปก็จะไม่เป็นผลดีกับประเทศและอุตสาหกรรมนี้เอง แต่เพื่อการปรับตัวก็ต้องมีกำหนดเวลาให้ภาคอุตสาหกรรมนี้ด้วย

ทั้งนี้ ทีพีพี ไม่ได้ว่าด้วยเรื่องการค้าอย่างเดียว มีประเด็นเรื่องความมั่นคงและด้านสังคม ซึ่งไม่สามารถนำเรื่องทางสังคมมาคำนวณเป็นสูตรมาตรฐานเทียบเคียงกับการค้าได้ แต่รัฐก็มีหน้าที่ต้องดูแลประชาชน และแม้ว่าทีพีพี อาจสร้างผลกระทบทางสังคมแต่ในทางปฏิบัติรัฐก็จะต้องเข้าไปดูแลเยียวยาไม่ให้ประชาชน ได้รับความเดือดร้อนอยู่แล้ว

ส่วนผลกระทบต่อภาคธุรกิจขนาดเล็ก หรือ เอสเอ็มอี เชื่อว่า โดยสาระสำคัญของทีพีพี ไม่ได้จะกระทบต่อเอสเอ็มอี โดยตรงเนื่องจากการเผชิญหน้ากับการแข่งขันที่ผู้ประกอบการต้องเจอนั้นไม่ได้มาจาก ทีพีพีอย่างเดียวแต่จะมาจากธุรกิจต่างชาตินอกกลุ่มทีพีพีด้วย

“การแข่งขันไม่ได้อยู่ที่ประเด็นข้อตกลงทางการค้า แต่จะว่าด้วยนวัตกรรมทางธุรกิจ การปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ทาง การค้าในขณะนั้น ซึ่งสิ่งที่กำลังกล่าวถึงนี้เป็นเรื่องในอนาคตและทีพีพีก็เป็นการพูดถึงอนาคตด้วย”

นายมาซาฮิโตะ อัมบาชิ นักเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจแห่งอาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) กล่าวว่า ทีพีพี เป็นข้อตกลงที่จะนำไปสู่การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน ซึ่งในมุมมองการลงทุนพบว่า ภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบันมีการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตในหลายๆประเทศเข้าด้วยกัน และมีเป้าหมายตลาดต่างกัน เช่น ญี่ปุ่นผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกไปสหรัฐ ก็จะมีการนำชิ้นส่วนการผลิตจากประเทศต่างๆ เช่นในอาเซียนปัจจุบันนำมาจากไทย แต่เมื่อมีทีพีพี ก็อาจต้องมองหาแหล่งการผลิตที่เป็นสมาชิกทีพีพี ประกอบด้วย

อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคอาเซียนเองก็มีการเจรจาข้อตกลงทีพีพี และการเจรจากรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ด้วย จากผลการศึกษาพบว่า ผลประโยชน์ที่ดีที่สุดต่อภูมิภาคคือการบรรลุข้อตกลงทั้ง ทีพีพี และ RCEP เช่น การลดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTM) หากมี ทีพีพีเพียงอย่างเดียวจะช่วยลด NTM ได้เพียง 50% และหากมี RCEP เพียงอย่างเดียวจะลดได้เพียง 7% แต่หากมีทั้งสองข้อตกลงจะช่วยให้มาตรการที่ไม่ใช้ภาษีลดลงได้สมบูรณ์ขึ้น เป็นต้น

นายฮิโระยูกิ อิชิเกะ ประธานเจโทร กล่าวว่า อยู่ที่ว่าไทยจะเข้าร่วมทีพีพีหรือไม่ แต่ถ้าไม่เข้าร่วมไทยก็จะมีปัญหาเรื่องขีดความสามารถการแข่งขันที่อาจสู้มาเลเซียหรือเวียดนามไม่ได้ นักลงทุนอาจย้ายฐานไปประเทศเหล่านี้แทน เพราะขยายตลาดได้มากกว่า และไทยเองตอนนี้ก็มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน

ด้านนางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อ การพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การเจรจานอกรอบก็น่าจะเป็นทางออกของไทย เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วมทีพีพีมากนัก ทั้งนี้การที่มาเลเซียเข้าร่วมทีพีพีเพราะเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ ถ้าไม่เข้าร่วมขบวนอาจทำให้มีต้นทุนการค้าสูงขึ้นและอาจโดนกีดกันทางการค้า การเข้าตลาดได้

“ไทยยังมีเวลาค่อยๆคิดอีก 2 ปี และการเข้าร่วมรอบหลังแม้จะมองว่าอาจเสียเปรียบ เพราะต้องเจรจากับอีก 12 ประเทศที่เข้าร่วมก่อนหน้านี้ยอมรับไทยเป็นสมาชิกด้วย
แต่อีกมุมก็มีประสบการณ์จากประเทศต่างๆ มาปรับใช้ เพราะที่ผ่านมาข้อบทของ ทีพีพีไม่ค่อยเปิดให้เห็น ซึ่งน่าจะเป็นจุดที่ทำ ให้ไทยได้ศึกษาและประเมินได้ว่าได้หรือเสีย” นางเดือนเด่น กล่าว

นางปรียานุช มาลากุล ณ อยุธยารองประธานกลุ่มอาหาร หอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเข้าร่วมทีพีพี ภาคปศุสัตว์ของไทยจะได้รับผลกระทบแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนที่ไม่มีกองทุนไหนเยียวยาได้ ดังนั้นต้องพยายามดันให้อยู่ในบัญชีอ่อนไหวให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
โดยระหว่างนี้ ก็ใช้กรณีศึกษาจากเวียดนามเป็นตัวอย่างในการเจรจาลดภาษี เพราะเวียดนามมีความใกล้เคียงกับไทยมากที่สุด เนื่องจากเป็นประเทศกำลังพัฒนาและเป็นประเทศเกษตรกรรมเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป เช่น ทูน่ากระป๋อง มีความเห็นต่างว่าต้องการเข้าร่วมทีพีพี ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรพิจารณาประเด็นต่างๆอย่างรอบด้านและลงรายละเอียด เพื่อนำไปสู่การเจรจาที่จะสร้างประโยชน์ให้ไทยมากที่สุด และลดผลกระทบให้ได้ในโอกาสเดียวกัน


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2559 ในชื่อ แนะไทยงัด’ข้อยกเว้นพิเศษ’รับผลกระทบเข้าร่วม’ทีพีพี’