นักวิชาการเเนะรัฐลดขั้นตอน MOU นำเข้าเเรงงานต่างด้าวง่ายขึ้น

ปี2016-03-07

นักวิชาการชี้ความต้องการเเรงงานต่างด้าวเเนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง เเนะภาครัฐวางกฎเกณฑ์ให้ชัด  จดทะเบียนตาม กม. ต้องปรับปรุงขั้นตอนตามเอ็มโอยูให้ยุ่งน้อยลง เลิกกังวลชาวพม่าหนีกลับประเทศ ตราบใดค่าจ้างยังต่ำ

วันที่ 4 มีนาคม 2559 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดประชุมนำเสนอผลงานโครงการศึกษาแนวโน้มแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยและผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของประเทศไทย ณ โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ

ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร นักวิชาการ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ภายหลังการนำเสนอผลการศึกษา แนวโน้ม ความต้องการ และผลกระทบจากแรงงานต่างด้าว ถึงปัญหาว่า ความต้องการแรงงงานต่างด้าวของไทยขึ้นอยู่กับปัจจัยเชิงนโยบายเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น การเปิดจดทะเบียนแรงงานทำให้จำนวนแรงงานต่างด้าวในปีนั้น ๆ เพิ่มขึ้น หรือบางปีจำนวนแรงงานต่างด้าวลดลง เนื่องจากไม่ได้ต่ออายุใบอนุญาต ส่งผลให้จำนวนผู้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายผันผวน

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ต้องการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะเริ่มอืด เพราะอุตสาหกรรมปรับตัว เบื่อหน่ายกับการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในประเทศ จึงย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งประมาณการณ์ตัวเลขคาดว่าจะมีผู้จดทะเบียนถูกกฎหมายประมาณ 4 ล้านคน ในปี 2563 ส่วนผู้ไม่จดทะเบียนจะมีจำนวนขึ้นลงตามสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ หากเมื่อใดที่เศรษฐกิจในประเทศไทยดีขึ้นจะมีการเข้ามาเพิ่ม

นักวิชาการ กล่าวต่อว่า แนวโน้มแรงงานต่างด้าวในประเทศจะมีจำนวนมากขึ้นหรือน้อยลง จึงขึ้นอยู่กับการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการพิสูจน์สัญชาติล่าช้า ทำให้หลายคนยังอยู่ในประเทศต่อไป จึงเสนอให้รัฐบาลเร่งสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ ปรับปรุงขั้นตอนเอ็มโอยูให้มีความยุ่งยากน้อยลง ลดค่าใช้จ่ายตามกระบวนการเอ็มโอยูให้เหมาะสมกับรายได้ของแรงงาน ขยายหรือกำหนดระยะเวลาของการจดทะเบียนให้สอดคล้องกับลักษณะงาน หรือการอนุญาตขอเปลี่ยนนายจ้างด้วยเหตุผลที่ชอบด้วยกฎหมายได้

ส่วนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ส่งผลให้แรงงานเชื้อชาติพม่ากลับประเทศ กระทบตลาดแรงงานไทย ดร.ณัฐนันท์ระบุว่า แรงงานหลายคนอยากกลับพม่า แต่ไม่ง่ายนัก ถามว่าอีก 5 ปี พม่าจะมีการพัฒนาไปข้างหน้ามากขนาดไหน ตราบใดที่ค่าจ้างแรงงานยังต่ำอยู่ก็จะเข้ามาในประเทศไทย แต่หากค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำแตะประมาณ 200 บาทขึ้นไป มีโอกาสกลับประเทศสูง เรื่องเหล่านี้ผู้ประกอบการไทยทราบ จึงย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

“ประชากรวัยแรงงานเริ่มขาดแคลน โดยจำนวนประชากรวัยแรงงานของไทยเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.3 และประชากรกลุ่มอายุต่ำกว่า 15 ปี ลดลงถึงร้อยละ 18 ส่วนกำลังแรงงานไทยช่วงอายุ 15-30 ปี ลดลงร้อยละ 11” นักวิชาการ กล่าว และว่า ขณะที่กำลังแรงงานต่างด้าวมีจำนวนเพิ่มขึ้น 3 เท่า และแรงงานไทยยังเป็นแรงงานสูงอายุมากขึ้น เฉลี่ย 51-60 ปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 40

ดร.ณัฐนันท์ ยังกล่าวว่า เมื่อกำลังแรงงานไทยลดลง กำลังแรงงานต่างด้าวทดแทน ปัญหา คือ หากยังมีการบริหารจัดการรูปแบบเดิม จะไม่ทราบจำนวนแรงงานต่างด้าวในประเทศที่แน่นอน มีบางรายขึ้นทะเบียนแรงงานภาคเกษตรกรรม แต่กลับไปรับใช้ในบ้าน ฉะนั้นทำอย่างไรให้คนอยู่บนดินประมาณ 3 ล้านคน อยู่ต่อไป คนอยู่ใต้ดินประมาณ 2 ล้านคน ขึ้นมาอยู่บนดิน ผ่านนโยบายที่แน่นอน


 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน สำนักข่าวอิศรา เมื่อ 4 มีนาคม 2559 ในชื่อ นักวิชาการเเนะรัฐลดขั้นตอน MOU นำเข้าเเรงงานต่างด้าวง่ายขึ้น