ทีดีอาร์ไอสะท้อนเสียงผู้ใช้รถโดยสาร ชี้ยังไม่ปลอดภัย การเข้าถึงยังต้องปรับปรุง

ปี2016-06-22

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

นักวิจัยทีดีอาร์ไอ เผยผลสำรวจสภาพความปลอดภัย และการเข้าถึงรถโดยสารสาธารณะไทย  ยังต้องปรับปรุง อีกทั้งผู้โดยสารยังขาดความตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้รถ เสนอประเมินคุณภาพผู้ประกอบการต่อเนื่อง ปรับปรุงจุดจอดและสถานีให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้

ploy2
นางสาวณัชชา โอเจริญ นักวิจัยด้านนโยบายขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ

นางสาวณัชชา โอเจริญ นักวิจัยด้านนโยบายขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยผลสำรวจข้อมูล ความเห็นผู้ใช้รถโดยสารสาธารณะ ในงานเสนอผลงานวิจัย “คุณภาพมาตรฐานการให้บริการและความปลอดภัยของรถโดยสาร” พบ คุณภาพความปลอดภัย การให้บริการ และการเข้าถึงรถโดยสารประจำทาง ยังไม่ได้มาตรฐาน

การสำรวจความปลอดภัยของรถโดยสาร ในปี 2558 พบว่า มีรถโดยสารที่เกิดอุบัติเหตุเกือบ 1,500 คัน  มีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยต่อรถจดทะเบียน 10,000 คัน จากอุบัติเหตุรถบัส 2 ชั้น  สูงถึง 47.8 คน รถตู้ 16.1 คน และรถบัสชั้นเดียว 8.5 คน

โดยผู้โดยสารรถสาธารณะกว่า 1,000 ราย ส่วนใหญ่แสดงความกังวลต่อความปลอดภัยของรถตู้โดยสารระหว่างจังหวัดมากที่สุด ด้วยปัญหาที่พบเห็นว่า รถขาดด้านอุปกรณ์ความปลอดภัย พฤติกรรมผู้ขับขี่ และปัญหารถตู้ที่ผิดกฎหมาย ส่วนรถโดยสารที่ได้รับความพึงพอใจในความปลอดภัยมากที่สุด คือ รถเมล์ระหว่างจังหวัด ด้วยเพราะผู้โดยสารไม่ค่อยพบเจอรถที่ใช้ความเร็วเกินกำหนด และอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยค่อนข้างสมบูรณ์กว่ารถโดยสารประจำทางประเภทอื่นๆ

ในด้านอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยบนรถนั้น มีผู้โดยสารกว่า 10% เห็นว่า รถเมล์ระหว่างจังหวัด และรถตู้ทั้งที่วิ่งในกรุงเทพฯ และระหว่างจังหวัดติดตั้งเข็มขัดนิรภัยไม่ครบถ้วน และรถโดยสารประจำทางจำนวนมากขาดอุปกรณ์นิรภัย เช่น ค้อนทุบกระจก และถังดับเพลิง รวมทั้งยังไม่พบเห็นประตูฉุกเฉิน

ส่วนพฤติกรรมการขับขี่รถโดยสาร โดยเฉพาะรถเมล์ในกรุงเทพฯ และรถตู้โดยสาร พบว่ายังต้องปรับปรุง เนื่องจากกว่า 1 ใน 5 ของผู้โดยสารรถตู้ ทั้งที่วิ่งภายในกรุงเทพฯ และระหว่างจังหวัด และรถเมล์ในกรุงเทพฯ เห็นพนักงานขับรถขับขี่เร็วเกินไป อีกทั้งมีผู้โดยสาร 7 – 12 % พบปัญหารถตู้รับผู้โดยสารเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด และอีก 8% พบรถตู้ป้ายดำหรือรถตู้โดยสารที่ผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องความปลอดภัย ผู้โดยสารเองขาดความตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้รถโดยสาร ด้วยเพราะการสำรวจที่พบว่า ผู้โดยสารรถตู้ใน กทม.มากถึง 81% ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย รองลงมาคือรถตู้ระหว่างจังหวัด ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 53% และรถเมล์ระหว่างจังหวัดผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 34% อีกทั้งยังมีบางส่วนที่ใช้รถตู้โดยสารผิดกฎหมาย

นอกเหนือจากปัญหาด้านความปลอดภัย งานวิจัยยังพบปัญหาการเข้าถึงจุดจอดรถโดยสารยังต้องพัฒนาเช่นกัน จากการสำรวจ พบว่า จุดจอดรถเมล์ในกรุงเทพฯ ยังมีจุดบอดในเรื่องสิ่งกีดขวาง การขาดไฟส่องสว่าง การให้ข้อมูลการเดินรถ และสภาพทรุดโทรมของหลังคาศาลาและที่นั่ง

นักวิจัย วิเคราะห์ว่า “ปัญหาเหล่านี้ของจุดจอดรถเมล์ เกิดจากการกำหนดจุดจอดที่ยังขาดการคำนึงถึงรูปแบบผังเมืองและการขยายตัวของเมือง และการจัดสรรงบประมาณ อีกทั้งยังมีปัญหาในด้านสัญญากับเอกชนที่ดูแลป้ายแลกกับการติดตั้งป้ายโฆษณาที่จุดจอดรถเมล์ ที่สำคัญคือ ขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงาน ขาดการวางแผนระยะยาว และขาดการมีส่วนร่วมในการเสนอแนะของผู้ใช้งาน จึงต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพื่อให้ได้จุดจอดรถเมล์ที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเดินทาง มีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม มีความปลอดภัย และผู้โดยสารเข้าถึงได้ง่าย”

“ส่วนจุดจอดที่เป็นสถานีขนส่งรถโดยสาร ยังมีปัญหาในด้านความสะดวกในการเข้าถึง ผู้โดยสารต้องอาศัยแท็กซี่หรือรถยนต์ส่วนตัวเป็นหลัก ทำให้ต้นทุนในการเข้าถึงค่อนข้างสูง ปัญหามาจากการที่สถานีขนส่งบางส่วนอยู่ไกลจากตัวเมือง ขาดระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมต่อกับเมือง และไม่ได้คำนึงถึงผู้ใช้งานทุกกลุ่มที่รวมถึงผู้สูงอายุ และผู้พิการ”

เพื่อปรับปรุงคุณภาพด้านความปลอดภัย นักวิจัย เสนอว่า ภาครัฐควรประเมินคุณภาพผู้ถือใบอนุญาตฯ และผู้ประกอบการร่วมอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งทบทวนเกณฑ์การออกใบอนุญาตฯ พัฒนาระบบประเมินความปลอดภัยรถโดยสาร และควรมีแผนระยะยาวในการเปลี่ยนรถตู้โดยสารเป็นรถโดยสารขนาดใหญ่ในเส้นทางที่มีผู้โดยสารมาก และเข้มงวดกับรถตู้ที่ผิดกฎหมาย

ในด้านผู้ประกอบการจะต้องอบรม ตรวจความพร้อม และติดตามพฤติกรรมพนักงานขับรถ รถโดยสารต้องมีความพร้อม บังคับตรวจสภาพตามกำหนด ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยและอุปกรณ์ฉุกเฉินอย่างครบถ้วน ต้องมีการจัดทำประกันภัยภาคบังคับ และควรมีประกันภัยภาคสมัครใจหรือประกันภัยส่วนบุคคลเพิ่มเติม

สำหรับผู้โดยสารจะต้องตระหนักถึงความปลอดภัยของตน โดยต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง ตรวจสอบข้อมูลรถโดยสารที่ขึ้น และเลือกซื้อตั๋วโดยสารกับบริษัทที่เชื่อถือได้

“ส่วนการพัฒนาปรับปรุงจุดจอด ต้องมีการวางแผน ออกแบบ และปรับปรุงจุดจอดรถเมล์และสถานีขนส่ง โดยคำนึงถึงการเข้าถึงและการใช้งานโดยเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม มีการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งรูปแบบอื่นๆ พร้อมทั้งคำนึงถึงรูปแบบผังเมือง และการขยายตัวของเมืองด้วย” นักวิจัย สรุปข้อเสนอแนะทิ้งท้าย