ชี้ยุทธศาสตร์ ‘ชาติการค้า’ สำเร็จ ต้องแก้กฎหมาย-ตั้งบริษัทเทรดดิ้ง

ปี2016-06-28

สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงพาณิชย์ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดสัมมนาเรื่องร่างยุทธศาสตร์ชาติการค้า (Trading Nation) ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาล โดยได้นำเสนอแนวความคิดและฟังความคิดเห็น ก่อนเสนอรัฐบาล มีประเด็นดังนี้

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติการค้า (Trading Nation) และร่างยุทธศาสตร์การรวมกลุ่มภาคีธุรกิจระยะ 5 ปี (2559-2563) ว่ากระแสของโลกการค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้ไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเป็นชาติการค้าได้

ดังนั้น ร่างยุทธศาสตร์ทั้ง 2 ฉบับ จะเป็นหัวใจสำคัญในการกำหนดแนวทางพันธกิจการค้าในระยะยาว 5 ปีของไทย ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นชาติการค้าที่มีฐานการผลิตที่มีคุณภาพ และเป็นที่ต้องการของตลาดโลก มีระบบและช่องทางการกระจายสินค้าหรือบริการสู่ตลาดต่างๆ ทั่วโลกที่มีประสิทธิภาพและมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่รองรับธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ

การดำเนินการตามร่างยุทธศาสตร์ฯ จะเห็นผลที่ชัดเจน คือ ภาคการส่งออก เพราะไทยจะเปลี่ยนจากการเป็นผู้ผลิตไปสู่ผู้ทำตลาดมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกกลับมาขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5% จากอดีตที่เคยเติบโต กว่า 20% ปัจจุบันการส่งออกติดลบ รวมถึงจะช่วยขจัดอุปสรรคทางการค้าต่างๆ ลงได้

ร่างยุทธศาสตร์ชาติการค้า กำหนดให้สิ่งที่ภาครัฐต้องดำเนินการคือ จะต้องปลดล็อกและแก้ไขข้อกฎหมายต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า ที่ปัจจุบันมีมากกว่า 100ฉบับ โดยรัฐจะต้องเสนอเข้าไปสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้พิจารณาปรับแก้กฎหมายเหล่านี้ในลักษณะเป็นกลุ่ม เพื่อให้เกิดความรวมเร็วในการพิจารณา ซึ่งวิธีนี้จะทำได้เร็วกว่าการเสนอแก้กฎหมายเป็นรายฉบับ โดยคาดว่าหากดำเนินการตามแนวทางนี้จะใช้เวลา 3-4 เดือนในการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าได้

รวมถึงภาครัฐจะต้องส่งเสริมการจัดตั้งบริษัทเทรดดิ้งขึ้นมาทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กหรือเอสเอ็มอี ให้มีความสามารถในการส่งออกสินค้าได้ ซึ่งการจัดตั้งบริษัทเทรดดิ้ง อาจทำได้ 2 ลักษณะ คือ บริษัทเทรดดิ้ง ที่ทำหน้าที่ส่งออกสินค้าเพียงอย่างเดียว หรือบริษัทที่ทำหน้าที่เทรดดิ้งและผลิตสินค้าด้วย เช่น เครือเอสซีจี

สำหรับรายละเอียดร่างยุทธศาสตร์ชาติการค้าจะดำเนินการภายใต้ 4 พันธกิจ คือ

1.ยกระดับมาตรฐานสินค้า โดยจะต้องเพิ่มมาตรฐานภาคบังคับสำหรับสินค้าอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเพิ่ม in market surveillance เพื่อตรวจสอบมาตรฐานสุขอนามัยของสินค้าอาหาร การปรับปรุงบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง โดยให้ภาคเอกชนมาบริหารโดยรัฐให้การอุดหนุนเรื่องห้องปฏิบัติการและอุปกรณ์ เครื่องมือ การกำหนดระดับความเสี่ยงและความร้ายแรงของ NTM ด้านอาหาร รวมถึงออกกฎหมายกำกับ contract farming ตามกฎหมายแม่แบบของ Unidroit/FAO/IFAD

2.ส่งเสริมสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของตลาด โดยการพัฒนาบริการข้อมูลตลาดในเชิงลึกสำหรับผู้ส่งออก ซึ่งภาครัฐต้องเปลี่ยน เช่น สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้บริการข้อมูลทั่วไปซึ่งไม่มีค่าบริการและข้อมูลตลาดเชิงลึกซึ้งมีค่าบริการตามต้นทุน

3.การพัฒนาตลาดและช่องทางการจำหน่าย โดยต้องมีการเจรจาเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ การเข้าร่วมข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนเอเชียแปซิฟิก (ทีพีพี) ภายใน 5 ปี การพัฒนาตลาดสินค้าออนไลน์ โดยให้ภาคเอกชนจัดทำตลาดออนไลน์สำหรับสินค้าไทยที่ขึ้นทะเบียนกับ Thairade.com โดยแยกเป็นเว็บไซต์ wholesale และ retail การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัท trading firm ไทยที่จำหน่ายสินค้าของเอสเอ็มอีไทยที่หลากหลายในต่างประเทศ

4.การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เอื้อต่อการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ โดยการเปิดเสรีสาขาบริการที่สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ ด้วยการยกเลิกการจำกัดหุ้นส่วนต่างชาติในธุรกิจที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์ การสื่อสาร การเงิน และบริการธุรกิจ การเปิดวิชาชีพที่สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ เช่น กฎหมายระหว่างประเทศ บัญชี ระบบสารสนเทศ เป็นต้น โดยจัดทำโครงการปรับรื้อกระบวนการของรัฐเกี่ยวกับ Doing Business เพื่อยกอันดับของประเทศจาก 49 ให้เป็น 20 ภายใน 2 ปี

ส่วนรายละเอียดร่างยุทธศาสตร์การรวมกลุ่มภาคีธุรกิจ ระยะ5ปี จะแบ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญใน 2 ส่วน คือ

1.ยุทธศาสตร์ในการพัฒนา Demand Chain  ตรงความต้องการของตลาด จะต้องเลือกบริการที่จะถ่ายโอนให้ภาคเอกชนบริหาร เช่น Thaitrade.net และถ่ายโอนบริการกระจายสินค้าให้เอกชนจัดการ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2.ยุทธศาสตร์ในการพัฒนา Supply Chain ปรับตัวตามตลาดและเชื่อมโยง โดยจะต้องมีกฎหมายป้องกันสัญญาที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการและภาคธุรกิจจะต้องตกลงกันว่าจะใช้ทรัพยากรรวมกันอย่างไร

ทั้งนี้ ร่างยุทธศาสตร์ทั้ง 2 ฉบับจะเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้ายในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ ก่อนที่ทีดีอาร์ไอจะรวบรวมร่างกฎหมายที่สมบูรณ์ส่งให้กับกระทรวงพาณิชย์ในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ ก่อนเข้าสู่ขั้นตอน สนช. เพื่อพิจารณาออกเป็นกฎหมายต่อไป และร่างยุทธศาสตร์นี้จะวัดผลสำเร็จทุกๆ 6 เดือน


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 28 มิถุนายน 2559 ในชื่อ: ชี้ยุทธศาสตร์’ชาติการค้า’สำเร็จ ต้องแก้กฎหมาย-ตั้งบริษัทเทรดดิ้ง