ทีดีอาร์ไอชี้จุดเสี่ยง คสช. ลดเหลื่อมล้ำมาถูกทาง

ปี2016-07-03

ชื่อของ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึงแห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ถือเป็นนักวิชาการแถวหน้าของสถาบันทีดีอาร์ไอ ที่ก่อนหน้านี้ออกมาให้ความเห็น ข้อเสนอแนะ วิพากษ์วิจารณ์นโยบายการบริหารประเทศด้านเศรษฐกิจของหลายรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายประชานิยมด้วยมุมมองตามหลักวิชาการจนเรียกเสียงฮือฮามาแล้วหลายครั้ง แต่ช่วงหลังไม่ค่อยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนมากนัก

ในครั้งนี้ ดร.สมชัย มีทัศนะต่อการบริหารประเทศของรัฐบาล คสช.และข้อเสนอทางออกแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยในหลายแง่มุมที่น่าสนใจ

ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ บอกว่า จุดแข็งของรัฐบาล คสช.ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมายอมรับว่า เป็นรัฐบาลที่ทำงานมาก โดยเฉพาะตัวพลเอกประยุทธ์เห็นได้เลยว่าทำงานหนักมาก ก็ต้องให้เครดิตเรื่องความตั้งใจทำงาน แต่บางเรื่องเช่นเรื่องเศรษฐกิจ รัฐบาลเข้ามาในจังหวะไม่ดี เพราะเศรษฐกิจโลกมันไม่ดี ส่วนเรื่องการเมืองก็ไปติดหล่มความคิดว่าจะต้องไม่ให้อีกฝ่ายมีสิทธิ์มีเสียง ซึ่งอันนี้เป็นความคิดที่ผมว่ามันอันตราย คืออันหนึ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำคือไปให้เสียงกับนายทุนมากขึ้น แต่กลับไปกดเสียงเอ็นจีโอลง อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าไม่ถูกทาง

ถามขยายความกรณีมองว่ารัฐบาล คสช.ไปสนับสนุนกลุ่มทุนว่า มองจากมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลออกมาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ดร.สมชัย ระบุว่าใช่ ผมมองว่าโจทย์ของเขาคือการทำให้เศรษฐกิจโต ที่ก็เห็นด้วย เพราะการสนับสนุนให้เศรษฐกิจโตมันจำเป็นจริงๆ เช่นเดียวกับการส่งเสริมการลงทุนก็จำเป็น แต่ว่าต้องไม่ใช่ทำเลยเถิดจนไปกดทับสิทธิของภาคประชาชนลง ไปกดสิทธิของพลเมืองชาวบ้านลง อันนั้นจะเป็นผลเสียในระยะยาวได้ แต่การตัดสินใจบางเรื่องของรัฐบาล เช่น มติ ครม.ที่ให้ปิดเหมืองแร่ทองคำ ก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่สร้างความเซอร์ไพรส์ให้อย่างมาก แต่ดูเหมือนเป็นตัวอย่างจำนวนน้อยที่เข้าข้างประชาชน ไม่เข้าข้างภาคเอกชน แต่คงมีที่มาที่ไปชัดเจนคือภาพใหญ่ยังคงหนุนการลงทุน แต่กรณีเหมืองทองคงเป็นเคสพิเศษว่าไม่สามารถสนับสนุนภาคเอกชนได้อีกต่อไป

อย่างเรื่องเศรษฐกิจ ผมไม่รู้ว่าเรียกว่าสิ่งที่รัฐบาลทำคือการปฏิรูปหรือไม่ และไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องดีหรือไม่ แต่พบว่ารัฐบาล คสช.มีแนวโน้มส่งเสริมการลงทุน พยายามทำหลายวิธีเพื่อให้การลงทุนกลับมา เช่น การใช้มาตรา 44 ฉบับที่ 6/2559 และ 9/2559 ที่เป็นเรื่องโครงการไม่ต้องทำอีไอเอ กับเรื่องผังเมือง ผมเข้าใจว่าเขาต้องการส่งเสริมการลงทุน เพราะนักลงทุนบอกว่า กว่าจะผ่านอีไอเอได้ใช้เวลาหลายปีมาก กว่าจะผ่านออกมาโครงการมันก็ล้าสมัยแล้ว ไม่อยากลงทุนแล้ว และเรื่องผังเมืองก็ติดอะไรมากมายเวลาสร้างโรงงาน ประกาศ 2 ฉบับนั้นทำให้มันอ่อนลง

“ตรงนี้ผมว่ามันเป็นดาบสองคม เพราะว่าแม้อยากส่งเสริมการลงทุน แต่หากไปทำ 2 เรื่องนี้แบบย่อมันจนเกินไป สุดท้ายมันไปกระทบสิ่งแวดล้อม ผลกระทบกับชุมชน มันอาจได้ไม่เท่าเสีย ถามว่าแบบนี้ปฏิรูปไหม มันก็เป็นมาตรการแบบยาแรง เข้าข่ายปฏิรูปได้ แต่ผลของมันจะเป็นบวกหรือลบ ไม่แน่ใจ”

ภาพรวมในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา เรื่องเศรษฐกิจผมว่าเขามาถูกทางแล้ว เพียงแต่ต้องทำให้มันเห็นผลอย่างแท้จริง และต้องได้รับความร่วมมือจากภาคราชการด้วย ผมก็เห็นใจรัฐบาล เพราะภาคราชการทุกวันนี้ขยับอะไรไม่ค่อยได้ ผลักไม่ค่อยไป มีความหย่อนประสิทธิภาพในภาคราชการเยอะ ก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลจะไปปรับปรุงภาคราชการด้วย เพราะที่ผ่านมาดูเหมือนรัฐบาลนี้จะไปเพิ่มบทบาทให้ภาคราชการ

สำหรับ ดร.สมชัย เป็นนักวิชาการที่ทำการวิจัยและเกาะติดการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ผ่านนโยบายรัฐบาลชุดต่างๆ มาหลายปี เขามองว่าผลงานของ คสช.ในเรื่อง การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ เป็นจุดหนึ่งที่ต้องยอมรับว่ามีผลงานชัดเจน โดยเฉพาะการผลักดัน 3 นโยบายสำคัญคือ 1.กฎหมายภาษีมรดก 2.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 3.การให้เงินเลี้ยงดูบุตรแรกเกิดเดือนละ 400 บาท และเพิ่มเป็น 600 บาท

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถ้ามีการบังคับใช้ มีการจัดเก็บภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจะช่วยได้มาก เพราะไปอุดช่องว่างในเรื่องภาษี เพราะที่ผ่านมาการจัดเก็บภาษีของเราไม่ได้เก็บจากฐานทรัพย์สิน เราเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สินน้อยมาก และมีช่องโหว่ มีทรัพย์สินจำนวนมากของคนรวยที่ไม่ได้ใช้เพื่อการพาณิชย์ เช่น บ้านพัก ที่อยู่อาศัย ภาษีมรดกและภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะโฟกัสไปที่คนรวย เช่น เก็บภาษีสิ่งปลูกสร้างจากบ้านพักที่ราคา 50 ล้านบาทขึ้นไป หากต่ำกว่า 50 ล้านบาทได้รับการยกเว้น ก็ชัดเจนว่าไปโฟกัสที่คนรวยมากๆ ก็ชัดเจนว่ากฎหมาย 2 ฉบับนี้ มันมีภาพของการลดความเหลื่อมล้ำ

แต่ในด้านการใช้จ่ายของรัฐบาลที่เป็นการริเริ่มของรัฐบาลนี้ และเป็นการลดความเหลื่อมล้ำได้ด้วยก็คือ การสนับสนุนการให้เงินช่วยเหลือในการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดที่ให้ 400 บาท กับเด็กแรกเกิดที่เป็นลูกคนมีรายได้น้อย เป็นโครงการที่ดีมาก ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ที่ล่าสุดมีมติ ครม.ขยายให้เป็น 600 บาท และขยายว่าแทนที่จะให้กับเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 1 ขวบ ก็ขยายเป็น 3 ขวบ แทนที่จะเป็นโครงการนำร่องก็ให้เป็นโครงการถาวร ถือเป็นก้าวย่างที่ดี

การลดความเหลื่อมล้ำ สิ่งที่ต้องทำอย่างมากก็คือ ต้องไม่ให้ความเหลื่อมล้ำส่งผ่านจากรุ่นไปสู่รุ่น คือลูกคนรวยก็ยังรวยอยู่ ลูกคนจนก็ยังจนอยู่จากเจเนอเรชั่นนี้ไปถึงเจเนอเรชั่นหน้า การให้เงินช่วยเหลือเลี้ยงดูบุตรดังกล่าว จะทำให้วงจรมันขาดตอนได้ โดยเฉพาะคนจนมีรายได้น้อยก็จะได้รับการดูแลตั้งแต่เด็กเล็ก

“อันนี้ผมว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาล ต้องให้เครดิตรัฐบาล เพราะการผลักดันเรื่องนี้มีมานานแล้ว ทั้งจากภาควิชาการ เอ็นจีโอ องค์กรระหว่างประเทศเช่นยูนิเซฟ แต่รัฐบาลก่อนหน้านี้ รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งไม่เอาเลย แต่มาสำเร็จในยุครัฐบาล คสช.ก็ต้องให้เครดิตเขา”

ผมก็มองว่า 3 เรื่องนี้คือผลงานที่เด่นชัดในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของ คสช. แต่ในส่วนอื่นยังไม่ชัดเท่าไหร่ หลายเรื่องยังเป็นเรื่องแนวคิด พูดคุย แต่ในทางปฏิบัติยังไม่เห็นเท่าใด มันอาจมีแฝงอยู่ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจบางอย่างที่ดูเหมือนต้องการจะช่วยคนรากหญ้า รากแก้ว เช่น เรื่องภัยแล้ง ก็มีการออกมาตรการต่างๆ แต่เป้าหมายไม่ใช่เรื่องลดความเหลื่อมล้ำ แต่ไปในลักษณะการช่วยเหลือภัยแล้งมากกว่า ซึ่งมาตรการแบบนี้ไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำแบบถาวร

ส่วนที่รัฐบาลกำลังจะมีโครงการอื่นๆ ตามมาอีก เช่น การจัดตั้งธนาคารที่ดินหรือการลงทะเบียนคนมีรายได้น้อย ดร.สมชัย ทีดีอาร์ไอ มีมุมมองว่า เรื่องธนาคารที่ดินยังไม่ได้ศึกษามาก แต่หากทำตามข้อเสนอแนะของเอ็นจีโอต่างๆ ที่เสนอมาก็คงจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ระดับหนึ่ง แต่ผมก็มี question บางส่วนว่าเรื่องการไม่มีที่ดิน น่าจะเป็นประเด็นเก่าในความเห็นผม เพราะวันนี้ผมมองว่าเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ ที่ต้องมองไปข้างหน้าคือเรื่องทรัพยากรมนุษย์ คุณภาพคน คุณภาพลูกหลานคนจน เพราะโลกยุคหลังผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจะมุ่งไปที่ทรัพยากรมนุษย์มากกว่า หากไปแก้แต่ปัญหาเรื่องที่ดินอย่างเดียวโดยไม่แก้เรื่องทรัพยากรมนุษย์ก็จะได้ผลไม่เต็มที่ เรื่องธนาคารที่ดินผมก็เห็นด้วยครึ่งหนึ่ง โดยยังไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะทำแบบไหน แต่แม้จะมีการกระจายที่ดิน โดยรากหญ้าได้ที่ดิน แต่มันก็ยังเป็นแค่การบรรเทา ทำให้แนวโน้มการลดความเหลื่อมล้ำมันดีขึ้นมาได้ แต่ก็จะไม่ดีมากนัก แต่หากไปทำให้ลูกหลานคนจนยืนได้ด้วยลำแข้งตัวเองด้วยการศึกษา ทักษะต่างๆ จะดีกว่า

ส่วนเรื่องลงทะเบียนคนจน ผมเข้าใจว่า มันมีขึ้นมาเพื่อรองรับระบบนโยบายระบบชำระเงินแห่งชาติแบบ e-payment คือจะสร้างฐานข้อมูลคนจน โดยที่ก็ยังไม่รู้ว่าจะได้อะไร เพียงแต่หากมีข้อมูลตรงนี้ หากต่อไปรัฐบาลมีนโยบายอะไร เช่น การให้เงินเลี้ยงดูลูก ก็อาจมีการนำข้อมูลที่ลงทะเบียนนี้มาเทียบดู ว่าคนที่ได้เงินไปอยู่ในรายชื่อดังกล่าวหรือไม่ แล้วคนที่ลงทะเบียนแล้วเขาได้เงินเลี้ยงดูลูกหรือไม่

อย่างไรก็ตาม การลงทะเบียนดังกล่าวมีข้อที่ต้องระวังมากๆ ก็คือ เป็นนโยบายที่เคยมีการทำมาแล้ว สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งก็มีบทพิสูจน์ออกมาแล้วว่ามันไม่สำเร็จ เพราะไปได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องมา ผมว่าตอนนั้นข้อมูลเกินครึ่งเลยที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง คือคนที่ไม่ได้จนจริงมาลงทะเบียน ตรงนี้ก็ต้องเข้าใจด้วยว่ามันเป็นความยากลำบากในการไปดูว่าเขาจนจริง หรือจนไม่จริง คือถ้าให้เป็นแบบ ใครมาก็ได้ ก็จะเจอแบบพวกที่อยากจน คือไม่ได้ยากจน แต่อยากจน กลุ่มนี้อาจมีหลงเข้ามาค่อนข้างมาก ก็เป็นโจทย์ที่รัฐบาลจะมีระบบคัดกรองรายชื่ออย่างไร

ที่น่ากังวลก็คือ จะมีคนที่เขาจนจริงๆ แต่สุดท้ายไม่ได้มาลงทะเบียน ซึ่งเราเชื่อว่ามีประเด็นนี้สำคัญ เพราะการที่เงินจะรั่วไหลไปสู่คนที่ไม่ได้จนจริง ยังอยู่ในวิสัยที่พอรับได้ แต่การที่คนจนจริงๆ แต่กลับไม่ได้ อันนี้เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ ที่เขาเรียกว่า execution error เราต้องพยายามไม่ให้มันมี หรือหากมีก็ต้องให้มีน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ ซึ่งหากเราเกรงว่าจะเกิดปัญหาแบบนี้ ก็อาจใช้วิธีให้สวัสดิการสังคมต่างๆ เป็นแบบทั่วหน้าไปเลย แต่ข้อเสียคือจะใช้เงินจำนวนมาก แต่เมื่อดูจากรัฐบาล คสช.จะเห็นได้ว่าเขาระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย คืออาจเป็นห่วงว่ามันจะเป็นประชานิยม

กับช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของรัฐบาล คสช.กับการขับเคลื่อนเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ เห็นว่า การลดความเหลื่อมล้ำจริงๆ ควรมุ่งไปที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่ควรทำ 2 เรื่องคือ ระบบการศึกษา ให้คนได้มีการศึกษาที่มีคุณภาพ เช่น โรงเรียนขนาดเล็ก พื้นที่ห่างไกล ต้องให้มีคุณภาพ ไม่ใช่ปลายแถวแบบทุกวันนี้ อาจต้องปฏิรูปการจัดการศึกษาใหม่ เรื่องที่สองที่สำคัญไม่แพ้กันคือการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ประเทศไทยมีแรงงานระดับล่างที่มีทักษะไม่สูงมาก โดยเฉพาะพวกอายุ 30-40 ปี ที่ออกจากระบบการศึกษาเร็วและทำงานแบบแรงงานไร้ฝีมือ โจทย์คือต้องเพิ่มทักษะการทำงานให้เขา เช่น ภาครัฐต้องให้มีการอบรมทักษะมากขึ้น คือทุกวันนี้ก็ทำอยู่ แต่ยังไม่ได้ผลสัมฤทธิ์เท่าใด แต่บริษัทเอกชนแม้จะทำเรื่องการอบรมพนักงาน แต่ก็ทำเพื่อเลี่ยงจะได้ไม่ต้องส่งเงินสมทบมาที่กองทุนภาครัฐ ก็จะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำได้

ดร.สมชัย กล่าวต่อไปถึงการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจว่า ปัญหาเศรษฐกิจของไทยเวลานี้ ต้องยอมรับว่าเกิดจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยหลักถึง 90 เปอร์เซ็นต์ อย่างตัวเลขการส่งออกของไทยก็ยังติดลบอยู่ มันสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกยังซบเซามาก การออกนโยบายหลายอย่างของรัฐบาล เช่น ไอเดียเรื่องซูเปอร์คลัสเตอร์ หรือการสนับสนุนเรื่อง startup ผมก็ให้เครดิตที่รัฐบาลมีการพูดตรงนี้ให้ชัดเจน เช่น เรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี ในแง่ความคิดมันใช่ แต่ที่ต้องดูคือการผลักดันนโยบายออกมา เพราะหลายเรื่องเคยทำมาแล้ว แต่มันก็เกิดปัญหา เช่น เรื่องการสนับสนุน เรื่อง R and D (research and development) แล้วให้มีการลดหย่อนภาษีภาคธุรกิจอะไรต่างๆ ตรงนี้มันไม่ใช่เพิ่งทำ แต่ทำมานานแล้ว แต่ตอนนี้มาเพิ่มเปอร์เซ็นต์การลดหย่อนให้ เนื่องจากเคยมีการทำกันมาแล้ว และมันก็มีปัญหาของมันอยู่ เช่น ฝ่ายที่ได้ประโยชน์ก็ยังกระจุกตัวอยู่แต่บริษัทใหญ่ ที่มันก็ไม่ได้เสียหายอะไร หากเขาให้ความสำคัญกับเรื่องการวิจัยอะไรต่างๆ แต่ที่ผมไม่แน่ใจก็คือ การใช้มาตรการจูงใจทางภาษี มันทำให้บริษัทขนาดใหญ่มีการเพิ่มการลงทุนด้าน R and D จริงหรือไม่ หรือจริงๆ ก็ยังลงทุนเท่าเดิม

สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล ที่ต่อมามีการขยายนโยบายมาเป็นซูเปอร์คลัสเตอร์นั้น เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษที่อยู่ตามแนวชายแดน ผมคิดว่ามันไม่ค่อยมีประโยชน์ วัดได้จากอัตราการใช้ประโยชน์ในพื้นที่หลังเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ พบว่าดึงนักลงทุนใหม่เข้ามาได้น้อย ไม่แน่ใจว่ามันตอบโจทย์ได้ เพราะจริงๆ แล้วการค้าตรงชายแดน เช่น แม่สอด สระแก้ว มุกดาหาร มันก็คึกคักโดยตัวมันเองอยู่แล้ว การทำเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยหวังว่าจะมีอุตสาหกรรมต่างๆ ไปลงทุนมากขึ้น เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมในพื้นที่ ผมดูแล้วมันไม่เห็น แต่เมื่อไปดูตรงนโยบายซูเปอร์คลัสเตอร์ พบว่าก็มีบางอย่าง เช่น เรื่องข้อยกเว้นต่างๆ ที่มีมากกว่าบีโอไอ โดยเฉพาะการอนุญาตให้นำแรงงานมีฝีมือจากต่างประเทศเข้ามาได้ง่ายขึ้น อันนี้ผมว่าดี มันตอบโจทย์ประเทศได้ เพราะเราขาดแรงงานมีฝีมือแบบนี้ เราขาดมาก แล้วช่องทาง AEC ก็ไม่ได้ช่วย แต่ซูเปอร์คลัสเตอร์ช่วยแก้โจทย์นี้ได้ แต่ก็ต้องรอดูต่อไปว่าจะมีคนมาลงทุนซูเปอร์คลัสเตอร์มากแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม เห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลควรทำมากกว่านี้ก็คือการส่งเสริมให้มีนักวิจัยมากขึ้น เพราะงานวิจัยที่ผมและหลายคนเคยทำมาก็บ่งชี้ที่ชัดเจนว่า การที่เรามี R and D น้อย ไม่ใช่เพราะขาดการส่งเสริมเรื่องภาษี ไม่ใช่เพราะขาดเงินทุน แต่เป็นเรื่องการขาดบุคลากรภาครัฐในเรื่องการทำงานวิจัย ขาดนักวิจัย ซึ่งตรงนี้ภาครัฐช่วยได้ด้วยการส่งเสริมการผลิต ให้มีนักวิจัยมากขึ้น โดยควรมีโครงการบ่มเพาะนักวิจัยรุ่นใหม่ เช่น ให้ทุนวิจัยกับนักวิจัยรุ่นใหม่

ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ มีข้อเสนออีกว่า ในเรื่องการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ การคลัง งบประมาณของประเทศ ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องมีการจัดองค์กรเชิงสถาบันที่จะมาช่วยดูแลเรื่องการทำนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสถาบันวิเคราะห์งบประมาณประจำรัฐสภา หรือ Parliamentary Budget Office (PBO) ที่ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของแม่น้ำ 5 สายของ คสช.อยู่ แต่ก็พบว่ามีคนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดให้มี PBO มีการต่อต้านเกิดขึ้นเพราะเข้าใจผิด จากเหตุไปฟังเสียงจากฝ่ายสำนักงบประมาณมากเกินไป โดยที่สำนักงบประมาณต่อต้านก็เพราะเขามองว่าถ้ามี PBO แล้วจะไปแย่งงาน ซึ่งคนเป็นผู้ใหญ่เป็นแม่น้ำ 5 สายไม่ควรฟังความเห็นของหน่วยงานแบบนี้ เพราะหน่วยงานที่ให้ความเห็นแบบนี้มันจะมี conflict of interest อยู่แล้ว แต่ไปควรดูในเรื่องหลักการมากกว่า

สำหรับ PBO แนวคิดก็คือ รัฐสภาที่มีหน้าที่ต้องกำกับดูแลการใช้งบประมาณของรัฐบาลด้วย แต่ทุกวันนี้สมาชิกรัฐสภาไม่มีตัวช่วยที่ดีในการช่วยวิเคราะห์งบประมาณ การคลัง เมื่อเทียบกับรัฐบาลที่มีมากมาย เช่น สำนักงบประมาณ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง แต่ฝ่ายรัฐสภาที่เป็นตัวแทนประชาชนกลับไม่มีเลย

แนวคิดนี้คือ ตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อช่วยสมาชิกรัฐสภาในการวิเคราะห์งบประมาณ จะได้รู้ว่าโครงการต่างๆ ที่จะทำกัน เช่น รับจำนำข้าวควรทำไหม โครงการไหนทำแล้วจะมีภาระการคลังอย่างไร ผลตอบแทน ความเสี่ยงเป็นอย่างไร เรื่องแบบนี้สมาชิกรัฐสภาควรต้องรู้จะได้นำข้อมูลไปอภิปราย ไปเป็นข้อมูลเวลาจะผ่านหรือไม่ให้ผ่านกฎหมาย สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ควรผลักดันให้ออกมาภายในเวลาที่เหลืออยู่ เพราะก็แค่ออกกฎหมายแล้วตั้งองค์กรใหม่ ก็ทำได้เลย.

ข้อเสนอทางออกประเทศไทยข้ามให้พ้นข้าม ‘กีฬาสีการเมือง’

ถามความเห็น ดร.สมชัย จิตสุชน ต่อการทำงานที่ผ่านมาของ คสช.ว่าจุดแข็งคืออะไร ใช่เรื่องไม่ค่อยมีข่าวเรื่องทุจริตคอร์รัปชันหรือไม่ เรื่องนี้เขาตอบว่า การจะตัดสินว่ามีน้อยลงหรือไม่ต้องอยู่ในสภาวะที่มี freedom of speech (เสรีภาพในการพูด) มากกว่านี้ ผมพูดแบบนี้ไม่ได้หมายถึงว่ามีคอร์รัปชันมาก แต่อาจจะน้อยจริงๆ ก็ได้ แต่เนื่องจากมันไม่มี freedom of speech ก็ทำให้ คนตั้งข้อสังเกตได้ว่าเออจริงๆ มันอาจมีคอร์รัป ชันมากกว่านี้หรือเปล่า แต่ว่าบังเอิญมันพูดไม่ได้ แต่หากไปดูที่นักธุรกิจบอกว่าตอนนี้คอร์รัปชันน้อยลง อันนี้น่าสนใจ ก็เป็นตัวสนับสนุนได้ว่าคอร์รัปชันน้อยจริงๆ

ส่วนเรื่องที่หัวหน้า คสช.ยังใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ดร.สมชัย เห็นว่า การใช้มาตรการปกติจัดการปัญหาก็เชื่อว่าทำได้ เช่นถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันจริงจังก็จะทะลุทะลวงข้อตันในข้อกฎหมาย ระเบียบต่างๆ ได้ แต่ต้องใช้เวลา การใช้มาตรา 44 คงเป็นเรื่องไม่อยากรอมากกว่า เพียงแต่พอมันใช้เนื่องจากมันเบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็มีข้อต้องระวัง หากคำสั่งที่ออกไปมันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาหรือกลับทำให้ปัญหามันยิ่งแย่ลง แล้วใครจะรับผิดชอบ แต่ใจผมอยากเห็นการออกมาตรการที่ผ่านการไตร่ตรอง ปรึกษาหารือกันอย่างแท้จริง แต่ก็ทำอย่างรวดเร็วไม่ลากถ่วงจนไม่เกิดอะไรขึ้นเลย ซึ่งหากเป็นแบบนี้ผมก็ว่าการแก้ปัญหาโดยใช้มาตรา 44 จะดีกว่า เพราะอย่างน้อยก็ยังมีการแก้ปัญหา ยังได้ลองว่าใช่หรือไม่ใช่ หากไม่ใช่ก็แก้ไขใหม่ได้

การใช้มาตรา 44 นายกฯ คงไม่ใช่คิดมาก็ใช้แล้วสั่งเลย แต่คงระดมสมองกันในทีมงานก่อนพอสมควร ก็ได้แต่หวังว่าการระดมสมองในทีมงานของท่านคงรับฟังในวงกว้างมากขึ้น เช่นการพูดคุยกับผู้รู้ทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง โดยผู้รู้บอกว่าวิธีการแก้ปัญหารู้แล้ว แต่ติดข้อกฎหมายอะไรต่างๆ ถ้าได้ข้อสรุปแบบนี้แล้วใช้มาตรา 44 ผมจะเห็นด้วย แต่ถ้าไม่ได้ปรึกษากับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ผู้รู้ต่างๆ จนออกมาตรา 44 ที่ไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาก็จะเกิดความเสียหายมากกว่า

ประเด็นขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ในยุค คสช.มองอย่างไร ดร.สมชัย นักวิชาการที่เสนอแนวคิดเรื่องการปฏิรูประบบภาษี การเงิน การคลัง การลดความเหลื่อมล้ำมาตลอด วิพากษ์ผลงานเรื่องนี้ของ คสช.ว่า การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจภาพรวมก็ไม่ถือว่าสอบตก ก็ประมาณกลางๆ แต่ในด้านการเมือง ความมั่นคงก็ยังไม่เห็นอะไรถูกใจเท่าไหร่ แต่ยอมรับว่าผิดหวังเรื่องการปฏิรูปเพื่อกระจายอำนาจ เพราะว่า คสช.กลับไปทำตรงกันข้ามด้วยซ้ำ คือพยายามดึงอำนาจเข้าไปอยู่ในส่วนกลางให้มากขึ้น อันเป็นทิศทางที่ไม่น่าจะใช่ อยากเห็นการ กระจายอำนาจมากขึ้นทั้งอำนาจการเมืองและอำนาจการคลัง แต่ทุกวันนี้ คสช.ก็ยังไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็เข้าใจว่า คสช.อาจเกรงว่าหากมีการเลือกตั้งท้องถิ่น มันจะทำให้เกิดบรรยากาศวุ่นวาย แต่การเลือกตั้งท้องถิ่นมันสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยค่อนข้างมาก และพื้นที่มันเล็กทำให้การควบคุมและการเลือกตัวแทนในพื้นที่จริงๆ เป็นไปได้มากขึ้น ถ้าทำพร้อมกับการกระจายอำนาจการคลังด้วย ก็จะทำให้การปกครองส่วนท้องถิ่นมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ส่วนที่รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาผู้มีอิทธิพลอันนี้ก็ต้องชื่นชม แต่ก็ต้องให้แน่ใจว่าการแก้ปัญหาผู้มีอิทธิพลเก่าไปจะต้องไม่ไปสร้างผู้มีอิทธิพลใหม่ ผมไม่แน่ใจว่ามันเป็นแบบนั้นหรือไม่ เช่นหากสมมุติว่าผู้มีอิทธิพลรุ่นใหม่หากไปโยงกับทหาร สมมุติถ้าเป็นแบบนั้นทหารก็จะดูไม่ดี เพราะก็จะทำให้มีคนออกมาต่อต้านได้มากขึ้น ก็ต้องควบคุมดูแลอย่าให้เกิดภาพแบบนั้น

-อุปสรรคที่ทำให้การปฏิรูปไม่สำเร็จมากนักเป็นเพราะไปกระทบผู้มีอำนาจ?

แน่นอนอันนั้นก็ส่วนหนึ่ง เช่นพอมีการกระทบผู้มีอำนาจแล้วฝ่ายที่ปฏิรูปได้ฟังไหม หรือว่าตัวท่านเองคือผู้มีอำนาจที่ถูกผลกระทบจากการปฏิรูป ท่านสามารถแยกผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวมออกได้หรือไม่ เหล่านี้เป็นอุปสรรคทั้งสิ้น รวมถึงความเข้าใจในเรื่องสังคม เศรษฐกิจด้วยหรือไม่

กับมุมมองเรื่องการทำงานของฝ่ายบริหารตามร่าง รธน.ฉบับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หลังก่อนหน้านี้ ดร.สมชัย ให้ความเห็นว่าการร่าง รธน.หากทำให้เสถียรภาพรัฐบาลอ่อนแอเกินไปจะทำให้รัฐบาลมีปัญหาทำงานไม่ได้ ขณะที่หลักของ กรธ.จะพบได้ว่า กรธ.มองว่าที่ผ่านมารัฐบาลมีอำนาจมากเกินไป เลยต้องการให้การทำงานของรัฐบาลถูกตรวจสอบได้มากขึ้น

นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอผู้นี้กล่าวย้ำว่า เรื่องแบบนี้มันบอกไม่ได้ว่าใครผิดใครถูก มันได้อย่างเสียอย่าง เราอาจอยากได้ต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็งหากรัฐบาลนั้นบริหารประเทศไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่ถ้ารัฐบาลจะบริหารไปในทิศทางที่ถูกต้อง ถ้าแบบนั้นผมอยากได้รัฐบาลที่อ่อนแอมากกว่า คือหากรัฐบาลบริหารประเทศไปในทางที่ผิด สู้ให้เขามีอำนาจมันจะดีกว่า มันจะได้ทำผิดได้น้อย แต่หากเป็นรัฐบาลบริหารประเทศในทางที่ถูก ก็จะทำให้การผลักดันนโยบายต่างๆ มันเดินหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้องได้

ลำดับแรกเราต้องพิจารณาก่อนว่า ทำอย่างไรเราจะได้รัฐบาลที่บริหารประเทศไปในทิศทางที่ถูกต้องได้ก่อน ก่อนจะมาพูดถึงโจทย์ว่าควรให้รัฐบาลเข้มแข็งหรืออ่อนแอ ซึ่งในร่าง รธน.ฉบับนี้ผมก็ยังไม่ได้อ่านละเอียด จะมีข้อไหนหรือไม่ที่บอกว่าผู้ที่จะเข้าสู่การมีอำนาจจะต้องเป็นผู้มองการณ์ไกล เข้าใจปัญหา ไม่ทำอะไรเพื่อผลประโยชน์ระยะสั้นเป็นหลัก ไม่มีใช่ไหม ไม่เห็น ตรงนี้หากองค์กรอิสระที่จะเกิดขึ้นมาเช่น PBO มันก็จะช่วยเรื่องพวกนี้ได้ คือเอามาช่วยคุม มาช่วยทำให้มันเข้ารูปเข้ารอย ก็เป็นวิธีหนึ่ง

-หมายถึงมองว่าที่บอกจะนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง ช่วยลดความขัดแย้ง จริงๆ แล้วมันอาจไม่ใช่แต่ทำเพื่อหวังสกัดบางฝ่ายเช่น นายทักษิณ ชินวัตร?

มันมีภาพแบบนั้นอยู่ คือจริงๆ ก็คือสกัดนักการเมือง โดยเฉพาะหากมีเรื่องด่างพร้อย คอร์รัปชัน อันนี้ชัดเจน หรือถ้าไม่มีเรื่องด่างพร้อยก็ไม่อยากให้มีอำนาจมากนัก เพราะเกรงจะไปทำความเสียหายให้ประเทศ อันนี้คือแนวคิดของร่าง รธน.ที่ทำกันตอนนี้ แต่อย่างที่ผมบอกคือสิ่งที่อยากเห็น ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่ามันทำยังไง แต่หากทำได้ก็คือสามารถออกแบบให้คนดีคนเก่งเข้าสู่การเมืองมากขึ้น ซึ่งตรงนี้ร่าง รธน.ที่ทำมามันไม่ตอบโจทย์ มันเป็นเรื่องของประชาสังคมมากกว่า แต่หากเราเริ่มจากจัดองคาพยพให้มันดี เอื้อต่อการทำงานและสามารถป้องกันการก่อความเสียหายอย่างรุนแรงได้ด้วย เช่นที่เสนอให้ตั้ง PBO คือให้มีองค์กรที่มาช่วยดูเรื่องนโยบายให้มันเข้ารูปเข้ารอยได้ แล้วให้มีเสียงดังที่พูดมาแล้วรัฐบาลต้องฟัง ก็จะเป็นพลังป้องกันไม่ให้นโยบายแย่ๆ มันเกิด ถ้ามีตรงนี้แล้วรัฐบาลจะเข้มแข็งผมก็โอเค คือไม่ใช่เข้มแข็งอยู่รายเดียว แต่ฝ่ายอื่นๆ ก็เข้มแข็งด้วยสามารถตรวจสอบรัฐบาลได้ด้วย

ยกตัวอย่างเช่นโครงการรับจำนำข้าว หากตอนนั้นมี PBO แล้ว PBO สามารถบอกได้ว่าต้นทุนจำนำข้าวไม่ใช่ 6 หมื่นล้านบาทอย่างที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บอกไว้ แต่จริงๆ แล้วต้นทุนอาจถึง 3 แสนถึง 4 แสนล้านบาท ถ้าสังคมรู้แบบนี้ สังคมและรัฐสภาอาจไม่เอาด้วยกับโครงการรับจำนำข้าวก็ได้ แต่ตอนนั้นรัฐบาลไปพูดไปกล่อมให้คนเชื่อว่าใช้เงิน 6 หมื่นล้านบาทแล้วทุกคนจะลืมตาอ้าปากได้ เรื่องแบบนี้ควรมีหน่วยงานที่เป็นอิสระในการวิเคราะห์อย่าง PBO มาทำตัวเลขให้มันชัดเจน ซึ่งหากตัวเลขชัดเจน สังคมจะเอาอย่างไรก็ให้เป็นไปตามนั้น แต่สังคมต้องได้รับข้อมูลที่ถูกต้องก่อน

ผมคิดว่าพลังของประชาชนเป็นพลังที่ดีที่สุด ดีกว่าองค์กรอิสระทั้งหมดรวมกันเสียอีก แต่จะถึงขั้นเดินขบวนคัดค้านอะไร ก็ยังไม่อยากให้เป็นถึงแบบนั้น แล้วสังคมไทยก็ต้องมีการวิเคราะห์ด้วย ไม่ใช่แบบทุกวันนี้ เช่นไลน์ที่แชร์อะไรกันก็ไม่รู้ ได้อะไรมาก็แชร์กันต่อไป ไม่รู้ว่าใช่หรือไม่ใช่ การเชื่อกันไปเพราะเชื่อในสิ่งที่เพื่อนส่งมาบางทีมันก็ทำให้เกิดปัญหา เกิดกีฬาสี เช่นเสื้อแดงพูดอะไรก็ฟังกันแต่ในกลุ่มเสื้อแดง เช่นเดียวกับเสื้อเหลืองก็แบบเดียวกัน ขาดการวิเคราะห์ คิดว่าสิ่งที่พวกเราพูดถูกหมด สิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามพูดผิดหมด อันนี้เป็นอะไรที่อ่อนแอของภาคประชาสังคมของเรา

เมื่อบทสนทนาเข้ามาถึงประเด็นปัญหาทางการเมือง เลยตั้งคำถามแล้วจะทำอย่างไรให้สังคมไทยก้าวข้ามกีฬาสีทางการเมือง ดร.สมชัย เสนอแนวทางไว้ว่า ต้องเริ่มจากมองทุกอย่างด้วยการวิเคราะห์ ดูตามเนื้อผ้า อะไรที่ใช่เราก็ต้องยอมรับแม้จะเป็นฝ่ายตรงข้ามพูด เช่นเรื่องสองมาตรฐานที่เสื้อแดงพูดเยอะ ซึ่งผมคิดว่ามันใช่ในสังคมไทย ต่อให้คุณไม่ชอบเสื้อแดง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะปฏิเสธความจริงอันนั้น หรืออย่างฝ่ายเสื้อแดง เมื่อฝ่ายเสื้อเหลืองบอกว่ามันมีการคอร์รัปชัน ฝั่งคุณเองก็ต้องยอมรับ ไม่ใช่มาบอกว่าไม่สำคัญ ให้เลือกตั้งก่อน

หากแต่ละฝ่ายเอา agenda ของแต่ละฝั่งมาพิจารณาอย่างถ่องแท้ มาดูว่ามันเป็น agenda ที่แท้จริง แล้วก็นำมาพิจารณารวมกัน มันก็จะตอบโจทย์ทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดง แล้วก็ร่วมกันผลักดัน agenda นั้น เช่นต้องมีการเลือกตั้ง แล้วเสื้อเหลืองก็เห็นด้วยว่าเลือกตั้งแล้วมันตอบโจทย์ได้จริงๆ เช่นถ้าร่าง รธน.ป้องกันการคอร์รัปชันได้จริง แล้วทำให้ภาคประชาสังคมเข้มแข็งด้วย แล้วทั้งสองฝ่ายก็ร่วมกันผลักดัน ก็จะเห็นภาพการจับมือกัน ไม่ใช่ทะเลาะกัน แต่ต้องเริ่มจากการนำ agenda ของแต่ละฝ่ายมาผสมกันก่อน

-สังคมไทยจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้ไหม ไม่มีการแบ่งสี?

ตอนเริ่มแบ่งสีกันมันมีความชัดเจนมาก มันมีความคิดหลายความคิดซึ่งฝังลึกลงไปแล้ว ดังนั้นการแบ่งขั้วความคิดดูแล้วคงเกิดต่อไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องเสียหาย อย่างสหรัฐอเมริกาแบ่งเป็นสองพรรคใหญ่ ก็มีการแบ่งขั้วความคิดกันชัดเจนมาก มันไม่ใช่เรื่องเสียหาย ตราบใดที่แต่ละขั้วความคิดยึดมั่นความคิดตัวเองอย่างมีเหตุมีผล มีหลักฐานมารองรับ ไม่ใช่มโนไปเอง แล้วหากแพ้เลือกตั้งก็ต้องยอมรับ การที่จะมาบอกว่าไม่ควรมีการแบ่งแยกความคิด ผมว่าไม่จำเป็น แบ่งแยกได้ เพียงแต่แบ่งแยกแล้วแต่ละฝ่ายต้องมี agenda ของตัวเองที่เป็น real agenda

ถ้าเลือกตั้งแล้วกลับมาทะเลาะกันใหม่ ไม่ได้มีภาพอย่างที่ผมอยากจะเห็น คือแบ่งแยกความคิด แต่มี agenda ที่ไม่ได้มโนขึ้นมา แล้วถ้าให้ดีมาจอย agenda กันได้ยิ่งดี ถ้าได้แบบนั้นผมก็อยากให้มีการเลือกตั้งเร็ว แต่มันยังไม่เห็นมีภาพแบบนั้นเลย ผมก็ยังหวาดเสียวว่ามันจะมีการกลับไปทะเลาะกันแบบไร้สาระเหมือนเดิม

นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ ย้ำด้วยว่า 2 ปีที่ผ่านมา คสช.ยังไม่ประสบความสำเร็จเรื่องลดความขัดแย้งของคนในสังคม ถ้าใช้เกณฑ์แบบที่บอกคือ ให้สองฝ่ายที่แบ่งขั้วความคิดสามารถชู agenda ของตัวเองขึ้นมาได้ แต่ คสช.ไม่อนุญาตให้ชู agenda ด้วยซ้ำ เช่นห้ามการชุมนุม ห้ามการพูดคุยกันทางการเมือง นักวิชาการก็ต้องพูดคุยอย่างระมัดระวัง มันจึงไม่มีการถกเถียง agenda ที่ตอบโจทย์ของทั้งสองสีอย่างแท้จริง มันอาจมีบ้าง เช่นมีการพูดคุยเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในแม่น้ำ 5 สาย แต่การพูดคุยนั้นมีตัวแทนเสื้อแดงเข้ามาด้วยหรือไม่ ก็พบว่ามันก็ไม่มีการปรองดองจะเกิดขึ้นจึงต้องเปิดกว้างความคิดแต่ละฝ่าย แล้วก็มีการกลั่นกรองความคิดตามหลักวิชา ไม่มีอคติ อย่างสมัยก่อนมีคำว่า แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง อันนี้คือยุทธวิธีที่ควรใช้กับสังคมไทย มันมีจุดร่วมอยู่ไม่ใช่ไม่มี ต้องหาจุดร่วมให้เจอแล้วก็ชูประเด็นนั้นให้มันสุด ให้มันเด่นขึ้นมา เมื่อมันเด่นขึ้นมาก็จะทำให้สองฝ่ายเริ่มมาพูดคุยในประเด็นเดียวกันได้ ส่วนจุดต่างที่มันมีอยู่ก็ให้มีอยู่ ก็ต้องยอมรับแต่อย่าไปชูมันขึ้นมามาก ไม่อย่างนั้นก็จะมาทะเลาะกัน

ประชารัฐคือประชานิยม?

ถึงตอนนี้หลายฝ่ายดูจะยอมรับกันแล้วว่านโยบายประชานิยมคงเป็นเรื่องที่ต่อไปนี้พรรคการเมืองทุกพรรคคงยากจะไม่นำมาหาเสียงหรือใช้ในการบริหารประเทศ เห็นได้จากรัฐบาล คสช.เองก็ยังมีบางนโยบายที่มีรูปแบบประชานิยมเช่นกัน

ดร.สมชัย ผอ.การวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ เน้นย้ำว่า นโยบายที่ทำแล้วเกิดประโยชน์ต่อรากหญ้าควรทำอย่างยิ่ง แต่ประชานิยมทำแล้วเป็นประโยชน์ต่อรากหญ้าจริงหรือไม่ อันนั้นคือคำถาม เพราะประชานิยมที่ทำกันมา เช่น โครงการรับจำนำข้าว มีชาวนาที่ยากจนได้ประโยชน์น้อย คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็แค่ 15 เปอร์เซ็นต์ของเงินที่รัฐบาลสูญเสียไป 5 แสนล้านบาท มีสักแสนห้าพันล้าน ที่ตกไปอยู่ในมือคนจน อีกสามแสนห้าไปอยู่ในมือคนไม่จน ผมยังอยากให้เป็นนโยบายที่เห็นหัวคนจนอยู่ อันนี้จำเป็นมาก แต่ต้องเห็นหัวคนจนอย่างแท้จริงและต้องทำเพื่อคนรากหญ้าอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำไปเพื่อหวังผลจากคะแนนเสียงของเขาชั่วคราว อันนั้นคือประชานิยมอย่างที่คนเขาพูดกัน

-ประชานิยมคือนโยบายที่เปิดช่องให้คอร์รัปชันมากกว่าโครงการปกติหรือไม่?

ก็ไม่ใช่ทุกนโยบาย อย่างนโยบายรับจำนำข้าว ผมเคยได้ยินคนพูดกันถึงขั้นว่าคิดนโยบายนี้มาเพื่อจะคอร์รัปชันด้วยซ้ำ แต่นโยบายอื่นก็ไม่ได้ภาพคอร์รัปชันเทา เช่นรถยนต์คันแรกก็ไม่ได้ยินแบบนี้ มันก็มีดีกรีต่างกันออกไป

สำหรับมุมมองต่อกรณีรัฐบาล คสช.ชูนโยบาย ประชารัฐ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำ เช่นการจัดตั้งบริษัทประชารัฐ ดร.สมชัย วิพากษ์ว่า แนวคิดตั้งบริษัทประชารัฐก็คล้ายระบบพี่เลี้ยง คือให้บริษัทใหญ่มาเป็นพี่เลี้ยงบริษัทเล็กในการทำธุรกิจในด้านต่างๆ เช่นการตลาด ซึ่งดีไซน์แบบนี้คือต้องการส่งเสริมภาคธุรกิจขนาดเล็ก แต่ประชานิยมมันไม่มีภาพแบบนี้ เพราะไปเน้นเรื่องการแจกเงินจึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ส่วนบริษัทประชารัฐจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ยังต้องใช้เวลาทำไปก่อน โดยตัวชี้วัดว่าประสบความสำเร็จก็คือบริษัทที่ตั้งมาต้องยืนบนลำแข้งของตัวเองได้ ด้วยการช่วยเหลือของกลไกประชารัฐ จึงต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 ปีเป็นอย่างน้อย

อย่างไรก็ตาม ผมก็มีคำถามว่าทำไมบริษัทใหญ่ต้องมาช่วย เขาจะได้อะไร ได้หน้า ได้ CSR อะไรหรือไม่ ถ้าเป็น CSR ผมก็โอเคถ้าเป็น CSR เพราะบริษัทเขาก็ต้องทำ CSR อยู่แล้ว หากมาทำแบบนี้มันก็น่าจะดูดี แต่จะต้องทำอย่างจริงใจคือให้คำแนะนำต่างๆ แบบไม่หวงวิชา ทำการวิเคราะห์สภาพปัญหา SME ต่างๆ ด้วยประสบการณ์ที่ตัวเองมี แล้วช่วยเหลือในสิ่งที่ขาดอยู่ แบบนี้ผมก็โอเค แต่ที่บอกว่าประชารัฐจะเปลี่ยนโฉมหน้าของ SME ทั่วประเทศ ผมยังไม่คิดว่ามันจะไปถึงตรงนั้น

“เพราะบริษัทใหญ่ก็ยังมีคำถามว่า ทำไมต้องลงทุน ลงแรง ลงเวลาไปกับเรื่องนี้อย่างมากมาย การจะเปลี่ยนเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งขึ้นมาด้วยบริษัทประชารัฐ ผมก็ยังมีเครื่องหมายคำถามใหญ่ๆ อยู่” ดร.สมชัยตั้งข้อสังเกต

แต่หากสมมุติทำให้เป็นรูปธรรมได้ในลักษณะที่ว่า ความช่วยเหลือดังกล่าวตรงกับความต้องการของรากหญ้าจริงๆ เช่น พวก SME ธรรมดา ประชาชนธรรมดา เช่นที่ผมบอกว่าควรให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตรงนี้จะออกแบบประชารัฐให้เป็นไปในทิศทางนั้นได้หรือไม่ ถ้าออกแบบประชารัฐให้ไปในทางนั้นได้ ผมเอาด้วยเลย คือไปดูว่าทรัพยากรมนุษย์ของกลุ่มที่เป็นรากหญ้าคืออะไร เขาขาดทักษะอะไร แล้วประชารัฐที่ลงไป ไปช่วยพวกเขาในเรื่องนี้ได้หรือไม่ เช่นไปช่วยเรื่องการอบรมทักษะต่างๆ หากทำได้ผมเอาด้วยเลย


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เมื่อ 3 กรกฎาคม 2559 ในชื่อ: ทีดีอาร์ไอชี้จุดเสี่ยง คสช. ลดเหลื่อมล้ำมาถูกทาง