ชงรัฐผุด ศก.พิเศษสุขภาพ

ปี2016-10-11

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า สังคมผู้สูงอายุจะนำพาประเทศชาติเผชิญหน้ากับความเสี่ยงจึงจะเสนอให้รัฐสร้างเศรษฐกิจพิเศษสุขภาพเพื่อเพิ่มกำลังซื้อรับสังคมสูงอายุ

ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ “สังคมผู้อายุ” ในอีก 6 ปีข้างหน้า คือก่อนปี 2568 ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า ในปี 2565 (ก่อนเข้าสังคมผู้สูงอายุ 3 ปี) ประเทศไทยจะมีประชากรถึงจุดสูงสุดที่ 67.9 ล้านคน ทว่าปริมาณแรงงานกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร โดยพบว่าตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา จำนวน “คนงาน” กลับลดลงเรื่อยๆ และจะยิ่งลดลงอีกอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในระยะเวลา 5 ปี จะเติบโตเพียง 3% แต่จากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในสังคมผู้สูงอายุจะทำให้อัตราการเติบโตเหลือแค่ 2.6% เท่านั้น

จากข้อมูลของดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ทิศทางและอนาคตประเทศไทย” ภายใต้การประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ในข้างต้น ชัดเจนว่าสังคมผู้สูงอายุจะนำพาประเทศชาติเผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยก็คือ เมื่อมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น ภาระงบประมาณของรัฐบาลในการดูแลรักษาสุขภาพก็เพิ่มสูงเป็นเงาตามตัว

ดร.สมเกียรติ อธิบายว่า ระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมา ค่ารักษาพยาบาลของประเทศไทยเพิ่มสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อถึง 2 เท่า ข้อมูลปี 2557 พบว่า ระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ ได้แก่ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ มีค่าใช้จ่ายรวมถึง 2.5 แสนล้านบาท

ผลการศึกษาของ วิลเลียม บอร์มอล (william Baumol) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ชี้ว่าสาเหตุที่ค่ารักษาพยาบาลแพงเนื่องจากเป็น “บริการหัตถกรรม” ที่ต้องใช้แรงงานคนและทักษะเฉพาะด้าน ว่ากันในรายละเอียด สาเหตุที่ทำให้บริการหัตถกรรมมีต้นทุนสูง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเทคโนโลยีมีราคาแพง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นโยบายเมดิคัล ฮับ ทุรเวชปฏิบัติ รวมทั้งการผูกขาดในวิชาชีพ ทว่าในมุมมองของ ศ.วิลเลียม สิ่งเหล่านี้มีส่วนให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นจริง แต่ก็ยังไม่ใช่สาเหตุหลักของราคาแพง สำหรับต้นตอของปัญหาเป็นเพราะบริการหัตถกรรมจะมีผลิตภาพเท่าเดิม (การผลิตเท่าเดิม) ในขณะที่ต้นทุนด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ตามทฤษฎีด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กฎข้อที่ 1 ก็คือค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลต่อคน จะเติบโตใกล้เคียงกับรายได้ต่อหัวของประเทศนั้นๆ นั่นก็คือเมื่อประเทศพัฒนาไป ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลจะสูงขึ้น

ดร.สมเกียรติ บอกว่า ไม่มีวิธีการใดจะแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ก็พอจะมีทางชะลอปัญหาได้ เช่น เทคโนโลยีราคาแพงก็ต้องประเมินความคุ้มค่า หรือทบทวนนโยบายเมดิคัลฮับเพื่อลดอุปสงค์ ส่งเสริมการใช้ยาราคาถูก ลดทุรเวชปฏิบัติและลดการผูกขาดในวิชาชีพ ทั้งหมดจะทำให้ค่าใช้จ่ายต่ำลง แต่ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา รัฐบาลจึงจำเป็นต้องสร้างเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วเพื่อสร้างกำลังซื้อ การก่อกำเนิดของนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไปจนถึงไทยแลนด์ 4.0 จึงมีหลักใหญ่ใจความอยู่ที่ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ หนึ่งในสาขาที่จะถูกปั้นก็คือ “บริการสุขภาพ” ซึ่งมีจุดเด่นคือราคาถูก บุคลากรเก่ง ต้อนรับดี โรงพยาบาลมีคุณภาพ โดยพบว่าบริการสุขภาพในประเทศไทยถูกกว่าของสหรัฐอเมริกา 6-15 เท่า สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศมากกว่าปีละ 1 แสนบาท

อย่างไรก็ตาม การผลักดันบริการสุขภาพโดยเฉพาะนโยบายเมดิคัลฮับ ย่อมสร้างผลกระทบต่อคนไทย ไม่ว่าจะเป็นแพทย์จากชนบทหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่จะถูกดึงตัวเข้าสู่ระบบเอกชน จนเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำและการกระจุกตัว

ข้อเสนอของดร.สมเกียรติก็คือ ควรเปิด “เศรษฐกิจพิเศษสำหรับรักษาพยาบาล” ควรเปิดโอกาสให้แพทย์ พยาบาล บุคลากรด้านสุขภาพจากต่างประเทศเข้ามาให้บริการคนไข้ต่างประเทศในพื้นที่ที่จำกัด ซึ่งปัจจุบันกฎหมายของประเทศไทยห้ามไว้ “เรามีความจำเป็นที่จะต้องสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น เพื่อลดแรงกดดันของบริการต่างๆ หากเน้นส่งเสริมบริการอย่างเมดิคัลฮับ โดยไม่เปิดเสรีให้มีบุคลากรจากต่างประเทศเข้ามารักษาพยาบาลคนไข้ต่างประเทศ แรงกดดันก็จะมีมากขึ้นต่อคนไทย” ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุ


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกโดยหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ เมื่อ 11 ตุลาคม 2559 ในชื่อ: ชงรัฐผุด ศก.พิเศษสุขภาพ ปั๊มกำลังซื้อรับสังคมสูงอายุ