วงเสวนาวิเคราะห์ อุปสรรคดันไทยแลนด์ 4.0

ปี2016-10-22

วงเสวนาร่วมวิเคราะห์หลายอุปสรรคทำไทยแลนด์ 4.0 เกิดยาก ห่วงภาคเอกชนลงทุนฝืด จากนโยบายรัฐที่ผ่านมา

การจัดสัมมนา “เดินหน้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ในงาน Thailand’s Economic Outlook 2017 Towards Sustainability โดยนายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในหัวข้อ “Transforming Thailand in to a Sustainable Economy” ในงานสัมมนา Thailand’s Economic Outlook 2017 Towards Sustainability ว่า การพัฒนาประเทศไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 และคนไทย 4.0 นั้น ยังไม่เห็นว่าจะมีรัฐบาลใดตระหนักถึงกลุ่มคนที่อยู่ในวัยกลางคน รวมถึงคนอายุมาก ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ทำงาน มีระดับการศึกษาไม่สูงจึงอาจไม่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี หรือจะถ่วงให้ประเทศไม่สามารถพัฒนาตามเป้าหมายหรือไม่

thailand

ทั้งนี้ มองว่าทางออกของปัญหานี้คือใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อให้คนเหล่านี้ดูแลตัวเองได้ โดยที่ลูกหลานไม่ต้องกังวลถึงการดูแล นอกจากนี้ ในส่วนของรัฐบาลยังพบว่ามีปัญหาเรื่องการสนับสนุนภาคธุรกิจ ที่ยังไม่ตอบโจทย์มากนักโดยเฉพาะประเด็นการอบรมพนักงานให้ทันต่อเทคโนโลยี พบว่ามีเพียงบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น ขณะที่บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กไม่กล้าจัด เนื่องจากมีต้นทุนสูง นอกจากนี้ยังมองว่าประเทศไทยยังมีอุปสรรคในการเปลี่ยนประเทศไปเป็น 4.0 อีกหลายประการ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน

“ล่าสุดคือดิจิทัลอีโคโนมี ดูโครงสร้างภายในยังไม่ใช่ เป็นเรื่องการจัดกรอบงบประมาณ ยังไม่ได้ปฏิรูปคน เราต้องเปิดช่องนำเข้าแรงงานมีฝีมือต่างประเทศเข้ามา สถาปนิก แพทย์ ใน 10 ปีข้างหน้าต้องทำ หากไม่ทำไทยแลนด์ 4.0 คงไม่เห็น” นายสมชัยกล่าว

ขณะที่นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย กลุ่มธนาคารโลก กล่าวว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยเป็นการฟื้นตัวแบบกระจุกตัวเพียงบางอุตสาหกรรม เอกชนบางอุตสาหกรรมยังไม่ลงทุน เพราะมองว่ายังมีความไม่แน่นอนทางการเมือง ระบบคมนาคม และขาดแรงงาน ส่วนการเบิกจ่ายภาครัฐแม้จะทำได้ดีเมื่อเทียบในอดีต แต่ยังไม่ดีนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ซึ่งในปีหน้ารัฐอาจเบิกจ่ายได้ดีกว่านี้ สำหรับปัจจัยบวกที่จะเห็นในปีต่อไป คือรัฐเริ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่ง เศรษฐกิจจีนน่าจะดีขึ้นเป็นบวกต่อการส่งออกไทย ขณะที่ปัจจัยลบต้องจับตาเรื่องธนาคารสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ย สร้างความผันผวนต่อตลาดเงิน แต่ไทยยังมีฐานการคลังและฐานะการเงินที่ดีจึงรับความผันผวนได้

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า สาเหตุที่เอกชนยังไม่ลงทุนตามภาครัฐเพราะพบว่าการลงทุนภาครัฐในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เน้นลงทุนไปในโครงการขนาดเล็กเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ซ่อมถนน บริหารจัดการน้ำ โครงการเหล่านี้เอกชนมองว่าอาจไม่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ ไม่เหมือนปรับปรุงท่าเรือหรือสนามบิน สำหรับเศรษฐกิจในปีหน้าจะมีปัจจัยบวกเรื่องหนี้ครัวเรือนที่ลดลงหนุนให้การบริโภคดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3/2559


เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชน ในชื่อ วงเสวนาห่วงเอกชนลงทุนฝืดชี้อุปสรรคดันไทยแลนด์ 4.0 เมื่อ 22 ตุลาคม 2559