จ้างงานผู้สูงอายุ ลดภาษี2เท่า

ปี2016-12-09

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ครม.มีมติเห็นชอบ มาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เรื่องนี้น่าจะเป็นข่าวใหญ่สำหรับวงการผู้เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ

มติ ครม.ดังกล่าวประกอบด้วย 1) การจ้างงานผู้สูงอายุ 2) การสร้างที่พักอาศัยสำหรับ ผู้สูงอายุ 3) สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) และ 4) การบูรณาการระบบบำเหน็จบำนาญ

วันนี้ขอคุยแค่มาตรการการจ้างงานผู้สูงอายุก่อน

สาระสำคัญของเรื่องและการร่างกฎหมายในเรื่องนี้ คือ เพื่อส่งเสริมให้นายจ้างมีการจ้างงานผู้สูงอายุผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นายจ้าง โดยออกร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายประเภทเงินเดือนและค่าจ้างสำหรับการจ้างบุคลากรผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป) ซึ่งมีอัตราค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 โดยนายจ้างสามารถขอใช้สิทธิได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด ทั้งนี้ ลูกจ้างจะต้องไม่เป็นผู้ถือหุ้นของกิจการ กรรมการ ผู้บริหาร หรือเคยเป็นผู้บริหารของกิจการ

ผู้เขียนจะลองวิเคราะห์ดูว่ามาตรการดังกล่าวจะมีผลต่อการจ้างงานผู้สูงอายุในประเทศไทยอย่างไร

ขณะนี้เป็นที่ทราบกันแล้วว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ความเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้วโดยปี 2558 มีจำนวนผู้สูงอายุถึงประมาณ 11 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16 ของประชากร ต่อไปอีกไม่นาน จำนวนและสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอีกมาก

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ทำการคาดประมาณประชากรไทยในระยะ 30 ปีข้างหน้า พบว่า ในปี 2583 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวนสูงถึง 20.5 ล้านคน หรือเป็นสัดส่วนร้อยละ 32 ของประชากรไทยทั้งหมด แต่จะมีประชากรวัยแรงงาน เพียง 35 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 55 ในปี 2583 ขณะที่ประชากรวัยเด็กจะมีจำนวนลดลงเช่นกัน จาก 12.6 ล้านคนในปี 2553 เป็น 8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 13 ของประชากรไทย และจากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรหรือการสำรวจแรงงาน ในปี 2558 พบว่า มีผู้สูงอายุที่ทำงาน 3.8 ล้านคน จากจำนวนผู้สูงอายุทั้งสิ้น 10.4 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 36

ข้อเสียของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือแรงงานที่เกิดใหม่ลดลง และมีผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้นและเป็นสัดส่วนใหญ่ของประชากรมากขึ้น อาจเป็นภาระของประเทศในการดูแลเนื่องจากการมีชีวิตยืนยาวขึ้นมีต้นทุนมีค่าใฃ้จ่ายในการรักษาพยาบาลมากขึ้นในขณะที่รายได้จากการทำงานลดลง เพราะไม่ได้ทำงาน

ทำไมจึงควรส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ

ในระยะสั้นมีเหตุผล 3 ประการ คือ หนึ่ง เพื่อเป็นหลักประกันด้านรายได้ของผู้สูงอายุเพราะในสังคมผู้สูงอายุนอกจากมีผู้สูงอายุมากขึ้นแล้ว แต่ละคนก็จะมีชีวิตอยู่นานขึ้น มีช่วงชีวิตที่ต้องใช้จ่ายเพื่อการบริโภคนานขึ้นแต่รายได้จากการทำงานลดลงหรือไม่มีเลย และที่สำคัญคือการคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทยยังไม่พอเพียง ในปี 2557 ผู้สูงอายุของไทยเพียงร้อยละ 5 มีรายได้จากบำเหน็จบำนาญ และ ร้อยละ 15 จากเบี้ยยังชีพทางราชการซึ่งไม่มากเท่าใด

ประการที่สอง เป็นเหตุผลทางสังคมที่ผู้สูงอายุยังต้องการทำงานเพราะสุขภาพในวัย 60+ ในปัจจุบันแข็งแรงกว่าในสมัยก่อน ทีดีอาร์ไอเคยสัมภาษณ์ ผู้สูงอายุในเรื่องนี้ พบว่าผู้สูงอายุร้อยละ 17 ต้องการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ร้อยละ 17 บอกว่ายังทำงานเพราะยังมีสุขภาพแข็งแรงอยู่ และต้องการช่วยเหลือสังคม ร้อยละ 15 ต้องการพึ่งตนเอง

และเหตุผลประการที่สาม ในระยะยาวผลกระทบของสังคมผู้สูงอายุทำให้ขาดแคลนแรงงานใหม่และแรงงานอายุเฉลี่ยสูงขึ้น ดังนั้นการให้ผู้สูงอายุอยู่ทำงานมากขึ้นหรือนานขึ้นเป็นการช่วยรักษาขนาดกำลังแรงงานโดยรวมไม่ให้ลดลงจนเกิดความขาดแคลนดังที่ประเทศญี่ปุ่นและประเทศสิงคโปร์กำลังประสบอยู่ในขณะนี้

การส่งเสริมให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจ้างงานผู้สูงอายุจะมีผลกระทบอย่างไรต่อการจ้างงานผู้สูงอายุโดยรวม

ต้องไปดูที่โครงสร้างการจ้างงานผู้สูงอายุ ในปี 2558 แรงงานสูงอายุร้อยละ 81 ไม่มีการศึกษาหรือต่ำกว่าประถมศึกษา ในขณะที่ผู้สูงอายุร้อยละ 8 สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 7 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา และร้อยละ 4 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญา

คิดคร่าวๆ จากจำนวนผู้สูงอายุที่สำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาขึ้นไป จะมีแรงงานสูงอายุเพียงร้อยละ 10 (ประมาณ 3.8 แสนคน) หรือน้อยกว่า ที่มีโอกาสได้ค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท แต่ผู้สูงอายุในกลุ่มนี้มีงานทำอยู่แล้ว จึงยังตอบไม่ได้ว่ามาตรการจูงใจภาคเอกชนจะช่วยให้มีการจ้างงานเพิ่มอีกกี่คน

อาจจะไปดูผู้สูงอายุที่ว่างงานอยู่ (อัตราการว่างงานของผู้สูงอายุเท่ากับร้อยละ 0.12 ของ 3.9 ล้านคนหรือประมาณ 5 พันคนทั้งประเทศ) หรือผู้สูงอายุที่อยู่นอกกำลังแรงงาน(ยังไม่ได้ทำงาน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุในวัย 60-69 (ในปี 2557 ประชากรอายุ 60-69 มีจำนวน 6 ล้านคน เป็นแรงงานจำนวน 3.2 ล้านคน ดังนั้นมีผู้สูงอายุอยู่นอกแรงงานจำนวน 2.8 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้อัตราการเข้าสู่แรงงานไม่น่าจะเกินร้อยละ 50 คิดเป็นจำนวนผู้สูงอายุที่มีโอกาสทำงานเข้าใหม่เท่ากับ 1.4 ล้านคน และอย่าลืมว่ามาตรการนี้ ลูกจ้างจะต้องไม่เป็นผู้ถือหุ้นของกิจการ กรรมการ ผู้บริหาร หรือเคยเป็นผู้บริหารของกิจการ ดังนั้นผู้สูงอายุที่มีโอกาสทำงานถูกล็อกไว้ส่วนหนึ่ง

คำถามคือมาตรการที่จะส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุนี้มีเป้าหมายที่จะจ้างผู้สูงอายุส่วนไหน

หากพิจารณาดูสถานภาพการทำงานของผู้สูงอายุในปัจจุบัน มีเพียงร้อยละ 13 ที่ทำงานเป็นลูกจ้างเอกชน และร้อยละ 2 เป็นลูกจ้างรัฐบาล นอกนั้นกว่าร้อยละ 60 ทำงานส่วนตัว และร้อยละ 20 ช่วยธุรกิจครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งถ้าโครงสร้างการจ้างงานผู้สูงอายุเป็นอย่างนี้ ก็สามารถคาดได้ว่าผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานเพียงร้อยละ 13 ที่มีโอกาสทำงานภาคเอกชน ดังนั้นเป้าหมายของมาตรการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุเข้าใหม่ในภาคเอกชนจะเหลือ ประมาณร้อยละ 13 ของ 1.4 ล้านคน เท่ากับ 1.8 แสนคน
แต่การคำนวณยังไม่จบ เพราะยังมีโอกาสที่ผู้สูงอายุที่ทำงานส่วนตัวหรือช่วยธุรกิจครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้างอยากเปลี่ยนงานเป็นลูกจ้างเอกชน ซึ่งมีถึงร้อยละ 80 ของแรงงานผู้สูงอายุ 3.8 ล้านคน เท่ากับ 3 ล้านคน คงเป็นไม่ได้ที่ทั้ง 3 ล้านคนเกิดอยากจะเปลี่ยนงานกันหมด ต้องไม่ลืมว่า กว่าร้อยละ 80 ของแรงงานผู้สูงอายุมีการศึกษาต่ำกว่าประถมศึกษา ถ้าลองสมมุติว่าร้อยละ5 ของจำนวน 3 ล้านคนนี้ต้องการทำงานเอกชน ก็จะมีอุปทานแรงงานผู้สูงอายุอีก 1.5 แสนคนมาเข้าตลาดแรงงานผู้สูงอายุ รวมกับตัวเลขข้างบน เป็น 3.3 แสนคน

ขณะเดียวกัน หากมองอีกทางหนึ่งจากจำนวนห้างหุ้นส่วน และบริษัทจำกัด ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2558 มีห้างหุ้นส่วนบริษัทจำกัดดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 613,500 ราย แบ่งเป็นบริษัทจำกัด 430,660 ราย บริษัทมหาชนจำกัด 1,090 ราย และห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 181,750 ราย หักสถานประกอบการที่มีลูกจ้างไม่เกิน 9 คน จำนวน 251,300 แห่งออก (เพราะเงื่อนไขให้นายจ้างใช้สิทธิได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด) เหลือห้างหุ้นส่วน และบริษัทจำกัด 3.6 แสนแห่ง หากสมมุติว่าครึ่งหนึ่งของห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดเหล่านี้จ้างผู้สูงอายุแห่งละ 1 คน ก็จะสามารถจ้างผู้สูงอายุได้ ประมาณ 1.8 แสนคน ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นคนที่ทำงานอยู่แล้วและทำต่อ ส่วนที่สอง คือผู้สูงอายุที่เปลี่ยนงาน และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นผู้อยู่นอกกำลังแรงงานกลับเข้าทำงานใหม่ (ทั้งนี้ ยังไม่ได้คิดผู้สูงอายุใหม่ที่เพิ่งเกษียณและผู้สูงอายุที่เสียชีวิตหรือออกจากแรงงานอย่างถาวรเพราะจะยุ่งยากเกินไป)

โดยสรุป ผลกระทบต่อการจ้างผู้สูงอายุของมาตรการและพระราชกฤษฎีกานี้อย่างน้อยน่าจะช่วยสร้างงานให้ผู้สูงอายุประมาณ 2-3 แสนคน ก็ไม่เลวนัก อาจจะมึปัญหาข้อจำกัดลักษณะการทำงานของผู้สูงอายุบ้าง เช่น ระยะเวลาทำงาน สถานที่ทำงาน การรักษาพยาบาลและการเดินทาง ตลอดจนการประกันสังคม เป็นต้น ขึ้นกับอายุและสุขภาพของผู้สูงอายุที่จะจ้าง
แต่ช่วยๆ กันจ้างเถอะครับ คนอายุ 60-70 ยุคนี้ ยังแข็งแรง เตะปี๊บดังสบายมาก


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชน คอลัมน์  ดุลยภาพดุลยพินิจ : จ้างงานผู้สูงอายุ ลดภาษี 2 เท่า เมื่อ 9 ธันวาคม 2559