แนะตั้ง ‘องค์กรกลาง’ 10ชาติคุ้มครองสิทธิแรงงานอาเซียน

ปี2015-07-14

เหลืออีกเพียง 5 เดือนเศษก็จะถึงกำหนดเปิดประชาคมอาเซียน แม้ไทยและบรรดาประเทศสมาชิก จะเร่งปรับปรุงแก้ไขมาตรการต่างๆ เพื่อรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดพรมแดนแต่ก็ยังมีอีกหลายมาตรการที่มี ข้อจำกัดในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับมาตรการรับมือการเคลื่อนย้ายแรงงานครั้งมโหฬารในภูมิภาค

ปัญหาดังกล่าว สะท้อนผ่านผล การศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) วานนี้ (13 ก.ค.)ในหัวข้อ การพัฒนาระบบการคุ้มครองแรงงานเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีอาเซียน : การจัดทำฐานข้อมูลระบบการคุ้มครองแรงงานของประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน

นางสาวบุญวรา สุมะโน นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยผลการวิจัยดังกล่าวว่า จากการศึกษากฎหมายแรงงานของแต่ละประเทศในอาเซียนทั้ง 10 ประเทศพบว่า ในรอบหลายปีที่ผ่านหลายประเทศในอาเซียนมีการปรับปรุงกฎหมายแรงงานให้มีความทันสมัยมากขึ้น ซึ่งนอกจากแต่ละประเทศจะมีการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำให้เหมาะสมกับอัตราค่าครองชีพ แต่ละประเทศยังมีความพยายามที่จะปรับปรุงกฎหมายให้เป็นไปตามหลักสากลตามที่องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ (International Labor Organization : ILO) กำหนด มีการให้ความสำคัญกับการพัฒนาประสิทธิภาพแรงงาน และมีการเพิ่มสวัสดิการสังคมในด้านต่างๆ มากขึ้นกว่าในอดีต เช่น อินโดนีเซีย เพิ่มสวัสดิการสังคมให้กับครอบครัวของแรงงานรวมครอบครัวละ 3 คนจากเดิมที่ให้สวัสดิการ แก่แรงงานเพียงครอบครัวละ 1 คน

อย่างไรก็ตามประเทศต่างๆ” ในอาเซียนยังคงมีข้อจำกัดในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ในบางประเทศได้แก่ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียยังมีอัตราการว่างงานสูง กฎหมายแรงงานยังไม่เอื้อให้เกิดการรวมตัวกันของแรงงานและสหภาพแรงงานเพื่อ สร้างอำนาจการต่อรองกับนายจ้าง

นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายและการตรวจสอบการให้สวัสดิการแรงงานจึงทำให้การบังคับ ใช้กฎหมายไม่ทั่วถึงและทำให้แรงงาน บางส่วน เช่น แรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติยังไม่ได้รับการดูแล จากกฎหมายแรงงานของประเทศต่างๆ ในอาเซียนได้ดีเท่าที่ควร

นางสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า ในการสร้างมาตรฐานกฎหมายแรงงานของ อาเซียนให้เป็นมาตรฐานเดียวถือว่าเป็นเรื่อง ที่มีความสำคัญในการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเพราะในอนาคตการเคลื่อนย้ายแรงงานในอาเซียนจะมีสูงมากขึ้นมากการออกแบบกฎหมายและสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่ต้องมีการหารือกันในระดับประเทศสมาชิกอาเซียน

ทั้งนี้ คปก.มีข้อเสนอในการสร้างกลไกคุ้มครองสิทธิคนทำงานในอาเซียนโดยการยกระดับจากกฎหมายแรงงานเป็นกฎหมายที่คุ้มครองคนทำงานเพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในวัยทำงานได้รับการคุ้มครองและดูแลอย่างเท่าเทียมตามมาตรฐานที่เหมาะสมโดยเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิคนทำงานอาเซียน

โดยคณะกรรมการประกอบไปด้วย ผู้เชี่ยวชาญที่ความสามารถจากประเทศสมาชิกที่ได้ให้สัตยาบันกับไอแอลโอ โดยให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระ และมีหน้าที่หลักใน 3 ส่วนคือ

1.รับและตรวจสอบคำร้องเรียนจากบุคคลหรือผู้แทนบุคคลของสมาชิกอาเซียน ทบทวนรายงาน และการปฏิบัติตามพันธกรณีของรัฐภาคี 2.ให้ข้อคิดเห็นและการเสนอแนะต่อสมาชิกเกี่ยวกับกฎหมายแรงงานและสวัสดิการสังคม และ3.เสนอรายงานสถานการณ์แรงงานประจำปีและ ข้อเสนอแนะด้านแรงงานต่อที่ประชุมประจำปีของอาเซียนเพื่อสร้างมาตรฐานแรงงานของอาเซียนให้มีผลผูกพันประเทศสมาชิก

ด้านนายถิรภาพ ฟักทอง อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในบริบทของอาเซียนประเทศไทยมีสถานะเป็นทั้งผู้ส่งออกแรงงานไปต่างประเทศและเป็นประเทศที่เป็นผู้รับแรงงานจากต่างประเทศ ซึ่งแรงงานส่วนมากที่มีการเคลื่อนย้ายพบว่าไปทำงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจอาเซียนเป็นเศรษฐกิจนอกระบบถึง 50 – 60%

ดังนั้นการกำหนดนโยบายหรือผลักดันการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานจะต้องมีการคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ โดยเฉพาะการย้ายถิ่นของแรงงานระยะสั้น 3 – 5 เดือน รวมทั้งแรงงานเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเป็นแรงงานทักษะต่ำ โดยเฉพาะแรงงานแพศหญิง ซึ่งกฎหมายของอาเซียนและในระดับโลกยังไม่มีการคุ้มครองแรงงานเคลื่อนย้ายในกลุ่มนี้อย่างชัดเจน

“การรับมือกับปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติในอนาคตจะมีความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะนอกจากแรงงานที่เข้าเมืองถูกกฎหมายก็จะมีแรงงานที่ผิดกฎหมายจำนวนหนึ่งที่เข้ามาทำงานในประเทศ และส่วนใหญ่ไปทำงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ”

นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายแรงงานและการคุ้มครองแรงงานของประเทศไทยให้ความสำคัญกับการดูแลแรงงานในระบบจำนวน 14 ล้านคนเป็นหลัก

ขณะที่แรงงานนอกระบบที่มีอยู่กว่า 24 – 25 ล้านคน ซึ่งรวมถึงแรงงานภาคเกษตรและแรงงานที่ไม่มีรายได้ชัดเจน เช่น แม่บ้าน ยังไม่มีกฎหมายและหน่วยงานที่ดูแลสวัสดิการของคนกลุ่มนี้ชัดเจนซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการขยายระบบดูแลสวัสดิการแรงงานให้ครอบคลุมมากขึ้น

ส่วนกฎหมายเกี่ยวกับการดูแลแรงงานต่างด้าวและแรงงานอพยพ โดยเฉพาะในอาเซียนควรที่จะมีการเร่งรัดการเจรจาร่วมระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อหารือถึงปัญหาและข้อกำหนดต่างๆ ในการดูแลแรงงานต่างด้าวและผู้อพยพโดยเฉพาะผู้อพยพที่เข้ามาเป็นแรงงาน

“การปรับปรุงกฎหมายประเทศต่างๆ ในอาเซียนควรหารือกันอย่างจริงจังเพื่อให้กฎหมายสามารถครอบคลุมทั้งการเข้ามาทำงานของแรงงานต่างชาติและการที่คนของประเทศนั้นๆ เข้าไปทำงานในประเทศต่างๆ ในอาเซียนเพราะแนวโน้มของการเคลื่อนย้ายแรงงานจะสูงขึ้นเมื่อมีการเปิดประชาคมอาเซียนแล้ว”

————————

หมายเหตุ: พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ในชื่อ “แนะตั้ง ‘องค์กรกลาง’ 10ชาติคุ้มครองสิทธิแรงงานอาเซียน”