พัฒนาครูไทย เริ่มตั้งแต่ปรับหลักสูตร ถึงกระบวนการพัฒนาต่อเนื่อง

นอกจากการปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนมีทักษะการเรียนรู้ที่ดีแล้ว ประเด็นเรื่องของการพัฒนาคุณภาพ และประสิทธิภาพของครู ถือว่าเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแต่ประเทศไทยเท่านั้น หากในต่างประเทศ การพัฒนาคุณภาพครูถูกทำควบคู่ไปกับการปฏิรูปการศึกษาเช่นกัน

ดังนั้น หากย้อนมองประเทศที่ประสบความสำเร็จ ทั้งเรื่องวิธีการ การดำเนินการ และนโยบาย โดยใช้คะแนนสอบ PISA (Programmed for International Student) มาเป็นเกณฑ์ในการวัด ผ่านงานวิจัยของ “พรพิไล เลิศวิชา” เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จะพบว่าการพัฒนาครูในประเทศจีนมีการคัดเลือกครูคุณภาพสูง รวมถึงผู้บริหารโรงเรียน มีการจับคู่โรงเรียนที่พัฒนาแล้ว และจับคู่โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จกับอีก 5 โรงเรียนเพื่อพัฒนาร่วมกันไป

“อีกทั้งมีการย้ายโอนครูจากเมืองสู่ชนบท ชนบทสู่เมือง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การยกระดับคุณภาพครู และโรงเรียน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารใหม่ โดยนำโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จเข้ามาบริหาร โดยมีการกำหนด Blueprint 2010 ที่จะพัฒนาเซี่ยงไฮ้ให้เป็นศูนย์กลางทางด้านการศึกษาของประเทศจีน โดยมีการสร้าง Web Based Platform ให้กับครูเพื่อใช้เป็นแนวทางในการสอน ซึ่งเว็บนี้ไม่ใช่ทางเลือก แต่คือการบังคับใช้ เพื่อเป็นประกันคุณภาพการศึกษาที่มีวิธีการเหมือนกัน แต่ลดการเรียนการสอนลง”

ส่วนประเทศสิงคโปร์เริ่มจากการพัฒนาสถาบันฝึกหัดครู โดยนำนักเรียนเก่ง จำนวน 30% ของประเทศเข้ามาเรียนในสถาบันแห่งนี้ ซึ่งเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่นำคนเก่งมาเป็นครูเพื่อพัฒนาบุคลากรต่อไป ที่สำคัญสถาบันฝึกหัดครูมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น อีกทั้งยังมีนโยบายที่ให้ครูสอนน้อยลง หาวิธีการให้นักเรียนได้เรียนรู้มากขึ้น โดยเริ่มต้นจากนำครูไปฝึกอบรมจำนวน 100 ชั่วโมงเพื่อให้รู้ถึงวิธีการ หรือแนวทางการสอนให้นักเรียนคิดเป็น รวมถึงการปรับหลักสูตรสถาบันฝึกหัดครูที่เน้นกระบวนการคิดมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ประเทศฟินแลนด์ ประเทศที่มีคุณภาพทางด้านการเรียนสูงมากแห่งหนึ่งของโลก มีการสร้างเครื่องมือการเรียนรู้ให้กับทุกโรงเรียน พร้อมกันนี้ยังสร้างครูคุณภาพสูง โดยนำนักเรียนที่เก่งจำนวน 15% มาเป็นครู และในการผลิตครูจะเน้นเรื่องของการคิด (Thinking Curriculum) ที่ทำให้มีครูสามารถสร้างนวัตกรรมและหลักสูตรของตัวเอง อีกทั้งยังสร้างโรงเรียนตัวอย่างที่เป็นโรงเรียนสาธิตที่ให้ครูทดลองฝึกงาน ที่สำคัญ ยังกระตุ้นให้ครูเป็นผู้นำทางด้านการศึกษา รวมถึงกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้สามารถจัดการและออกแบบการศึกษาได้เอง และในตารางการเรียนการสอนจะมีชั่วโมงพักเบรกระหว่างการสอนในวิชาต่อไป

6-8-2017 9-46-24 AM

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับมามองการปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องของการพัฒนาคุณภาพครู ของประเทศไทย “ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์” นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มองว่าการพัฒนาครูของประเทศไทย จำเป็นต้องมีการปฏิรูปทั้งกระบวนการ และอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจากการผลิตครูรุ่นใหม่ที่จะเข้าไปในระบบ ด้วยการปรับปรุงหลักสูตรคณะศึกษาศาสตร์ เนื่องจากพบว่านักเรียนที่เลือกเข้ามาศึกษาต่อคณะศึกษาศาสตร์ผ่านระบบการคัดเลือกกลาง (แอดมิสชั่น) มีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงมาก และคะแนนที่สอบเข้ามานั้นถือว่าเป็นคะแนนที่ดีด้วย

“เมื่อได้นักศึกษาที่มีคุณภาพแล้ว ประเด็นเรื่องของหลักสูตร จึงจำเป็นที่ต้องมีการการปรับปรุง โดยเฉพาะวิชาการสอน และวิชาเอกให้สามารถบูรณาการ (Integrate) เข้าด้วยกันในสัดส่วนที่มากขึ้น เช่น ถ้านักศึกษาเลือกเรียนเอกวิชาคณิตศาสตร์ วิชาการสอนจะต้องเป็นการสอนคณิตศาสตร์ ไม่ใช่ให้นักศึกษานำเอากระบวนการสอน กับวิชาเอกมาประยุกต์ใช้เอง ที่สำคัญต้องทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างการเรียนภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติให้มากขึ้น”

อีกทั้งเรื่องของจำนวนการรับนักศึกษาเข้าของคณะศึกษาศาสตร์ของแต่ละมหาวิทยาลัยยังถือว่าเกินกว่าความสามารถในการฝึกหัดครู ทำให้มีนักศึกษาจำนวนมาก แต่ทรัพยากรไม่เพียงพอ ศักยภาพ และคุณภาพของครูที่ออกมานั้นจึงตกต่ำลงไป ซึ่งในส่วนนี้คุรุสภาต้องเข้ามาดูแล จัดการ และควบคุมการรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแผนด้วย

“เมื่อจบการศึกษาตามหลักสูตร 5 ปี ที่คุรุสภารับรอง บัณฑิตจะได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งต้องยอมรับว่าในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยกว่า 100 แห่ง ที่เปิดสาขานี้ ทำให้คุณภาพและมาตรฐานนั้นมีความแตกต่างกันไป แม้ว่าจะมีการตรวจหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง แต่ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันคุรุสภาควรมีการทดสอบเพื่อขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เพื่อให้ได้ครูที่สอนดี มีคุณภาพเข้ามาในระบบ ทั้งนี้คาดว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้า คุรุสภามีแผนที่จะดำเนินการในเรื่องนี้”

“ศุภณัฏฐ์” กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนที่เป็นการสอบคัดเลือกเข้าสู่โรงเรียน ปัจจุบันมีกระบวนการคัดเลือกที่แตกต่างกันไป โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในแต่ละพื้นที่เป็นผู้ออกข้อสอบเอง และเพื่อทำให้การสอบคัดเลือกครูเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ สพฐ.ควรมีคลังข้อสอบกลาง ซึ่งอาจจะเป็นข้อสอบชุดเดียวกัน หรือเป็นแบบแยกชุด หลาย ๆ ชุด เพื่อใช้ในการคัดเลือก

“เมื่อสอบผ่านแล้ว สามารถนำเอาผลคะแนนไปสมัครยังโรงเรียนที่เปิดรับสมัคร และโรงเรียนเหล่านั้นจะมีโอกาสที่จะคัดเลือก ซึ่งอาจจะมีการทดสอบภาคปฏิบัติอีกครั้งหนึ่ง ที่สำคัญเมื่อเข้าสู่ระบบโรงเรียนแล้ว จำเป็นต้องมีระบบการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง ด้วยการลดภาระงานที่ไม่จำเป็นเพื่อเพิ่มเวลาในการพัฒนากระบวนการสอน รวมถึงให้ครูรุ่นพี่ ช่วยดูแลรุ่นน้อง จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

หากมีการพัฒนาครูทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทาง ระหว่างทาง จนถึงกระบวนการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง ที่ไม่ใช่เพียงแค่วิธีการสอน แต่เป็นการสร้างความเข้าใจในเนื้อหาการเรียน และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้านต่าง ๆ ให้กับนักเรียน เชื่อว่าคุณภาพของนักเรียนที่เกิดขึ้นจะสะท้อนผ่านคุณภาพของครู


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน ประชาชาติธุรกิจ เมื่อ 7 มิถุนายน 2560 ในชื่อ มุ่งพัฒนาครูในต่างประเทศสู่การปฏิรูปการศึกษา – ผู้สอนไทย