‘Thailand 4.0’ ฝันไกลแล้ว SMEs ไทย ไปถึงได้แค่ไหน

เดือนเด่น นิคมบริรักษ์
ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ

“Thailand 4.0” เป็นนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม นโยบายดังกล่าวมุ่งหวังให้ประเทศไทยมีผู้ประกอบการ SME 4.0 คือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถสร้างหรือใช้เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการของตนได้ แต่เมื่อมองย้อนกลับมายังสถานการณ์ที่เป็นอยู่ จะเห็นว่าสภาพแวดล้อมการส่งเสริม SME ยังไม่อำนวยต่อการปรับโครงสร้างผู้ประกอบการ แม้ว่ารัฐบาล ทุกยุคทุกสมัยจะให้ความสำคัญกับการ ส่งเสริม SME

ภารกิจในการส่งเสริม SME กระจัด กระจายอยู่ภายใต้การดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ฯลฯ ถึงแม้จะมีการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการวางแผนส่งเสริม SME ของประเทศ และมีหน้าที่ประสานงานด้านการส่งเสริมกับหน่วยงานต่างๆ ให้หนุนเสริมกัน แต่ในทางปฏิบัติแล้วยังไม่สามารถทำให้เกิดการบูรณาการงานส่งเสริม SME ได้ เนื่องจากสาเหตุ หลายประการ

ประการแรก แม้ สสว. จะถูกออกแบบมา ให้เป็นผู้จัดทำนโยบายและแผนการส่งเสริม SME ในภาพรวมทั้งประเทศ แต่ในขณะเดียวกันกฎหมายกลับกำหนดให้ สสว. เป็นผู้เข้ามาดำเนินโครงการส่งเสริมเองด้วย ซึ่งในปัจจุบัน งานด้านการส่งเสริมเป็นงานหลัก ของ สสว.

ประการที่สอง สสว. เป็นผู้กำหนดนโยบายในภาพรวม หากแต่ไม่มีอำนาจในการกลั่นกรองโครงการส่งเสริม SME แม้รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายที่จะผลักดันให้หน่วยงานต่างๆ เสนอของบประมาณส่งเสริม SME ผ่าน สสว. แต่โครงการที่เสนอมาจำนวนมากเป็นโครงการที่แต่ละหน่วยงานเสนอมาตามความถนัดหรือ ความต้องการของตนเองมากกว่าเป็นโครงการ ที่ออกแบบมาอย่างบูรณาการจากการวิเคราะห์ ความต้องการของ SME ส่งผลให้งานบางประเภท เช่น การส่งเสริมการแสดงสินค้าในต่างประเทศมีหลายหน่วยงานที่ดำเนินการ ในขณะที่งานส่งเสริมบางประเภท เช่น การให้ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับการเตรียมพร้อม และการเลือกเว็บไซต์ในการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบ

ประการที่สาม ระบบการจัดสรรงบประมาณเป็นแบบรายปีทำให้โครงการส่งเสริม SME ส่วนมากมุ่งเน้นการ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้โครงการในการ ยกระดับขีดความสามารถ SME ที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นขั้นตอนถูกละเลย แม้จะมีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริม SME ซึ่งดูแลโดย สสว. เพื่อให้เป็นแหล่ง งบประมาณที่ใช้ส่งเสริม SME แบบต่อเนื่อง ก็ตาม แต่เงินในกองทุนส่วนมากมักถูก กันไว้สำหรับการดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ประการสุดท้าย โครงการส่งเสริม SME ที่มีอยู่จำนวนมาก ขาดการประเมินผลกระทบ หลังเสร็จสิ้นโครงการโดยหน่วยงานภายนอก ส่งผลให้งานด้านการส่งเสริม SME บางโครงการอาจยังไม่ตอบสนองต่อความ ต้องการของ SME อย่างแท้จริง

การศึกษาการส่งเสริม SME ของแคนาดา เกาหลีใต้ สิงคโปร์และไต้หวัน พบว่า รูปแบบการบริหารงานส่งเสริม คล้ายกับไทย คือ ดำเนินงานโดยหน่วยงานหลายแห่ง แต่มีองค์กรกลางคล้าย สสว. ทำหน้าที่ในการวางแผนและบูรณาการงานส่งเสริม SME ของประเทศ แต่การส่งเสริม SME ของแต่ละประเทศชี้ให้เห็นว่า

1) หน่วยงานที่กำหนดนโยบายและวางแผนการส่งเสริม SME จะต้องมีฐานข้อมูล SME ที่สมบูรณ์ มีบุคลากรที่มี ขีดความสามารถในการวางแผนและ ในการประเมินโครงการสูง และที่สำคัญ คือจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับงานส่งเสริม ในระดับปฏิบัติการ

2) การออกแบบโครงการช่วยเหลือ SME จะเป็นแบบ “แพ็กเกจ” หรือ portfolio ที่มีเป้าหมายชัดเจน มีการแจกแจงรายละเอียดของกิจกรรมที่ต้องดำเนินการเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมาย ตลอดจนรายชื่อของหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดชอบในแต่ละกิจกรรม ซึ่งทำให้การจัดสรรงบประมาณมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาการทำงานซ้ำซ้อน

3) การจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการระยะยาวเป็นแบบผูกพันหลายปี (Multi-year budgeting) เนื่องจากโครงการบางประเภทต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ ซึ่งทำให้การดำเนินงานต่อเนื่อง ลดปัญหา ความไม่แน่นอนของการดำเนินงาน

4) องค์กรในการส่งเสริม SME ที่ดี จะมีกลไกการประเมินที่เป็นระบบ โดยมีการ ประเมินความจำเป็นและความคุ้มค่า ก่อนที่จะดำเนินการ เพื่อให้มีการจัดสรรทรัพยากรในการส่งเสริม SME อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวก็มีการประเมินผลลัพธ์ของมาตรการที่ดำเนินการอยู่และสิ้นสุดลงด้วย เพื่อใช้เป็นข้อมูลปรับปรุงมาตรการในครั้งต่อไป
นอกจากนี้ในบางประเทศ เช่น แคนาดามีการว่าจ้างบุคคลที่สาม ทำหน้าที่ประเมินโครงการส่งเสริมได้อย่างอิสระ ช่วยให้สามารถพัฒนาระบบการส่งเสริม SME ได้ดียิ่งขึ้น

จากบทเรียนของต่างประเทศ เห็นได้ว่า สิ่งที่ไทยต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุผลได้ตามนโยบาย 4.0 คือ

ประการแรก ต้องปรับบทบาทภารกิจ ของ สสว. ให้เป็นหน่วยงานวางแผน กำหนดทิศทางการส่งเสริม SME และกลั่นกรองโครงการส่งเสริม SME เท่านั้น ตลอดจนกำกับดูแลโครงการ มาตรการ ส่งเสริม SME ของหน่วยงานต่างๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย

ประการที่สอง ควรมีการถอดแผนการพัฒนา SME ออกมาเป็น “แพ็คเกจ” ของโครงการส่งเสริมโดยกำหนดประเด็นและ เป้าหมายของการส่งเสริม ระบุรายละเอียดกิจกรรม หน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อความมีประสิทธิภาพของการดำเนินงานและ จัดสรรงบฯ

ประการที่สาม สำหรับกิจกรรมหรือโครงการที่ต้องดำเนินการต่อเนื่องหลายปี ควรมีการโอนเงินงบประมาณเข้ากองทุนส่งเสริม SME ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ สสว. หากแต่ต้องมีการกำหนดเป้าหมายและรายละเอียดของกิจกรรมที่ต้องดำเนินการ ในแต่ละระยะเวลาอย่างชัดเจน รวมทั้งมีการติดตามประเมินผลที่เผยแพร่ต่อสาธารณชน หากทำได้เช่นนี้ การที่จะเดินไปสู่ Thailand 4.0 คงมิใช่เรื่องยาก


หมายเหตุเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤษภาคม 2560 ในกรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์: วาระทีดีอาร์ไอ: ‘Thailand 4.0’ ฝันไกลแล้ว SMEs ไทย ไปถึงได้แค่ไหน