ข้อมูลปริมาณข้าวแท้จริง สำคัญต่อการกำหนดราคา

ปี2016-11-01

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ วิเคราะห์ สาเหตุราคาข้าวตก เนื่องจากข้อมูลปริมาณข้าวในตลาดที่ไม่แน่นอน แนะเร่งระบายข้าวออกนอกประเทศ เพื่อลดปริมาณข้าวค้างสต๊อก ช่วยดึงราคาข้าวในประเทศขึ้น

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราถึงสถานการณ์ราคาข้าวตกต่ำว่า ราคาข้าวในระยะ 2 เดือนหลังมานี้ลดลงมากกว่าปกติ ในส่วนของราคาข้าวหอมมะลิ 100 % ช่วงระหว่างกันยายน – ตุลาคม ราคาลดลงไป 25 เหรียญสหรัฐต่อตัน คิดเป็น 32 % ซึ่งช่วงก่อนหน้านี้เดือนมิถุนายน-กันยายน ลดไปแค่ 15 เหรียญสหรัฐ ส่วนราคาข้าวเปลือกก็ลดลงเช่นกัน โดยเฉพาะที่ภาคอีสานราคาลดลงอย่างมาก ส่วนราคาข้าวที่เชียงรายซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิเหมือนกัน แต่ราคาไม่ได้ลดมากนัก14875845_10154027922153059_934004837_o

ส่วนข้อสงสัยที่ว่าทำไมราคาข้าวลดลงอย่างมาก ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า ประเด็นคือปีนี้แนวโน้มราคาลดข้าวจะลดลงอยู่แล้ว แต่มีเรื่องการเก็งกำไรเข้ามาร่วมด้วย ทำให้ราคาตกอย่างหนัก ส่วนหน่วยงานภาครัฐก็ไม่มีการแจ้งรายละเอียดของปริมาณข้าวในสต๊อก ทำให้ไม่มีใครรู้ว่าผลผลิตที่แท้จริงมีเท่าไหร่

“เมื่อผู้ประกอบการไม่เชื่อตัวเลขหลวง ผู้ประกอบการก็จะออกไปสำรวจเอง พอไปสำรวจแล้วก็คาดว่าปีนี้ฝนมีมาก ผลผลิตต่อไร่ต้องสูงแน่นอน ก็เลยไปเสนอว่าในราคาที่ต่ำ พอพ่อค้าคนอื่นรู้ก็ยิ่งเสนอราคาต่ำ เหมือนกับตลาดหุ้นเวลาหุ้นลงก็จะลงอย่างแรง ถ้าเรามีข้อมูลการพยากรณ์ปริมาณข้าว เราก็จะสามารถรู้ราคาได้ตั้งแต่ต้นฤดูกาล แล้วก็จะส่งผลให้ไม่มีการเก็งกำไรที่มากขนาดนี้ สถานการณ์ข้าวในตอนนี้เป็นแบบนี้ เพราะมีข้อมูลไม่แน่นอน”

ดร.นิพนธ์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการทำข้อมูลการพยากรณ์ ไม่ปรับปรุงระบบการพยากรณ์ให้แม่นยำ ใช้ระบบแบบตั้งโต๊ะประมาณการเอา แม้ตอนนี้มีเทคโนโลยีภาพถ่ายทางดาวเทียมที่จะพอช่วยได้แล้วของจิสด้า (GISTDA ) แต่ก็จะพยากรณ์ได้เฉพาะข้าวทั้งหมด ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นข้าวพันธุ์ไหน แนะนำว่าควรส่งคนไปตรวจสอบภาคพื้นดินเพื่อสำรวจว่ามีข้าวประเภทไหนบ้าง เพื่อให้ประมาณการปริมาณข้าวได้ถูก และจะสามารถนำเสนอราคาให้สอดคล้องกับปริมาณได้อย่างแม่นยำ

ส่วนแนวทางแก้ไขวิกฤตราคาในช่วงนี้คือ ควรที่จะเร่งขายข้าวออกนอกประเทศแม้จะได้ราคาต่ำก็ต้องยอม เพราะถ้าเร่งขายข้าวได้ ข้าวในประเทศก็จะเหลือน้อย ราคาข้าวในประเทศก็จะสูงขึ้น สวนกรณีที่จะมีการเพิ่มราคาจำนำข้าวยุ้งฉางจากตันละ 1 หมื่นบาท เป็นตันละ1.1 หมื่นบาท ก็ได้ข้อสรุปแล้วว่าจะไม่เพิ่มเพราะต้องดำเนินตามระเบียบให้ถูกต้องตามกฎขอกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน (กชก.)


 

หมายเหตุ เผนแพร่ครั้งแรกที่ สำนักข่าวอิศรา ในชื่อ วิกฤตข้าวราคาตก นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอชี้เพราะนักเก็งกำไร เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2559