ข้อเท็จจริง โดย ดร.สมเกียรติ กรณีร่วมหารือและการทำประชาพิจารณ์ พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อฯ

ปี2017-02-02

เมื่อเร็วๆนี้ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ หัวหน้าโครงการวิจัย “การกำกับดูแลสื่อในยุคหลอมรวม” ได้ โพสเฟซบุ๊กเพจส่วนตัว ถึงกรณี ที่มีการให้ข่าวว่า ทีดีอาร์ไอ มีส่วนเกี่ยวข้องในการหารือและการทำประชาพิจารณ์ ตามเนื้อหาดังนี้

คงพอได้ทราบข่าว ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … ซึ่งกำลังเป็นประเด็นปัญหาถกเถียงระหว่าง คณะกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กับองค์กรด้านสื่อ 30 องค์กร งานนี้ ทีดีอาร์ไอ ถูกหางเลขด้วย เพราะมีรายงานข่าวในสื่อมวลชนหลายฉบับที่อ้างคำพูดของ ประธานคณะกรรมาธิการ สปท. ว่า “ร่างดังกล่าวได้ผ่านการหารือและการทำประชาพิจารณ์จากผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)”

ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เป็นอย่างนี้ครับ

หนึ่ง ผมและนักวิจัยในโครงการ (คุณอิสร์กุล อุณหเกตุ) ได้ไปอธิบายผลการวิจัยเรื่อง “การกำกับดูแลสื่อในยุคหลอมรวม” ซึ่งคณะผู้วิจัยจากทีดีอาร์ไอและคณาจารย์จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ให้แก่คณะกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2559

สอง ผมและทีมวิจัยไม่ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … และไม่ได้ร่วมทำประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายดังกล่าว (หากมีการทำประชาพิจารณ์) ที่สำคัญ ผมยังไม่ได้เห็นร่างกฎหมายดังกล่าว และไม่ทราบว่าร่างกฎหมายฉบับล่าสุดที่เป็นที่มาของการถกเถียงกันมีเนื้อหาอย่างไร นอกจากที่ได้อ่านในข่าว

สาม ข้อเสนอของคณะวิจัยจากทีดีอาร์ไอในส่วนที่เกี่ยวข้องคือ การเสนอให้มีกลไกการกำกับดูแลร่วม (co-regulation) เพื่อหนุนเสริมการกำกับดูแลตนเองของผู้ประกอบการสื่อแต่ละราย (เช่นการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของสถานีโทรทัศน์แต่ละช่อง) และการกำกับดูแลกันเอง (self-regulation) โดยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน (เช่นการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย) เพราะที่ผ่านมา การกำกับดูแลกันเองโดยองค์กรวิชาชีพสื่อนั้นไม่ค่อยมีประสิทธิผล เพราะผู้ประกอบการเข้าร่วมโดยสมัครใจ และคำตัดสินไม่มีผลผูกพัน

ทั้งนี้ การกำกับดูแลร่วมเป็นการผสมผสานข้อดีของการกำกับดูแลของรัฐ ซึ่งกลไกบังคับใช้มีประสิทธิภาพ เพราะมีบทลงโทษตามกฎหมาย แต่มีข้อเสียมากมาย โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้รัฐแทรกแซงสื่อ กับการกำกับดูแลกันเองขององค์กรวิชาชีพสื่อ ซึ่งมีจุดอ่อนดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้สื่อมีมาตรฐานจริยธรรมทางวิชาชีพที่ปฏิบัติได้จริง โดยยังสามารถรักษาความเป็นอิสระของสื่อจากการแทรกแซงของรัฐได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้หากออกแบบได้ดี ที่สำคัญคือต้องไม่มีตัวแทนภาครัฐเกี่ยวข้อง

แนวทางในการกำกับดูแลร่วมมีหลายวิธี เช่น การให้สภาวิชาชีพวินิจฉัยความถูกผิดด้านจริยธรรม และให้รัฐช่วยบังคับบทลงโทษตามข้อวินิจฉัยให้มีผล ไปจนถึงการให้สื่อกำกับดูแลกันเองเป็นหลัก และเสริมด้วยการกำกับดูแลโดยรัฐ เช่น กสทช. เป็นด่านสุดท้าย หากการกำกับดูแลกันเองไม่มีประสิทธิผล

แต่ละแนวทางมีจุดอ่อนและจุดแข็งที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ การกำกับดูแลสื่อเป็นเรื่องละเอียดอ่อน วิธีการที่ใช้และรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง

ผมคิดว่า ทางออกในเรื่องนี้ควรเกิดขึ้นจากการหารืออย่างฉันมิตรและเปิดใจกว้างระหว่าง กมธ. ของสปท. และองค์กรสื่อ บนฐานของความเชื่อเรื่องเสรีภาพสื่อ ซึ่งถูกกำกับโดยมาตรฐานจริยธรรมทางวิชาชีพ ไม่ใช่บนฐานความคิดที่รัฐเข้าไปควบคุมสื่อ

(ตัวอย่างข้อมูลข่าวที่ทีดีอาร์ไอถูกอ้างถึง: http://www.matichon.co.th/news/445769)