โครงการคืนความสัมพันธ์ชุมชนล้านนากับทรัพยากรน้ำ กรณีฝายพญาคำ อ.สารภี จ.เชียงใหม่

วันที่2013-01-01

โครงการคืนความสัมพันธ์ชุมชนล้านนากับทรัพยากรน้ำ กรณีฝายพญาคำ อ.สารภี จ.เชียงใหม่
นายสมบูรณ์ บุญชู, นางสาวสุมนมาลย์ สิงหะและคณะ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
2550

รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการคืนความสัมพันธ์ชุมชนล้านนากับทรัพยากรน้ำ กรณีฝายพญาคำ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ที่จะนำเสนอต่อไปนี้ ประกอบด้วย 6 บทด้วยกัน โครงการวิจัยมีจุดเริ่มต้นจาก ความต้องการสร้างกติการ่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้ประโยชน์จากน้ำปิง ในระบบ “เหมืองฝาย” พญาคำซึ่งนับวันจะมีความยุ่งยากและบั่นทอนความเข้มแข็งของการบริหารจัดการน้ำของกลุ่มเหมืองฝาย อันได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้เกริ่นนำไว้บทที่ 1 ในระยะแรกทีมวิจัยปักธงงานวิจัย คือ การใช้กระบวนการวิจัยเพื่อบอกว่า ชุมชนมีการจัดการน้ำได้ดีกว่าชลประทานอย่างไร และสร้างความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพและสร้างความยั่งยืนของชุมชนได้อย่างไร โดยมีระยะเวลาดำเนินการสองช่วงเวลาต่อเนื่องกัน คือ มกราคม ถึงมิถุนายน พ.ศ.2548 และตุลาคม พ.ศ.2548 ถึงมีนาคม พ.ศ.2549

สำหรับบทที่ 2 เป็นการสำรวจองค์ความรู้ สถานภาพและข้อจำกัดของการจัดการระบบเหมืองฝาย โดยทิ้งประเด็นเรื่องการปรับตัวและความขัดแย้งของการจัดการน้ำระบบเหมืองฝายในยุคโลกาภิวัฒน์ ก่อนข้ามไปบทที่ 3 กระบวนการวิจัย ซึ่งทีมงานวิจัยได้ออกแบบกิจกรรมที่สร้างการเรียนรู้ภายในชุมชนและเครือข่ายระดับลุ่มน้ำ และกระบวนการเรียนรู้ภายนอกกฎหมาย นโยบาย โครงการที่สร้างผลกระทบต่อการจัดการน้ำของชุมชน โดยตระหนักถึงความสำคัญของ ”ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” และลงมือทำงานวิจัยผ่านโครงสร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ของชุมชน ตลอดจนการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ของกลุ่มที่หลากหลาย โดยมีแกนกลางของการเรียนรู้คือประเด็น “สิทธหน้าหมู่” ซึ่งได้นำเสนอในบทที่ 4 และ 5 หากกล่าวให้รวบรัดชัดเจนกระบวนการวิจัยคือ การสร้างความหมายของ “สิทธหน้าหมู่” ของระบบเหมืองฝายและการปฎิบัติการที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและยั่งยืนแก่ชุมชนนั่นเอง ทั้งนี้งานวิจัยได้สร้างความหมายแก่กลุ่มผู้ใช้น้ำในแง่ผู้นำภูมิปัญญาในการจัดการน้ำ การกระจายผลประโยชน์ การจัดการความขัดแย้งด้วย ความรู้ต่อนโยบายรัฐและการต่อรองต่อผู้มีอำนาจ ในขณะเดียวกัน ก็ได้เรียนรู้ถึงการวิเคราะห์ความหนักหน่วงของปัญหาการจัดการน้ำแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ฉะนั้นการปะทะ การจัดการกับปัญหาย่อมมีวิถีทางแตกต่างกันไปด้วย ข้อเสนอแนะนี้เสนอไว้ในบทที่ 6 ที่สรุปการทำงานวิจัยทั้งหมด

ในด้านบทบาทของคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วย “คนใน” ท้องถิ่น และ”คนนอก” การเปิดโอกาสให้มีการตีความ ถอดรหัส หรือถอดบทเรียนจากการทำงานร่วมกันน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด แต่การเขียนหรือเรียบเรียงเนื้อหาจาก “คนนอก” นั้นเป็นภาระกิจที่หนักหน่วง ดังนั้นเพื่อลดความอึดอัดใจในกรณีนี้ ผู้อ่านจะได้อ่านข้อความ รายละเอียดที่เป็นภาษา “คำเมือง” ที่สะท้อนวิธีคิดของผู้พูดระหว่างบรรทัด และเปิดโอกาสให้ท่านได้ตีความร่วมกันไปด้วย อย่างไรก็ตาม การทำงานท่ามกลางปัญหา ข้อจำกัดอันมากมายทั้งภายในตัวบุคคลทำงานด้วยกันเอง การทำงานร่วมกันที่ต้องเผชิญกับความซับซ้อนภายในชุมชน สถานการณ์ฉุกเฉินเหตุการณ์ “รื้อฝาย” คณะทำงานได้สรุปร่วมกันว่า พวกเราได้เกิดการเรียนรู้ชีวิตและชุมชน และเรียนรู้สังคมอย่างสัมพันธ์เชื่อมโยง ระยะที่ทอดยาวออกไปช่วยให้ค้นพบบริบทของพื้นที่ และค้นพบศักยภาพของตนเอง โดยเมื่อทำงานผ่านข้อมูล และการสร้างองค์ความรู้ในการจัดการทรัพยากรน้ำ ผ่านข้อมูลทางนโยบายที่เข้ามาเกี่ยวข้อง แม้ยังมีปัญหาการสร้างคนรุ่นใหม่ เพื่อเรียบเรียงข้อมูลให้เป็นระบบ ซึ่งเป็นทักษะที่อาจต้องใช้เวลาในการขัดเกลา แต่เป็นภารกิจของคณะกรรมการเหมืองฝายพญาคำจะลงมือปฏิบัติการให้ได้ผลในอนาคต

ความผิดพลาดจากการเขียนและเรียบเรียงข้อมูล ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวและสุดท้ายขอคารวะให้ดวงวิญญาณของปราชญชาวบ้านผู้อุทิศชีวิตและทำประโยชน์อย่างยิ่งแก่ชุมชน อุ๊ยพลอย มารินทร์และอุ๊ยไรย์ หน่อแก้ว ผู้ซึ่งล่วงลับไปแล้ว


ท่านสามารถดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มได้ที่ ห้องสมุดออนไลน์ http://elibrary.trf.or.th