โครงการ ”การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อจัดการทรัพยากรน้ำเชิงพื้นที่พร้อมระบบสนับสนุนการตัดสินใจและกระบวนการทางสังคมในบริเวณพื้นที่จังหวัดระยอง”

วันที่2013-10-30

โครงการ ”การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อจัดการทรัพยากรน้ำเชิงพื้นที่พร้อมระบบสนับสนุนการตัดสินใจและกระบวนการทางสังคมในบริเวณพื้นที่จังหวัดระยอง”
รศ.ดร. สุจริต คูณธนกุลวงศ์ และคณะ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
2551

จากสถานการณ์ปัญหาการขาดแคลนน้ำในปี พ.ศ.2548 ในภาคตะวันออก โดยมีสาเหตุหลักมาจากแหล่งน้ำหลักในพื้นที่มีอยู่ในปัจจุบันมีจำกัด และสภาพความแปรปรวนของฝนมีมาก ทำให้ไม่สามารถรองรับต่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างเครื่องมือช่วยการจัดการน้ำในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เกิดแนวทางการแก้ไขที่เหมาะสมในพื้นที่ ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำเชิงพื้นที่จากผลการศึกษาวิจัยของโครงการฯและกระบวนการทางสังคมจะช่วยสร้างความเข้าใจแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้เห็นถึงสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขที่สามารถตกลงร่วมกันได้

การดำเนินงานด้านกระบวนการทางสังคมมุ่งเน้น (1) การศึกษาและประสานสร้างเครือข่ายของชุมชนในพื้นที่ และ (2) ศึกษาและเสริมสร้างกระบวนการเก็บข้อมูล โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ตรวจสอบ และเรียนรู้พฤติกรรมการใช้น้ำของตน ตลอดจนปัญหาที่เกี่ยวกับการใช้น้ำในชุมชน โดยเชื่อว่า การเสริมสร้างศักยภาพของประชาชน (capacity building) ในเรื่องระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการน้ำ จะนำไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจเรื่องทรัพยากรน้ำอย่างมีความหมายได้ (meaningful public participation)

ผลการดำเนินงานพบว่า ในด้านการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบสารสนเทศ ตัวแทนชุมชนมีโอกาสมีส่วนร่วมในหลายช่องทาง ทั้งการมีส่วนร่วมในการเก็บข้อมูล ตรวจสอบข้อมูล การพัฒนาการตัดสินใจ การสนทนากลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทั้งในเรื่องสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำและความคิดเห็นต่อระบบ การมีส่วนร่วมที่เกิดขึ้นในการพัฒนาระบบดังกล่าว ก่อให้เกิดผลผลิตที่สำคัญคือระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการน้ำในโครงการ ที่มีลักษณะสำคัญคือ เป็นระบบที่มีข้อมูลที่ส่งตรงจากระดับตำบล ที่สามารถทำให้ข้อมูลเป็นปัจจุบันและได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนได้มากกว่า และ อบต. ที่ร่วมทดสอบระบบ ก็สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานของตำบลได้ ในเบื้องต้น จึงอาจสรุปได้ว่า ระบบสารสนเทศที่เป็นผลผลิตจากโครงการสามารถพัฒนาศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ โดยเฉพาะศักยภาพในการคาดการณ์สถานการณ์น้ำในพื้นที่เพื่อเตรียมการป้องกันล่วงหน้า โดยใช้เป็นเครื่องสนับสนุนการดำเนินงานเพิ่มเติมจากการดำเนินของส่วนราชการอื่นยังแบบปกติ

ผลการดำเนินงานเพื่อพัฒนาศักยภาพของชุมชนของโครงการ เกิดขึ้นชัดเจนในการเสริมศักยภาพก้านการจัดการข้อมูลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากกว่าการเสริมศักยภาพของชุมชนในวงกว้าง และจำเป็นต้องมีการติดตามประเมินผลการใช้ระบบสารสนเทศต่อไปในอนาคต ทั้งในกลุ่มองค์กรปกครองท้องถิ่นและผู้ใช้ในภาคประชาชน ว่าจะสามารถพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพของประชาชนและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการตัดสินใจเรื่องการจัดการน้ำได้มากน้อยเพียงใด

ด้านการศึกษาการจัดการทรัพยากรน้ำเชิงพื้นที่ มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูล ศึกษาวิเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ และการจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ ทั้งพื้นที่ศึกษา โดยการศึกษาประกอบด้วย การศึกษาด้านแหล่งน้ำผิวดิน ด้านแหล่งน้ำบาดาล ด้านการใช้น้ำและความต้องการใช้น้ำ และด้านการจัดการน้ำ

ทรัพยากรน้ำของจังหวัดระยองแบ่งตามสภาพทางอุทกวิทยาลุ่มน้ำสามารถแบ่งออกเป็น ลุ่มน้ำหลักได้ 2 พื้นที่ลุ่มน้ำ ได้แก่ (1) พื้นที่ลุ่มน้ำคลองใหญ่ (แม่น้ำระยอง) ขนาดพื้นที่รับน้ำประมาณ 1,800 ตร.กม. ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ (2) พื้นที่ลุ่มน้ำประแสร์ ขนาดพื้นที่รับน้ำประมาณ 1,500 ตร.กม. ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำประแสร์และอ่างเก็บน้ำคลองระโอก

การบริหารจัดการน้ำในระดับลุ่มน้ำระยองมีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรง ได้แก่ กรมทรัพยากรน้ำและกรมชลประทาน ในจังหวัดระยองหน่วยงานทั้งสองมีแนวทางและหน้าที่ในการบริหารจัดการน้ำที่แตกต่างกัน โดยการดำเนินการหลักของฝ่ายทรัพยากรน้ำจังหวัดในปัจจุบัน ได้แก่ การเผยแพร่ ประสานงานทางวิชาการ ความรู้ในการก่อสร้างและดูแลรักษาซ่อมบำรุงระบบประปาหมู่บ้าน และการสนับสนุนการจัดตั้งเครือข่ายผู้ใช้น้ำในพื้นที่ ส่วนงานการก่อสร้างประปาหมู่บ้านได้มีการถ่ายโอนสู่องค์กรท้องถิ่น สำหรับ กรมชลประทาน เน้นการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำคลองใหญ่ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำดอกกราย หนองปลาไหลและคลองใหญ่ ร่วมกันเพื่อให้มีประสิทธิภาพการใช้น้ำมากที่สุด ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำทั้งสามแห่งระบายน้ำลงลำน้ำเดียวกัน
คือ แม่น้ำคลองใหญ่ มีการสร้างระบบเชื่อมโยงระหว่างอ่างเก็บน้ำโดยระบบท่อผันน้ำดอกราย –หนองปลาไหล และหนองปลาไหล –คลองใหญ่ ในภาวะปกติโครงการชลประทานระยองจะจัดสรรน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีให้กับผู้ใช้น้ำตามที่ปริมาณการสูบน้ำที่กำหนดไว้ โดยมีการติดตามข้อมูลและตรวจสอบข้อมูลการสูบน้ำเป็นรายวัน

การใช้น้ำใต้ดินในจังหวัดระยอง มีปริมาณการใช้น้ำจากบ่อน้ำตื้นและบ่อน้ำบาดาลส่วนตัวประมาณ 11.24 ล้านลบ.ม./ปี โดยพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาน้ำบาดาลในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำคลองใหญ่ อยู่ ในบริเวณ ต. บางบุตร ต.ชากบก และต.บ้านค่าย โดยมีปริมาณนํ้าบาดาลที่คาดว่าจะพัฒนาได้มากกว่า 20 ลบ.ม./ชม. และมีคุณภาพน้ำบาดาลอยู่ในระดับที่ดีมีสารละลายในน้ำน้อยกว่า 500 มก./ลิตร

จังหวัดระยองเป็นพื้นที่ที่มีการใช้น้ำมาก เนื่องจากการเติบโตของชุมชนเมือง และภาคอุตสาหกรรม โดยแหล่งน้ำสำคัญ คือ แหล่งน้ำผิวดินจากอ่างเก็บน้ำต่างๆ การจัดหาน้ำในจังหวัดระยองดำเนินงานโดยหน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล นอกจากนี้ ยังมีเอกชนร่วมดำเนินการ ได้แก่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ East Water ซึ่งรับสัมปทานน้ำ ดิบจากอ่างเก็บน้ำ ในความดูแลของกรมชลประทาน เพื่อจัดสรรให้กับภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก การศึกษาการใช้น้ำและความต้องการใช้น้ำในพื้นที่จังหวัดระยอง แบ่งออกตามวัตถุประสงค์การใช้น้ำได้ 4 ประเภท ได้แก่ การใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม เกษตรกรรม และนิเวศวิทยา ผลการประเมินการใช้น้ำและความต้องการใช้น้ำซึ่งคำนวณจากผลการสำรวจภาคสนาม สรุปได้ว่ามีปริมาณการใช้น้ำในปี พ.ศ. 2548 ประมาณ 926.6 ล้าน ลบ.ม./ปี และความต้องการใช้น้ำในปี พ.ศ. 2558 และ 2568 ประมาณ 1,223.40 และ 1,311.20 ล้าน ลบ.ม./ปี ตามลำดับ

การจำลองสภาพการจัดการน้ำในพื้นที่ศึกษานี้ ได้คัดเลือกเปรียบเทียบกรณีปัจจุบัน กับกรณีที่ไม่มีการเชื่อมโยงระบบ หรือ มีการเชื่อมโยงระบบอ่างเก็บน้ำเพียงบางส่วน รายละเอียดกรณีศึกษามีดังนี้

กรณีที่ 1 กรณีสภาพปัจจุบัน (ไม่มีการเชื่อมโยงระบบอ่างเก็บน้ำ)
กรณีที่ 2 โครงการระบบท่อส่งน้ำดอกกราย – หนองปลาไหล
กรณีที่ 3 โครงการระบบท่อส่งน้ำคลองใหญ่ – หนองปลาไหล
กรณีที่ 4 โครงการระบบท่อส่งน้ำดอกกราย – หนองปลาไหล – คลองใหญ่
กรณีที่ 5 โครงการระบบท่อส่งน้ำหนองปลาไหล – คลองใหญ่ – ประแสร์
กรณีที่ 6 โครงการระบบท่อส่งน้ำดอกกราย – หนองปลาไหล – คลองใหญ่ – ประแสร์

จากผลการวิเคราะห์สรุปได้ว่า เมื่อเปรียบเทียบผลการพัฒนาระบบเชื่อมโยงอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองใหญ่แบบต่างๆ กับการบริหารจัดการปัจจุบันโดยไม่มีการเชื่อมโยงระบบผันน้ำ พบว่า โครงการผันน้ำจะช่วยลดสภาพการขาดแคลนน้ำในอนาคตได้ลดลงประมาณ 3.46 – 3.69 ล้าน ลบ.ม./ต่อปี แต่ถ้ามีการขยายพื้นที่ชลประทานเพิ่มโครงการผันน้ำต่างๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองใหญ่พบว่า มีปริมาณการขาดแคลนเพิ่มมากขึ้น 1.56 – 2.15 ล้าน ลบ.ม./ต่อปี น่าจะเกิดจากช่วงเวลาในการผันน้ำไม่เหมาะสมทำให้การเก็บกักน้ำในอ่างยังไม่มีประสิทธิภาพ และเมื่อมีการเชื่อมโยงระบบผันน้ำนอกพื้นที่ลุ่มน้ำคลองใหญ่ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำประแสร์ ปริมาณน้ำขาดแคลนจะลดลงเมื่อเทียบกับการบริหารจัดการปัจจุบันที่ยังไม่มีการเชื่อมโยงระบบอ่างเก็บน้ำเข้าด้วยกัน พบว่า ถ้ามีการขยายพื้นที่ชลประทานเพิ่มตามแผนที่วางไว้ ปริมาณน้ำขาดแคลนลดลงประมาณ 9.28 – 9.5 ล้าน ลบ.ม./ต่อปี และถ้ามีการปรับการขยายพื้นที่ชลประทานลดลงตามแผนที่วางไว้เพียงร้อยละ 50 ปริมาณน้ำขาดแคลนลดลงประมาณ 3.61- 3.84 ล้าน ลบ.ม./ต่อปี

การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ ถูกออกแบบให้ผู้ใช้งานเข้าถึงการแสดงข้อมูลและผลการวิเคราะห์ โดยอาศัยระบบคอมพิวเตอร์เครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Internet) ในการคำนวณและการวิเคราะห์ผลจากฐานข้อมูลที่ได้มีการจัดเก็บรวบรวม ตรวจสอบ และวิเคราะห์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผ่านการวิเคราะห์ด้วยกรรมวิธีทางวิศวกรรมที่เหมาะสม เพื่อนำมาใช้ในการรายงานสถานการณ์น้ำอดีตถึงปัจจุบัน (Status) รวมถึงการประมวลผลวิเคราะห์เป็นการ
คาดการณ์สถานการณ์ล่วงหน้า (Warning) พร้อมเครื่องมือสร้างแนวทางการจัดสรรน้ำเพื่อช่วยการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำ (Decision Support Tools) และการรวบรวมองค์ความรู้และแนวทางในการจัดการที่เกี่ยวข้องในอดีต (Knowledge Base) ในการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อ
การจัดการทรัพยากรน้ำนั้น เพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้อง หรือคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงให้น้อยที่สุดนั้น ส่วนแรกที่สำคัญ คือ การต้องมีฐานข้อมูล (Database) ที่สามารถเก็บข้อมูลที่มี หมวดหมู่ ประเภท ชนิด และโครงสร้างเดียวกันไว้ด้วยกันทำให้ลดความซ้ำซ้อน ง่ายต่อการตรวจสอบความ
ถูกต้อง เป็นการช่วยลดพื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูล เพิ่มประสิทธิภาพในการค้นหาและสืบค้น และระบบฐานข้อมูลต้องถูกออกแบบให้ผู้ใช้สามารถใช้ข้อมูลร่วมกันได้อย่างสะดวกส่งเสริมการเรียกใช้ และปรับปรุงข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ศึกษา ประกอบด้วย 1) ระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำเชิงพื้นที่ 2) ระบบเครื่องมือสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ และ 3) ระบบฐานข้อมูลองค์ความรู้ สำหรับระบบข้อมูลสารสนเทศฯ จัดทำขึ้นเพื่อให้ข้อมูลการใช้น้ำจากแต่ละภาคการใช้น้ำ ทั้งอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม รวมถึงปริมาณนํ้าและน้ำสำรองในพื้นที่ การคาดการณ์สมดุลน้ำ ระบบฐานข้อมูลองค์ความรู้ ประกอบด้วย ข้อมูลกฎหมาย แผนและแนวทางในการปฏิบัติ ข้อมูลติดต่อระหว่างผู้ใช้กับผู้รับผิดชอบในพื้นที่ มีการบันทึกเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐาน และเป็นแนวทางในการรับมือต่อสถานการณ์น้ำในพื้นที่ในแต่ละภาคส่วน

ส่วนแสดงข้อมูลของระบบแบ่งออกเป็นส่วนหลักๆ ได้ 3 ลักษณะ คือ
1. ข้อมูลภาพแผนที่
2. ข้อมูลทางสถิติ
3. ข้อมูลเอกสาร

ส่วนของระบบเครื่องมือสารสนเทศฯ ประกอบด้วยเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล (analysis tools) ด้านปริมาณน้ำในพื้นที่ ได้แก่ ฝน (rainfall) น้ำผิวดิน (surface water) บ่อน้ำบาดาลและบ่อน้ำตื้น (well) และน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ (reservoir inflow) ด้านปริมาณความต้องการใช้น้ำ
ได้แก่ อุปโภคบริโภค (domestic) เกษตรกรรม (agriculture) และอุตสาหกรรม (industrial) และเครื่องมือวิเคราะห์ด้านบริหารจัดการน้ำในระดับลุ่มน้ำได้แก่ การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำอันประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ การ
บริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่คือ การวิเคราะห์ผลต่างระหว่างปริมาณน้ำและความต้องการใช้น้ำ เครื่องมือที่พัฒนาขึ้นใช้ในการรายงานสถานการณ์น้ำ ณ เวลาปัจจุบันและสถานการณ์ล่วงหน้า และสุดท้ายรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนำมาใช้สร้างและนำเสนอแนวทางเพื่อประกอบการตัดสินใจเบื้องต้นด้วยเครื่องมือ AHP

การทดสอบระบบสารสนเทศฯ มีผู้เข้าร่วมทดสอบทั้งสิ้น 9 หน่วยงาน ได้แก่ โครงการชลประทานจังหวัดระยอง ระยะเวลานำเข้าข้อมูลและทดสอบใช้งานระบบ 12 เดือน และองค์การบริหารส่วนตำบล 8 แห่ง คือ อบต.ตะพง นาตาขวัญ แม่น้ำคู้ หนองบัว ละหาร ปลวกแดง บ้านค่าย และหนองไร่ ระยะเวลานำเข้าข้อมูลและทดสอบใช้งานระบบ 2 เดือน ซึ่งพบว่า ระบบที่พัฒนาขึ้นมีประโยชน์และต้องการให้ระบบดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นระบบประจำในการทำงานต่อไปในอนาคต


ท่านสามารถดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มได้ที่ ห้องสมุดออนไลน์ http://elibrary.trf.or.th