tdri logo
tdri logo
25 กันยายน 2012
Read in Minutes

Views

“สมรรถนะ” โอกาสรอดของผู้จบอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาในอนาคต

“ดร.ยงยุทธ  แฉล้มวงษ์  ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)   กล่าวถึง การศึกษาการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน(ความต้องการกำลังคน)และนโยบายการศึกษา  ระบุว่า ผู้จบอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาในอนาคต  ต้องมีสมรรถนะหรือคุณภาพสูงเท่านั้นจึงจะเอาตัวรอดได้”

โดยการศึกษาพบว่า  เศรษฐกิจไทยในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมามีความผันผวนค่อนข้างมากส่งผลให้ตลาดแรงงานของไทยโดยเฉพาะด้านอุปสงค์มีความผันผวนค่อนข้างมากเช่นกัน เท่าที่ผ่านมาภาคการผลิตและบริการของไทยในยุคต้นๆ ใช้ผู้ที่จบการศึกษาในระดับบนคือ มัธยมศึกษาตอนปลายขึ้นไปเป็นสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 20 และเพิ่มเป็นร้อยละ 30 ในปี 2553  ที่จริงหลังจากปี 2533 เป็นต้นมา ภาคเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการผลิตแบบกึ่งเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว กอปรกับทางรัฐบาลมีนโยบายขยายโอกาสทางการศึกษาให้เรียนฟรีจาก 9 ปี เป็น 12 ปี ทำให้มีผู้เข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมากขึ้นและกลายเป็นกำลังแรงงานให้ภาคการผลิตและบริการได้ขยายตัวถึงร้อยละ 8 ต่อปี

ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า ความจริงแล้วควรจะมีผู้จบการศึกษาระดับกลางสายสามัญและสายอาชีพเข้าสู่ตลาดแรงงานมากกว่านี้ แต่ผู้เรียนทั้งสองกลุ่มกลับมุ่งเรียนต่อปริญญาตรีและ ปวส. โดยคิดว่าจะได้ค่าตอบแทนและอนาคตที่สดใสและมั่นคงกว่า แต่สภาพเป็นจริงอุปสงค์ของตลาดแรงงานภาคการผลิตและบริการยังไม่สามารถขยายตัวได้ทันกับการเพิ่มขึ้นของผู้จบทั้ง 2 กลุ่มนี้ได้ ถึงแม้ในปี 2553 การขยายตัวของภาคการผลิตและบริการสามารถจ้างงาน 2 กลุ่มนี้เพิ่มขึ้นสัดส่วนถึงร้อยละ 9.9 และ 5.7 ตามลำดับ

ผลตามมาก็คือเกิดการว่างงานทั้งในระดับ ปวส. และปริญญาตรี กระจายอยู่ทั่วประเทศ  ปัญหาที่สะสมจากการใช้นโยบายการขยายสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษาทั้งของภาคเอกชนและยกระดับวิทยาลัยครูเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฎกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทำให้มีผู้จบการศึกษาออกมาจำนวนมาก เกิดปัญหาการว่างงานในระดับปริญญาตรีรวมกันมากกว่า 1 แสนคน ทำให้ดับฝันของผู้เรียน ปวส. และโดยเฉพาะปริญญาตรีไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาตระหนักเรื่องนี้ดี จึงได้พยายามปรับทิศทางนโยบายการศึกษาใหม่ โดยกำหนดให้แผนการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 (2552-2561) เน้นเรื่องพัฒนาสมรรถนะหรือคุณภาพของผู้เรียนอย่างเร่งด่วน โดยเน้นในเรื่องการพัฒนาคุณภาพครู คุณภาพสถานศึกษา และแหล่งเรียนรู้ รวมทั้งการบริหารจัดการทางการศึกษาให้มีความรับผิดชอบกับผู้จบการศึกษามากขึ้นโดยหวังว่าทุกฝ่ายจะช่วยกันทำให้ผู้จบสายอาชีพและอุดมศึกษามีงานทำได้มากขึ้นจนลดปัญหาการว่างงานในหมู่ผู้มีการศึกษาสูงได้ในช่วงการปฏิรูปการศึกษารอบสองนี้.

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด