สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
ท่ามกลางกระแสสังคมที่วิพากษ์วิจารณ์ กสทช. อย่างรุนแรง จากการจัดประมูลล้มเหลว เนื่องจากออกแบบการประมูลให้ไม่มีการแข่งขันกันจริง จนสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนผู้เสียภาษีกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับราคาประเมินของคลื่นความถี่ กสทช. ได้พยายามกู้ศรัทธาองค์กร โดยประกาศเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2555 ว่า จะกำกับดูแลผู้ประกอบการและคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้มงวดขึ้น ทั้งที่การดำเนินการดังกล่าวเป็นหน้าที่ตามกฎหมายซึ่งต้องทำเป็นปรกติอยู่แล้ว
โดยรูปธรรม กสทช. ได้ประกาศที่จะกำกับอัตราค่าบริการ 3G ทั้งบริการเสียงและข้อมูลที่จัดเก็บจากผู้บริโภคให้ลดลงไม่น้อยกว่า 20% จากอัตราในปัจจุบันที่อยู่ในระดับเฉลี่ย 899 บาทต่อเดือน โดยจะกำหนดให้อัตราค่าบริการในปีแรกลดลง 10% ปีที่ 2 ลดลง 15% และปีที่ 3 ลดลง 20% นอกจากนี้ กสทช. ยังประกาศที่จะกำกับดูแลคุณภาพบริการและให้ผู้รับใบอนุญาตจัดทำแผน CSR และแผนคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนประกาศว่าจะปรับปรุงกระบวนการของตนในการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค
บทความนี้จะนำเสนอข้อคิดเห็นต่อท่าทีดังกล่าวของ กสทช.และจะเสนอแนะว่า หาก กสทช. มีความจริงใจที่จะกำกับดูแลบริการ 3G ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริงแล้ว ควรดำเนินการอย่างไร
การกำกับอัตราค่าบริการ
อันที่จริงแม้ กสทช. ไม่ต้องดำเนินการใดๆ ค่าบริการ 3G ก็ควรต้องลดลงอยู่แล้ว เพราะต้นทุนของผู้ประกอบการจะลดลงทันทีจากการไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทานให้รัฐประมาณ 21-23% ของรายได้ โดยเปลี่ยนมาจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมอื่น รวมประมาณ 5.5% แทน การเข้าสู่ระบบใบอนุญาตดังกล่าว โดยลำพังจึงทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลงเกินกว่า 15% อยู่แล้ว ขอเพียงตลาดมีการแข่งขันอย่างเพียงพอ ต้นทุนที่ลดลงของผู้ประกอบการก็จะถูกโอนถ่ายมาเป็นค่าบริการที่ลดลงของผู้บริโภคโดย กสทช. ไม่ต้องประกาศอะไรทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคต่อการแข่งขันในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G ในปัจจุบันและบริการ 3G ที่จะเกิดขึ้นก็ยังมีอยู่มากมาย ที่สำคัญคือ ค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) ซึ่งเปรียบเสมือนราคาขายส่งระหว่างผู้ประกอบการ ยังถูกกำหนดอยู่ที่ 0.99 บาทต่อนาที ซึ่งสูงกว่าต้นทุนจริงที่ผู้เขียนเคยคำนวณไว้ที่ 0.27 บาทต่อนาที ที่ผ่านมา กสทช. ปล่อยให้เอกชนรวมหัวกันกำหนดค่า IC สูงกว่าต้นทุนจริงมาเป็นเวลานาน ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่แพงกว่าที่ควรจะเป็น จนน่าจะเสียประโยชน์ไปแล้วเป็นหมื่นล้านบาท
หากไม่แก้ไขปัญหาพื้นฐานนี้เพื่อให้กลไกตลาดทำงาน กสทช. ก็จะไม่สามารถกำกับดูแลให้ค่าบริการ 3G ลดลงได้อย่างยั่งยืน เพราะผู้ประกอบการอาจออกโปรโมชั่นใหม่ๆ ซึ่งตัดบางบริการออกไปเพื่อให้ดูราคาถูกลง หรือยัดเยียดขายพ่วงบริการอื่นที่ไม่จำเป็นเข้ามา ตลอดจนไปถึงการปฏิเสธไม่ลดราคาลงตามที่กำหนด โดยอ้างปัจจัยภายนอกต่างๆ เช่น ค่าแรงงานและภาวะเงินเฟ้อที่ขึ้นสูง เป็นต้น
นอกจากนี้ แม้กสทช. จะสามารถลดค่าบริการ 3G ลงได้จริง 20% ในอีก 3 ปีข้างหน้า ราคาค่าบริการของไทยตอนนั้น ก็ใช่ว่าจะถูกกว่าราคาของต่างประเทศ ในปัจจุบัน บริษัท StarHub ในสิงคโปร์ คิดค่าบริการบรอดแบนด์เคลื่อนที่ซึ่งไม่จำกัดปริมาณข้อมูล (unlimited) เพียงเดือนละ 670 บาท และแม้ในอินเดีย บริษัท Air Tel ก็คิดค่าบริการโทรศัพท์ 3G ซึ่งจำกัดปริมาณข้อมูลที่ 3.1 GB ในราคาเพียง 340 บาทต่อเดือน ซึ่งถูกเป็นครึ่งหนึ่งของบริการที่คล้ายกันในประเทศไทย ในอนาคต ราคาค่าบริการในต่างประเทศก็มีแนวโน้มที่จะลดลงต่ำลงไปอีก เนื่องจากตลาดโทรคมนาคมของประเทศเหล่านั้นมีการแข่งขันมากกว่าประเทศไทย การลดราคาบริการ 3G ของไทยลงเพียง 20% จึงยังไม่เพียงพอ
เมื่อครั้ง กสทช. ยกร่างแผนแม่บทประกอบกิจการโทรคมนาคม ผู้เขียนเคยเสนอให้ กสทช. กำหนดตัวชี้วัด (KPI) ให้อัตราค่าบริการโทรคมนาคมที่สำคัญ (เช่น บริการ 3G และบรอดแบนด์) ของไทย ต้องมีราคาถูกอย่างน้อยเป็นที่สองในอาเซียน เพื่อให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันได้ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แม้ข้อเสนอดังกล่าวจะได้รับการขานรับจากกลุ่มผู้บริโภค กสทช. ก็ไม่ได้ให้ความสนใจและไม่ได้กำหนดเป้าหมายในเรื่องอัตราค่าบริการในรูปอื่นแทนเลย โดยเพียงชี้แจงแบบขอไปทีว่า ตัวชี้วัดต่างๆ ที่มีอยู่มีความเหมาะสมแล้ว กว่า กสทช. จะคิดออกว่าผู้บริโภคควรได้ราคาที่เหมาะสม องค์กรก็เกิดวิกฤติศรัทธาแล้ว
การคุ้มครองผู้บริโภค
การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่ กสทช. ล้มเหลวอย่างมาก ผู้อ่านทุกคนคงเคยมีประสบการณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่สายหลุดบ่อยและบริการบรอดแบนด์มีความเร็วช้ากว่าที่ผู้ประกอบการโฆษณาไว้มาก โดย กสทช. ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขให้เห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมใดๆ เลย
นอกจากนี้ เมื่อดูสถิติเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภค เราจะพบว่า ในช่วงเดือน พ.ย. 2554-พ.ค. 2555 มีเรื่องร้องเรียนที่ค้างพิจารณา ไม่เสร็จในเวลา 30 วันตามที่กฎหมายกำหนดถึง 85% ในส่วนของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และ 78% ในส่วนของบริการอินเทอร์เน็ต โดยสาเหตุสำคัญของความล่าช้าดังกล่าวก็คือ กสทช. ปล่อยให้สำนักงาน กสทช. เข้าเกียร์ว่าง ไม่ดำเนินการใดๆ นอกจากรอให้ผู้ประกอบการชี้แจงและแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคเอง เสมือนหนึ่งการแก้ไขปัญหาของผู้บริโภค เป็นภารกิจโดยสมัครใจของผู้ประกอบการเช่นเดียวกับกิจกรรม CSR
ความไม่ใส่ใจในการคุ้มครองผู้บริโภคของ กสทช. ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ประกาศเจตนารมย์ของ กสทช. ที่ออกมาดูว่างเปล่า ไร้มีน้ำหนัก จนหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเป็นแต่เพียงการแก้เกี้ยวเพื่อเอาตัวรอดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเองยังหวังว่า กสทช. จะพยายามพลิกวิกฤติขององค์กรในครั้งนี้ให้เป็นโอกาสของผู้บริโภคอย่างแท้ จริง
ข้อเสนอแนะ
หาก กสทช. จริงใจในการแก้ไขปัญหาผู้บริโภค ผู้เขียนขอเสนอแนะให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
1. ตั้งเป้าให้อัตราค่าบริการโทรคมนาคมที่สำคัญของไทยมีราคาถูก อย่างน้อยเป็นอันดับที่สองในอาเซียน
2. ปรับลดอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ลงไม่ให้เกิน 25 สตางค์ต่อนาที และปรับลดค่าเชื่อมต่อโครงข่ายในการสื่อสารข้อมูลให้สอดคล้องกับต้นทุนจริง
3. เร่งรัดพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค โดยสั่งการให้สำนักงาน กสทช. สนับสนุนการทำหน้าที่ของ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมอย่างเต็มที่ และไม่บั่นทอนการทำงานของคณะอนุกรรมการดังกล่าว โดยใช้กลไกอื่น
4. ลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยยกเลิกประกาศห้ามการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว ซึ่งมีผลกีดกันไม่ให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดทั้งในการประมูล 3G ที่ผ่านมา จนมีผู้เข้าประมูลเหลือเพียง 3 ราย และการประมูลใบอนุญาตอื่นๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคต