ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ สัมภาษณ์ โพสต์ทูเดย์: ประเทศขาลงรอล่มสลาย!เปลี่ยนทิศก่อนชนภูเขา

ปี2012-10-20

“การพัฒนาประเทศถึงทางตันแล้ว ประเทศไทยจะโตแบบที่เคยโตมาโดยอาศัยบุญเก่าไม่ได้แล้วเพราะบุญเก่ามันส่งได้แค่นี้ ถ้าเราไม่รีบหาทางออกประเทศจะเสียหายเยอะ”

โดย…ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม,ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 20 ตุลาคม 2555 ในชื่อ ประเทศขาลงรอล่มสลาย! เปลี่ยนทิศก่อนชนภูเขา

——-

คำเตือนของ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) คนใหม่ ที่กำลังร้อนแรงร่วมกับบรรดาอดีตประธานทีดีอาร์ไอรุ่นก่อนกับการทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ชาติ ท้วงติงการประมูลคลื่น3จี ที่ทำให้รัฐเสียประโยชน์มหาศาล รวมถึงการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว

ทีดีอาร์ไอได้ทำหน้าที่ผลิตงานวิจัยคุณภาพสูงชี้ทิศทางพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนมาร่วม 28 ปี มาในยุคหลังสถาบันแห่งนี้ถือเป็นคลังสมองของชาติคอยถ่วงดุลกับพิษประชานิยมที่ประเทศไทยติดกับดักจนเสี่ยงเกิดวิกฤตอีกระลอก

สมเกียรติ บอกว่า แต่ก่อนหน้าที่ของทีดีอาร์ไอทำแต่งานวิจัยเป็นหลัก เหมือนเปิดโรงงานทำของ แต่ต่อไปนี้เราจะผลักดันงานวิจัยให้มีผลในทางปฏิบัติมากขึ้นกล่าวง่ายๆ ทำมาร์เก็ตติงขายของต่อ แต่จะได้ผลก็ต่อเมื่อต้องร่วมกับภาคประชาสังคมช่วยกันออกแบบโจทย์ โดยคิดถึงความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงจริงๆ

โจทย์ใหญ่ 4 ข้อของทีดีอาร์ไอในยุคสมเกียรติ คือหนึ่งโมเดลในการพัฒนาประเทศใช้แบบเดิมไม่ได้กล่าวคือ แต่ก่อนจนถึงปัจจุบันเรายึดการพัฒนาประเทศโดยมี 3 เสาหลัก พัฒนาอุตสาหกรรม แต่ไม่ค่อยพัฒนาเทคโนโลยี เน้นส่งออกเยอะๆ และใช้ภาคแรงงาน แต่สามตัวนี้กำลังเป็นปัญหามากขึ้น และไปแบบนี้ไม่ได้แล้ว เนื่องจากสภาพแวดล้อมมันเปลี่ยนไปเช่น จะหวังพึ่งส่งออกเยอะๆ ก็จะยาก เพราะความต้องการตลาดโลกลดลง จากวิกฤตเศรษฐกิจในอเมริกายุโรป ญี่ปุ่น และจีน

โจทย์ที่สอง เรื่องคุณภาพการศึกษาไทยที่สวนทางกับการโตของประเทศ วันนี้การศึกษาโดยเฉลี่ยแย่ลงและมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้นระหว่างส่วนหัวกับส่วนท้ายที่ใหญ่ขึ้นทุกปี แล้วก่อให้เกิดปัญหาสารพัด เช่น ถ้าการศึกษาของลูกหลานคุณภาพไม่ดี ก็ยากที่จะทำให้ลูกหลานขยับเป็นชนชั้นกลางได้ แล้วถ้าขยับไม่ได้เป็นเวลานาน ความตึงเครียดในสังคมก็จะเยอะเป็นแรงกดดันในสังคมระยะยาวด้วย

โจทย์ที่สาม เรื่องคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ทำให้การตัดสินใจแต่ละเรื่องมันแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งที่รู้ว่าต้องเดินทางไหนถึงจะเดินถูกทาง ฉะนั้นต่อให้คิดอะไรดีๆได้ แต่ถ้ายังมีคอร์รัปชันอยู่ในระดับที่แพร่หลายและอาการหนักอย่างนี้ ก็ยากที่จะพัฒนาประเทศไปได้ในระยะยาว

“สถานการณ์คอร์รัปชันของไทยมีดัชนีหลายตัวที่น่าเป็นห่วง ตัวแรก คือ โพล ที่บอกว่าคนยอมรับคอร์รัปชันได้ถ้าเกิดคอร์รัปชันทำให้เขาได้ประโยชน์อยู่เรื่องนี้เป็นเรื่องร้ายแรงแล้วโพลสำรวจซ้ำกี่ครั้งก็ออกมาเหมือนกันหมด และตัวเลขที่ได้ยิน ยอดจ่ายใต้โต๊ะมันใหญ่ขึ้นทุกที ของพวกนี้มันไม่มีพยานหลักฐานชัดๆแต่ถ้าไปถามใครคนจะเชื่อว่าเป็นความจริงและคนจะมีตัวอย่างเล่าให้ฟังเต็มไปหมด มันจึงร้ายแรงขึ้นแล้วมันฝังเข้าไปในระดับจิตสำนึกของคนแล้วว่ายอมรับมันได้”

สมเกียรติ บอกว่า ทั้งสามเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นจะไม่ทำให้ประเทศไทยเกิดวิกฤตแบบตกเหวทันที แต่มันจะเป็นขาลงแบบช้าๆ แต่ถ้ามาเจอโจทย์ข้อที่สี่ คือฐานะการคลังของรัฐมีปัญหามันจะตกเหวทันทีเพราะประเทศต่างๆ เวลาเกิดวิกฤต หนี้ภาครัฐจะขึ้นสูงมากจนเกิดปัญหาแล้วคนไม่เชื่อมั่นกันที่สุดรัฐอาจแก้ปัญหา เช่น พิมพ์ธนบัตร ซึ่งก็สร้างปัญหาเงินเฟ้อภาระชำระหนี้สูงเป็นเงาตามตัว

สี่เรื่องนี้สมเกียรติย้ำว่าเป็นโจทย์ของประเทศที่สำคัญ และที่ผ่านมาทีดีอาร์ไอเคยเข้าไปศึกษาในบางแง่มุม แต่ครั้งนี้อยากเข้าไปศึกษาเต็มตัวยิ่งขึ้น เพราะรู้สึกว่าสถานการณ์น่าเป็นห่วงมากขึ้นทุกที

“ภายใน 1-2 ปี ประเทศคงยังไม่เกิดวิกฤต เพราะหนี้สาธารณะของไทยอยู่ระดับ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่ายังไม่สูงเทียบกับหลายๆ ประเทศ แต่ดูแนวโน้มแล้วน่าเป็นห่วง เพราะกติกาทางการเมืองถูกกำหนดไปแล้วว่า พรรคไหนอยากชนะเลือกตั้งต้องเดินทางสายเดียวกันหมดเลย คือ ประชานิยม ให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์ทันตาเห็น แต่ต้นทุนไปโผล่ระยะยาว จึงเกิดปัญหา”

อะไรคืออุปสรรคทำให้การพัฒนาประเทศไปได้ช้า? สมเกียรติ ตอบว่า ทั้งสี่โจทย์มีฐานคิดร่วมกันว่าสิ่งที่เป็นอุปสรรค คือ การเมืองมองปัญหาระยะสั้นและยิ่งเดี๋ยวนี้สูตรสำเร็จของฝ่ายการเมืองอย่างที่บอกคือ ต้องให้ประชาชนจับต้องได้ วันนี้ พรุ่งนี้ ถ้าใครให้ประชาชนรอ 2-3 ปี แค่นี้ก็แพ้เลือกตั้งแล้ว ฉะนั้น ถ้าประเทศไหนการเมือง ประชาชนมองระยะสั้นประเทศไม่มีอนาคตระยะยาวได้

“ของพวกนี้ไม่ใช่ปัญหา 1-2 ปี เพราะมันเป็นปัญหา 10 ปีขึ้นไป มันจึงไม่มีรัฐบาลไหนสนใจ เพราะรัฐบาลมีวาระ 4 ปี แต่ส่วนใหญ่ก็อยู่ไม่ครบ และรัฐมนตรีเดี๋ยวนี้เปลี่ยนบ่อยต้องตอบแทนบุญคุณกันให้ครบถ้วนอีก ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมา และอยู่กันแค่6 เดือนถึง 1 ปี แล้วใครจะไปมองแก้ปัญหายาวๆ คนจะสนใจแต่เรื่องระยะสั้นกัน”

ก่อนยกตัวอย่างงานวิจัยตะวันตกเลื่องชื่อศึกษาผลประโยชน์ระยะสั้น ระยะยาว ที่นักจิตวิทยาได้ทดลองกับเด็ก

“เขาทดลองให้เด็ก 5 ขวบมานั่งในห้องแล้วมีขนมหวานชื่อดังมาร์ชเมลโล่ นักจิตวิทยาที่ทดลองบอกกับเด็กให้รอ 20 นาที ถ้าไม่กินขนมนี้จะให้เพิ่มอีก 1 ชิ้นแต่ถ้ากินไปแล้วจะให้ชิ้นเดียวนะ พอนักจิตวิทยาออกจากห้องปุ๊บ ก็มีเด็กหยิบขนมกินทันที แล้วก็จะมีเด็กบางคนที่มีความอดทน แม้จะถูกยั่วยวน ก็ใช้วิธีหลอกล่อตัวเอง เช่น ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ หันหลังให้ แล้วเขาก็ตามต่อในอนาคตเมื่อเด็กเหล่านี้โตเป็นผู้ใหญ่แล้วประสบความสำเร็จหรือไม่

…ผลการศึกษาชี้ว่า เด็กที่ทนต่อความยั่วยวนไม่ได้และกินขนมทันที อนาคตจะมีปัญหา ส่วนเด็กที่อดทนได้ อนาคตจะดี มีงานมั่นคง เรียนจบมหาวิทยาลัย ได้ครอบครัวดี ซึ่งมันเป็นเพราะทนการเย้ายวน มองการณ์ไกลกว่า มีวินัย เรื่องนี้ใช้ได้กับผู้ใหญ่และประเทศด้วย ถ้าประเทศไหนเอาแพ้ชนะกันระยะสั้นแล้วไม่มองระยะยาว อนาคตประเทศก็เสพสุขระยะสั้น”

แล้วการผลักดันโจทย์ทั้งสี่ข้อ ท่ามกลางความขัดแย้งการเมือง จะมีพลังได้แค่ไหน?

“โจทย์ทั้งสี่เรื่องที่พูดมาว่าไปแล้วไม่มีสีเสื้อมาเกี่ยวแล้ว เรื่องโมเดลในการพัฒนาประเทศเรื่องการศึกษา หรือเรื่องคอร์รัปชันก็ไม่ใช่เรื่องการเมืองเพราะทั้งสองรัฐบาลก็เคยประกาศสู้คอร์รัปชัน เรื่องประชานิยม สมัยก่อนอาจเป็นเครื่องหมายการค้าของพรรคไทยรักไทย แต่เดี๋ยวนี้เป็นเครื่องหมายการค้าของทุกพรรคแล้ว ฉะนั้น เราต้องช่วยกันออกแบบเพื่อให้ประเทศเดินถูกทาง”

สมเกียรติ ยังคงคาดหวังกับสังคมที่จะเป็นพลังเปลี่ยนแปลงประเทศไทยอยู่ แม้ว่าวันนี้จะเป็นสังคมที่มีความแตกแยก ขัดแย้งสูง

“ผมคาดหวังมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะเรารู้ว่า เราคาดหวังกับรัฐมากไม่ได้แล้ว”

เขาขยายความต่อ”การเมืองก็คาดหวังไม่ได้ เพราะเขามองระยะสั้นลงทุกที และความขัดแย้งการเมืองในรอบหลายปีที่ผ่านมามันทำให้เดิมพันทางการเมืองสูงมาก จนกว่าเกมนี้จะมีแพ้ชนะกันอย่างเด็ดขาด การเมืองมันจะเดินอย่างนี้ต่อไปฉะนั้น วาระใหญ่ที่อยู่ในหัวนักการเมืองก็คือ เอาชนะการเลือกตั้งกัน แพ้ไม่ได้ สมัยก่อนการแพ้ชนะเลือกตั้งยังเป็นลักษณะที่ว่า ได้แบ่งกัน สมัยนี้เดิมพันมันสูงขึ้น แล้วความเป็นขั้วรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ระยะห่างมันเยอะมาก ใครเป็นฝ่ายค้านคุณก็อาจเป็นยาว

…ราชการก็หวังพึ่งยาก เพราะอ่อนแอกว่าอดีตเยอะมาก แล้วราชการก็ตกเป็นเบี้ยล่างฝ่ายการเมืองเยอะ ทำให้คนดีๆ ในราชการก็ลาออก”

ทั้งหลายทั้งปวง สมเกียรติ เปรียบเทียบทิ้งท้ายว่า สถานการณ์ประเทศปัจจุบันเหมือนกับเรือไททานิค เราเห็นอยู่แล้วว่า ภูเขาน้ำแข็งอยู่
ข้างหน้า แล้วเรือเรากำลังมุ่งหน้าไปหามัน ถ้าไปอย่างนี้เรื่อยๆโดยไม่เปลี่ยนเส้นทางเรือ ก็ต้องชนภูเขาน้ำแข็งแน่ เพียงแต่ว่าเร็วหรือช้า

“ปัญหา 3-4 เรื่องส่วนใหญ่จะค่อยๆเกิด แต่ของบางอย่างพอมันสะสมไปเรื่อยๆถึงจุดหนึ่งมันหักพังลงมาได้ เรามองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงเพราะมันเกิดขึ้นช้า แต่ทุกเรื่องเราอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง แล้วเรารู้ว่าเรากำลังวิ่งไปสู่วิกฤตได้ ถ้าเราไม่รีบเปลี่ยนเส้นทางก่อน”

3 ประสานต้านมหาคอร์รัปชัน

“ทีดีอาร์ไอคงไม่ใช่หัวหอกในการเปลี่ยนแปลงสังคม ผมยังคิดว่าประชาสังคม ทั้งเอ็นจีโอ เครือข่ายประชาชน ภาคธุรกิจ ควรเป็นตัวนำ ส่วนทีดีอาร์ไอจะเป็นจิ๊กซอว์ที่เข้าไปเสริมการทำงานให้ข้อมูลกับฝ่ายต่างๆ”

ทัศนะของสมเกียรติ เห็นว่า การร่วมมือปราบคอร์รัปชัน ต้องทำร่วมกัน 3 ส่วน ถึงจะเกิดพลังสูงสุด คือ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชนและภาควิชาการ
ภาคธุรกิจมีจุดเด่น คือ สนใจถึงความเป็นไปได้จริง ทำแล้วสำเร็จหรือไม่ ภาคประชาสังคมมีจุดเด่น คือ มีอุดมคติ มีความมุ่งมั่นภาควิชาการมีความรู้ ถ้าพลังพวกนี้ไปเสริมกันได้ มันจะมีประโยชน์มาก

ปัจจุบันทีดีอาร์ไอทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นที่มี ประมณฑ์ สุธีวงศ์ เป็นประธานเพื่อรณรงค์การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

“ถึงแม้ภาคีจะยังไม่ใช่เครือข่ายที่ใหญ่ แต่มันเป็นหน่ออ่อน ที่เพิ่งแตกออกมาจากดิน ที่มีคุณภาพแย่มาก หน่อนี้จะโตเป็นต้นสักใหญ่ได้หรือไม่ ยังไม่รู้ แต่มันเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่จะต้องมีแกนขึ้นมาก่อน เราต้องสร้างภาคีให้เข้มแข็งขึ้นมา เพราะภาคประชาชนมีพลังสูงในการต่อต้านคอร์รัปชัน กรณีทุจริตยา นักการเมืองมาติดคุกได้เพราะภาคประชาชน”

เขาบอกว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยแทบหมดหวังไปแล้วเรื่องการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชัน แต่เมื่อภาคธุรกิจได้รวมตัวกันเป็นภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น จึงเกิดเสาหลักทำให้คนอื่นเข้ามาเกาะได้ภาคธุรกิจเป็นแกนสำคัญมาก เพราะการคอร์รัปชันมันมีฝั่งรับและฝั่งจ่าย เมื่อฝั่งจ่ายบอกว่าไม่อยากจะจ่าย มันก็ยากที่จะมีการคอร์รัปชัน

สมเกียรติ เล่าว่า ที่ผ่านมาได้หารือกับภาคีเพื่อวางโจทย์วิจัยว่าจะศึกษาคอร์รัปชันแบบไหน เบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า ภายใน 6 เดือนจากนี้เราจะมีผลงานเล่มหนึ่ง คือ คู่มือประชาชนรู้ทันคอร์รัปชัน เป็นการทำกายวิภาคของคอร์รัปชันว่ามีกี่ประเภท

“ตอนนี้เราจัดกลุ่มคอร์รัปชันได้ 6 กลุ่ม เช่น คอร์รัปชันในระดับนโยบาย การออกนโยบายที่ผิด ทำให้เกิดการคอร์รัปชันได้ง่ายคอร์รัปชันที่มากับพวกสิทธิพิเศษภาครัฐ เช่น สัมปทานต่างๆ คอร์รัปชันที่มากับการจัดซื้อจัดจ้าง คอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในรัฐวิสาหกิจคอร์รัปชันเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ปฏิบัติราชการปกครอง เช่น การเรียกค่าน้ำร้อนน้ำชา”

คู่มือรู้ทันคอร์รัปชันนี้ก็เพื่อเพิ่มเครือข่ายต้านคอร์รัปชันให้มากยิ่งขึ้นว่า เราหวังว่าเมื่อประชาชนได้เห็นข้อมูลทั้งหมดจะเปลี่ยนความคิดจากที่เคยตอบโพลยอมรับได้กับคอร์รัปชัน ถ้าตัวเองได้ประโยชน์ เพราะปัญหาคอร์รัปชันกระทบโดยตรงกับประชาชน

“จริงๆ ทีดีอาร์ไอสนใจเรื่องคอร์รัปชันเชิงนโยบาย แต่เวลาเราไปคุยกับเครือข่าย เขาก็ให้มุมมาว่า สำหรับประชาชนเรื่องสัมปทานมันไกลตัว ยากที่จะดึงพลังประชาชนได้ ต้องเอาเรื่องใกล้ตัวเช่น ถูกตำรวจจราจร รีดไถเพราะมันกินใจคน”

รัฐบาลประกาศเรื่องคอร์รัปชันทำไมเราไม่เชื่อมั่นในรัฐบาล?

“คอร์รัปชันเป็นเรื่องใหญ่จะไปหวังรัฐบาลอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องหวังกับหลายส่วน และเราก็ร่วมงานกับ ป.ป.ท. ป.ป.ช. ถ้าเราสามารถสร้างกระแสสังคมได้ การเมืองไม่ว่าพรรคไหนมาเป็นรัฐบาล มันก็มีผลในระยะยาว โอกาสมันก็เปลี่ยนได้ เรามองระบบการเมืองมากกว่า”

นักวิชาการในดวงใจ

การพูดคุยกับประธานทีดีอาร์ไอครั้งนี้ มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมห้องทำงานประจำตำแหน่งด้วย นับว่าใหญ่โต ทุกอย่างจัดเป็นระเบียบ มีหนังสือวิชาการภาษาไทยและต่างประเทศเรียงเต็มไปหมด

“คุณจะเห็นว่าผมมีนิสัยอย่างหนึ่ง ผมได้ห้องทำงานใหญ่มาจริงแต่มันก็ยังรกอยู่ดี ห้องทำงานจะรกหน่อยนะ

ห้องนี้เป็นห้องของอาจารย์นิพนธ์ พัวพงศกรประธานคนเก่า ห้องเก่าผมอยู่ชั้นบน ห้องนี้ดีตรงที่มีชั้นวางหนังสือเยอะมาก นี่ผมยังเอาหนังสือมาใส่ไม่เต็มเลยครับ ตอนนี้หนังสือที่บ้านผมเยอะ ภรรยาผมมีวิธีการแก้ด้วยการเอาไปทิ้ง แต่พอมาเป็นแบบนี้ภรรยาผมคงสบายใจ เพราะคงไม่มีปัญหาอีกแล้ว” สมเกียรติ หัวเราะพลางว่าวาระดำรงตำแหน่งประธานทีดีอาร์ไอ มีเวลา 5 ปี ยาวกว่ารัฐบาลนี้ (หัวเราะ) แต่ก็ไม่รู้ เราจะอยู่กี่รัฐบาล ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเปลี่ยนเร็วแค่ไหน

แน่นอนว่าการเข้ามารับหน้าที่นี้ย่อมเป็นงานหนักและเหนื่อยไม่ต่างอะไรกับการทำวิจัยประเทศไทยทั้งประเทศ ซึ่ง สมเกียรติ ยอมรับกับสิ่งที่ต้องเผชิญจากนี้

“งานนี้ถ้า…ทำคนเดียวหนักแน่นอน แต่ไม่คิดว่ามันหนักมาก เพราะพอได้คุยและช่วยกันคิดกับหลายๆ กลุ่มในสังคม พบว่าพวกเขาเอาด้วย”

…ในทีดีอาร์ไอผมเองมีพี่เลี้ยงถึง 3 คน เป็นถึงประธานคนเก่ายังอยู่หมดเลย ทั้ง อาจารย์ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ อาจารย์ อัมมาร สยามวาลา อาจารย์นิพนธ์ อยู่ครบหมด มีที่ปรึกษาชั้นดี คณะกรรมการทีดีอาร์ไอก็เห็นด้วยกับการทำงานของเราด้วย

…พอเป็นแบบนี้ทำให้เรารู้สึกว่าเอ้อ น่าจะพอไปไหวนะ แต่ถ้าทำประเภทแบบอยู่คนเดียว ไปชวนใคร

คุยไม่มีใครเห็นด้วย บอกว่าไม่ดี ไม่ใช่ อย่างนี้ละเหนื่อยแต่ตอนนี้ไปคุยกับใครที่ไหน มีแต่คนบอกว่าใช่เลยปัญหาที่ทีดีอาร์ไอพูดมาสำคัญหมดเลย และทุกคนคิดว่าต้องแก้ ส่วนตัวได้รับอิทธิพลทางวิชาการจากใคร หรือมีใครเป็นแบบอย่างในด้านวิชาการ?

สมเกียรติตอบอย่างภูมิใจว่า ถ้าเป็นเรื่องการคิดในเชิงยุทธศาสตร์ คืออาจารย์เสนาะอูนากูลปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของทีดีอาร์ไออยู่ถ้าเรื่องสังคมต้องอาจารย์หมอประเวศ วะสีสองคนนี้มีความคิดที่ไม่ค่อยเหมือนกัน แต่มีการทำงานแบบคิดในเชิงยุทธศาสตร์

“อาจารย์เสนาะสนใจด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม อาจารย์ประเวศสนใจด้านสังคม อาจารย์เสนาะเป็นเทคโนแครต เป็นเลขาสภาพัฒน์ อาจารย์ประเวศเป็นปัญญาชนอิสระผมได้เรียนรู้จากอาจารย์สองท่านนี้เยอะมากโดยเฉพาะการสร้างบทเรียนที่สอนผม คือ การทำงานเรื่องยากๆใหญ่ๆ ให้สำเร็จต้องมีเครือข่ายช่วยกันทำ ไม่ใช่ทำอยู่คนเดียว ตรงนี้ต้องร่วมกัน เพราะฉะนั้นถ้าวันนี้ผมพูดหรือสะท้อนอะไรออกไปก็หมายความว่าผมได้รับอิทธิพลจากทั้งสองท่าน อีกท่านคือ อาจารย์นิธิเอียวศรีวงศ์ ที่ให้มุมมองด้านสังคม”

แต่พอถามเน้นถึงความชื่นชอบในนักวิชาการคนไหนเป็นพิเศษถึงขั้นเอานำมาเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิต ประหนึ่งยกให้เป็น “ไอดอล” ก็ยกชื่อ”อัมมาร สยามวาลา” ขึ้นมาทันที”เรื่องทางวิชาการก็มีคนที่ผมชื่นชมประจำตัวอยู่ คือ อาจารย์อัมมาร ที่อยู่ใกล้ชิดกันอาจารย์เป็นแบบอย่างของการใช้ชีวิตให้มีความสุขในทางวิชาการ หมายความว่า ได้อ่านหนังสือดีๆ ได้ฟังเลกเชอร์ดีๆ ได้อ่านเปเปอร์วิชาการดีๆ มันตื่นเต้นตรงนี้ผมคิดว่าผมแชร์ร่วมกับอาจารย์อัมมารเยอะนะ อาจารย์ไม่ได้ให้ความสนใจเฉพาะเกี่ยวกับงานที่ทำหรือวิจัยนโยบายอย่างเดียว แต่อาจารย์มีความสนใจกว้างมาก ทั้งชีววิทยา วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เป็นอีกมุมหนึ่งที่คนไม่ค่อยรู้…พักหลัง ผมได้เจอทั้งอาจารย์อัมมาร และอาจารย์เสนาะสิ่งที่ผมประหลาดใจและผมรู้สึกอายตลอดเวลา คือ ทั้งสองท่านอ่านหนังสือเยอะกว่าผม ทั้งที่อายุเยอะกว่าผมทั้งนั้นเลย เราคิดว่าวัยอย่างเราน่าจะเป็นวัยที่มีเรี่ยวมีแรงเยอะที่สุดแล้ว แต่ปรากฏว่าไปเจอกับอาจารย์สองท่านซึ่งท่านก็พูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ซึ่งเราก็เพิ่งเคยได้ยินคิดว่ามันมีอย่างนี้ด้วยเหรอ”

สำหรับความสนใจด้านเนื้อหาวิชาการในเวลานี้ ประธานทีดีอาร์ไอ สารภาพตามตรงว่าด้วยตอนนี้ต้องมาเป็นผู้บริหาร ทำให้ต้องมาติดตามเรื่องที่ไม่เคยสนใจ คือ Transformation วิธีการเปลี่ยนองค์กร วิธีการเปลี่ยนประเทศ วิธีการเปลี่ยนคน

“งานต่อไปของทีดีอาร์ไอจะไม่เหมือนกับงานที่เคยทำ ดังนั้นองค์กรต้องเปลี่ยนด้วย และสุดท้ายตัวเองก็ต้องเปลี่ยนด้วย ซึ่งต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้เป็นจริง

…การคิดมันต้องเป็น Wisdom Of The Crowd หรือเป็นปัญญาร่วมของคนที่มารวมกันมันไม่ใช่เรื่องของใครที่มีความคิดเจ๋งๆอยู่เพียงคนสองคน ในสังคมที่มีความซับซ้อนขนาดนี้ ไม่มีใครที่จะไปคิดแทนกันได้เยอะขนาดนั้นดังนั้นการมีเครือข่ายวิชาการจึงมีความสำคัญอย่างมาก”

คำถามหนึ่งที่ไม่ถามไม่ได้ เพราะจะทำให้การสนทนาจบลงไม่สมบูรณ์แบบ คือ เอาเวลาที่ไหนไปพักผ่อน หรือว่าการพักผ่อนของอาจารย์คือการอ่านหนังสือ?

“ใช่ครับ (หัวเราะ) อ่านหนังสือวิชาการกับหนังสือกึ่งวิชาการ จริงๆ วิชาการแทบทุกประเภทเป็นการพักผ่อน ยกเว้นแต่วิชาการที่ต้องส่งงานวันไหน แบบนี้ไม่ใช่การพักผ่อน ผมรู้สึกว่าเส้นแบ่งของผมระหว่างงานประจำกับงานอดิเรก อยู่ตรงที่มีเดดไลน์ในการส่งงานหรือเปล่า บางทีดูเนื้อหาคล้ายกันเลย แต่เวลาทำแล้วถ้าไม่มีเดดไลน์แล้วชีวิตจะมีความสุขมากกว่า”

“ถ้าถามคำถามนี้ในสมัยก่อน คงตอบแค่ว่าคือการอ่านหนังสือ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ เพราะมีสิ่งที่เพิ่มเข้ามา คือ การฟังเลกเชอร์ออนไลน์ เหมือนกับการอ่านหนังสือ เพียงแต่เราไม่ได้อ่าน เพราะมีคนมาอ่านมาพูดให้ฟัง เหมือนกับไปเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำที่เราไม่ได้ไปเรียน

เช่น อยากจะเรียน Harvard MIT (Massachusetts Institute Of Technology)Stanford หรือ Yale ก็ฟังออนไลน์หมดของฟรี ย่นระยะเวลาและได้เรียนรู้ในสาขาแปลกๆ ขืนมานั่งงมอ่านเองต้องใช้เวลาเยอะ แต่ตอนนี้มีคนเลกเชอร์แจ๋วๆ เก่งๆ พอฟังแล้วปิ๊งเยอะ”