AEC: ประชาคมอาเซียนกับตัวชี้วัดความสำเร็จ

ปี2012-11-01

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

1 พฤศจิกายน 2555

1) ภาพรวมของประชาคมอาเซียน

กลุ่ม 10 ประเทศอาเซียนเห็นชอบให้มีการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ขึ้นภายในปี 2015 โดยประกอบด้วยเสาหลัก 3 เสา ได้แก่:

  • ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community : APSC)  มุ่งเน้นการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข สามารถแก้ไขปัญหาและความขัดแย้งได้โดยสันติวิธี
  • ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) มุ่งไปที่

1.1) การเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน (Single market and production based) มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุนและแรงงานฝีมือระหว่างกันอย่างเสรี

1.2) การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ (Highly competitive economic region) ซึ่งเน้นการดำเนินนโยบายการแข่งขันทางการค้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การพัฒนา ICT และพลังงาน

1.3) การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค (Equitable economic development) ซึ่งเน้นส่งเสริมการมีส่วนร่วมและขยายตัวของ SMEs และการให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิกใหม่ (CLMV) เพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนา

1.4) การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก (Full integration into the global economy) เน้นการปรับประสานนโยบายเศรษฐกิจของอาเซียนกับประเทศภายนอกภูมิภาค ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายในการผลิตและจำหน่ายภายในภูมิภาคให้เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก

  • ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio–Cultural Community: ASCC) มุ่งให้อาเซียนมีความเป็นเอกภาพ เอื้ออาทรต่อกัน มีความเป็นอยู่ที่ดีและมีความมั่นคงทางสังคม โดยเน้นความร่วมมือ 6 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม สิทธิและความยุติธรรมทางสังคม ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน (ASEAN Identity) และการลดช่องว่างของการพัฒนา

2)        ตัวชี้วัดความสำเร็จของ AEC

การที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะมุ่งไปที่การเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกันนั้น AEC จำเป็นที่จะต้องมีตัวชี้วัดด้านการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุนและแรงงานฝีมือระหว่างกันอย่างเสรี รวมถึงตัวชี้วัดในเรื่องของการขนส่ง ICT และด้านพลังงานอีกด้วย ทีมวิจัยของ TDRI[1] ได้ทำการสำรวจและเก็บข้อมูลจากบริษัทเอกชน 30 แห่งเพื่อสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวชี้วัดที่ภาคเอกชนให้ความสนใจในการสร้างตลาดและฐานผลิตร่วมกันในอาเซียน โดยตัวชี้วัดที่บริษัทเอกชนเห็นว่ามีสำคัญและควรทำให้สำเร็จภายในปี 2015 คือ

  • การพัฒนากระบวนการนำเข้าสินค้าและการจัดการภาษีนำเข้าให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส
  • การพัฒนากระบวนการนำเข้าสินค้าและระบบจัดเก็บภาษีอากรให้เป็นระบบและมีความรวดเร็วมากขึ้น
  • การประสานงานเพื่อให้เกิดความสอดคล้องระหว่างองค์กรในการออกสิทธิบัตรต่าง ๆ
  • การทำให้กฎแหล่งกำเนิดสินค้า (rules of origin) มีความยืดหยุ่นและง่ายขึ้นต่อการทำธุรกิจมากขี้น

นอกจากนี้ งานวิจัยดังกล่าวยังระบุตัวชี้วัดสำคัญอื่น ๆที่มีผลสำคัญต่อความสำเร็จของ AEC ดังนี้:

  • ตัวชี้วัดในภาคบริการ (Services Sector)
    • ASEAN Framework Agreement on Services (AFAS) ระบุว่า การเปิดเสรีภาคบริการต้องไม่มีข้อจำกัดต่อผู้ให้บริการในการจัดตั้งธุรกิจบริการในอาเซียน แต่ทั้งนี้ การเปิดเสรีภาคบริการขึ้นอยู่กับกฎหมายภายในของแต่ละประเทศด้วย โดยงานวิจัยได้ระบุว่า ธุรกิจภาคบริการในแถบประเทศอาเซียนยังถูกควบคุมโดยกฎหมายภายในประเทศเป็นจำนวนมาก  ปัจจุบันประเทศสิงคโปร์เป็นเพียงประเทศเดียวที่สามารถบรรลุเป้าหมายของการเปิดเสรีภาคบริการได้ สำหรับประเทศไทย รัฐบาลควรสร้างแรงจูงใจในการเปิดเสรีภาคบริการโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและเงินทุน นอกจากนี้ รัฐยังต้องพิจารณากฎหมายและข้อจำกัดภายในประเทศที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเปิดเสรีภาคบริการอีกด้วย
  • ตัวชี้วัดในข้อตกลงยอมรับร่วม(Mutual Recognition Agreement) ในคุณสมบัตินักวิชาชีพของอาเซียนและการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี (MRAs and labour mobility) –
    • ในกรอบข้อตกลงมีการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานอาเซียนอย่างชัดเจนและอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศสมาชิก เช่น การยกเลิกวีซ่าสำหรับ short-term visit และทั้งนี้ได้มีการลงนามใน MRA 7 สาขา ได้แก่ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ วิศวกร สถาปนิก นักสำรวจและนักบัญชี
    • รัฐบาลต้องมีความชัดเจนในการสนับสนุนนักวิชาชีพ โดยมีการจัดสรรงบประมาณในการสนับสนุนและส่งเสริมในเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีและส่งเสริมคุณสมบัตินักวิชาชีพของอาเซียนให้เป็นวาระแห่งชาติ
  • ตัวชี้วัดในมาตรฐานทางเทคนิคและการบังคับใช้ (Standards and conformance)
    • ปัจจุบันมาตรฐานทางเทคนิคของอุตสาหกรรมต่างๆในประเทศไทย (เช่นอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องสำอางค์และผลิตภัณฑ์ยาเป็นต้น)ได้รับการพัฒนาให้เท่าเทียมกับมาตรฐานของอุตสาหกรรมนานาชาติ อย่างไรก็ดี ยังมีข้อจำกัดภายในประเทศอยู่ 2 ระดับ ดังนี้
      • ระดับชาติ: 1) มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ทำให้กระบวนการ  MRA ใช้เวลาดำเนินการนานขึ้น และ 2) ด้วยงบประมาณแผ่นดินที่จำกัด ระบบการตรวจสอบและการออกใบอนุญาตยังเป็นอุปสรรคที่ชะลอการพัฒนามาตรฐานทางเทคนิค
      • ระดับภูมิภาค:จากกฎเกณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานและก่อให้เกิดความยุ่งยากในทางปฎิบัติ ข้อจำกัดใหญ่อีกประการในระดับภูมิภาคคือความไม่เท่าเทียมขององค์ความรู้ของแต่ละพื้นที่และประเทศ
    • ข้อเสนอแนะ: รัฐบาลควรให้การสนับสนุนด้านงบประมาณในการประสานงาน MRA และส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการนำมาตรฐานเหล่านี้ไปปฎิบัติให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ อาเซียนควรมีการดำเนินการเพื่อลดความไม่เท่าเทียมกันของมาตรฐานทางเทคนิคและการบังคับใช้ของแต่ละประเทศสมาชิกอีกด้วย
  • ตัวชี้วัดในการอำนวยความสะดวกในการลงทุน (Investment facilitation) –
    • กรอบข้อตกลง ASEAN Comprehensive Investment Agreement (ACIA) ได้กำหนดข้อเสนอสี่ประการเพื่อที่จะอำนวยความสะดวกในการลงทุนได้แก่ 1) การกำกับดูแลการลงทุน 2) การอำนวยความสะดวกและการให้ความร่วมมือในการลงทุน 3) การสนับสนุนและสร้างความตระหนักต่อการลงทุน และ 4) การเปิดเสรีในการลงทุน
    • สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ลงทุน (Board of Investment) มีหน้าที่หลักในการกำกับดูแลและส่งเสริมการลงทุน อย่างไรก็ดี จากงานวิจัยของทีดีอาร์ไอ พบว่า BOI ยังมีข้อจำกัดในการส่งเสริมวัฒนธรรมการลงทุนจากมุมมองของภาคเอกชน การพัฒนาส่งเสริมความรู้ทางธุรกิจเชิงลึกและการพัฒนางานวิจัยภายในองค์กร
    • ข้อเสนอแนะ: BOI ควรศึกษาช่องว่างของภาคธุรกิจภายในประเทศและมุ่งเน้นการดึงดูดการลงทุนที่เพิ่มมูลค่า  นอกจากนี้ BOI ควรจะสร้างการเชื่อมโยงระหว่างนักลงทุนต่างชาติรวมทั้งพัฒนาศักยภาพการพัฒนาภายในประเทศ
  • ตัวชี้วัดในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (IPR) –
    • ASEAN IPR Action Plant 2004 – 2010 และ Work Plan for ASEAN Cooperation on Copyrights มุ่งส่งเสริมการสร้างความรู้ความเข้าใจและการยอมรับในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การประสานงานและสร้างเครือข่ายสนับสนุนการคุ้มครอง การเสริมสร้างบริบทของการสร้างมาตรฐานที่ดีในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อพัฒนาการแข่งขันในภูมิภาค
    • ข้อจำกัด: ตัวชี้วัดนี้มีข้อจำกัด 3 ประการประกอบด้วย 1) ความไม่พร้อมของบุคลากรในการตรวจสอบและวัดผล 2) แต่ละประเทศมีความเข้าใจในความหมายและการบังคับใช้ของกฎหมายการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่แตกต่างกันมาก และ 3) การบังคับใช้กฎหมายการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนในหลายองค์กรและยังมีความท้าทายในการนำไปปฎิบัติอยู่มาก
    • ข้อเสนอแนะ: องค์ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาควรได้รับการเผยแพร่และเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ องค์กรที่ควบคุมดูแลเกี่ยวกับ IP ควรจะให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบที่มีมาตรฐานและเชื่อมโยงระหว่างผู้บุกเบิกความคิดและนักธุรกิจได้ นอกจากนี้ การบังคับใช้กฎหมายควรเป็นไปอย่างเข้มงวด โปร่งใสเพื่อให้เกิดแรงจูงใจที่จะปฎิบัติตามมากขึ้น
  • ตัวชี้วัดในการอำนวยความสะดวกทางการค้าในแบบ National Single Window (NSW) และ ASEAN Single Window (ASW)
    • เป้าหมายของการอำนวยความสะดวกทางการค้าคือการลดต้นทุนในการนำเข้าและส่งออกแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งมีกลยุทธ์ 5 ประการเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว: 1) พัฒนาการจัดการระบบข้อมูลการนำเข้า/ส่งออกแบบ e-Logistics และ NSW เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ; 2) พัฒนาระบบการจัดเก็บภาษีและพิธีศุลกากรให้มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น; 3) สร้างศูนย์กระจายสินค้าเพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้ประกอบการไทยในตลาดต่างประเทศ; 4) สนับสนุนและเสริมสร้างธุรกิจ e-Commerce เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ รวมถึงพัฒนากฎหมายธุรกิจ e-Commerce และ 5) เสริมสร้างประสิทธิภาพในการตรวจสอบสินค้าและทำให้การตรวจสอบมีมาตรฐานเพื่อลดเวลาและความซับซ้อนในการดำเนินงาน
    • ข้อจำกัด: จากการสำรวจความคิดเห็นของภาคเอกชน ปรากฎว่าส่วนใหญ่ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของระบบการอำนวยการค้าโดยเฉพาะด่านพิธีศุลกากรเพื่อนำสินค้าเข้าประเทศ นอกจากนี้ กว่า 40-50% ของผู้ถูกสำรวจกล่าวว่า ระบบภาษีอากรนำเข้าและส่งออกยังไม่สะดวกและรวดเร็วเพียงพอ
    • ข้อเสนอแนะ: รัฐบาลควรแต่งตั้้งกรมศุลกากรให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินนโยบาย National Single Window เพื่อความรวดเร็วและมีประสิทธภาพในการบริหารจัดการงบประมาณ นอกจากนี้ องค์กรดังกล่าวจะสามารถนำนโยบายดังกล่าวไปปฎิบัติอย่างเป็นรูปธรรมได้จริง อีกทั้งรัฐบาลควรจัดให้มีการพัฒนาทักษะบุคลากรโดยเฉพาะด้าน IT แก่บุคลากรในองค์กรที่ต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน
  • ตัวชี้วัดในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและขยายตัวของ SMEs
    • ปัจจุบันพบว่า ผู้ประกอบการ SMEs ยังขาดทักษะในการบริหารจัดการกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ  รวมทั้งขาดความรู้ความเข้าใจในภาษา วัฒนธรรม ความต้องการของผู้บริโภคและมาตรการต่าง ๆ ของประเทศที่จะเข้าไปลงทุน ASEAN Policy Blueprint for SME Development from 2004 – 2009 และ ASEAN Strategic Action Plan for SME Development (2010 – 2015) ได้วางกรอบปฎิบัติเพื่อพัฒนาความมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการ SMEs โดยเน้นในเรื่องของการเงิน การพัฒนาบุคลากรและการสนับสนุนงานของ SMEs ในต่างประเทศ
    • ข้อจำกัด – ธุรกิจ SMEs ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยเท่าที่ควร ทั้งในด้านเงินทุนและการพัฒนาศักยภาพองค์กร รวมถึงการพัฒนาบุคลากรที่สามารถแข่งขันในตลาดสากลได้
    • ข้อเสนอแนะรัฐบาลและหน่วยงานท้องถิ่นควรจัดสรรงบประมาณเป็นการเฉพาะเพื่อสนับสนุนการพัฒนา SMEs และควรจัดตั้งหน่วยงานกลางที่จะทำหน้าที่ประสานความเข้าใจระหว่างภาคเอกชน สถาบันการเงิน หน่วยงานรัฐและสมาคม SMEs เพื่อสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งและเสริมความเชื่อมั่นใน SMEs นอกจากนี้ รัฐบาลยังควรผลักดันให้การพัฒนา SMEs ได้รับการบรรจุเป็นวาระแห่งชาติอีกด้วย

อ้างอิงจาก Thailand Country Study: ASEAN Economic Community (AEC) Blueprint Mid-Term Revew (MTR Project), Thailand Development Research Institute June 2012, ท่านสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://tdri.or.th/seminars/high-level-dialogue-on-aec-blueprint-mid-term-review


[1] Thailand Country Study: ASEAN Economic Community (AEC) Blueprint Mid-Term Review, submitted to Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA), Prepared by Thailand Development Research Institute. Researchers include: Saowaruj Rattanakhamfu, Sumet Ongkittikul, Chaiyasit Anuchitworawong, Yos Vajragupta, Wirot Sukphisan, Waranan Tantiwat, Koravit Luangmettakul, and Aekkapat Laksanacom