tdri logo
tdri logo
28 พฤศจิกายน 2012
Read in Minutes

Views

ไทยตื่นตัว AEC มากสุด ดร.สมเกียรติ ชี้ปี ’58 ไม่มีอะไรเปลี่ยนสักอย่าง

สัมมนาประจำปีทีดีอาร์ไอ ระบุคนไทยมีทัศนคติต่อเออีซีคลาดเคลื่อน หวั่นวางกลุยุทธ์-ดำเนินนโยบายผิดพลาด แนะปรับทัศนคติปชช.-ภาครัฐใหม่ ปฏิรูประบบศก.-สร้างสมดุลภาคส่งออก

วันที่ 26 พฤศจิกายน สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่ประเทศไทย จัดสัมมนาวิชาการประจำปี 2555 ในหัวข้อ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน : มายาคติ ความเป็นจริง โอกาสและความท้าทาย” ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ โดยมีนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานสภาทีดีอาร์ไอ กล่าวเปิดงาน

นายโฆสิต กล่าวตอนหนึ่งว่า การดำเนินงานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของอาเซียนในด้านต่างๆ มีความคืบหน้าตามลำดับ ทั้งนี้ ยังมีโอกาสที่จะมาพร้อมกับการเปิดประเทศของพม่าและการเชื่อมต่อในภูมิภาคด้วยเส้นทางคมนาคมขนส่ง ที่จะช่วยขยายการลงทุนและเพิ่มโอกาสให้ประเทศนอกเขตภูมิภาคอาเซียนได้เข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยกระจายความเสี่ยงออกจากการลงทุนที่เคยกระจุกตัวอยู่ที่ประเทศจีนและอินเดีย

“การปรับตัวให้สอดรับกับความท้าทายต่างๆ นี้ จะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากโอกาสที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงให้มากที่สุดและมีผลกระทบด้านลบน้อยที่สุด รวมทั้งหาคำตอบที่เหมาะสมสำหรับวิสัยทัศน์ การกำหนดยุทธศาสตร์ทั้งภาครัฐและเอกชน”

จากนั้นมีการนำเสนอบทความวิจัยในหัวข้อ ประเทศไทยในกระแส AEC : มายาคติ ความเป็นจริง โอกาสและความท้าทาย โดยมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ และมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย วิจารณ์บทความ

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ในบรรดาประเทศสมาชิกของประชาคมอาเซียน คนไทยให้ความสนใจกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมากที่สุด บริษัทเอกชนก็นำประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมาเป็นตัวเพิ่มมูลค่าและทำให้ราคาหุ้นดีขึ้น หน่วยงานราชการก็มีการปรับแผน รวมทั้งประชาชนและสื่อมวลชนก็มีความตื่นตัว แต่กลับมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิด คลาดเคลื่อนและสร้างความสับสนมากขึ้น ซึ่งเป็นมายาคติที่อันตราย เมื่อมีทัศนคติที่ผิดพลาดเช่นนี้ จึงส่งผลต่อการดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจ นโยบายของภาครัฐและการดำเนินชีวิตของประชาชน

ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงความคิดที่ว่า ในปี 2558 ประเทศไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมหาศาลจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเช่น การเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการอย่างเสรี เคลื่อนย้ายการลงทุนและเงินทุนอย่างเสรี รวมทั้งเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรีนั้นเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หรือ มายาคติ ซึ่งข้อเท็จจริงของความเข้าใจนี้ เมื่อถึงปี 2558 จริง จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่โต เนื่องจากการเปิดเสรีการค้าสินค้า ด้วยการลดภาษีศุลกากรตามกรอบการค้าเสรีอาเซียน เริ่มมาตั้งแต่ปี 2536 แล้ว

“ในส่วนการเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุน ก็ยังไม่มีความคืบหน้านัก การเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพก็มีเพียง 8 วิชาชีพที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงและยังไม่มีความคืบหน้าเช่นกัน อีกทั้งต้องขึ้นทะเบียนนักวิชาชีพภายใต้ข้อตกลงยอมรับร่วม (MRAs) ที่ต้องพิจารณาคุณวุฒิ ประสบการณ์ทำงาน ใบประกอบวิชาชีพและผ่านการทดสอบในแต่ละประเทศ และทำตามขั้นตอนของกฎหมายแต่ละประเทศด้วย การไม่ยอมรับโดยอัตโนมัติ ทำให้ในภาคปฏิบัติแทบไม่มีประโยชน์ ทั้งที่เจรจากันมายาวนาน อย่างปัจจุบันอาชีพวิศวกรในอาเซียนมีเพียง 400 คนเท่านั้นที่ขึ้นทะเบียนนักวิชาชีพ ซึ่งไม่มีนักวิศวกรไทย ขณะที่สิงคโปร์เป็นประเทศที่ขึ้นทะเบียนนักวิชาชีพด้านต่างๆ มากที่สุด”

ดร.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า แม้จะมีการเลื่อนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนออกไปอีก 1 ปี ก็ไม่เกิดความแตกต่างมากนัก เพราะปัญหาสำคัญของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไม่ได้มีเฉพาะความเร็วในการเปิดเสรี แต่มีปัญหาของระดับความผูกพันของข้อตกลง ที่เป็นความสมัครใจ ไม่มีกลไกบังคับประเทศสมาชิก จึงทำให้ขาดความมุ่งมั่นในการเปิดเสรีของประเทศสมาชิก

ส่วนแนวความคิดที่ว่านักลงทุนอาเซียนสามารถลงทุนธุรกิจบริการในอาเซียนได้อย่างเสรี โดยไม่จำกัด จากให้ถือครองไม่เกิน 49% เพิ่มเป็น 70% และจะทยอยปรับขึ้นเรื่อยๆ จนปี 2558 จะไม่มีการกำหนดการถือครองของต่างชาติเลยนั้น ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ข้อเท็จจริง คือ ในปี 2558 ชาติอาเซียนจะถือหุ้นในธุรกิจบริการได้อย่างน้อย 70% โดยการเปิดเสรีขึ้นกับกฎหมายภายในประเทศ

“และความคิดที่ว่า ประชาคมอาเซียนคล้ายกับสหภาพยุโรป (EU) จึงมีความเสี่ยงในลักษณะเดียวกันนั้น แท้จริงแล้วประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแตกต่างกับสหภาพยุโรปมาก ทั้งระดับการรวมกลุ่มและการจัดสรรอำนาจ มายาคติดังกล่าวนี้ ทำให้มองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง จึงไม่เกิดโอกาสและความท้าทาย”

ดร.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์ได้มากที่สุดจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ต้องเร่งอำนวยความสะดวกการค้า เปิดเสรีภาคบริการ เร่งกำหนดนโยบายแรงงานไร้ทักษะ ในภาพกว้างหมายถึง ปฏิรูประบบเศรษฐกิจสร้างสมดุลระหว่างภาคส่งออก บริการและเพิ่มผลิตภาพของภาคการผลิต ปฏิรูปกฎระเบียบและการดำเนินการของรัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งปรับทัศนคติของธุรกิจ ประชาชนและภาครัฐให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป

ด้านดร.เสาวรัจ กล่าวว่า การลดอัตราภาษีศุลกากรระหว่างประเทศอาเซียนเดิมส่วนใหญ่ลดลงเหลือ 0% แล้ว ซึ่งมูลค่าการค้าของไทยกับประเทศกลุ่มอาเซียนมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่สัดส่วนเมื่อเทียบกับการค้าทั้งหมดเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ในปี 2548-2554 ธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในอาเซียนมากกว่าที่อาเซียนมาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย เมียนมาร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ลาว ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา โดยส่วนใหญ่อยู่ในสาขาพลังงาน สาธารณูปโภค วัสดุก่อสร้าง ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์

“จะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจไทยได้ผนวกเข้ากับเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว ทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศ การลงทุนโดยตรงและการเคลื่อนย้ายแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งเศรษฐกิจไทยได้รับประโยชน์สูงและยังมีโอกาสอีกมากในอนาคต อย่างไรก็ตามการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนยังห่างไกลจากเป้าหมายในปี 2558”

ขณะที่ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวถึงเรื่องภาษาอังกฤษ ที่แม้จะมีความสำคัญ และยังต้องพัฒนาต่อ แต่ก็ไม่ถึงขั้นที่จะทำให้ประเทศไทยไม่พร้อม ในระดับหนึ่งภาคธุรกิจสามารถสื่อสารได้ดีมาก แต่ระดับทั่วไป ก็พอสื่อสารได้ แม้จะยังสู้ไม่ได้ แต่ไม่ใช่ว่าไม่พร้อม

ในส่วนภาคการลงทุนของประเทศไทยในอาเซียนที่มองว่า จะไม่มีเพิ่มขึ้นนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร มองว่า เป็นเฉพาะการลงทุนของบริษัทรายใหญ่ แต่สำหรับเอสเอ็มอี หรือบริษัทรายย่อยๆ จะมีโอกาสในการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศเมียนมาร์ กัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดที่เหมือนกับการลงทุนในไทยเมื่อ 30-40 ปีที่ผ่านมา สามารถมองเห็นธุรกิจใดจะรุ่ง อย่างไรก็ตามเชื่อว่าภาคธุรกิจโดยรวมจะต้องมีการปรับตัวอีกมาก เพราะแรงกดดันจากทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะแรงกดดันจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

“การเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพ 8 สาขา ที่มีข้อจำกัด เช่น กฎหมายและการสอบวิชาชีพ ต้องมาคิดกันว่าควรปรับหรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้ รัฐบาลต้องให้แนวทางแก่สมาคมวิชาชีพเหล่านั้นด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของประเทศ”


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา วันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 ในชื่อ ไทยตื่นตัว AEC มากสุด ดร.สมเกียรติ ชี้ปี ’58 ไม่มีอะไรเปลี่ยนสักอย่าง

นักวิจัย

ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู
ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ