ผมขอแสดงความเห็นเพิ่มเติม (เพื่อตอบ comment ที่มีกับ บทความของ อ.อัมมารและนิพนธ์ และบทความของ อ.โสรัจจ์ หงส์ลดารมภ์ ) กว้างๆ สั้นๆ นะครับ (แต่ไม่ได้มาตอบแทน อ.อัมมารและนิพนธ์ นะครับ เพราะในบางประเด็นผมก็ไม่ได้เห็นเหมือนกับในบทความนั้น) เดี๋ยวว่างกว่านี้อาจมาเพิ่มในประเด็นย่อยๆที่เกี่ยวข้อง ) กว้างๆ สั้นๆ นะครับ เดี๋ยวว่างกว่านี้อาจมาเพิ่มในประเด็นย่อยๆ ที่เกี่ยวข้อง
1.ในระบอบประชาธิปไตยนั้น การแทรกแซงของรัฐบาล (เช่น การเอาเงินภาษีไปอุดหนุนคนบางกลุ่มเป็นพิเศษไม่ว่าชาวนา นายทุน หรือผู้มีบารมี การกู้และนำเงินกู้มาใช้ในโครงการต่างๆ การกำหนดราคา ค่าจ้างขั้นต่ำและกติกาต่างๆ) เป็นสิทธิ (และในบางกรณีเป็นหน้าที่ด้วย) ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่จะตัดสินใจ
2.การตัดสินใจเหล่านี้ ถือเป็นการตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งรัฐบาลย่อมได้รับเครดิตและในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบทางการเมืองจากผลการตัดสินใจเหล่านั้น ซึ่งรวมถึงเสียงสะท้อนทั้งบวกและลบ การถกเถียงทั้งในและนอกสภา ความนิยมซึ่งอาจมีผลต่อการเลือกตั้งครั้งต่อๆไป และอาจยาวไปถึงผลที่ตามมา (และสิ่งที่ประวัติศาสตร์จะจารึก) ในอนาคต (ถึงแม้ว่ากรณีหลังนี้จะไม่มีผลกระทบโดยตรงกับผู้ตัดสินใจแล้วก็ตาม) [ส่วนการกระทำใดๆที่ผิดกฎหมาย เช่น ตั้งศาลเตี้ย/สั่งฆ่าคน ก็เป็นความรับผิดชอบทางกฎหมายของแต่ละบุคคลเอง และควรต้องตัดสินกันในกระบวนการยุติธรรม– –ที่ทำให้เชื่อกันได้ว่ามีความเป็นธรรม–ในระดับไหนก็แล้วแต่กรณี ]
3.แต่นโยบาย มาตรการ โครงการ ต่างๆ มีทั้งที่มีและไม่มีประสิทธิผล มีผลกระทบที่แตกต่างกัน การเลือกใช้เครื่องมือที่ได้ผลตามเป้าหมายที่วางไว้จึงมีความสำคัญในการบริหารในทุกระดับ โดยเฉพาะการบริหารประเทศ
4.โครงการต่างนั้นมีหลายกรณีที่เข้ากับภาษิตฝรั่งที่ว่า “ปิศาจร้ายอยู่ในรายละเอียด” การมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่จะทำอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งสามารถคาดการณ์ผลได้ตรงหรือใกล้กับความเป็นจริงจึงมีความสำคัญ–ในหลายกรณีมากกว่าความตั้งใจ (ไม่ว่าจะดีหรือเลว) เสียด้วยซ้ำ
5.การให้เหตุผลแบบ “นี่เป็นแค่การคาดการณ์ ควรต้องรอดูผลจริงๆก่อน” เป็นคำเตือนที่ดีในบางครั้ง (ช่วยให้เราไม่ “ติเรือทั้งโกลน”) แต่การรอดูผล (หรือรอจนปิดบัญชี–ซึ่งบางครั้งคนทำก็มีแรงจูงใจที่จะถ่วงเวลาปิดไปเรื่อยๆ) ไม่ใช่วิธีที่ดีในหลายกรณีแน่ๆ (“งาไหม้” ก่อน) และในหลายกรณี การวัดผลให้ถูกต้องจริงก็ทำไม่ได้อยู่ดี (เพราะจะวัดได้ก็ต้องเทียบผลที่เกิดในกรณีที่ทำโครงการกับผลในกรณีที่ไม่ได้ทำโครงการนั้น—ซึ่งกรณีหลังไม่ได้เกิดขึ้นจริงๆ)
6.การมีอำนาจและหน้าที่ที่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนไม่ได้เป็นหลักประกันว่าการตัดสินใจของรัฐบาลจะสมเหตุสมผลเสมอไป (มีตัวอย่างให้เห็นในหลายประเทศ) ความเห็นและความเชื่อของผู้เชี่ยวชาญอาจจะผิดหรืออาจมองในแง่มุมที่ไม่ครบถ้วน (หรืออาจมีอคติจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตได้) แต่ก็เช่นเดียวกับความเห็นหรือ common sense (ที่มักฟังดู make sense) จากผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญ ทุกคนจึงควรมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น แต่ก็ควรระมัดระวังในการปักใจเชื่อความเห็นหรือเหตุผลของตัวเอง (ไม่น้อยกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญควรต้องทำ) และสนใจรับฟังแง่มุมที่ต่างจากตัวเอง
7.ในระหว่างที่มีการถกเถียงกันเรื่องโครงการที่ผมเคยเรียกไว้เมื่อ กย ปีก่อนว่า ”โครงการประกันราคาข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์” (ดูบทความใน ประชาไท) มีผู้เสนอ “ทฤษฎี” (หรือ “ทิฐิ” ในภาษาบาลี) ต่างๆ ออกมามากมาย รวมทั้งของท่านทักษิณ ที่อ้างเรื่องเงินจากการจำนำข้าวจะหมุนไปอีกสามรอบ ก็ทำให้ผมอดนึกถึงเจ้าของ “ความคิด (idea)” ที่ถูกอ้าง ซึ่งท่านเองก็เคยแสดงความเห็นในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ จึงขอกลับไปนำข้อเขียนของท่านเมื่อเกือบ 80 ปีก่อนมาแบ่งกันอ่านอีกสักรอบครับ บอกตรงๆว่าวันนี้ผมห่วงเรื่อง Madmen in authority, who hear voices in the air ผู้ซึ่งกำลัง distilling their frenzy from some academic scribbler of a few years back มากกว่าเรื่องกลุ่มผลประโยชน์หรือคอรัปชั่นที่ อ.นิพนธ์คอยย้ำนักย้ำหนามาก
“The ideas of economists and political philosophers, both when they are right and when they are wrong, are more powerful than is commonly understood. Indeed the world is ruled by little else. Practical men, who believe themselves to be quite exempt from any intellectual influence, are usually the slaves of some defunct economist. Madmen in authority, who hear voices in the air, are distilling their frenzy from some academic scribbler of a few years back. I am sure that the power of vested interests is vastly exaggerated
John Maynard Keynes
“The General Theory of Employment, Interest and Money” (1935)
ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ประชาไท วันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 ในชื่อ การแทรกแซงด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย