tdri logo
tdri logo
14 พฤศจิกายน 2012
Read in Minutes

Views

นิพนธ์ พัวพงศกร แจกแจงข้อมูลโครงการรับจำนำข้าว ใน ThaiPublica Forum “ข้าว ชาวนา นักการเมือง และประเทศชาติ ใครได้ใครเสีย?”

การประกาศเดินหน้า นโยบาย “จำนำข้าว” ของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” จะช่วยแก้ไขปัญหาชาวนาได้จริงหรือ และผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากนโยบายนี้ตกอยู่กับชาวนาจำนวนมากจริงหรือ ที่สำคัญ ชาวนาทุกคนเป็นคนจนทั้งหมดหรือไม่ และการยอมขาดทุนเพื่อช่วยชาวนาตามที่รัฐบาลบอก เชื่อได้หรือไม่ และเงินที่จ่ายไปในโครงการนี้คุ้มหรือไม่เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ การดำเนินงานของรัฐบาลรอบคอบและเชื่อได้แค่ไหน นโยบายนี้จะเป็นการโกหกอีกหรือไม่

คำถามเหล่านี้สามารถถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้บนข้อมูลที่ถูกต้อง และเพื่อหาคำตอบเหล่านั้น สำนักข่าวไทยพับลิก้า ได้จัดเสวนา ThaiPublica Forum ครั้งที่ 4 หัวข้อ “ข้าว ชาวนา นักการเมือง และประเทศชาติ ใครได้ใครเสีย?” ในวันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2555 ณ โรงแรม VIC 3 พหลโยธิน ซอย 3

โดยวิทยากรที่มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้แก่ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ดำเนินรายการโดย ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในการเสวนามีสาระและเนื้อหารายละเอียดค่อนข้างมาก แต่เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนทุกแง่มุม จึงนำเสนอในลักษณะ ถาม-ตอบดังนี้

ภาวิน : อาจารย์นิพนธ์ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยครับว่า นโยบายจำนำข้าวในปัจจุบัน อาจารย์เห็นว่ามีผลประโยชน์ ใครได้ใครเสีย อย่างไรบ้าง

นิพนธ์ : ก่อนที่จะพูดถึงประเด็นเรื่องใครได้ใครเสีย ซึ่งตัวเลขค่อนข้างชัดเจน เพราะทำมาพักใหญ่แล้ว แต่ว่ายังไม่มีตัวเลขที่ทันสมัย ตัวเลขที่ผมมีอยู่ขณะนี้เป็นตัวเลขถึงประมาณกลางเดือนกรกฎาคม กำลังทำตัวเลข ณ สิ้นเดือนตุลาคม ซึ่งยังรอตัวเลขบางตัวอยู่ ตอนนี้ก็ยังมีปัญหา เพราะว่ารัฐบาลเริ่มปิดบังข้อมูลทั้งหลาย และหันมาใช้วิธีการประชาสัมพันธ์ แทนการให้ข้อมูลกับประชาชน

โครงการจำนำข้าวใช้เงินเยอะ เบียดงบลงทุนลดลง

ประเด็นแรก ผมอยากพูดเรื่องสำคัญซึ่งจะกระทบกระเทือนประชาชนทุกคนก่อน ก็คือ “จดหมายของกระทรวงการคลัง” ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในเดือนกันยายน และอีกฉบับคือวันที่ 3 ตุลาคม ที่ลงนามโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

สาระสำคัญคือ ในปีหน้า วงเงินที่รัฐบาลจะค้ำประกันเงินกู้และเงินกู้ต่อจะมีประมาณ 480,000 ล้านบาท เป็นเงินที่ถ้าสมมติรัฐบาลดำเนินการโครงการจำนำข้าวต่อไป รัฐบาลวางแผนว่า 3 ปี ข้าวนาปีต้องใช้เงิน 150,000 ล้านบาท และข้าวนาปรังรอบพิเศษต่างๆ รวมทั้งรีไฟแนนซ์ ซึ่งใช้เงินของกระทรวงการคลังที่กู้มาให้กับ ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) ในการดำเนินงานโครงการจำนำข้าว เบ็ดเสร็จแล้วต้องใช้เงินทั้งสิ้น 66 เปอร์เซ็นต์ ของวงเงิน 480,000 ล้านบาท

หมายความว่ารัฐบาลจะเหลือเม็ดเงินอีก 34,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลจะค้ำประกันได้

นั่นหมายความว่า จะกระทบกระเทือนต่อการดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลมีโครงการขนาดใหญ่ คือโครงสร้างพื้นฐาน 2.27 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นผลประโยชน์กับประชาชนทุกคน ที่พรรคเพื่อไทยบอกว่าจะเป็นการสร้างเศรษฐกิจใหม่

และผมคิดว่าอันนั้นเป็นโครงการที่ดี เป็นเรื่องสำคัญมาก แต่จะถูกโครงการที่แจกเงินเพียงโครงการเดียวเพื่อชาวนา 800,000 กว่าคน ไม่ถึงหนึ่งล้านคน

รัฐบาลคุยว่ามีชาวนาเข้าโครงการ 1.2 ล้านราย เป็นตัวเลขที่ผมขอเรียนว่า “บิดเบือน” อีกเช่นเดียวกัน เพราะเป็นตัวเลขนับซ้ำ รัฐบาลจะต้องแถลงตัวเลขเกษตรกรที่ไม่นับซ้ำ เพราะรายหนึ่งมาหลายครั้ง 3 ครั้ง ก็นับ 3 เที่ยว อย่างนี้ไม่ถูก

อย่างไรก็ตาม ในแง่ส่วนรวม โครงการจำนำข้าวจะให้ประโยชน์กับเกษตรกร 1 ล้านราย บวกเกษตรกรที่มีข้าวขายอีกประมาณ 2 ล้านราย ทั้งหมดมีประชาชนที่ได้ประโยชน์ 3 ล้านกว่าราย แต่ว่าโครงการโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วประเทศ 60 กว่าล้านคน และจะมีเม็ดเงินเพียง 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ เทียบกับโครงการจำนำซึ่งผลประโยชน์ต่อชาวนา 3 ล้านคน แต่ว่ามีเม็ดเงินถึง 66 เปอร์เซ็นต์

เพราะฉะนั้น ท่านก็ลองพิจารณาดูว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่เหมาะสมหรือไม่ในเชิงนโยบาย ผมคิดว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญ

จับพิรุธ “ราคาข้าวในประเทศ” ต่ำผิดปกติ รัฐบาลต้องชี้แจง

ประเด็นที่สอง ที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก คือในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลได้โอนเงินขายข้าวให้กับ ธ.ก.ส. เพื่อใช้หนี้ แล้วรัฐบาลขณะนี้โอนเงินขายข้าวไปทั้งสิ้น 46,000 ล้านบาท แต่ในจำนวนนี้นำไปใช้หนี้เก่า 12,690 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าข้าวก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามา เป็นการจำนำในสมัยก่อนตั้งแต่สมัยคุณทักษิณ (ชินวัตร) สมัยคุณสมัคร (สุนทรเวช) อะไรทั้งหลาย ที่เหลืออยู่ประมาณ 33,000 ล้านบาท เป็นข้าวนาปี ปี 2554–2555 กับข้าวนาปรัง ปี 2555 คิดออกมาแล้วเป็นเม็ดข้าวประมาณ 1.46 ล้านตัน ซึ่งจะมีทั้งขายในต่างประเทศและขายในประเทศ รวมทั้งปลายข้าวด้วย มี 2 ประเด็น

ประเด็นแรก คือ กระทรวงพาณิชย์สัญญาว่า ในสิ้นปีนี้จะส่งมอบเงินค่าขายข้าวให้อีก 510,000 ล้านบาท ซึ่งผู้สื่อข่าวต้องไปติดตามว่าขายข้าวได้จริงไหม

แต่ประเด็นที่ 2 ก็คือ ตัวเลขที่รัฐบาลขายข้าวได้ ได้เงินมาเรียบร้อยแล้ว อันนั้นแสดงว่าขายข้าวได้แน่นนอนแล้ว และโอนเงินให้ ธ.ก.ส. แล้ว คิดเป็นเม็ดข้าว 1.46 ล้านตัน เป็นตัวเลขที่สอดคล้องกับที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีแถลงในวันที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์พบประชานชน เมื่อเดือนตุลาคม ตัวเลขตรงกัน

แต่ผมก็ไปคำนวณตัวเลขข้าวในตลาดว่า ในท้องตลาดมีเม็ดข้าวที่ไม่อยู่ในมือรัฐบาล เม็ดข้าวที่ค้าขายอยู่ในท้องตลาดเท่าไร ที่ผมต้องไปคำนวณเพราะผมแปลกใจว่ารัฐบาลดูดข้าวทุกเม็ดเข้าไปไว้ในคลังของรัฐบาล ถ้าดูดข้าวเข้าไปทุกเม็ด ราคาข้าวส่งออกต้องสูงขึ้น ซึ่งสูงขึ้นจริง และราคาข้าวในประเทศที่ประชาชนทุกคนบริโภคก็จะต้องสูงขึ้น แต่ปรากฏว่าราคาข้าวในประเทศไม่สูงขึ้น ซึ่งแปลกใจมาก ว่าทำไมไม่สูงขึ้น

เราก็ไปคำนวณดู รวมทั้งเม็ดข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวได้แล้ว 1.46 ล้านตัน อันนี้รวมเม็ดข้าวที่อยู่ในท้องตลาดด้วย เบ็ดเสร็จแล้วเวลานี้ในท้องตลาดไม่มีข้าวเหลือเลย และขาดอยู่ 20,000 กว่าตัน และถึงแม้ว่าจะไม่ขาดข้าว 20,000 ตัน ราคาข้าวในประเทศ ก็จะต้องสูงกว่านี้

แสดงว่าจะต้องมีการ “แอบขโมยข้าว” ในคลังของรัฐบาลไปขายในตลาดในประเทศ ถ้าไม่ขโมยขายข้าว ก็ต้องมีการอนุมัติขายข้าวบางอย่างที่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ และไม่เปิดเผยต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เพราะท่านนายกฯ รู้ตัวเลขแค่ 1.46 ล้านตัน

ผมเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์ต้องแถลงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ว่า ทำไมข้าวในประเทศราคาไม่สูงขึ้น ท่านทำอย่างไร ท่านใช้กลวิธีอะไร

นี่เป็นคำถามที่ผมอยากให้สื่อมวลชนติดตามถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นี่เป็นข้อมูลที่ผมคิดว่าเป็นข้อมูลสำคัญ

แจงวิธีคำนวณรัฐขาดทุนจำนำข้าวไม่ต่ำกว่า 1.7 แสนล้าน

รายการข้อมูลสำคัญอีกรายการหนึ่ง ซึ่งผมยังคำนวณได้ไม่ครบถ้วนก็คือ รายการที่จะคำนวณว่าการขายข้าวครั้งนี้รัฐบาลจะขาดทุนเท่าไร แน่นอน เอาราคาที่รัฐบาลประมูลได้เมื่อเดือนกันยายน กับวันที่ 3 ตุลาคม ซึ่งเป็นครั้งล่าสุด 2 ลอตที่รัฐบาลประมูลขายข้าวได้ 16 บาทเศษๆ ต่อกิโลกรัม 16.70 บาทบ้าง 16.50 บาทบ้าง ซึ่งเป็นราคาที่ค่อนข้างสูง

รัฐบาลก็จะต้องขาดทุนแน่นอน เพราะว่าจริงๆแล้ว ถ้าสมมติว่ารัฐบาลขายข้าวในราคาต้นทุนที่รัฐบาลซื้อมา ราคาจะสูงกว่านั้นเยอะ ประมาณกิโลกรัมหนึ่งจะ 23 บาท นี่ขาย 16 บาทกว่า เพราะฉะนั้นต้องขาดทุนกิโลกรัมหนึ่งหลายสตางค์แล้ว เราก็คำนวณดูและใช้ข้อสมมติของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งในวันที่เป็นวันเกิดกระทรวงเคยแถลงข่าวว่า ไตรมาสที่ 4 กับปีหน้าอีก 4 ไตรมาส กระทรวงพาณิชย์จะขายข้าวได้คิดเป็นเงินเท่าไร

เราก็ใช้ตัวเลขอันนั้นเป็นข้อสมมติในการพยากรณ์ว่า ถ้ารัฐบาลเก่งจริง ขายข้าวได้หมดจริงๆ ภายในสิ้นปีหน้า แล้วเอาราคาที่ประมูลขายข้าวได้ กับกรณีที่เป็นราคาส่งออก ในปีหน้าเราก็จะใช้ราคา FOB ของเวียดนาม แล้วบวกเข้าไปแถมให้ประเทศไทยอีก 30 เหรียญ เพราะข้าวรัฐบาลไทยเป็นข้าวเก่าแล้ว

คำนวณออกมาแล้วรัฐบาลจะขาดทุนอยู่ไม่ต่ำกว่า 172,000 ล้านบาท ตัวเลขเก่าผมเคยคำนวณตอนที่การจำนำข้าวนาปรังแค่ 10 ล้านตัน ตอนนี้การจำนำข้าวนาปรังปาเข้าไป 14 ล้านตันเศษ

เพราะฉะนั้น รัฐบาลจะขาดทุน 172,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวเวลาฟังนักเศรษฐศาสตร์พูดถึงตัวเลขขาดทุนกำไร ผมขออนุญาตบอกว่า ผมคำนวณโดยใช้วิธีที่เรียกว่า mark to the market ไม่ใช่ว่าข้าวยังไม่ขายท่านก็บอกว่าไม่ขาดทุน อันนี้ไม่ถูก และนักเศรษฐศาสตร์ทุกท่านรู้ดีว่า mark to the market คืออะไร

ถ้ายังไม่ได้ขาย ท่านจะมาบอกว่าไม่ขาดทุนไม่ได้ ท่านต้อง mark to the market ตลอดเวลา เพราะในตลาดหุ้น ในระบบบัญชีสมัยใหม่ เขาใช้วิธีนี้ทั้งสิ้น

คำถามก็คือ 172,000 ล้านบาทที่ขาดทุน เป็นเงินภาษีของประชาชน รวมทั้งผู้สื่อข่าวทุกท่าน

เงินนี้ถ้าตกอยู่กับเกษตรกรที่ยากจน ถามว่าเราเสียดายไหม “ไม่เสียดาย” แต่ถ้าไปตกอยู่กับคนรวย คนที่มีฐานะ นักธุรกิจที่เป็นหัวคะแนน ถามว่าเสียดายไหม “เสียดาย”

ถามว่า 172,000 ล้านบาท ตกกับเกษตรกรสักเท่าไหร่

ผมคำนวณดูหยาบๆ ประมาณ 65 เปอร์เซ็นต์ ของ 172,000 ล้านบาท ถ้าตีให้เป็น 70 เปอร์เซ็นต์ ของ 172,000 ล้าน ประมาณ 119,000 ล้าน ตกกับเกษตรกร ที่เหลือประมาณ 50,000 ล้านบาท เป็นเงินดอกเบี้ยไป 10,000 ล้านบาท เป็นเงินค่าเสื่อมสภาพแต่ละปี เก็บข้าวยิ่งนานยิ่งเสื่อมสภาพอีกเกือบ 10,000 ล้านบาท

ทั้ง 2 รายการนี้เป็นการสูญเสียของประเทศ และดอกเบี้ยเป็นเงินภาษีของประชาชนอีกเช่นเดียวกัน แล้วไปแจกให้กับโรงสีเป็นตัวเลขเกือบ 30,000 ล้านบาท

ที่บอกว่าโรงสีได้ เพราะเดิมหากทำธุรกิจตามปกติต้องใช้เงินของตนเอง ตอนนี้ได้ข้าวมาโดยที่ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องใช้เงินของตัวเอง แล้วรัฐบาลก็คิดค่าจ้างสีให้ 500 บาท ตามปกติ ซึ่ง 500 บาท เป็นอัตราที่รัฐบาลกำหนดไว้ค่อนข้างดี ดังนั้นจะมีกำไรตามปกติโดยไม่ต้องทุจริตอีก 200 บาทต่อตันข้าวเปลือก บวกกับอีก 500 บาท ที่ได้มา 21,000 ล้านบาท กับบวกอีก 8,000 ล้านบาท รวมแล้วได้ไป 29,000 ล้านบาท

และโรงสีได้อีกรายการหนึ่งซึ่งเป็นรายการสำคัญมาก เพราะโรงสีเป็นเจ้าของโกดัง เจ้าของโกดังได้ไป 2,000 กว่าล้าน ดูน้อย แต่โรงสีที่เป็นเจ้าของโกดัง รู้ว่าข้าวในโกดังมีคุณภาพเท่าไร เวลารัฐบาลประมูลขายข้าว คนอื่นถ้าไม่รู้จักโกดังนี้ ไม่รู้จักเจ้าของโรงสีนี้ ไม่รู้ว่าข้าวคุณภาพเท่าไร เขาไม่กล้าประมูลหรอก

ดังนั้น เจ้าของโรงสีที่เป็นเจ้าของโกดังจะประมูลได้ ถ้าประมูลได้คนอื่นไม่กล้าประมูลก็จะประมูลได้ในราคาต่ำ จะได้กำไรจากตรงนั้นอีก

นี่ยังไม่นับทุจริต และโรงสีทั้งหมดมีประมาณ 1,600 โรงที่เข้าร่วมโครงการ โรงสีที่อยู่นอกโครงการไม่ได้ประโยชน์เลย ขณะที่โรงสีชุมชนขาดทุน ต้องเลิกกิจการระเนระนาด

ถ้าเรารวมการทุจริตส่งข้าวขาดน้ำหนัก ส่งข้าวที่คุณภาพต่ำเข้าไปไม่รู้อีกเท่าไร นั่นคือรายการที่เราสูญเสีย

ผลประโยชน์จำนำข้าว ใครได้ใครเสีย

ผมขอย้อนกลับไปที่ส่วนแบ่งผลประโยชน์ว่าชาวนาได้ผลประโยชน์เท่าไร เอาตัวเลขจริงก่อน เดี๋ยวจะหาว่าตัวเลขประมาณการ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกว่าเป็นตัวเลขประมาณการ แสดงว่าท่านยังไม่เห็นตัวเลขของผมว่าตัวเลขจริงที่ได้จากการที่ชาวนาไปจำนำข้าวในโครงการ แต่ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขเดือนกรกฎาคม เก่าหน่อย ผมกำลังทำตัวเลขถึงสิ้นเดือนตุลาคม

ชาวนาที่ยากจนจำนำไม่ถึง 100,000 บาท คือมีข้าวขายให้รัฐบาลรายหนึ่งไม่เกินรายละแสนบาท มีเกือบ 200,000 คน ขายข้าวทั้งหมดคิดเป็นมูลค่า 11,000 ล้านบาท

ชาวนารวยมี 33,000 ราย ขายข้าวได้ 27,000 ล้านบาท มากกว่ากันเกินเท่าตัว คิดต่อราย ชาวนาที่รวยรายหนึ่งจำนำตั้งแต่ 600,000 บาทขึ้นไป

ชาวนาปานกลางคือจำนำได้ 100,000–600,000 บาท มี 380,000 คน ได้ไป 8,000,000 บาท

นี่คือมูลค่าข้าวที่ขายให้กับรัฐบาล เป็นตัวเลขจริงๆ

คนก็จะบอกว่า อาจารย์นิพนธ์ทำแบบนี้ไม่ถูก เพราะชาวนานอกโครงการก็ได้ประโยชน์ด้วย ก็จริง เพราะราคาข้าวในท้องตลาดแพงขึ้น ชาวนาเล็กๆ ที่มีข้าวส่วนเกินเหลือขายก็ไปขายข้าวในตลาดให้โรงสี ก็จะได้ราคาสูงขึ้นเพราะรัฐบาลซื้อข้าวทุกเม็ด

อาจารย์อัมมาร สยามวาลา (นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ) ท่านก็ไปคำนวณตัวเลขออกมาว่า สมมติว่าชาวนาทุกรายที่เอาข้าวมาขายในท้องตลาด หลังจากที่หักบริโภคแล้วมีข้าวเหลือขาย แล้วขายได้ราคา 15,000 บาท ซึ่งจริงๆ ชาวนาไม่ได้ 15,000 บาท แต่สมมติเลยว่าได้ 15,000 ทุกราย คิดเป็นเงินออกมาแล้วชาวนาที่ยากจนได้ไป 18 เปอร์เซ็นต์ ชาวนาปานกลางได้ไป 42 เปอร์เซ็นต์ ชาวนาร่ำรวยได้ไป 39 เปอร์เซ็นต์

ยืนยันว่าตัวเลขทั้งสองชุด โดยตัวเลขหลังเป็นตัวเลขที่มาจากการสำรวจสำมะโนประชากร การสำรวจครัวเรือนทั่วประเทศไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ แล้วเอามาทำประมาณการ คำนวณค่าส่วนเกินที่มีอยู่ หักด้วยปริมาณข้าวที่ผลิต หักด้วยปริมาณข้าวที่บริโภค ก็ได้ข้าวส่วนเกินว่าแต่ละครัวเรือนมีข้าวส่วนเกินเท่าไร แล้วราคาที่เพิ่มขึ้นจากการมีโครงการรับจำนำได้ราคาที่เพิ่มขึ้นเท่าไร เอาส่วนต่างที่ได้ราคาเพิ่มขึ้นมาคำนวณ แล้วเอาส่วนต่างที่ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นมาแจกแจง

นั่นคือผลประโยชน์ นั่นคือตัวเลขชัดเจนว่า ผลประโยชน์ตกอยู่กับชาวนาปานกลางและร่ำรวย ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะผมพูดอยู่ตลอดเวลาว่า “โครงการนี้ออกแบบมาเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่ใช่ออกแบบมาเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาวนา” ซึ่งก็ตรง เพราะชาวนาฐานะปานกลางเป็นชาวนาส่วนใหญ่ของประเทศ จึงได้เสียงจากตรงนี้

อันนี้คือตัวเลขที่ผมค่อนข้างชัดเจนว่าใครได้ใครเสีย

สัญญาณส่งออกข้าว มีแต่ทรุด และแข่งขันยาก

ภาวิน : มาที่คุณชูเกียรติช่วยเล่าหน่อยครับว่าผลกระทบจากโครงการนี้ต่อธุรกิจการค้าข้าวของไทยเป็นอย่างไร สถานการณ์การค้าในปัจจุบันเทียบกับการค้าในต่างประเทศ ของเวียดนาม อินเดีย คู่แข่งหลักๆ ของไทยเป็นอย่างไร

ชูเกียรติ : เรื่องผลกระทบการส่งออก เอาง่ายๆ คือ อยู่ดีๆ ลูกค้าเคยซื้อของชิ้นหนึ่ง 100 บาท อีกวันหนึ่งเดินเข้าร้านเดียวกัน บอกว่าขึ้นเป็น 200 บาท ลูกค้าถามว่าทำไมถึงขึ้น ก็บอกอยากขึ้น มันไม่มีเหตุผลรองรับ แน่นอนที่สุดการต่อต้านจากลูกค้าก็ต้องมีค่อนข้างเยอะ จึงยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า อยู่ดีๆ ข้าวไทยจากที่ขายอยู่ 400 กว่าเหรียญสหรัฐฯ ขึ้นมาเป็น 600 เหรียญสหรัฐฯ ตามราคาตลาด ถ้าเป็นราคารับจำนำต้องไปถึงตันละ 800 เหรียญ

ลูกค้าส่วนหนึ่งรับไม่ได้ เพราะประเทศที่ซื้อข้าวส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นประเทศที่ร่ำรวยอะไรมากมาย ถ้าดูจากประเทศรายใหญ่ๆ ที่ซื้อ อย่างเช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย

เพราะฉะนั้น ราคาเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ จริงอยู่ว่าข้าวไทยจะมีคุณภาพดีกว่าข้าวที่มาจากแหล่งกำเนิดอื่น อย่างเวียดนาม อินเดีย หรือปากีสถาน แต่พรีเมี่ยมที่ลูกค้าจะให้ก็คงอยู่ประมาณซัก 20–30 เหรียญต่อตัน แต่โครงการรับจำนำฯ ตั้งราคาไว้สูงมากที่ 15,000 บาท ที่ผมเรียนว่ามันตกประมาณ 800 เหรียญ สำหรับข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ หรือถ้าเป็นข้าวหอมตกประมาณ 1,400 เหรียญ

เป็นอะไรที่ลูกค้า “ลำบาก”

การส่งออกแน่นอนว่าลดลงมากในช่วง 9-10 เดือนที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกตัวเลขลงไปถึง 44 เปอร์เซ็นต์ เร็วๆ นี้ทางกระทรวงพาณิชย์เองก็มาแถลงว่าเรายังเป็นแชมป์อยู่ในเรื่องของภูมิภาค ผมฟังแล้วก็ตลก เพราะแชมป์เรื่องมูลค่าเราเป็นมานานแล้ว และถ้าดูจากตัวเลขผมว่าน่าเป็นห่วงมากกว่า เพราะถ้าเราเปรียบเทียบปีที่แล้ว 9 เดือน เอาของไทยกับเวียดนาม

ช่วง 9 เดือนแรกในปีที่แล้ว เราส่งออกไป 5,200 ล้านเหรียญ เวียดนามส่งออกไป 2,800 ล้านเหรียญ ส่วนต่างของมูลค่าการส่งออกไทยกับเวียดนามต่างกันถึง 2,378 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปีนี้ 9 เดือนแรกไทยส่งออกไปแค่ 3,400 ล้าน มูลค่าการส่งออกของเวียดนามในปีนี้ตกไปนิดเดียว 2,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ความแตกต่างเหลือแค่ 813 ล้านเหรียญ

ถ้าดูจากตรงนี้แล้วผมว่าน่าเป็นห่วงด้วยซ้ำว่า อีก 1-2 ปี เขาคงแซงเราในเรื่องมูลค่า เพราะจากมูลค่าปีที่แล้วใน 9 เดือนแรกที่แตกต่างกันถึง 84 เปอร์เซ็นต์ ปีนี้เหลือแค่ 31 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นก็เป็นตัวเลขที่น่าคิดเหมือนกัน

ถ้าพิจารณาจากตัวเลขปริมาณการส่งออก ตอนนี้ประเทศไทยพ่ายแพ้ประเทศคู่แข่งขันทางการค้าไปเรียบร้อยแล้ว หากรัฐบาลยังคงดำเนินโครงการรับจำนำข้าวต่อไปอีก 1-2 ปีข้างหน้า คาดว่าประเทศไทยคงจะเสียแชมป์ส่งออก

สำหรับลูกค้าต่างประเทศที่สั่งซื้อข้าวไทย “ตอนนี้ไม่มีใครแฮปปี้สำหรับเรื่องของโครงการรับจำนำข้าว” ทุกคนมีอะไรที่ต้านในใจค่อนข้างมาก

อย่างเช่น ข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นข้าวพรีเมียมของไทย ลูกค้าในฮ่องกง ท่านเป็นนายกสมาคมนำเข้าข้าวของฮ่องกง ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทย แล้วก็ซื้อแต่ข้าวไทยอย่างเดียว ไม่ซื้อจากประเทศอื่นเลยมาเป็นเวลาหลาย 10 ปี
เจอกันครั้งสุดท้ายท่านบอกว่า “เหมือนกับว่าเขาร้องไห้เลย เพราะว่าสิ่งที่รัฐบาลไทยทำให้เขาตอนนี้คือ กำลังทำให้เขาต้องออกจากวงการ เพราะว่าสู้คนอื่นไม่ได้ เพราะความที่เขาจงรักภักดีกับข้าวไทยอย่างเดียว”

วันนี้ตลาดข้าวไทยในฮ่องกงลดลงทุกวันๆ จากที่เคยครองส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 90 เปอร์เซ็นต์ ปีนี้อาจจะลดลงเหลือ 50 เปอร์เซ็นต์ และปีหน้าถ้าคู่แข่งเราปรับตัวได้ดีขึ้น อย่างเช่น ประเทศกัมพูชา ที่ส่งข้าวหอมมะลิออกเป็นเรื่องเป็นราว แล้วคุณภาพก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ขายถูกกว่าไทย 200 เหรียญต่อตัน ตรงนี้เขาก็จะแย่งตลาดไทยไปเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น มีโอกาสที่ประเทศไทยจะส่งออกข้าวก็จะลดลงน้อยลง

จริงอยู่ว่า ถ้าดูภาพรวมของโลก ทุกคนบอกประชากรโลกเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะฉะนั้นอุปสงค์ข้าวต้องเพิ่มขึ้นมากขึ้นทุกปี แต่แท้ที่จริงแล้ว ต้องเรียนว่าการบริโภคข้าวของคนลดลงในแต่ละปี ทำให้เรื่องของการบริโภคไม่ได้สูงขึ้นอย่างที่เราคาดคิดไว้

เพราะฉะนั้นส่วนแบ่งการตลาดที่เราส่งออกไปยังตลาดโลกอยู่ประมาณ 32-33 ล้านตันต่อปี ถ้ายอดส่งออกเราหายไปสัก 3-4 ล้านตัน มันมีคนมาแทนที่ได้อย่างสบาย เพราะว่าอุปสงค์มันไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ไม่ใช่ปีนี้การค้าโลก 32 ล้านตัน ปีหน้าขึ้นไป 37 ล้านตัน อีกปีขึ้นไป 50 ล้านตัน โอกาสตรงนั้นไม่ได้สนับสนุน

ดังนั้น โอกาสที่ไทยจะถูกกแย่งส่วนแบ่งการตลาดก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้ายังทำโครงการรับจำนำข้าวอย่างต่อเนื่อง อันนี้ยังไม่พูดถึงต้นทุกการผลิตที่จะสูงขึ้นตามราคา

โดยเฉพาะอีก 2 ปีข้างหน้า เอเอีซี (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) จะเปิดแล้ว แทนที่เราจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของเราดีขึ้น ปรากฏว่ากลับแย่ลง เพราะว่าต้นทุนการผลิตของเรามีแต่เพิ่มขึ้นอย่างเดียว จากการที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงราคาที่สูงกว่าราคาตลาดค่อนข้างมาก ต้นทุนต่างๆ ขึ้นหมด ทั้งค่าเช่าที่ดิน ค่าปุ๋ย ค่าแรง สารพัด ขึ้นหมด

จริงๆ แล้วเกษตรกรก็ไม่ได้รับประโยชน์เต็มในส่วนนี้ แต่ในทางกลับกัน ขีดความสามารถในการแข่งขันของเราก็ด้อยลงไปเรื่อยๆ ในอนาคต มิหนำซ้ำเรื่องคุณภาพข้าว ก็ดูเหมือนมีแต่จะแย่ลง

เพราะเกษตรกรไม่สนใจเรื่องคุณภาพข้าวแล้ว ปลูกอย่างไงก็ขายให้รัฐบาลได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงในอนาคต ยกตัวอย่างว่า ข้าวหอมไทยซึ่งควรได้รับการพัฒนามากกว่านี้ เดี๋ยวนี้ข้าวหอมไทยไม่ค่อยหอมแล้ว หอมน้อยลงมาก

จริงๆ แล้วถ้าเปรียบเทียบกับข้าวหอมกัมพูชาตอนนี้ ข้าวหอมกัมพูชามีเกรดดีกว่าข้าวหอมไทยด้วยซ้ำไปในระดับความหอมอะไรต่างๆ เพราะเกษตรกรไทยมีการใช้ปุ๋ยเคมีกันอย่างมาก ทุกอย่างไปในทิศทางตรงกันข้ามกับที่มันควรจะเป็น

จำนำข้าวสาเหตุต้นทุนเพิ่ม ทำให้ชาวนารับประโยชน์ไม่เต็มที่

ภาวิน : มาที่คุณเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ช่วยเล่าให้ฟังนิดหนึ่งครับว่า มูลนิธิข้าวขวัญทำอะไรกับเกษตรไทย และในมุมมองของคุณเดชา นโยบายรับจำนำข้าว ชาวนาได้รับประโยชน์จริงหรือเปล่า ทั่วถึงไหม

เดชา : มูลนิธิข้าวขวัญก่อตั้งเมื่อปี 2532 ตอนนี้ 23 ปี เราทำงานกับชาวนาที่สุพรรณบุรี ไม่ได้ทำที่จังหวัดอื่น แต่สุพรรณอาจจะเป็นตัวแทนของชาวนายุคใหม่ก็ได้ เพราะสุพรรณบุรียังปลูกข้าวนาปรังกันเยอะมาก เพราะฉะนั้น 23 ปีที่ทำงานกับชาวนา เราทำหน้าที่แก้ปัญหาให้กับชาวนาเป็นเรื่องเฉพาะหน้า เรารู้ว่าชาวนามีปัญหาอะไร ก็พยายามเข้าไปแก้ปัญหาชาวนาให้ได้

ชาวนามีปัญหาหลักๆ ไม่กี่อย่าง ที่เห็นชัดๆ คือ

1. เรื่องหนี้สินเกษตรกร ตัวเลขต้องถามอาจารย์นิพนธ์ ผมคิดว่าหนี้สินชาวนาเพิ่มขึ้นทุกวัน เท่าที่ผมทำงานด้วยพบว่าหนี้สินเฉลี่ยชาวนาสุพรรณไม่ต่ำกว่า 500,000 บาทต่อครอบครัว ถ้าเป็นเขตชลประทานสมบูรณ์แบบ เช่น ทำนาปีละ 3 ครั้ง อาจจะถึง 1 ล้านบาทต่อครอบครัว อันนี้ตัวเลขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

2. ชาวนามีที่ดินน้อยลงเรื่อยๆ คือจำนวนชาวนาที่ขายนาและเช่านาทำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตัวเลขเช่านามากกว่าที่มีนาเป็นของตัวเอง คือ พื้นที่ที่ทำนาเป็นนาเช่าประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ และเป็นของตนเองไม่เกิน 40 เปอร์เซ็นต์ อันนี้เห็นได้ชัด

3. ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเรื่อยๆ จาก 5,000 บาทต่อตัน เป็น 6,000 บาทต่อตัน เป็น 7,000 บาทต่อตัน ที่สุพรรณบุรีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นเกิน 7,000 บาทต่อตัน

โดยเฉพาะการจำนำข้าว ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะว่า หนึ่ง ค่าเช่าที่ดินทำนาเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากชาวนาแย่งกันเช่า จากราคาไม่เคยถึง 1,000 บาทต่อปี เป็น 1,500 บาทต่อปี สอง ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ปรับราคาเพิ่มขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ

คือ พอชาวนาได้ราคาข้าวดี ปัจจัยการผลิตก็ปรับราคาขึ้นตามไปด้วย ทั้งๆ ที่ราคานำเข้าปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการจำนำข้าวเลย แต่ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันเป็นหลัก และประเทศไทยพิเศษตรงที่ว่าไม่ได้เก็บภาษีนำเข้าสารเคมีเกษตร คือ 0 เปอร์เซ็นต์ มาตั้งแต่ปี 2535 แต่ทำไมมันขึ้นราคาโดยไม่มีสาเหตุ อันนี้เป็นตัวเลขที่ใครๆ ก็รู้แต่ไม่ค่อยพูดถึง

ถ้าสมมุติว่าชาวนาจะได้กำไร ประโยชน์จากการจำนำข้าว ถามว่าเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือเปล่า สิ่งที่ชาวนาควรจะได้ ทำไมต้องไปให้เจ้าของนาเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่มีเหตุผล ทำไมต้องไปให้กับบริษัทค้าปุ๋ย ค้ายาฆ่าต่างๆ ทำไมต้องไปให้เขาด้วย ทั้งที่ไม่มีสาเหตุใดๆ

อีกคำถามคือ สมมติอาจารย์นิพนธ์บอกว่า การจำนำข้าวที่ผ่านมานี้ ถ้าขายหมด คิดว่ารัฐบาลขาดทุนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท สมมติ 100,000 ล้านบาทต่อฤดู ถ้าอยากจะช่วยชาวนา ผมคิดว่าอย่างผมเป็นคนเสียภาษีอย่างอาจารย์นิพนธ์ ผมยินดีจะเสียภาษีให้ 100,000 ล้านบาท ถ้าชาวนาจนและต้องการได้รับความช่วยเหลือมากๆ ได้เงินส่วนนั้นไปเป็นส่วนใหญ่ และเงิน 100,000 ล้านบาท ไปถึงมือชาวนาทั้งหมด “ผมเต็มใจ” แต่ปัจจุบัน อย่างตัวเลขของอาจารย์นิพนธ์ คนจนแทบจะไม่ได้ประโยชน์จากโครงการจำนำข้าว โดยเฉพาะชาวนาที่ปลูกข้าวกินเอง ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย

คือจนที่สุดเขาเก็บข้าวไว้กินเอง กรณีนี้ไม่ได้อะไรเลย แล้วชาวนารวยได้เงินมากที่สุด และเงิน 100,000 ล้านบาท ที่เราขาดทุนไป ถามว่าถึงชาวนาสัก 50,000 ล้านบาทไหม ผมคิดว่าไม่ถึง แล้วเราต้องเสียเงินอีก 50,000 ล้านบาท ไปให้คนที่ไม่ใช่ชาวนาเพื่ออะไร ทั้งที่เราอยากจะช่วยชาวนา

อีก 50,000 ล้านบาท เราเสียไปทำไม ที่ไม่ใช่ชาวนา

เทียบกับโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลชุดที่แล้วก็ “ไม่คิดว่าดี” นะ แต่ผมคิดว่าการประกันราคาของรัฐบาลที่แล้ว เงินโอนเข้าบัญชีของชาวนาโดยตรง ผมคิดว่ารั่วไหลน้อยมาก เมื่อเทียบกันไม่ได้บอกว่าดีกว่ากัน แต่เงินที่เราเสียไปส่วนใหญ่ถึงมือชาวนา และชาวนาจนก็ได้เงินด้วย คนปลูกข้าวกินเองก็ได้ด้วย แต่ไม่ได้บอกว่าผมชอบนโยบายประกันนะครับ

ไม่ได้ชอบ แต่เมื่อเทียบกันแล้วมัน “เลวน้อยกว่าเยอะ” ถ้าให้เลือกก็เอาเลวน้อยกว่า

ถ้าถามต่อว่า เมื่อจำนำแบบนี้แล้วชาวนาจะหมดปัญหาหรือไม่ ถามว่าแก้ปัญหา ไม่มีที่ดินได้ไหม มันแก้ปัญหาหนี้สินได้หรือไม่ มันแก้ไม่ได้ ทำให้ชาวนาเข้มแข็งขึ้นหรือไม่ ปี 2558 จะเปิดประชาคมอาเซียน ถามว่า จากโครงการจำนำข้าว ชาวนาไทยจะแข่งกับชาวนาที่อื่นได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ได้

ชาวนาอ่อนแอลงเยอะเลย เพราะต้นทุนสูงขึ้น ชาวนาแย่ลง ไม่คิดจะช่วยตัวเองเลย ตอนนี้คิดแต่จะจำนำอย่างเดียว ถ้าเลิกจำนำ นึกไม่ออกเลยว่าจะทำอะไรกันกิน ถ้าข้าว 8,000 บาทต่อตัน จะอยู่รอดหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่รอด” หรอก

อีกด้านหนึ่ง ถ้าเราจะแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน รัฐบาลควรจะทำอะไร ก็ต้องไปทำเรื่องที่ดิน ธนาคารที่ดินเราก็มี เรามีสำนักงานปฏิรูปที่ดิน แล้วพวกนั้นได้เงินเท่าไหร่ เอาแสนล้านบาทไปให้บ้างหรือเปล่า ไม่ได้แตะต้องเลย แล้วเพิ่มภาษีที่ดินคนรวยไหม ก็ไม่ได้เพิ่ม การจัดการพวกนี้ก็ไม่ได้ทำเลย ทั้งที่เพื่อให้ที่ดินไปสู่ชาวนาจน แล้วที่ชัดเจนที่สุด ชาวนาที่กำลังจะถูกยึดที่ดินที่เขาไปลงทะเบียนกับกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร ที่เป็น พ.ร.บ. มา 10 ปี รัฐบาลให้เงินกองทุนฯ ไปไถ่ที่ดินเพื่อปลดหนี้สินเขาไหม

“เขาลงทะเบียนมา 10 ปี แล้วครับ รัฐบาลจัดงบฯ ให้กองทุนฯ ไปกี่หมื่นล้านบาท มันได้เงินสักกี่บาท ที่เขามีหนี้จริง ที่ดินจะถูกยึดจริง ได้ไปโอนหนี้มาอยู่ในกองทุนฯ สักกี่บาท ช่วยเกษตรกรกี่คน เอาเงินแสนล้านบาทไปช่วยเกษตรกรกลุ่มนี้ได้จริงหรือไม่ แล้วทำไมไม่ช่วย มันมีแนวทางที่จะช่วยเหลือเกษตรกรเยอะแยะ”

อย่างเช่น การลดต้นทุนปลูกข้าว เราสูงกว่าเวียดนามเยอะ ตอนนี้เวียดนามลด 3 ลด

ภาวิน : ลดอะไรบ้างครับ

เดชา : 3ลดของเขาคือลดต้นทุน ลดการใช้พันธุ์ข้าวที่ใช้ระยะเวลาปลูกน้อยลง และลดการใช้สารเคมีให้น้อยลง ผมจำไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เขาลดเพื่อให้ชาวนาต้นทุนต่ำ และเพิ่มคุณภาพ แต่เราไม่มีนโยบายที่จะลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพ ผมคิดว่าเวียดนามถึงขนาดให้ชาวนาผสมพันธุ์ข้าว เงินที่รัฐบาลทุ่มให้หน่วยงานพัฒนาพันธุ์ข้าวเวียดนามใช้เงินมากกว่าเราเยอะ ประเทศไทยเราไม่ทำเรื่องนี้ และทำน้อยลงไปเรื่อยๆ ขณะที่ต้นทุนเราสูง

ช่วยชาวนาลดต้นทุน ต้องจำกัดใช้ปุ๋ยเคมี

ถามว่าถ้าจะช่วยชาวนาจริงๆ ไม่ต้องใช้เงินเป็นแสนล้านบาทเลยก็ได้ จริงๆ ชาวนาที่ช่วยตัวเองได้แล้วมีจำนวนมาก อย่างลูกศิษย์ผมก็ได้ จริงๆ เขารู้จักผมในนาม “ครูชาวนา” เพราะว่าผมมีโรงเรียนชาวนาอยู่ แล้วลูกศิษย์ที่เก่งๆ ได้รับเลือกเป็นเกษตรกรชาวนาดีเด่นแห่งชาติที่สุพรรณอย่างน้อย 2 คน

คนแรกได้รับคัดเลือกปี 2538 ตอนนั้นเขามีนาแค่ 25 ไร่ ตอนนี้เขามีนา 115 ไร่ ซื้อเพิ่มอีก 90 ไร่ ราคาไร่ละ 1 แสนบาท ไม่ใช่ถูกๆ เขาก็ซื้อได้ อย่างปีที่แล้วกำไรล้านกว่าบาท ปีนี้เอาข้าวเข้าโครงการจำนำข้าวได้กำไร 2 ล้านบาท มันเป็นเรื่องปกติ สำหรับคนปลูกข้าว 100 ไร่ ถามว่าต้นทุนเขาเท่าไหร่ที่เขาได้กำไร ต้นทุนเขาตันละไม่เกิน 3,000 บาท นี่เขาไม่ได้เช่านา ถ้าเช่านาจะมีต้นทุน 3,000 บาทต่อตัน

ต้นทุนขนาดนี้ไม่ต้องจำนำหรอกครับ ราคา 5,000 บาท ก็อยู่ได้แล้ว กำไร 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้า 8,000 บาท ก็กำไร 200-300 เปอร์เซ็นต์ เพราะชาวนาพวกนี้ไม่ต้องไปช่วยเขาเลย จะเปิดเออีซีปี 2558 เมื่อไหร่ก็สู้ได้หมด ให้ต้นทุนต่ำเท่าไหร่ค่าขนส่งก็แพ้เรา เขมร พม่า ชาวนาพวกนี้ทำมาตั้งแต่ปี 2538 ทำไมรัฐบาลไม่ไปเอามาตรการพวกนี้มาใช้บ้าง ไม่มีทางเลย เราพยายามทำมาหลายรัฐบาลเต็มทีแล้ว

มาตรการที่จะใช้คือ ต้องช่วยลดต้นทุน จาก 7,000 บาทต่อตัน ปรับให้ลดลงมาเหลือไม่เกิน 3,000 บาทต่อตัน โดยเขาไม่ต้องไปใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงเลย อย่างมากก็ใช้แค่ 7 วันแรก ตอนหว่านข้าวเท่านั้น การหว่านบวกยาฆ่าวัชพืชยังถูกกว่าตอนดำนาเยอะ

ทำแบบนี้ง่ายนิดเดียว เพราะมีตัวอย่างอยู่แล้ว

แต่ทำไมเกษตรกรไม่ทำตามอย่างเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ ก็คือเรามีการวิจัยอย่างเป็นทางการเลย พบว่าเกษตรกร 99 เปอร์เซ็นต์ ไม่ทำตามเด็ดขาด ผมทำมา 23 ปีที่มูลนิธิข้าวขวัญ แต่ที่นารอบข้างมูลนิธิผมไม่มีใครทำเลยสักคนเดียว หรือรอบๆ คุณชัยพร (พรหมพันธ์) ที่ได้รางวัลเกษตรดีแด่นปี 2538 ก็ไม่มีเกษตรกรที่อยู่พื้นที่ข้างเคียงทำตามคุณชัยพรสักคนเดียว และเราก็เอาเกษตรกรกลุ่มนี้มาวิจัยกันเลย ทำไมไม่ทำ

เขาบอกว่าเขาเลิกใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ไม่ได้เลย เพราะเขาทำใจไม่ได้เลย เราก็วิจัยต่อว่าทำไม ในสมองถูกใส่โปรแกรมเข้าไปว่า ต้องเคมี ต้องมียาฆ่าแมลง ต้องขาย ต้องซื้อทุกอย่าง ต้องพึ่งภายนอก แล้วโปรแกรมพวกนี้ใส่มาโดยการโฆษณา การมอมเมา ทุกอย่างเกิดจากการใส่ข้อมูลนี้เข้าไปในสมองชาวนา ใส่โปรแกรมเข้าไปแล้วมันถอดไม่ได้ เขาเรียก “กระบวนทัศน์”

จากข้อมูล ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเนื้อที่เป็นอันดับที่ 48 ของโลก แต่ใช้ยาฆ่าแมลงตัวเลขเป็นทางการจริงๆ ปี 2551 เป็นอันดับ 5 ของโลก หมายความว่า เทียบต่อพื้นที่ เราใช้ยาฆ่าแมลง 9.6 เท่าของโลก

แล้วผลผลิตเราเพิ่มขึ้นไหม เปล่าเลย ผลผลิตข้าวเราน้อยกว่าเวียดนามเยอะ ชนะแต่เขมรเท่านั้น ไม่ได้พูดเล่น และที่แย่กว่านั้นก็มีครับ คือประเทศไทยใช้ยาฆ่าหญ้ามากเป็นอันดับ 4 ของโลก

ทำไมใช้มากขนาดนี้ เพราะว่าไม่มีประเทศไหนปล่อยให้โฆษณาขนาดนี้ และภาษีก็ไม่เก็บ ทำไมไม่เก็บภาษี เพราะว่าปี 2535 เขายกเลิกภาษีนำเข้า หลังจากนั้นไม่เก็บเลย ทีดีอาร์ไอเรียกร้องก็ไม่ยอมเก็บ และยังโหมโฆษณากันอย่างบ้าเลือดจนเกษตรกรลืมตาอ้าปากไม่ขึ้น

ถามว่าจะช่วยเกษตรกรทำอย่างไร ก็ทำแบบการรณรงค์ลดการสูบบุหรี่คือ 1. ห้ามโฆษณา รัฐเสียเงินไหมครับ ไม่เสียสักบาท 2. เก็บภาษีนำเข้า ปัจจุบันไม่เก็บเลย 3 .เอาภาษีส่วนหนึ่งมาตั้งเป็นกองทุนส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เกษตรลดต้นทุนการผลิต ไม่ต้องเสียเงินสักบาท

แล้วชาวนาจะดีขึ้นทันทีเลยภายใน 1-2 ปี เท่านั้น

“ผมเรียกร้องให้ทำมาตรการดังกล่าวมาตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ 1 ตอนนั้นคุณประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ เอาด้วย และเราทำประชาพิจารณ์ภายในกระทรวงสำเร็จเรียบร้อยแล้ว แต่พอเสนอเรื่องเข้า ครม. แล้วไม่ผ่าน ถูกล็อบบี้จนเปลี่ยนรัฐมนตรี เอาคุณเนวิน (ชิดชอบ)มานั่งแทน แล้วหลังจากนั้นก็ไม่ต้องพูดกันแล้ว”

รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ มาเราก็มาเรียกร้องใหม่ ผมทำประชาพิจารณ์กับ รมว.เกษตรคนใหม่ ผลการทำประชาพิจารณ์ผ่านแล้วแต่ยังเข้า ครม. ไม่ได้ สุดท้ายเราก็รู้แล้ว เราผลักดันไม่สำเร็จหรอก เพราะรัฐบาลเขาฟังบริษัทมากกว่าเรา

“เพราะฉะนั้นอยากจะบอก โครงการรับจำนำข้าวไม่ถูกต้องหรอก แล้วที่ผมช้ำใจ ผมทำกับชาวนานะครับ ชาวนานี่เนรคุณเลย นี่พูดแบบตรงๆ เลย ชาวนาบางคนเอาใบประทวนไปขาย 1,000 บาท ไม่เกิน 1,500 บาท โกงภาษีเราชัดๆ ไม่มีข้าวก็เอาใบประทวนไปขาย ขายได้อย่างไร ก็เพราะเขาโกง ชาวนาไม่ได้รับผิดชอบเลย ตัวเองได้สิทธิประโยชน์ เรียกร้องสิทธิประโยชน์แต่ไม่รู้จักหน้าที่รับผิดชอบเลย”

ผมถามง่ายๆ ครับว่า ชาวนา “เผาฟาง” ทำไม ซึ่งผิดกฎหมาย และทำให้โลกร้อน แล้วเสียฟางไปไร่ละ 1 ตันกว่า ถ้าไร่ละตันกว่า เราเปลี่ยนฟางเป็นปุ๋ยหมักเราก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยเคมี ผมสอนชาวนาหมักฟางแล้วไม่ต้องใส่ปุ๋ยเคมีสักเม็ดเดียวก็ยังได้ ไม่มีต้นทุนเลย แต่ไม่มีทาง เพราะรัฐบาลต้องปล่อยให้ชาวนาเผาฟาง เพราะเผาแล้วจะได้ไปซื้อปุ๋ยใส่ ถ้าไม่เผาแล้วใส่ปุ๋ยเคมีไม่ได้ เพราะมันจะล้น หรือสารเคมีมันจะเกินไป

เพราะฉะนั้น ถ้าเราเพียงแต่ออกมาตรการว่า ต่อไปนี้ถ้าใครเผาฟางเราไม่รับจำนำ เอาแค่นี้ ถ้าจะจำนำข้าวชาวนาต้องรับผิดชอบโดยไม่เผาฟาง ผมจะยอม แล้วชาวนาก็จะใช้ปุ๋ยเคมีไม่ได้ เพราะว่าปุ๋ยมันมากเกินไปแล้ว ก็จะช่วยชาวนาลดต้นทุน อีกหน่อยก็สามารถแข่งขันกับใครก็ได้

แต่มาตรการเหล่านี้ไม่มีทางเกิด เพราะรัฐบาลไม่ต้องการแก้ปัญหาจริง

“ม.ร.ว.ปรีดิยาธร” จวกรัฐบาลไม่ละอาย ขาดทุนจำนำข้าวแสนล้าน

ภาวิน :สรุปสั้นๆ ว่า การจำนำข้าวทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ชาวนาอาจจะไม่ได้รับผลประโยชน์เต็มๆ และก็อ่อนแอ มาที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หรือหม่อมอุ๋ย ขอถามว่าในความเห็นของท่าน โครงการจำนำข้าวใครได้ใครเสีย เกิดผลกระทบอะไรกับประเทศไทยเราบ้าง

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร : ผมได้ฟังท่านประธานมูลนิธิขวัญข้าว ชอบใจ 2 ประเด็น คือ อะไรก็ตามที่ออกมาทำให้ราคาขึ้น ชาวนาก็จะได้บ้าง แต่จะถูกเจ้าของที่ดิน พ่อค้าปุ๋ย ยาฆ่าแมลง มาขอแบ่ง แต่ถ้าอะไรก็ตามที่ลดต้นทุน ชาวนาได้ล้วนๆ อันนี้ผมว่าเป็นแนวคิดที่ดี

เพราะอะไรก็ตาม ถ้าลดต้นทุน ชาวนาได้เต็มๆ เพราะคนอื่นจะเข้ามา มันเข้าไม่ได้ และยิ่งมาบอกว่าในเมื่อมีการรณรงค์จนคนสูบบุหรี่น้อยลงได้ มันก็รณรงค์ให้คนใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงน้อยลงได้ ด้วยวิธีที่ทำโฆษณาติดป้ายเขียนให้คนกลัวได้เหมือนบุหรี่ แต่ยิ่งบอกว่าตั้งเป็นกองทุนเอาภาษีที่เก็บจากสารเคมีไปใช้ ขอจำไว้ ถ้ามีโอกาสจะขอนำไปใช้

ทั้ง 2 โครงการที่อาจารย์นิพนธ์คิด แล้วพรรคประชาธิปัตย์นำไปดัดแปลงก็มีข้อเสีย แต่โครงการนั้น (ประกันรายได้) ชาวนาได้ล้วน คนอื่นอาศัยไม่ได้ เพราะกระบวนการค้าเป็นปกติ การส่งออกก็เป็นปกติ ไม่มีคนไปเปิดบริษัทมารวมข้าวทำหน้าที่รับซื้อข้าว เพราะฉะนั้นไม่มีใครอาศัยได้ แต่ของจำนำข้าวอาศัยตลอดเลย คนเข้ามาพึ่งพาตลอด

อาจารย์นิพนธ์บอกขาดทุน 1 แสนล้านบาท ชาวนาได้ 50,000 ล้านบาท ก็ชัดเจนเพราะใน 100,000 หนึ่งมีทั้งความแตกต่างด้านราคา มีทั้งดอกเบี้ย ค่าสีแปรสภาพ ค่าขนส่ง ค่าเก็บรักษา ค่าเหล่านี้เต็มไปหมดประเด็นเหล่านี้ไม่พูดซ้ำ

แต่ผมอยากจะพูดขยายประเด็นที่ใหญ่กว่า ที่ผมห่วงมาก และห่วงจริงๆ ถามว่าขาดทุนเท่าไหร่ และขาดทุนจะโยงไปหาประเทศชาติอย่างไร

รัฐบาลชุดที่แล้วมีมติว่า ให้ตั้งคณะกรรมการปิดบัญชีผลิตผลทางการเกษตร หรือคอยคิดผลเสียของการจำนำข้าวหลังจากที่ทำไปแล้ว 3 เดือน ปีที่แล้วถามว่าทำเท่าไหร่

จำนำข้าวนาปีตอนนั้นล่าช้า สะดุดเพราะน้ำท่วม นาล่ม เคยผลิตได้ปีละ 25 ล้านตัน ถูกน้ำท่วมเหลือ 20 ล้านตัน แต่จำนำตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2554 จนถึง 28 กุมภาพันธ์ 2555 มีข้าวมาจำนำเพียง 6.95 ล้านตัน

“ผมก็ดีใจมากแล้ว คิดว่าพระสยามเทวาธิราชคงช่วยให้โครงการนี้ไปได้น้อย”

แต่พอเริ่มฤดูข้าวนาปรัง เริ่มจำนำตั้งแต่ 1 มีนาคม 2555 ถึง 30 กันยายน 2555 และขยายไปถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2555 มีข้าวเข้ามาจำนำอีก 14.69 ล้านตัน ผมไม่รู้มาจากไหน เพราะธรรมดาข้าวนาปรังสมัยก่อน ปี 2553 ข้าวนาปรังมาจำนำประมาณ 7.5-8 ล้านตัน แต่ปี 2555 นาปรังจำนำ 14.69 ล้านตัน โอนเงินเข้าบัญชีครบถ้วนแล้ว ประเด็นข้าวมาจากไหนลองไปถามคุณชูเกียรติแล้วกัน เขาว่ามีการปลูกข้าวนาปรังแค่ 2 ครั้ง ผมก็เชื่อ เพราะว่า ข้าวนาปีที่ล่มไปเพราะน้ำ พอถึงต้นมกราคมปี 2555 เขาก็เริ่มปลูกข้าวเลย จะเกี่ยวครั้งแรกเดือนพฤษภาคม 2555

พอมาดูข้อมูล “คณะกรรมการปิดบัญชีผลิตผลทางการเกษตร” ที่มีนางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการฯ เขาประเมินมาแล้วสรุปอย่างนี้ เขาประเมินถึงเดือน 31 พฤษภาคม 2555 ต้นทุนทุกอย่าง คิดไปถึง ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2555

ต้นทุนคือ เงินที่จ่ายเข้าบัญชี บวกด้วยรายจ่ายในการแปรสภาพ หรือสีข้าวเป็นข้าวสาร บวกรายจ่ายเก็บข้าวเปลือกที่โรงสี รายจ่ายขนส่งข้าวสารไปยังโกดังกลาง บวกรายจ่ายในการเก็บข้าวสารจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 บวกดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากหนี้ที่ยังคงค้างอยู่ และบวกรายจ่ายอื่นๆ ที่หน่วยงานต่างๆ ส่งมา

นั่นคือต้นทุนและหักด้วยรายรับ ถ้ามีการขายข้าวเกิดขึ้นจริง แต่ตอนนั้นยังไม่ได้มีการขายข้าว จึงเอาราคาตามตลาด ณ วันนั้นเป็นตัวคำนวณ 6.95 ล้านตัน

ผลการประเมินออกมาแล้ว 6.59 ล้านตัน ขาดทุน 32,000 ล้านบาท นี่คือตัวเลขจริงที่คณะกรรมการฯ เขาคิด วิธีคิดแบบนี้ แต่ของพวกนี้ไม่ได้หยุดแค่นี้ เพราะในความเป็นจริงข้าวส่วนใหญ่ยังไม่ขายออก และผมมีข้อมูลในอดีตพบว่า ปีใดที่จำนำเข้ามามากเป็นจำนวนมากกว่า 5 ล้านตันขึ้นไป กว่าจะระบายขายข้าวออกไปต้องใช้เวลาถึง 3 ปี กว่าจะขายหมด

“ไม่มีเทวดาที่ไหนขายได้เร็วกว่านั้น ปีที่แล้ว 21.64 ล้านตัน”

เอาตัวเลขข้าว 6.95 ล้านตัน สมมติเฉลี่ยขายทุกเม็ดหมดใน 2 ปี ดอกเบี้ยเพิ่งคิดไปถึง 31 พฤษภาคม 2555 ประมาณ 6 เดือน ต้องดินต่ออีก 1 ปีครึ่ง เงินที่ใช้ซื้อ 6.95 ล้านตัน คิดแล้ว 106,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยอีกปีครึ่ง คิดง่ายๆ ดอกเบี้ย 3 เปอร์เซ็นต์ ก็ประมาณ 4,500 ล้านบาท

นอกจากนี้ ข้าวถ้าเก็บไว้ปีแรกก็จะมีทั้งคุณภาพเสื่อมลง น้ำหนักสูญหาย ส่วนนี้จะเสียหายประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ แต่พอปีที่ 2 คุณภาพลง บวกน้ำหนักสูญหายอีก จะทำให้เสียหายเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 7-8 เปอร์เซ็นต์ ตัวนี้กว่าจะขายเฉลี่ย 2 ปี ลดลงอีก ก็อีกประมาณ 7,000 กว่าล้านบาท ค่าเก็บข้าวเพิ่มขึ้นอีก และรายจ่ายอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีก

รวมแล้วจะขาดทุนจาก 32,000 ล้านบาท เป็นอย่างต่ำเป็นขาดทุน 45,000 ล้านบาท ข้าว 6.95 ล้านตัน ขาดทุนอย่างต่ำ 45,000 ล้านบาท แต่ถ้าเป็นข้าวที่จำนำทั้งหมด 21.65 ล้านตัน จะเป็นเท่าไร ผมคิดเทียบบัญญัติไตรยางค์แล้วออกมาอย่างน้อย 140,000 ล้านบาท

“ถ้าผมบริหารโครงการอะไรสักโครงการ บริหารให้ประเทศ แล้วผมขาดทุน 140,000 ล้านบาทในโครงการเดียว ผมคงเอาหน้ามุดดิน แต่รู้สึกเขาไม่อายเลย นี่คือประเด็นที่ต้องการชี้แจง”

ไปถามรัฐบาลเขาบอกยังไม่ขาดทุน เพราะยังไม่ขาย คิดถูกแล้วล่ะ คือเอาสีข้างเขาถู ผมว่าเอาทั้งตัวเข้าสี จุดก็คือ “ไม่อายเลย”

จำนำข้าว ดันหนี้สาธารณะพุ่ง เครดิตประเทศกระเทือน

ที่สำคัญ มีมติ ครม. ประกาศบอกว่า ปีหน้าจะทำ 33 ล้านตัน ปีนี้ 21.64 ล้านตัน ยังขนาดทุนขนาดนี้ ปีหน้า 33 ล้านตัน ผมคิดแบบบัญญัติไตรยางค์ ปีหน้าจะขาดทุนจำนำข้าว 210,000 ล้านบาท

“ผมก็ชักห่วง” ไปดูตัวเลขหนี้สาธารณะ ณ สิ้นกรกฎาคม 2555 มียอดคงค้าง 4.9 ล้านล้านบาท เท่ากับ 44.2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี แต่พอสิ้นปี 2555 ตามโครงการที่เขาออกพันธบัตรเพราะขาดดุล ต้องออกพันธบัตรใช้หนี้ รวมแล้วหนี้สาธารณะมียอดคงค้างเพิ่มเป็น 47.8 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี อันนี้ยังไม่รวมหนี้รัฐบาลค้างจ่ายกองทุน กบข. ไม่รวมหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน ธ.ก.ส. และที่ค้างจ่ายอยู่อีก 190,000 ล้านบาท และยังไม่รวมหนี้ที่รัฐบาลค้างจ่ายองค์กรอื่นๆ

ประเด็นคือ “ซ่อนหนี้ไว้ก่อน”

ในที่สุด รัฐบาลต้องใช้หนี้พวกนี้ และที่ไม่นับรวมทั้งหลาย แต่ในต่างประเทศเขานับ พอนับรวมตัวนี้กับรวมที่ต้องเพิ่มทุนให้สถาบันการเงินของรัฐที่ขาดทุนอยู่หลายแห่ง เพราะดำเนินตามนโยบายรัฐบาล เช่น เอสเอ็มอีแบงก์ รวมถึงการเพิ่มทุนให้ ธ.ก.ส. อีก 10,000 ล้าน เพราะถ้าจะปล่อยกู้เพิ่มก็ต้องเพิ่มทุนตามสัดส่วน เพราะฉะนั้น ถ้ารวมพวกนี้แล้วสิ้นปี 2555 หนี้สาธารณะจะกลายเป็น 49.9 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี

คราวนี้ผมอยากดูไปข้างหน้า เพราะผู้ใหญ่โบราณบอกว่า หนี้สาธารณะอย่าให้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ถ้าถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีจะไม่ดี ผมก็ดูว่าจะถึงเมื่อไหร่

ก็ไปนั่งดูก็พบว่า นโยบายรัฐบาลสวยหรูมากเลย บอกว่าต่อจากนี้จะไม่ขาดดุลงบประมาณ จะเท่าดุลหรือเกินดุลตลอด แต่ว่าขอนิดหนึ่ง ขอออกพันธบัตรกู้หนี้นอกงบประมาณ 3 เรื่อง เรื่องแรก เอาเงินมาทำกองทุนประกันภัย 50,000 ล้านบาท สอง วงเงินอีก 350,000 ล้านบาท ทำโครงการน้ำ เสร็จแล้วก็มีโครงการ 2,227,000 ล้านบาท แต่อยู่ในแผนงานลงทุนปกติของรัฐวิสาหกิจ 70 เปอร์เซ็นต์ ผมก็คำนวณเฉพาะแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ ที่เป็นเงินลงทุนใหม่ ต้องออกเงินงบประมาณเพิ่มอีก 680,000 ล้านบาท

“ผมก็เอา 3 ตัวนี้มารวมกับเมื่อกี้ และยอมให้จีดีพีขึ้นโตปีละ 4.5 เปอร์เซ็นต์ พอถึงปี 2562 หนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะกลายเป็น 53.7 เปอร์เซ็นต์”

คราวนี้ที่พูดมาทั้งหมดยังไม่รวมขาดทุนข้าว 140,000 ล้านบาท และยังไม่รวมขาดทุนข้าวปีหน้าอีกประมาณ 210,000 ล้านบาท และของพวกนี้พอทำแล้วหยุดไม่ได้ รัฐบาลนี้ก็คงทำต่อไป ผมคิดว่าเขาทำต่อไปอีกปีละ 210,000 ล้านบาท ถ้าทำไปเรื่อยถึงปี 2562 หนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะขึ้นไปถึง 61 เปอร์เซ็นต์

หมายความว่า ยังไม่เหมือนกับยุโรปทีเดียว แต่ใกล้เข้าไปเรื่อย แต่จุดคือ โลกเรามีความอ่อนไหวกับตัวเลขนี้ (หนี้สาธารณะ)มากเรื่อยๆ เมื่อก่อนไม่ค่อยเท่าไร ใครตัวเลขนี้ขึ้น อีกหน่อยจะเริ่มมีปัญหา

“61 เปอร์เซ็นต์ ยังตั้งข้อสมมติฐานว่างบประมาณไม่ขาดดุล ซึ่งผมไม่เชื่อ ผมไม่เชื่อว่าจะไม่ขาดดุลเลย คงจะได้ดุลสักปีหนึ่ง เดี๋ยวก็คงมีโครงการเพิ่มขึ้นมา เพราะประชานิยมต้องตั้งโครงการมา เดี๋ยวก็ขาดดุล กู้เพิ่มอีก เพราะฉะนั้น จาก 61 เปอร์เซ็นต์ ก็จะเพิ่มไปอีก นี่คือประเด็นสำคัญ”

ประเด็นคือว่า ชัดเจน ชาวนาหาประโยชน์แน่นอน ทั้งหาประโยชน์ถูกต้องจากการค้าปุ๋ย กับหาประโยชน์ไม่ถูกต้อง เช่น เอาใบประทวนไปขาย สวมสิทธิ์ มีข้าวต่างประเทศเข้ามา นอกจากเกาะพวกนี้ซึ่งไม่ดีแล้ว แต่เกาะที่หาประโยชน์กันมันกระทบเศรษฐกิจประเทศไทย

เศรษฐกิจประเทศไทยเขาถือว่าเป็น “ฐานะที่มั่นคง” เพราะหนี้สาธารณะต่อจีดีพีต่ำแค่ 42-43 เปอร์เซ็นต์ แต่ตอนนี้ 44 เปอร์เซ็นต์ แล้วจะเพิ่มเป็น 47 เปอร์เซ็นต์ แล้วหลังจากนี้ไปจะขึ้นพรวด แล้วประเทศไหนที่หนี้ต่อจีดีพีขึ้นพรวดแล้วสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะขึ้นอีก เพราะโครงการจำนำไม่ยอมเลิก ในที่สุดความเชื่อมั่นจากต่างชาติเราจะลดลง มันอาจจะกระทบถึงค่าเงินบาทด้วย มูลค่าลดลง

“โรคของเศรษฐกิจ” คือโรคที่หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นไม่หยุด คือโรคที่จะสร้างปัญหามาก และเป็นโรคที่แก้ยากที่สุด นี่คือสาเหตุที่ทำไมยุโรปจึงเป็นปัญหาอยู่

“ผมไม่ได้บอกว่าเราจะเป็นอย่างนั้น ผมคิดว่าเราคงจะมีคนดีมาแก้ปัญหาประเทศชาติ เพียงแต่ว่ายกให้เห็นชัดว่าคนที่ทำอะไรโดยไม่คิด เอาแต่ได้ข้างเดียว ไม่ได้คิดผลเสียด้านอื่น ไม่ได้มาฟังท่านประธานมูลนิธิข้าวขวัญเลย ไม่ได้คิดผลเสียเลย ประเทศชาติจะกระทบรุนแรง”

ผมกลับไปใช้ธรรมนิดหนึ่ง “คอร์รัปชัน” ไม่ดีแน่

แต่ผมว่า “อวิชชา” ร้ายกว่าคอร์รัปชัน

อวิชชาเป็นผลเสียแล้วรุ่นแรงยิ่งกว่าคอร์รัปชัน

แล้วยิ่ง “อวิชชา” บวกกับ “คอร์รัปชัน” ด้วยแล้ว มันยิ่งไปใหญ่เลย

ภาวิน : ค่อนข้างชัดเจน มันมีผลกระทบต่อประเทศชาติโดยภาพรวม สำหรับโครงการจำนำข้าว รอบถัดไปขอให้ทุกท่านเสนอประเด็นที่ยังเก็บอยู่ และอยากให้มีข้อเสนอแนะถ้าหากเห็นว่าจำนำข้าวไม่ดี มีข้อเสีย ก็อยากให้เสนอคำแนะนำด้วย

รัฐบาลเห็นประโยชน์ตนและบริษัทปุ๋ยมากกว่าชาวนา

เดชา : อย่างที่หม่อมอุ๋ยว่า ถ้าเราไม่มี “อวิชชา” ผมพูดอีกหน่อย ไม่มีกิเลส ไม่มีอคติ ไม่ได้มีอะไรที่เป็นฉ้อฉล ต้องการช่วยชาวนาจริงๆ เราช่วยไม่ยาก แต่ละท่านที่นี่มีข้อเสนอทั้งนั้น

ที่ผมทำงานมา 23 ปี ทำงานด้านเสนอทางออกทั้งนั้น เราไปเห็นปัญหาแล้วก็เอาปัญหาเป็นตัวตั้ง แล้วก็หาทางออก เมื่อ ชาวนามีหนี้ เราไปดูว่าปัญหาหนี้สินเกิดจากอะไร พบว่าเกิดจากต้นทุนสูง ผลผลิตต่ำ คุณภาพก็ไม่ดี ชาวนาไม่มีความรู้อะไรเลย เขาบอกให้ทำอะไรก็ทำ

และชาวนาก็ทำลายฐานทรัพยากรของตัวเอง เช่น ทำลายน้ำ ทำลายนา ทำลายความรู้ตัวเอง ทำลายแม้แต่ความเชื่อดีๆ ที่เคยเป็นภูมิคุ้มกัน เช่น ศาสนาพุธทบอกว่าอย่าโลภนะ ชาวนาก็โลภ บอกว่าอย่าฆ่า ชาวนาก็ฆ่า ก็ใช้ยาเคมี บอกว่าชาวนาอย่าหลงนะ คือ อวิชชา ก็หลง รัฐบาลไหนให้เยอะก็เลือกรัฐบาลนั้นแหละ เรื่องพวกนี้ไม่เข้าศาสนาพุทธเลย

พุทธ (พุด-ทะ) บอกว่า ต้องพึ่งตัวเอง “อัตตา หิ อัตตโน นาโถ” แล้วชาวนาพึ่งตัวเองอะไรบ้าง คุณมีพันธุ์ข้าวที่กรมการข้าวให้คุณก็เก็บไว้ได้นะ ไว้ปลูก แล้วมีใครเก็บใครปลูกไหม เปล่า ซื้อตลาด ข้าวปลูกเองก็ไม่ได้เก็บไว้กิน ไปซื้อข้าวถุงกิน ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ทำได้ไหม ทำได้แต่ไม่ทำ ยาฆ่าแมลงเอาสมุนไพรฉีดก็ได้ แต่ก็ไม่เอา

คือทุกอย่างเริ่มจากที่ “ไม่มีภูมิคุ้มกัน” และรัฐบาลก็มอมเมาและส่งเสริมด้วย โดยใช้ประชานิยมแบบนี้ บอกว่า “ไม่เป็นไร ขายแพงเสียอย่าง ต้นทุนเท่าไหร่ก็ทำไปเถอะ” แล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร

พุทธเราต้องแก้ที่ต้นเหตุ ต้นเหตุอยู่ที่ไหนก็ต้องแก้ที่นั่น ต้นเหตุของชาวนาอยู่ที่หนี้สิน ก็ต้องแก้ที่หนี้สินชาวนา

“มีเงินก็แก้หนี้สินซะ จะไปซื้อแพงๆ ทำไม หนี้ที่เขาลงทะเบียนก็มีอยู่แล้ว กองทุนก็ตั้งมาตั้ง 10 ปี แล้ว ถูกกฎหมายทุกอย่างแล้ว ทำไมไม่เอาเงินไปให้เขา เงินขาดทุนจำนำข้าวเป็นแสนล้านบาท ก็เอาไปให้เขาสัก 50,000 ล้านบาท อีก 50,000 ล้านถ้าไม่โกง ก็ใช้แค่ 50,000 ล้านก็พอ”

และชาวนาคนไหนยกย่องเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ และเขาได้รางวัลเป็นเข่ง ไม่ใช่มีเป็นตู้ ก็เอาเขามาดูว่าเขาทำอย่างไร เขาลดต้นทุนได้อย่างไร เขาทำอย่างไรต่อสู้เขาได้ และเขาสอนได้ไหม แล้วมีทางออกด้วย

ผมขอแค่เหมือนบุหรี่เท่านั้นแหละ ไม่ได้ขออะไรมาก ไม่ได้เอาเงินสักบาท ขอให้เลิกโฆษณาบุหรี่ ควบคุมมันซะ อย่ามอมเมา สอง เก็บภาษีปุ๋ยนำเข้าสักทีหนึ่ง ไม่เก็บมาตั้งนานแล้ว แต่ไม่เห็นปุ๋ยถูกลงเลย เอาเงินไปถลุงกันทั้งนั้นแหละ และสาม ตั้งกองทุนขึ้นมา ให้ทุนชาวนาปรับตัว ให้เขาเรียนรู้ว่าเกษตรแบบนี้ทำอย่างไร ใช้เงินไม่มาก

“แค่นี้เราก็ไม่เรียกร้องเกินกว่านั้น ทำไมให้ไม่ได้ โฆษณาทำไมให้ได้ เก็บภาษีทำไมให้ไม่ได้ กองทุนทำไมให้ไม่ได้ แล้วทำไมเอาเงินภาษีเราเป็นแสนล้านไปให้ได้ คำถามพวกนี้เป็นคำถามที่รัฐบาลน่าจะตอบว่า เพราะอะไรให้ไม่ได้”

ถ้าลองจำนำข้าวเป็นแสนล้านให้ได้ ก็ลงโฆษณาเวลาเดียวกันพร้อมๆ กัน ก็ลองดูสิ มาตรการแบบนี้ไม่เสียสักบาท แต่เสียเป็นแสนล้านบาท คนค้านกันทั้งประเทศ คุณยังไม่ฟังทำได้ แต่แบบนี้ไม่มีใครท้วง ทำไมไม่ทำ เราขอมา 3 รัฐบาลแล้ว ประชาพิจารณ์ไป 2 รัฐบาลแล้ว แต่ไม่ออกมาสักที

“เราก็รู้ว่ามันล็อบบี้กันภายใน”

ถามว่ารัฐบาลดูแลผลประโยชน์ของบริษัทกับดูแลชาวนา ดูแลอะไรมากกว่าก็บอกมาตรงๆ ถ้าดูแลบริษัทก็บอกมาตรงๆ จะได้ไม่หวัง

ถ้าดูแลชาวบ้านเอาเงินมาให้เป็นแสนล้าน ดูแลจริงหรือไหม มันไม่จริง มันมุสา

“คือถ้าพูดเป็นธรรมะ การมุสามันผิดศีล รัฐบาลมามุสา มาไวท์ไล (White lie ) ทำไมละ ไม่ใช่ภาษาไทยนะ ไวท์ไล ภาษาไทยมันดี มันโกหกสีขาว โกหกทำไม เป็นรัฐบาลโกหกไม่ได้ โกหกเรื่องใหญ่ที่หม่อมอุ๋ยบอก และโกหกเรื่องการส่งออก โกหกแบบนั้นยังโหกได้ แล้วโกหกเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทำไมจะโกหกไม่ได้”

เพราะฉะนั้น พูดความจริง และมาฟังคนอื่นพูดบ้าง และลองมาตรการที่เราเสนอบ้าง ไม่ใช่อะไรก็ดีแล้ว ก็มันไม่ใช่เงินคุณ เป็นเงินภาษีเรา และไม่ใช่ชาติคุณคนเดียว ถ้าชาติพังแล้วผมจะไปอยู่ที่ไหนล่ะ ผมไม่มีบ้านเมืองนอกอย่างพวกคุณ ผมลำบากกว่าพวกคุณเยอะ

เพราะฉะนั้นอยากจะเรียกร้องว่า ออกมาพูดได้ไหมละเรื่องที่เราถาม คุณตอบจริงๆ ได้ไหม ตอบว่า “ทำไมไม่ทำอย่างที่เราเสนอ” ลองดูก็ได้ ถ้าไม่ดีก็เลิกได้ แต่จำนำข้าวไม่ดียังไม่เลิกเลย

“ก็ขอให้มีธรรมะหน่อย อย่ามุสาและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและบริษัทมากนัก เห็นแก่ชาติแก่ชาวนาบ้าง ถ้าลองแล้วไม่ดีก็เลิก แล้วมาลองของดีบ้าง ถ้าดีก็ขยายไป ผมขอแค่นี้คงไม่มากเกินไป”

ผู้ส่งออกข้าวไทย “ดิ้นปรับตัว” รับมือจำนำข้าว

ภาวิน : คุณชูเกียรติ การจำนำข้าวทำให้โครงสร้างผู้ส่งออกเปลี่ยนไปหรือเปล่า และกังวลอะไรมากเป็นพิเศษไหม และมีข้อเสนอถึงรัฐบาลไหม

ชูเกียรติ : จริงๆ เป็นจำเลยสังคมมาตลอด เพราะว่าเวลาเราออกมาส่งเสียงเรื่องรับจำนำก็จะถูกศอกกลับว่า

“พวกพ่อค้าเห็นแก่ได้ มันอยากขายของถูก และมากดราคาเกษตรกร” เป็นเรื่องที่ได้ยินมาฟังตลอด

ต้องเรียนจริงๆ ครับว่า ถ้าคนที่อยู่ในวงการข้าว หรือพืชไร่อื่นๆ ก็ตาม การแข่งขันมีสูงมาก “มาร์จิน” ของสินเค้าเกษตรนิดเดียว แค่วัตถุดิบอย่างเดียว คือ ข้าวที่ต้องซื้อจากโรงสี ประมาณ 92 เปอร์เซ็นต์ของราคาที่เราขาย คนที่อยู่นอกวงการอาจไม่ทราบ คิดว่าพ่อค้าร่ำรวย สิ่งที่เราอยู่ได้ทุกวันนี้เพราะปริมาณข้าวส่งออก มาร์จินอาจมีน้อย แต่ปริมาณการส่งออกทำให้ภาคเกษตรอยู่ได้ อันนี้เป็นข้อเท็จจริง

ตอนนี้กลายเป็นว่า หลังจากโครงการรับจำนำเกิดขึ้น และราคาที่ตั้งขึ้นซึ่งบิดเบือนราคาตลาดมากเหลือเกิน สูงกว่าราคาตลาดปกติประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นขายไมได้เลย

ยกตัวอย่างลูกค้าของบริษัทผม (บริษัท ฮ่วยชวนค้าข้าว จำกัด) เมื่อก่อนมาเลเซียเป็นลูกค้าของเราอันดับหนึ่ง ซื้อทั้งข้าวขาวและข้าวหอม ปัจจุบันข้าวขาวไม่ซื้อประเทศไทยเลยสักเม็ดหนึ่ง หลังจากเมื่อก่อนซื้อปีหนึ่งประมาณ 2-3 แสนตัน และซื้อเวียดนามด้วย

ในปีที่ผ่านมาไม่มีเลยสักเม็ดเดียวสำหรับข้าวขาว

ข้าวหอมมีซื้ออยู่ประมาณปีหนึ่ง 5-6 หมื่นตัน ข้าวเกรดรองๆ ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิแท้ๆ ตอนนี้หันไปซื้อเวียดนามกับกัมพูชา มีซื้อกับไทยเหลือประมาณ 5-6 ล้านตัน ก็ต้องแย่งกันในบริษัทผู้ส่งออกค่อนข้างเยอะ อันนี้จะเล่าให้เห็นว่า บริษัทส่งออกในไทยอยู่ในภาวะค่อนข้างอันตราย

เพราะฉะนั้น จากการที่ธุรกิจหายไปเยอะมาก แน่นอนที่สุดผมคิดว่าหลายๆ บริษัท โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางและเล็ก เจ็บปวด และหลายบริษัทมีแนวโน้มปิดกิจการ บริษัทใหญ่ๆ ที่มีศักยภาพพอ มีแบงก์ปล่อยกู้ได้ หลายๆ บริษัทหันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่นในกัมพูชาหรือในพม่า ไปย้ายฐาน เพราะว่า มองดูในอนาคตต้นทุนของประเทศไทย ข้าวมีแต่แพงขึ้น ต่อให้ภายภาคหน้าโครงการรับจำนำไม่มี ต้นทุนก็ยังแพงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

เพราะฉะนั้น ถ้าจะมีชีวิตอยู่ในวงการ ก็ต้องไปหาแหล่งผลิตที่ต้นทุนถูกกว่า ท้ายที่สุดแล้วเหมือนกับว่าหนีไม่พ้น “เหมือนไปหาประเทศเพื่อนบ้านหากิน ส่งออกข้าวแข่งกับเราเอง”

อันนี้คือข้อเท็จจริง ในปีที่ผ่านมามีคนไปลงทุนต่างประเทศค่อนข้างมาก ก็เป็นส่วนหนึ่งที่รายใหญ่ต้องปรับตัว ส่วนหนึ่งก็รอลุ้นอยู่ว่า ในปีหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายไหม นี่คือสิ่งทีเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น อีกไม่นานผู้ส่งออกก็อ่อนแอลง ตอนนี้รัฐบาลเป็นเจ้ามือใหญ่ ณ ขณะนี้ ถ้าเป็นข้าวสารก็ไม่ต่ำกว่า 12 ล้านตัน ยังไม่รวมถึงปีการผลิตหน้า ข้าวกำลังจะออก เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะเหนื่อย

ซื้อเก่ง รัฐบาลแต่ขายไม่เป็น

สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมาทั้งหลายทั้งปวง เรื่องจีทูจี ก็คงเป็นเรื่องการประชาสัมพันธ์มากกว่า ไม่ให้มีใครว่ามาก เผอิญคิดไม่ถึงว่า สื่อบ้านเราจะเจาะไม่ถึงว่าขายใคร ก็ตอบไม่ได้ ก็เป็นประเด็นอยู่จนถึงขณะนี้

“เมื่อ 2 วันก่อนก็บอกว่าจะขายจีน 5 ล้านตัน นักข่าวถามผมว่า จีนปีหนึ่งนำเข้าแค่ประมาณ 1 ล้าน ถึง 1.5 ล้านตัน ปีนี้อาจจะเยอะหน่อย เพราะมีผลผลิตเสียหายบ้างทางภาคใต้ ก็อาจจะขายได้เพิ่มขึ้นเป็น 2.5 ล้านบาท แต่ขายให้จีนปีละ 5 ล้านตัน ผมบอกว่า คอมเมนท์ไม่ถูกว่าขายอย่างไร ลักษณะอย่างไร”

นี่ก็เล่าให้ฟังว่า ผู้ส่งออกเองก็คงต้องปรับตัวพอสมควร

รัฐบาลไม่โปร่งใส ระบายข้าวแบบ “ลับ”

สิ่งที่เลวร้ายอีกอย่างคือ “การระบาย”จริงๆ แล้ว ผมส่งเสียงมาตลอดว่า “การระบายแบบลับๆ เป็นเรื่องที่รับได้จริงๆ ” แต่จริงๆ แล้วการระบายแบบนี้มันเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายสมัยรัฐบาลที่แล้วถ้าจำความได้ สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์

“ฝ่ายค้านเลยไม่ได้ตีเท่าไหร่ เพราะเป็นคนทำขึ้นมาเองเรื่องขายข้าวลับ”

แล้วก็ถูกใช้มาจนถึงทุกวันนี้ และเป็นเอ็นจอย (enjoy) มากของฝ่ายการเมือง เพราะขายโดยไม่ต้องบอกใคร ราคาเท่าไหร่ ไม่มีใครรู้ ขายให้ใครอย่างไร

เพราะฉะนั้น จะสังเกตว่า บางบริษัทยอดขายพุ่งกระฉูดอย่างไร้เหตุผล อาจจะไปซื้อขาวได้ในราคาที่ถูกว่าราคาตลาด ทำให้ไปทำราคาตลาดได้ แต่ในขณะที่เพื่อนๆ ระเนระนาดกันหมด ก็เป็นสิ่งที่มันเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ว่าไม่อยากเห็น
นี่เป็นการ “ซ้ำเติมวงการข้าว”

เพราะกลายเป็นว่า คุณกำลังไป create unfair competition (สร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม) ให้เกิดขึ้นในระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน ก็คือ ใครที่มี connection (ความสัมพันธ์) มีอะไรต่างๆ ที่สามารถจะเข้าถึงนักการเมือง ก็สามารถซื้อข้าวในราคาที่ถูก และมันถูกจริงๆ บางทีถูกจนเราคิดไม่ออก ข้าวหอมในตลาดกิโลหนึ่งประมาณ 30 กว่าบาท ท่านซื้อได้ 8 บาท อะไรอย่างนี้ ซึ่งเป็นอะไรที่อธิบายไม่ได้

ลักษณะแบบนี้ตรวจสอบลำบาก เขาอ้างว่าเป็นข้าวเก่า การจะตรวจสอบ พ่อค้าก็ขนออกไปแล้ว ก็อาจเหลือตัวอย่างไว้หน่อย ให้ดูว่า “นี่ไง ข้าวแบบนี้เราขายไปกิโลละ 8 บาท” แต่จริงๆ ของจริงๆ ไม่ใช่ การตรวจสอบก็ทำกันลำบาก นั่นก็เป็นสิ่งที่เราไม่อยากเห็น การขายข้าวแบบลับๆ แต่คงยังเป็นไปต่อเนื่องผมคิดว่า ขอเรียนตรงๆ การเมืองคงมีประโยชน์ในส่วนนี้ด้วย

ก็เป็นอะไรที่ต้องยอมรับว่า “เหนื่อย” ที่ผู้ประกอบการข้าวเองในปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้ส่งออก ต้องเจอ โรงสีอาจไม่ค่อยเหนื่อยเท่าไหร่ เพราะได้ประโยชน์อยู่แล้ว

เซกเตอร์สุดท้ายเรื่องข้าว คือ ปลายน้ำก็มีปัญหาพอสมควร โดยเฉพาะรัฐบาล ตอนนี้ข้าวเก็บไว้มาก แล้วระบายไม่ออก ก็เป็นประเด็นที่คิดว่า “หนักหนาสาหัสทั้งประเทศชาติ” ด้วย และในตลาดโลกเองตอนนี้ก็ดูเหมือนกับว่า ปีหน้าอย่าหวังว่าราคาจะขึ้น ไม่มีทาง สิ่งที่ทำก็สวนทางกับความตั้งใจ

ความตั้งใจจริงๆ ของรัฐบาล คือ ต้องการให้ราคาโลกขึ้น แต่ว่าอย่างไรก็ตาม ท่านก็ต้องระบายข้าวออกมา ระบายออกมาก็เพิ่มปริมาณในตลาด ราคาก็ไม่ขึ้น

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร : ขออนุญาตเสริม ตอนผมเข้าไป 3-4 เดือน (เข้าไปเป็นรัฐบาลยุคสุรยุทธ์) ตอนนั้นคุณเกริกไกร (จีระแพทย์) เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เข้าไประบายข้าว เราระบายข้าวที่รับจำนำตั้งแต่ปี 47, 48, 49 ตอนนั้นรัฐบาลไทยรักไทยรับจำนำเข้ามา มีข้าวสารอยู่ 4 ล้านกว่าตัน เราก็ระบายผ่านช่องทางผู้ส่งออกปกติซึ่งทำค้าขายอยู่แล้ว ก็ไปยังรัฐบาลบ้าง ก็ทำราคาได้ดีด้วย เพราะเขาแข่งกันให้ราคา

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ทำแล้วได้ผล ได้ราคาดี ขาดทุนน้อยกว่าวิธีอื่นๆ

สิ่งที่ท่านผู้สื่อข่าวต้องหัดสังเกตความไม่ชอบมาพากล การรับจำนำข้าวเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ หรือ 103-104 เปอร์เซ็นต์ มันเกิดฤดูผลิต 47-48 และ 48-49 ก่อน โดยใครเป็นรัฐมนตรีก็ไปหาชื่อเอาก็แล้วกัน ซึ่งถ้าจะจำนำก็จำนำไป แต่หาวิธีการระบายที่ดีที่เร็ว ที่ได้ประโยชน์มากที่สุด ข้าวจะได้ไม่เสื่อม

ช่องทางที่ดีที่สุดคือ ผู้ส่งออกที่มีประสบการณ์ที่คอนโทรลตลาด ดูตลาดอยู่ ปรากฏว่าเขาไม่ใช้ แต่มีบริษัทส่งออกใหม่ 1 บริษัท เกิดมาในชีวิตนี้ยังไม่เคยขายข้าวเลย เกิดขึ้นมาตูมเลย บริษัทนั้นประมูลทีไรได้เป็นส่วนใหญ่

นี่คือความผิดปกติ

ถ้าผมเป็นผู้สื่อข่าวผมจะตั้งประเด็นนี้ว่า ถ้านโยบายจะช่วยชาวนา ในเมื่อข้าวถ่ายไปผู้ส่งออกปกติได้อยู่แล้ว ทำไมต้องมีบริษัทใหม่มา และบริษัทใหม่ก็ได้ไปเยอะ แต่ความที่อวดเก่ง ในที่สุดบริษัทนั้นก็เจ๊ง เป็นหนี้แบงก์อยู่ ชักดาบแบงก์ด้วย และในที่สุดก็ขายข้าวไม่ออกจนเราต้องมาระบายแทน มาระบายได้ดีกว่า นั่นคือยกแรก

พอกลับมารัฐบาลนี้อีก สมัยประชาธิปัตย์ก็ขายแบบเงียบๆ แต่เขาผ่านช่องทางปกติ แต่พอรัฐบาลนี้ตั้งโครงการมา เกิดบริษัทใหม่อีก เข้ามาใหม่เลย

“แต่ใหม่หน้าเก่านะครับ ชื่อใหม่ ผู้ถือหุ้นไม่เหมือนกันเลยแต่เผอิญตราบริษัทเกือบเหมือนกัน ทำอะไรก็ไม่เนียน ให้ผมจับได้”

ปรากฏว่าตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาอีกและคนเดิมก็ได้อีก แสดงว่าลึกๆ ข้างในคิดอะไรอยู่ ไม่ได้คิดแค่จะจำนำข้าวช่วยชาวนา ทำไมต้องหาช่องทางใหม่มาขายข้าว หรือหาช่องทางใหม่มา “กุมการค้าข้าว” ของประเทศให้อยู่ในมือกลุ่มเดียว อันนี้อันตรายมาก

ถ้าคุณอนุญาตให้คนกลุ่มเดียว พวกเดียวกัน กุมการค้าข้าวของประเทศไว้ อะไรเกิดขึ้นผมไม่รู้นะ ผมพูดถึงความเสียหาย มันเสียไปแล้ว และผมกลัวว่าอย่างอื่นมันจะตามมาอีก

อยากฝากผู้สื่อข่าวว่าให้ตั้งคำถามประหลาดๆ แบบนี้ พอตั้งคำถามไปเขาเริ่มที่จะสะดุดนะครับ “งง” เขาบอกขายข้าวให้จีน 5 ล้านตัน คุณก็ต้องบอกว่าเกิดมายังไม่เคยเห็นเลย อย่ามารอให้คุณชูเกียรติมาชี้แจง เพราะเวลาคุณชูเกียรติชี้แจงก็เจ็บทุกที

ทุจริตระบายข้าวซับซ้อน ตรวจสอบยาก

นิพนธ์ : เมื่อกี้ที่พูดเรื่องว่า ผมไปดูปริมาณข้าวที่อยู่ในท้องตลาด ผมคำนวณตามที่รัฐบาลบอกว่าขายข้าว 1.46 ล้านตัน ที่นายกฯ แถลงว่าคืนเงิน ธ.ก.ส. แล้ว และข้าวมีอยู่ในท้องตลาดเท่าไหร่ เวลานี้ไม่พอความต้องการอยู่ประมาณ 2 หมื่นกว่าตัน

ถ้าเป็นอย่างนั้น ราคาข้าวในท้องตลาดต้องสูงขึ้นอย่างมโหฬาร ก็แน่นอนว่าสาเหตุที่ราคาข้าวในประเทศต่ำเพราะมีการแอบขายแน่นอน

ตัวเลขมันยืนยันอย่างนี้ คือ จะมีการระบายข้าวในประเทศ วิธีการระบายข้าวในประเทศมันสลับซับซ้อนมาก เพราะฉะนั้น การตามข่าวเรื่องนี้จะต้องฉลาดพอในการตาม เดิมเขาใช้บริษัทเดียวมาประมูลข้าวลอตใหญ่ แล้วเป็นคนขาย แล้วไม่ประสบความสำเร็จ เขาก็เรียนรู้

เวลานี้ไม่ใช่บริษัทเดียวแล้ว เริ่มมีนายหน้าแล้วกินส่วนต่างแทน เป็นนายหน้าแล้วกินส่วนต่างมันสบาย ไม่ต้องเอาเงิน ไม่ต้องมีแบงก์การันตี อะไรต่างๆ เราก็ได้ยินข่าวจากโรงสีในภาคใต้ เราได้ยินจากโรงสีว่าสามารถซื้อข้าวในคลังของรัฐบาลในราคา 16 บาทเศษๆ โดยมีนายหน้ามาวิ่งเต้น เราได้ยินจากผู้ส่งออกว่าผู้ส่งออกบางราย ที่อยากจะส่งออกข้าวก็ไปเจรจากับนายหน้า ไม่ได้เจรจากับรัฐบาล ขอข้าวอันนั้น

อันนี้เสร็จแล้วก็ปรากฏว่าได้ข้าวใหม่ที่รัฐบาลรับจำนำเสร็จ ไม่เข้ายุ้งแต่โอนมาที่โกดังผู้ส่งออกโดยตรงเลย แล้วโกดังข้าวรัฐบาลก็แค่เปลี่ยนบัญชีจากข้าวเก่าเป็นข้าวใหม่ว่ามีการเอาข้าวเก่าออกไปแล้วและมีข้าวใหม่เข้ามา แต่ความจริงมีข้าวใหม่ออกไปเรียบร้อยแล้วและข้าวที่อยู่ในโกดังเป็นข้าวเก่า

แต่เวลาทำทำอย่างนี้ เขาแนบเนียน ไม่ทำตรงไปตรงมา เขาทำผ่านหลายชั้นหลายตอน เช่นบริษัท ก.ไก่ เป็นนายหน้าเขาไม่ให้บริษัท ก.ไก่เป็นคนทำโดยตรงหรอก เขาจะมีโรงสีในเครือข่ายในต่างจังหวัดไกลๆ เลยเป็นตัวแทน และสมมุติว่าโรงสีนี้ซื้อจาก อคส.(องค์การคลังสินค้า)ยังไงๆ ต้องมีสัญญาที่ซื้อจาก อคส. หรือ อตก.(องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร) เพราะว่า อคส. กับ อตก. เป็นคนรักษาข้าว

ทีนี้ ตรงนี้มันมีประเด็นอยู่ประเด็นหนึ่งซึ่งจะต้องแก้ไข เพราะในตอนที่รัฐบาลมีการพิจารณาเกี่ยวกับระเบียบพัสดุและบอกว่า จะต้องมีการกำหนดระเบียบการจัดจ้างจัดซื้อ ทาง อคส. ได้บอกว่าเฉพาะของ อคส.ไม่ต้องทำตามระเบียบจัดจ้างจัดซื้อ เพราะว่ามีการค้าขายกันตามปกติ ถ้าขืนไปทำระเบียบจัดจ้างจัดซื้อมันไม่ทันการณ์ ก็เลยอนุญาตให้ อคส. ขายข้าวโดยไม่ต้องมีการจัดจ้างจัดซื้อได้

เพราะฉะนั้น จะอาศัยการซื้อข้าวผ่านนายหน้า นายหน้าก็จะไปสั่งคนนั้นคนนี้หลายขั้นตอนกว่าข้าวจะส่งมอบถึงผู้ส่งออกหรือผู้ขายข้าวในประเทศ 3-4 ขั้นตอน การตามเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย คนที่ได้ประโยชน์ไปคือพวกนายหน้า แล้วเป็นใครก็ไม่รู้ เวลานี้ไม่ได้มีบริษัทเดียวแล้ว แต่เริ่มมีหลายๆ บริษัทเกิดขึ้นแล้ว

ชาวนา 2.78 ครัวเรือน ไม่ได้ประโยชน์โครงการจำนำข้าว

ประเด็นที่อยากจะให้ข้อมูลเพิ่มเติม ผมไปทำตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ถ้าเอาชาวนาอย่างเดียวประมาณเกือบ 4 ล้านครัวเรือน แต่ถ้าเอาชาวนาทุกประเภท รวมทั้งเกษตรกรที่ปลูกข้าว ก็จะมี 5.8 ล้านครัวเรือน

ใน 5.8 ล้านครัวเรือน เป็นชาวนาที่มีข้าวส่วนเกินขายในท้องตลาด 3.8 ล้านครัวเรือน ในส่วนนี้ขายข้าวในโครงการจำนำ 8.4 แสนราย ปลูกข้าวไม่พอกิน 2.78 ล้านครัวเรือน ขายข้าวในท้องตลาด 3 ล้านครัวเรือน กลุ่มนี้ได้ประโยชน์ แต่กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่บางส่วนขายใบประทวน

แต่ชาวนาที่ไม่ได้ประโยชน์เลย 2.78 ล้านครัวเรือน ปลูกข้าวไม่พอกินหรือพอกินพอดี

นี่คือข้อมูลที่ให้ชัดเจนเลยว่าการกระจายผลประโยชน์มันเป็นอย่างไร อันนี้เป็นตัวเลขในปี 2554

เรื่องที่สอง ก่อนที่เราจะถึงทางแก้เรื่องข้อมูลเรื่องการ “โกหก” เรื่องนี้มันก่อให้เกิดผลกระทบเกิดขึ้นต่อความเสียหายของประเทศชาติเยอะ

“ผมอยากขออนุญาตเรียนท่านข้าราชการทั้งหลายที่ดำเนินงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกท่าน ถ้าท่านดำเนินการโครงการอะไรก็แล้วแต่ กระทรวงการคลังได้ทำหนังสือแจ้ง ครม. แล้วว่า ถ้าดำเนินอะไรผิดพลาด และเป็นความผิดพลาดจากความบกพร่องของท่าน ท่านต้องรับผิดนะครับ อย่าลืมนะครับ เคยมีกรณีการฟ้องอดีตผู้ว่าการแห่งประเทศไทยมาแล้ว ท่านโกหกและตัวเลขมันออกมา ท่านโกหกมันมีหลักฐานนะครับ ท่านโดนนะครับ”

เพราะฉะนั้น ขอความกรุณา ถ้าท่านเห็นแก่อนาคตลูกหลานของตัวท่านเองนะครับ ท่านก็ระวังเอาไว้ก็แล้วกันเวลาท่านโกหก มันจับโกหกง่ายมากครับ ตัวเลขนี้ง่ายจริงๆ

“ยกเลิกจำนำข้าว” ทางออกดีที่สุด เพื่ออนาคตข้าว และชาวนาไทย

เรื่องทางออกระยะสั้น เวลานี้เรารู้แล้วว่ายังไงเราก็ขายข้าวขาดทุนแน่ๆ อย่างที่คุณเดชาพยายามนำเสนอ ผมคิดว่าเรื่องทางออกอีกทางหนึ่ง คือ การช่วยเหลือปัจจัยการผลิตของเกษตรเรื่องที่ดินเรื่องอะไรต่างๆ เป็นทางออก

แต่ว่า ทางออกที่ดีที่สุด “ต้องเลิกโครงการนี้” ถ้าไม่เลิกก็ไปไม่รอด

ทางออกอีกทางหนึ่ง เราจะไปสู่ “ข้าวคุณภาพ” ถ้าเราไม่เลิกโครงการนี้เราไม่สามารถที่จะเข็นข้าวไทยไปสู่ข้าวคุณภาพได้ อย่างไรชาวนาก็ไม่สนใจ เพราะเวลานี้ชาวนาวิ่งเต้นขอพันธุ์ข้าวอายุสั้น 75 วัน เพราะปีหนึ่งปลูกได้ 3 รอบ และทุกคนพยายามใส่ปุ๋ยใส่อะไรต่างๆ อย่างที่คุณเดชาว่า เราฆ่าตัวเราเอง

ฉะนั้น โอกาสที่เราจะไปสู่ข้าวคุณภาพไม่มีเลย ระยะยาวไปอีกระยะหนึ่ง เรามีเกษตรกรมากเกินไป ในประเทศที่เขาพัฒนาได้ จำนวนเกษตรกรจะต้องย้ายออกจากภาคเกษตรและไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ จนรายได้ต่อหัวภาคเกษตรเสมอรายได้ต่อหัวนอกภาคเกษตร อันนั้นแหละถึงแก้ปัญหาได้

เราทำเกษตรแปลงเล็กๆ อยู่แค่พอกินแต่ไม่มีทางเป็นเศรษฐี ถ้าหวังว่าจะรวย ไม่มีทาง ทีนี้สำหรับคนที่อยากจะมีฐานะดีขึ้น ถ้าทำเกษตรมันมี 2 ทาง หนึ่ง ต้องทำเกษตรแปลงใหญ่ สอง ออกจากนอกเกษตร มันมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง เท่านั้นเอง

ถ้ามีทางเลือก 2 ทาง อย่างนี้ และนโยบายของรัฐบาลที่จะให้คนส่วนใหญ่ออกจากภาคการเกษตร จะต้องสร้างงาน สร้างการพัฒนาชนบทให้ทั่วถึง มีงานอยู่ในชนบท และให้เขาทำงานในชนบท รายได้ดีอาจจะต่ำกว่า กทม. แต่อยู่ต่างจังหวัดเขาก็อยู่ได้ ปัญหาเรื่องความยากจนก็จะลดลง นั่นคือทางที่หนึ่ง และเกษตรกรที่เหลืออยู่ก็จะมีจำนวนน้อยลง ทำที่ดินแปลงใหญ่ขึ้น ต้นทุนจะถูกลง

ส่วนเกษตรอีกกลุ่มหนึ่งที่อยากอยู่แบบพอเพียง เราจะต้องมีนโยบายสำหรับเกษตรกรในส่วนนี้ เรื่องนโยบายภาษีที่ดินก็มีความสำคัญ อัตราภาษีที่ดินภาคการเกษตรเป็นอัตราเดียวกับอัตราภาษีนอกการเกษตร เพราะขณะนี้มีเศรษฐีที่มีบริษัทใหญ่ๆ ไปกว้านซื้อที่ดินแล้วบอกว่าเป็นที่ดินเกษตร เพราะอัตราภาษีมันต่ำกว่า

แต่ตรงนี้เรื่องภาษีที่ดินต้องปฏิรูป และจนป่านนี้ก็ยังไม่ทำ ยกเว้นคนที่ทำเกษตรแปลงเล็ก เช่น มีที่ดินถือครองไม่เกิน 50 ไร่ มีอัตราภาษีที่เป็นพิเศษหรือจะไม่เก็บเลยผมก็ไม่ว่า เพื่อสนับสนุนให้มีเกษตรกลุ่มนี้ซึ่งเป็น “วิถีชีวิตแบบคนไทย”

นี่คือภาพในอนาคตระยะยาวที่ต้องช่วยกันคิดอย่างนี้ แต่ถ้ายังไม่ยกเลิกโครงการนี้ ข้อเสนอเรื่องพวกนี้เป็นไปไม่ได้โดยเด็ดขาด และไม่มีวันเกิดขึ้น

สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นคือ เราจะมีชาวนาและเกษตรกรส่วนใหญ่แห่กันมาปลูกข้าว และเลิกปลูกพืชอาหารอื่นๆ ปลูกข้าวให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แล้วได้ข้าวคุณภาพต่ำๆ และเก็บเอาไว้ในโกดังให้มันเน่า สภาพมันเป็นอย่างนี้มันไปไม่รอดหรอก

คำถามก็คือว่า คุณจะ “ลงจากหลังเสือ” เมื่อไหร่เท่านั้นเอง

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร : ปีหน้าจะให้เกษตรกรเข้าโครงการทั้งหมด 3.8 ล้านราย

อ.นิพนธ์ : อันนี้มีปัญหา ตอนนี้สนุกตรงนี้ คือเมื่อจดทะเบียนเกษตรเมื่อปีที่แล้ว ตอนโครงการนาปีและนาปรัง ได้จำนวนเกษตรมาจำนวนหนึ่ง กระทรวงเกษตรเพิ่งไปจดทะเบียนรอบใหม่สำหรับนาปี ปีใหม่ปรากฏว่าจำนวนเกษตรปีนี้กระทรวงเกษตรรัดกุมขึ้นมา จดทะเบียนจริงๆ จังๆ ได้จำนวนเกษตรที่ปลูกข้าวน้อยกว่าปีที่แล้ว และพื้นที่น้อยกว่าปีที่แล้ว แล้วน่าสนใจว่าจะบังคับได้จริงหรือไม่

ภาวิน : ขอเชิญคำถามจากผู้เข้าร่วมเสวนา

รัฐบาลต้องมี “ภาวะผู้นำ”

ผู้ร่วมเสวนา : กรณีที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการจำนำข้าว นายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่าได้เคลียร์กับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเรียบร้อยแล้ว แท้จริงคืออะไร

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร : ที่บอกว่าเคลียร์แล้วนี่ “งง” ผมไม่กล้าอยู่ใกล้ท่านหรอก สำคัญคือว่า เคลียร์พี่โกร่ง (ดร.วีรพงษ์ รามางกูร) พี่โกร่งก็ไม่เห็นด้วย คุณก็ต้องลองดูว่าคุณจะเชื่อใคร

ผมให้ข้อมูลคุณด้วยเหตุด้วยผล ผมไม่ได้ออกมาวิจารณ์โครงการรับจำนำข้าวทุกเปาะเลย แต่ผมกำลังออกมา “เตือนสติ” ว่า คนที่บริหารประเทศ ทำอะไรก็ตาม ต้องดูว่ามันมีผลเสียหายต่อประเทศหรือเปล่า คราวนี้มันชัด ชัดมากขึ้น จนคณะกรรมการของรัฐบาลเองก็สรุปแล้วว่าเสียหายต่อประเทศ และสามารถคิดไปได้เลยว่าเสียหายไปเท่าไหร่ อันนี้ไม่ยาก ไม่ต้องเชื่อผม เอาแค่ 3.2 หมื่นของ 6.95 ล้านตัน แล้วเอา 21 ล้านตัน คูณเข้าไปมันก็แสนกว่าล้านแล้ว แต่ถ้าให้รอบคอบ คนที่เราบริหารประเทศและจะดูแลประเทศดีๆ คิดให้รอบคอบจะออกมาขาดทุนมากกว่านี้

ผมกำลังให้ “สติ” ว่า เวลาเราบริหารประเทศมันขาดทุนขนาดนี้มันต้องหยุดคิด และต้องคิดต่อไปว่าจะขาดทุนมากกว่านี้อีกหรือไม่ และถ้าทำดื้อ ทำไปอีกกี่ปี ในที่สุดฐานะการเงินประเทศจะเริ่มเซ ผมมาให้สติเท่านั้นเอง แต่เขาจะมีสติหรือไม่ ไม่รู้

“เพราะคนบริหารประเทศ ความรับผิดชอบกับความมั่นคงของประเทศเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวด ไม่ต้องมาเคลียร์กับผม เพียงแต่รับเอาไปคิดเท่านั้นเอง ถ้าคิดไม่ออกคงมีคนช่วยคิดออก คนในนั้นก็ดูฉลาดเยอะ ไม่ได้เคลียร์อะไรกับผมแน่ ขนาดดอกเตอร์วีรพงษ์อยู่ข้างในยังออกมาไม่เห็นด้วยเลย แล้วจะมาเคลียร์อะไรกับผม”

นิพนธ์ : ผมมีเพื่อนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่จีน นักเศรษฐศาสตร์ท่านนี้ก็เข้าไปประชุมกับรัฐบาล รัฐบาลก็มาแถลงนโยบายว่าจะทำอะไรต่างๆ เสร็จแล้วนักเศรษฐศาสตร์ท่านนี้ก็ลุกขึ้นมากลางเวทีว่า “สิ่งที่รัฐบาลพูดผิด ” ต่อหน้านายกฯ

นายกฯ โกรธมาก ฉีกหน้านายกฯ อีก 3 วันให้หลัง นายกฯ ตามนักเศรษฐศาสตร์ท่านนี้เข้าไปถามว่า ที่พูดผิดนี่พูดผิดอย่างไรมาช่วยอธิบายให้ฟังหน่อยหลังจากหายโกรธ พออธิบายให้ฟังเสร็จ นายกฯ เปลี่ยนนโยบาย

“นี่เป็นผู้นำที่แท้จริง”

ผู้ร่วมเสวนา : ที่คุณชูเกียรติบอกว่าพ่อค้ามีมาร์จินประมาณ 7-8 เปอร์เซ็นต์ โดยปกติแล้วอุตสาหกรรมข้าวจะบอกว่าชาวนาไม่ได้รับผลประโยชน์ พ่อค้าบอกว่าผลประโยชน์ก็ไม่เยอะ จริงๆ แล้วทั้งอุตสาหกรรมใครเป็นคนที่ได้ประโยชน์จริงๆ ในภาวะปกติ และการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่อาจารย์นิพนธ์บอกว่าการย้ายออกจากภาคเกษตร ซึ่งอาจารย์นิธิบอกว่าโครงการรับจำนำข้าวจะเกิดทำให้เกิดการปฏิรูปจากสังคมไปเลย และเห็นด้วยกับโครงการนี้

ผลประโยชน์เอกชนขายข้าว ผู้ส่งออกได้แค่ 1-2 เปอร์เซ็นต์

ชูเกียรติ : ที่บอกว่ามาร์จินน้อยมันน้อยจริงๆ ไม่ใช่ 8 เปอร์เซ็นต์ นะ วัตถุดิบอย่างเดียวก็ 92 เปอร์เซ็นต์ ไปแล้ว ยังไม่รวมต้นุทนอื่นๆอาทิ ค่าโกดัง เงินเดือน

เพราะฉะนั้น ในธุรกิจส่งออกข้าว กำไร1-2 เปอร์เซ็นต์ ก็สวยหรูแล้ว ปกติโควตราคากันนี่แข่งกันมาก อย่างประเทศญี่ปุ่นมีประมูลข้าวทุกเดือน เป็นข้าวที่ต้องซื้อภายใต้ WTO เป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์ เมื่อก่อนพวกเราค่อนข้างจะเอ็นจอยกัน มีกำไรเยอะ

ท่านรู้ไหมเดี๋ยวนี้ เขาโค้ดราคากันแบบว่า “ยอมแพ้เลย”

ล่าสุด ข้าว 100 เปอร์เซ็นต์ เกรดบี มีผู้ส่งออกบางรายไปโค้ดกันเหลือ 540 เหรียญ จากราคาตลาดตกประมาณ 600 เหรียญ ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าเขาเอาข้าวจากที่ไหนมา ทำไมต้นทุนถึงทำได้ ในขณะที่คนอื่นทำไม่ได้

เพราะฉะนั้น การแข่งขันค่อนข้างที่จะรุนแรง ทีนี้ถามว่าแล้วมันไปตกอยู่ที่ใคร มันก็ต้องแบ่งว่าถ้าเป็นประเทศคนซื้อ อย่างประเทศผู้นำเข้าอิสระโดยมีการค้าแบบเสรี เขาก็ไปแข่งกันต่อ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ คนที่ซื้อไปเขาก็ไปแข่งกันกับคู่แข่งเขาที่เป็นผู้นำเข้า

แต่กรณีที่เป็นผู้ซื้อรายเดียว เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย ประเทศเหล่านี้มีหน่วยงานรับซื้อรายเดียว หน่วยงานเหล่านี้จะมีกำไรเยอะเพราะเป็นผู้นำเข้าแต่เพียงผู้เดียว เพราะฉะนั้นเขาสามารถที่จะกำหนดราคาที่นำเข้าเข้ามาและขายให้ยี่ปั๊วในราคาที่ค่อนข้างที่จะสูง เพราะฉะนั้น ประชาชนบ้านเขาก็กินข้าวราคาค่อนข้างแพง แต่ว่าคนที่ได้จริงคือคนพวกนี้ พวกนำเข้า

แต่ในประเทศที่เป็นฟรีมาร์เก็ต (ตลาดเสรี) มาร์จินก็จะนิดๆ หน่อยๆ ไม่ได้มากมายอะไร ในขณะที่เราเป็นผู้ขาย แต่ว่าเราอยู่ในประเทศที่เรียกว่าเป็นฟรีเทรดหรือการค้าเสรี การแข่งขันค่อนข้างสูงมากระหว่างผู้ส่งออกด้วยกันเอง

โครงการจำนำข้าว สิ้นเปลื้องเงินโดยไม่จำเป็น

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร :คุณอยากรู้ใช่ไหมว่าที่ผมบอกว่า 6.95 ล้านตัน ขาดทุน 4.5 หมื่นล้านมันเป็นอะไรเท่าไหร่ ใครได้เท่าไหร่

ขาดทุน 4.5หมื่น แบ่งเป็นผลต่างระหว่างราคาจำนำกับราคาตลาด 2.5 หมื่น อีก 2 หมื่นคือสิ่งที่หายไปเป็นดอกเบี้ยเยอะที่สุด

ที่ต้องเสียดอกเบี้ยก็เพราะว่าเอาข้าวมาเก็บนาน ซึ่งถ้าไม่ใช้วิธีนี้ก็ไม่มีดอกเบี้ย จึงกลายเป็นภาระหนี้รัฐบาลมีดอกเบี้ยเยอะที่สุด ค่าสีข้าวที่โรงสีคิด ค่าเก็บ ค่าขนส่งจากโกดังข้าวเปลือกไปยังโกดังข้าวสาร มีค่าเก็บของโกดังข้าวสาร มีค่าอะไรจิปาถะเลย

ถามว่าสิ่งเหล่านี้ “ใครได้เข้ากระเป๋า” ไหม ของที่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น ค่าสีข้าว โรงสีก็ได้ไป แต่เขาก็มีต้นทุนในการเก็บในการสีก็ได้กำไรส่วนหนึ่ง อันนั้นเป็นสิ่งที่เป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น ตั้ง 2 หมื่นล้านจาก 4.5 หมื่นล้าน

ส่วนใน 2.5 หมื่นล้าน ใครจะได้ประโยชน์ไปบ้าง อันนี้สมมุติว่าไม่มีความผิดปกติหรือไม่มีความไม่ชอบมาพากล สมมุติว่า ถ้า 2.5 หมื่นล้านชาวนาได้หมดจริง แต่ค่าเช่านาครึ่งหนึ่ง ค่าปุ๋ยเคมีครึ่งหนึ่ง มันเข้ามารูปนี้ตลอด

“ใน 4.5 หมื่นล้าน ผลต่างระหว่างราคาข้าวกับราคาจำนำคือ 2.5 หมื่นล้าน ไอ้ที่เหลือนี่คือหายไปกับลม”

“ตลาดข้าว” เสี่ยงสูง พ่อค้าข้าวอยู่ได้ เพราะเก็งกำไรเก่ง

ดร.นิพนธ์ :ก่อนจะตอบประเด็นอาจารย์นิธิ ผมต้องเขียนตอบยาว วันนี้ขออนุญาตมาเรื่องพ่อค้าก่อน จากการศึกษาวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ พ่อค้าสินค้า (commodity) มีกำไรหรือเปล่า ในระยะยาวจะมีอัตรากำไรปกติ อย่างที่คุณชูเกียรติเล่าให้ฟัง แต่พ่อค้าที่อยู่ได้ กำไรส่วนใหญ่จะมาจากการ “เก็งกำไร”

กำไรจากการค้าขาย สีข้าว มันไม่เยอะ จะนิดหน่อย แต่กำไรหลักจะมาจากการ “เก็งกำไรราคา” ใครมีความสามารถในการเก็งกำไรจะได้กำไร แต่ถ้าเมื่อใดก็ตาม ถ้าตลาดข้าวมีข้าวเยอะ คนขายเสียเปรียบ คนซื้อจะได้เปรียบ ราคาถูก แต่เมื่อใดที่ตลาดข้าวตึง ผลผลิตน้อย คนขายเลิกได้เปรียบ มันมีได้มีเสีย แต่คนที่ได้เป็นประจำคือคนที่เก่งมาก

แล้วตลาดข้าวเป็นตลาดที่มีความเสี่ยง “ มากกว่า” ตลาดสินค้าอื่นๆ เหตุที่มีความเสี่ยงมากกว่าเพราะข้าวเรามีลักษณะพิเศษ เพราะเราบริโภคในเอเชีย และรัฐบาลในเอเชียทุกรัฐบาลแทรกแซงตลาดข้าวหมด แล้วในการแทรกแซงตลาดข้าว ข้อมูลไม่โปร่งใสเลย

เพราะฉะนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา พยายามจะตั้งตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าสำหรับข้าว แล้วให้คนเป็นผู้เชี่ยวชาญมาคิดเรื่องนี้ประมาณ 2 ปี ข้อสรุปคือ ไม่สามารถตั้งได้ เพราะปกติตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าเขาค้าขายความเสี่ยง และความเสี่ยงที่เขาค้าขายกันเขาเรียกว่า basic risk เพราะฉะนั้น เขาจะได้กำไรขาดทุนจาก basic riskนี้

แต่ว่าความเสี่ยงอื่นที่มาจากตลาดข้าว เช่น ความเสี่ยงของรัฐบาล ความเสี่ยงของข้อมูล มันมากจนไม่คุ้มที่จะมีตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า และที่มันเกิดยาก เพราะว่าพ่อค้าที่มีความชำนาญ มีข้อมูล ไม่อยากให้เกิดตลาดนี้ อาชีพเขาเลิกหมด เรื่องนี้มันมีอะไรลึกซึ้งค่อนข้างเยอะ

แต่ว่าพ่อค้าที่เหลืออยู่รายใหญ่ๆ ได้กำไรจริงไหม “จริง” จากฝีมือการเก็งกำไร

แล้วถามว่าให้ “รัฐบาล” เก็งกำไรได้ไหม ควรไหม เราเอาตัวเลขสถิติที่ผ่านมาว่าเคยมีสหกรณ์ที่จัดตั้งโดยภาษีของประชาชนไปทำเก็งกำไร ไปดูเลยว่าใครอยู่ได้ “เจ๊ง” ทั้งนั้น

การเก็งกำไร ถ้าคุณใช้เงินคนอื่นเก็งกำไรกับใช้เงินตัวเองเก็งกำไรมันไม่เหมือนกันเลย ใช้เงินคนอื่นเก็งกำไรคุณไม่ต้องระวัง พ่อค้าพวกนี้เวลาตื่นขึ้นมาเขายกหูโทรศัพท์ ตามข้อมูลทุกอย่างโดยละเอียด เช็คข้อมูลกันทุกๆ 5 นาที กับต่างประเทศ แล้วข้าราชการตื่นขึ้นมาทำอะไร รัฐมนตรีตื่นขึ้นมาทำอะไร มีเวลาตามข้อมูลอย่างละเอียดไหม ปัญหาทำในเรื่องเก็งกำไร ค้าขายผิดนิดเดียว คนซื้อโกงไปทีเดียว คุณเจ๊งได้ ธุรกิจคุณไม่เหลือแล้ว

นี่คือความเสี่ยงทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้นผมถึงบอกว่า รัฐบาลต้องไม่เอาเงินภาษีของประชาชนไปเก็งกำไร ใครก็ตามสนับสนุนให้รัฐบาลเก็งกำไรสินค้าเกษตร คนนั้น “บาป”

“ดร.นิพนธ์” ตอบกลับ “อาจารย์นิธิ”

ทีนี้กลับมาที่ประเด็นอาจารย์นิธิ (นิธิ เอียวศรีวงศ์: เปลี่ยนประเทศไทย ด้วยการรับจำนำข้าว) ประการที่หนึ่ง ท่านบอกว่าเราใช้ข้อมูลประมาณการ แต่ที่ผมพูดมาเมื่อตอนต้นผมบอกว่าเป็นข้อมูลตัวเลขจริง แล้วจริงๆ งานวิจัยทั้งหลายต้องประมาณการทั้งสิ้น แต่ประมาณการบนพื้นฐานข้อมูลหรือเปล่า

ผมว่าอาจารย์นิธิ “ไม่เข้าใจ” ข้อมูลหลายอย่าง นั่นประการที่หนึ่ง

ประการที่สอง เรื่องโรงสีท่านบอกว่า ห้าร้อยบาท ธรรมดา ท่านก็ “ไม่รู้ข้อเท็จจริง” ท่านต้องไปดูข้อเท็จจริงเรื่องเหล่านี้ก่อนว่าอัตราการสีมันเป็นอย่างไร นี่คือเรื่องตัวเลข

เรื่องประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ ญี่ปุ่น มีเกษตรกรน้อย รัฐบาลช่วยเหลือจริง ประเทศพวกนี้มีข้อเท็จจริง 2 เรื่อง ที่ต้องทำความเข้าใจ

1. ในประเทศพวกนี้ เวลารัฐบาลช่วยเหลือแล้วเขาจำกัดการช่วยเหลือตลอดเวลา เช่น เขาสนับสนุนให้เงินอุดหนุน เขาจะบอกว่าคุณต้องลดการเพาะปลูก ประเทศไทย โอ้… (หัวเราะ) ให้จำนำเสร็จ คุณปลูกเท่าไหร่ คุณเร่เข้ามา ขยายเวลาอยู่เรื่อยๆ ขยายปริมาณอยู่เรื่อยๆ ก็มีแต่ “เจ๊งกับเจ๊ง”

ต่างประเทศเขาเคยทำอย่างนี้มาแล้ว เขาเจ๊งมาแล้ว เขาเลิกไปแล้ว

2. เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น วิธีการช่วยให้เกษตรกรร่ำรวยง่ายจริงๆ ประเทศพวกนี้เป็นประเทศผู้นำเข้า ไม่ใช่เป็นประเทศผู้ส่งออก ซึ่งประเทศผู้นำเข้าพวกนี้ วิธีการทำให้เกษตรกรรวยเขาไม่ต้องใช้เงินสักบาทเดียว แถมรัฐบาลได้เงิน เพราะ ประการที่หนึ่ง รัฐบาลใช้วิธีจำกัดการนำเข้า ประการที่สอง เก็บภาษี ราคาในประเทศสูงขึ้น เพราะฉะนั้นการช่วยเหลือเกษตรกรหวานหมูมาก

แต่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออก ราคาที่เราส่งออกได้ โดยที่ราคาในประเทศต่ำกว่าราคาในตลาดโลก ดังนั้น การยกระดับราคาในประเทศให้สูงขึ้นกว่าราคาตลาดโลก เรามีวิธีเดียวคือ “ต้องใช้เงิน” แล้วเราดันไม่จำกัดปริมาณการช่วยเหลือ ต่างจากที่อื่นที่เขาจำกัดปริมาณการช่วยเหลือ

ถัดมา การช่วยเหลือ สนับสนุนกลุ่มเกษตรกรหรือไม่ ทำลายกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกข้าวอินทรีย์ โรงสีชุมชนที่เขารวมตัวกัน เวลานี้โรงสีในประเทศไทยไม่ได้มีแค่พันกว่าโรง โรงสีในประเทศไทยรวมกันมีกว่า 5 หมื่นกว่าโรง โรงสีอาชีพมี 2,000 กว่าโรง โรงสีที่ไม่เข้าโครงการ เจ๊งครับ

นี่คือ “ทำลาย” พวกนี้

แต่ส่งเสริมสมาคมโรงสีให้กลายเป็นฐานการเมือง เดิมก็เป็นฐานการเมืองอยู่แล้ว เป็นหัวคะแนนอยู่แล้ว มันกลับไปสนับสนุนกลุ่มพวกนี้ให้เข้มแข็งขึ้น

เพราะฉะนั้นมันกลับกลายเป็นการสนับสนุนกลุ่มโรงสี แล้วทำลายกลุ่มเกษตรกรต่างๆ ที่เขาตั้งใจทำข้าวคุณภาพ และวันนี้โรงสีชุมชนหมดไปแล้ว

ผมคิดว่าเราต้องถกเถียงกันด้วยข้อมูล ด้วยข้อเท็จจริง ด้วยข้อเท็จจริงเหล่านี้ เราจะเห็น

ในการสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรเข้มแข็ง เราก็อยากเห็นเกษตรกรเข้มแข็ง ถามคำเดียวว่าการให้เงินแบบนี้ (โครงการรับจำนำข้าว) ได้ไหม กองทุนหมู่บ้านเข้มแข็งเพราะรัฐบาลไม่ได้ให้เงินอย่างเดียว รัฐบาลสร้างองค์กร เป็นองค์กรของชาวบ้านที่มีกรรมการกองทุน แต่โครงการนี้เป็นการหยิบเม็ดเงินจ่ายลงไปเฉยๆ แล้วไม่ทำอย่างอื่นเลย

ธ.ก.ส. เสี่ยงแบกรับภาระจำนำข้าว

ภาวิน : บัญชีจำนำข้าว จะถูกรวมในบัญชีหนี้สาธารณะรัฐบาลหรือไม่

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร : บัญชีจำนำที่ครบกำหนดชำระแล้ว ตามหลักต้องรวม แต่ของเราไม่รวมเอาดื้อๆ ส่วนไหนที่ขาดทุนแล้วมันต้องรวม แต่ขณะนี้เขายังไม่รวม แต่มันซ่อนได้ไม่นาน ตอนนี้ก็ซ่อนอยู่ 190,000 ล้านบาท ในที่สุดก็จะระเบิด แต่จะไม่กระทบฐานะ ธ.ก.ส. เพราะใช้หลักการแยกส่วนบัญชีที่ทำให้รัฐบาลออกไปต่างหาก อ่านงบ ธ.ก.ส.จะเข้าใจ

นิพนธ์ : แต่จะมีผลในระยะยาว กระทบต่อความเชื่อมั่นของลูกค้า ธ.ก.ส.

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร : หากเอาตัวนี้มานับ ฐานะ ธ.ก.ส. ก็ขาดทุนไปแล้ว แต่เขาแยกบัญชีนี้ออกมาต่างหาก ตัวขาดทุนนี้เป็นภาระของรัฐบาล ส่วนออกพันธบัตรมาใช้ในโครงการรับจำนำ หากกู้เงินโดยรัฐบาลไม่ค้ำประกัน ไม่มีใครซื้อพันธบัตร

รัฐบาลต้องดูแลชาวในฐานะ “ข้าวเป็นวัฒนธรรม- ศักดิ์ศรี” ของประเทศ

ภาวิน : คำถามที่ว่า รัฐบาลจำเป็นต้องอุดหนุนเกษตรกรหรือไม่ คุณเดชามองอย่างไร

เดชา : ต้องย้อนไปว่า เกษตรกรไทยมีบทบาทอะไรบ้างในสังคมไทย ต้องถามเกษตรมีบทบาทอะไรและเราต้องการเกษตรกรไว้ไหม

เริ่มแรกเกษตรเป็นผู้ผลิตอาหาร แต่อาหารในบทบาทของไทยนอกจากส่งออกมีบทบาทอื่นไหม บทบาทอาหารมีความสำคัญของมนุษย์ เพราะฉะนั้นความมั่นคงทางอาหาร เป็นความสำคัญสูงสุดของเกษตรกร ไม่ใช่ว่าตัวเงิน

ความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องที่ทุกคนห่วงเพราะโลกร้อนและเศรษฐกิจแบบนี้ เราต้องมั่นคงในตัวเอง อย่างไต้หวันเขาถือว่าภาคเกษตรเป็นความมั่นคงของชาติ

ทำไมไทยเรียกชาวนาว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ทำไม ..ข้าว ไม่ใช่อาหารธรรมดา ไม่ใช่สินค้าธรรมดา มันเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย ไม่มีข้าวไม่ได้ คนไทยทุกคนมีขวัญ ทำไมคนไทยถือหัว เพราะเรามีขวัญอยู่บนหัว ฝรั่งตีหัวเราโกรธ ใครตีหัวไม่ได้ เพราะเราเชื่อว่าเรามีขวัญ

ถามว่าขวัญหายต้องทำอย่างไร ต้องสู่ขวัญ ต้องมีอะไร ต้องมี”บายศรี” คือ”ข้าว” ไม่ใช่ใบตอง

คำว่า”บายศรี” มันคือ”ข้าว” คำว่า”บาย” ภาษาเขมรหมายถึง”ข้าวสุก” คำว่า”ศรี” ภาษาสันสกฤตแปลว่า”มงคล”

ดังนั้น”บายศรี”เป็นราชาศัพท์ของคำว่า”ข้าวขวัญ” ชื่อมูลนิธิผม เป็นคำโบราณ ไทยดำที่เวียดนามยังใช้อยู่ แต่คนไทยเรียก”บายศรี”

เขาบอกว่าขวัญมันศักดิ์สิทธิ์ คนเรียก”ขวัญ”ไม่ได้ มีพญาแถนเท่านั้นที่เรียกได้ ท่านเป็นเทวดา เราก็ต้องติดสินบนท่าน คือเอาข้าวไปถวายท่าน อย่างอื่นท่านไม่เอา ดังนั้นต้องมีข้าวศักดิ์สิทธิ์ คือข้าวขวัญหรือบายศรี ต้องมี ไม่งั้นสู่ขวัญไม่ได้

คนไทยถ้าขาดข้าว ไม่ใช่คนไทยแล้ว คำว่าชาติ มันอยู่ที่วัฒนธรรม ไม่ได้อยู่ที่แผ่นดินหรือที่ไหน วัฒนธรรมเราลึกที่สุดคือขวัญ มันต้องมีข้าว ถามว่าทำไมต้องเอาไปปลูกที่สวนจิตร ทำไมสมเด็พระเทพฯไปปลูกข้าวที่เขาชะโงก ทำไมต้องเอาข้าวในวังมาหว่านให้คนไปบูชา ทำไมสมเด็จพระเทพฯไม่ไปกรีดยาง ปลูกมันละครับ นี่คือคำถามว่าทำไมข้าวมันถึงสำคัญนักหนา

คำถามลึกๆคือคนต้องมีวัฒนธรรม และวัฒนธรรมคือชาติ คุณต้องมีอัตลักษณ์ หากคนไทยไม่มีข้าว คนไทยจะเป็นคนไทยไหม เพราะข้าวมันเป็นยิ่งกว่าอาหาร มันเป็นศักดิ์ศรีของคน

ถ้าถามว่าเกษตรกรจะคงอยู่ไหม รัฐบาลต้องเห็นเกษตรในฐานะอะไรเสียก่อน ถ้าเป็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ต้องรักษาไว้ขนาดไหน เรื่องวัฒนธรรมจะต้องรักษาไว้ขนาดไหน เกษตรกรที่จะล้มละลายคุณต้องช่วยก่อน ทำไมไปช่วยเกษตรกรรวยๆ ช่วยทำไม

ดังนั้นต้องแยกแยะความหมายของคำว่าเกษตรกรให้ชัดเจน เราไม่เหมือนเกษตรกรญี่ปุ่น ไม่ใช่อเมริกา มันไม่ใช่แค่เงิน แค่สินค้า แค่อาหาร มันเป็นวัฒนธรรม ศักดิ์ศรี มันเป็นอัตลักษณ์ของชาติ


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ไทยพับลิก้า วันที่ 13 พฤศจิกายน 2012 ในชื่อ ThaiPublica Forum แจกแจงโครงการรับจำนำข้าวข้อมูลที่คนไทยต้องรู้ : ข้าว ชาวนา นักการเมือง และประเทศชาติ ใครได้ใครเสีย?

นักวิจัย

ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร
นักวิชาการเกียรติคุณ

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ