เดือนเด่น นิคมบริรักษ์: เสือกระดาษกับการผูกขาดของยักษ์ใหญ่

ปี2012-11-06

17 กรกฎาคม 2555 – ผู้ประกอบการร้านขายหนังสือในเครือบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้แก่ร้านซีเอ็ด และบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ได้แก่ร้านนายอินทร์ เรียกเก็บค่ากระจายสินค้า 1 เปอร์เซ็นต์ จากราคาหนังสือ

มีการแฟกซ์จดหมายจากบริษัทซีเอ็ดฯและบริษัทอมรินทร์ฯ ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 สาระสำคัญคือ

ด้วยเหตุที่รัฐบาลปรับค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้การกระจายสินค้ามีต้นทุนสูงขึ้น จึงขอเรียกเก็บค่าธรรมเนียมศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) หรือค่า DC 1 เปอร์เซ็นต์ จากราคาหน้าปก เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2555

นั่นหมายความว่า เมื่อมีคนขอเก็บเงินเพิ่ม นอกเหนือจากที่ต้องเสียให้ผู้กระจายสินค้า หรือสายส่ง 40 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องมีคนจ่ายเพิ่ม – กับกรณีนี้คือสำนักพิมพ์ ที่ต้องเสียเงินโดยไม่ต้องนับยอดขาย เพราะแค่วางหนังสือขาย นั่นเท่ากับต้องจ่ายเงินกินเปล่าก้อนนี้แล้ว…เรื่องนี้เป็นไปได้ถึงขั้นว่า หากผู้ผลิตหรือสำนักพิมพ์เกิดไม่อยากแบกรับภาระรายจ่ายนี้โดยอ้างต้นทุนสูงเหมือนกัน ผู้รับภาระปลายทางคงไม่พ้นคนอ่าน

นี่ยังไม่นับความกังวลเรื่องที่ทางของสำนักพิมพ์ขนาดกลางและเล็ก ซึ่งอาจกำลังถูกบีบให้หดแคบลง

31 กรกฎาคม 2555 – ผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งสองยินยอมชะลอการเก็บค่าธรรมเนียมออกไปก่อน และร่วมเป็นคณะอนุกรรมการกลั่นกรองหาข้อสรุปถึงทางออกสำหรับทุกฝ่ายที่จะลงตัวที่สุดภายใน 1 เดือน

เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ฝ่ายการวิจัยแผนงานเศรษฐกิจรายสาขา มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute: TDRI) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญและศึกษาเรื่องกฎหมายการแข่งขันทางการค้าคนเดียวของประเทศไทย บอกว่า หากไม่อยากให้เกิดกรณี ‘ผูกขาด’ ในวงการหนังสือ ‘กฎหมายแข่งขันทางการค้า’ ซึ่งมีขึ้นเพื่อป้องกันพฤติกรรมผูกขาดที่ดำเนินการโดยภาคธุรกิจที่ประกอบการในเชิงพาณิชย์ จะเป็นเครื่องมือสำคัญ

เพราะในเบื้องต้น ตาม พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ในมาตรา 27 ผู้ประกอบการ 2 ราย
ขึ้นไปทําการตกลงร่วมกันเพื่อที่จะจํากัดหรือกีดกันการแข่งขันในตลาด (Collusive Practice) หรือ ‘ฮั้ว’ กัน โดยอาศัยหลักฐานชัดเจนคือ จดหมายขอเรียกเก็บค่า DC – ถือเป็นความผิด

กรณีหนังสือเป็นเพียงตัวอย่างล่าสุดของการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งนอกจากเรื่องนี้ยังมีอีกหลายกรณีที่จะนำไปสู่การผูกขาดทางการค้าในที่สุด

ไม่ว่าเรื่องบนปลายยอดภูเขาน้ำแข็งจะลงท้ายแบบใด นี่อาจเป็นกรณีศึกษาสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาระดับราก ทั้งความไม่เข้าใจของผู้บริโภค หรือจะเป็นการผูกขาดที่ผูกกันเนียนจนเราไม่รู้ตัว และที่สำคัญ คือบทบาทของ ‘สำนักงานกรรมการการแข่งขันทางการค้า’ ที่อยู่ใต้หลังคากระทรวงพาณิชย์ มานานถึง 13 ปี ดูเหมือนหน่วยงานสำนักนี้จะทำให้การแข่งขันทางการค้าเจอ ‘ทางตัน’ มากกว่า ‘ทางออก’

+ วัตถุประสงค์หรือที่มาของ พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 คืออะไร

พ.ร.บ. ฉบับนี้ออกมาหลังวิกฤติเศรษฐกิจ แต่มันไม่เกี่ยวกับธนาคารโลก ไม่เกี่ยวกับเงื่อนไข IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ซึ่งต่างจากบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ที่ออกมาพร้อมกับเราแต่เขาออกมาตามเงื่อนไขการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ผิดกับเรา ตอนนั้นคิดว่าอยู่ในกระแสการปฏิรูป ที่เรามีชุดกฎหมาย 11 ฉบับ กฎหมายตัวนี้ก็ออกมาด้วย ปีนั้นออกกันมาหลายฉบับ

ดิฉันคิดว่า พ.ร.บ. นี้มาจากเจตนารมณ์ที่ดี ไอเดียดี แต่ไม่แน่ใจว่าไปร่างกันออกมายังไงให้มีหน้าตาแบบนี้ หากมองตัวสาระของพฤติกรรมที่ผูกขาดคิดว่าใช้ได้แล้ว สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ตามมาตรฐานสากล แต่ตัวคณะกรรมการต่างหากไม่เป็นมาตรฐานสากล

+ หมายความว่าปัญหาอยู่ที่ผู้ใช้กลไก ไม่ใช่ตัวเนื้อหา?

เนื้อหามีพร้อม พูดง่ายๆ เรามีเครื่องมือตีหัวพร้อม แต่คนที่จะตีไม่ทำหน้าที่ ไม่ตีเพราะโครงสร้างผิด

ของประเทศอื่น จะเป็นหน่วยงานอิสระเหมือนกับ สกทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ก็ไม่ใช่ เพราะหน่วยงานเหล่านี้มีหน้าที่กำกับธุรกิจและรู้ว่าองค์กรที่กำกับธุรกิจขนาดใหญ่ ต้องปลอดจากการเมือง แต่ของเราไม่

ดิฉันเคยทำเรื่องนี้ก่อนออกกฎหมายฉบับนี้ ทำแผนแม่บทให้กระทรวงพาณิชย์ และพูดตั้งแต่แรก
แล้วว่าให้ออกมาเป็นองค์กรอิสระ แต่เขาไม่เอา

ประเทศไทยมันตลกอย่างนี้ คือถ้าไม่ใช่หน่วยงาน
ของกระทรวง จะไม่มีใครเสนอกฎหมาย ประมาณ ไม่ใช่ลูกฉัน ฉันก็ไม่เสนอ หน่วยงานเหล่านี้เลยต้องออกมาเป็นลูกของใคร (เจ้ากระทรวง) สักคน ข้าราชการก็บอกว่า ให้ออกโดยอยู่ใต้กระทรวงพาณิชย์ไปก่อน ให้เป็นกฎหมาย แล้วเดี๋ยวค่อยไปดูเรื่องอิสระกันทีหลัง จนป่านนี้ 13 ปีผ่านไป สำนักฯแข่งขันทางการค้าก็ยังเป็นลูกที่ไม่โต แล้วก็ยังไม่หลุดออกไปจากกระทรวงพาณิชย์ด้วย นี่เป็นที่มาที่ไปของปัญหา

+ กรณีผู้ประกอบการร้านหนังสือทั้งสองเจ้า เรียกเก็บเงิน1 เปอร์เซ็นต์ โดยทางทฤษฎี ถือว่าผิดจริงหรือเปล่า

ไม่ต้องคิดเลย ผิด 100 เปอร์เซ็นต์ ตามมาตรา 27
มีหลักฐานด้วย คือจดหมายในการกำหนดราคาสินค้าร่วมกัน อันนี้ผิดแบบไม่ต้องพิสูจน์ความเสียหาย แค่นี้ก็จบแล้ว

+ ถ้าหากมีการยกเลิกจดหมายฉบับนั้น?

ไม่ได้…เพราะถือว่าความผิดได้เกิดขึ้นแล้ว และที่ผิดชัดเจนคือ เสนอราคาร่วมกัน เขาไม่ควรออกมาพูด ถ้าฉลาดกว่านี้นะ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งควรพูดก่อน แล้วอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ร่วมทันที ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ เพื่อที่ผู้เสียหายบางส่วนอาจเทมาทางเขา แล้วสักพักค่อยอ้างเหมือนกันว่าต้นทุนแพงขึ้นเหมือนกัน เลยขอขึ้นตาม อย่างนี้จะไม่โดน เพราะไม่มีหลักฐานว่ากำหนดราคาร่วมกัน

เหมือนธนาคาร เวลาขึ้นดอกเบี้ยเขาไม่ขึ้นพร้อมกัน แต่จะทยอยขึ้นตามกันมาติดๆ อย่างนี้ก็ทำอะไรเขาไม่ได้

เอ…หรือเขา(ผู้ประกอบการร้านหนังสือ) อาจจะฉลาดก็ได้ คือรู้ว่ากฎหมายแข่งขันทางการค้าไม่มีความหมาย (หัวเราะ)

+ แสดงว่าหากใช้กระบวนการทางกฎหมาย โดยฟ้องผ่านคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า คงเป็นวิธีการทีไม่ได้ผล เพราะทำอะไรเขาไม่ได้

ฟ้องได้ แต่เขาจะทำได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ สำนักฯแข่งขันทางการค้ามีเรื่องการเมืองเยอะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานกรรมการ ประชุมบ้างไม่ประชุมบ้าง ที่ผ่านมาประชุมน้อยมาก ปีที่ผ่านมาประชุมกันหนเดียว ดองเรื่องร้องเรียน ทำงานมา 13 ปี ทำไปอยู่เรื่องเดียว กรณีจักรยานยนต์ นอกนั้นไม่เห็นมีการดำเนินการใดๆ

อย่างไรก็ตาม ดิฉันคิดว่าควรจะฟ้อง เพราะเป็นหลักการ แต่อาจมีปัญหา คือ ศาลไม่มีความรู้ ซึ่งสุดท้ายแล้ว ศาลก็อาจจะต้องกลับไปหาสำนักฯแข่งขันทางการค้า

ขณะเดียวกันก็สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้ โดยไม่ต้องไปผ่านสำนักฯแข่งขันทางการค้า นิติบุคคลฟ้องเรียกค่าเสียหายกันเองได้ โดยใช้กฎหมายนี้ ศาลก็ต้องไปดูเองว่าผิดหรือเปล่า ถ้าเป็นนิติบุคคลเรียกค่าเสียหายกันเอง ไม่ต้องผ่านคณะกรรมการฯ ถ้าเป็นผู้เสียหายโดยตรงก็ทำได้ แต่จะให้ดีควรปรึกษานักกฎหมาย เนื่องจากความเสียหายยังไม่เกิดขึ้น อาจจะยังเรียกความเสียหายทางแพ่งไม่ได้

+ ถ้าร้องเรียนไป ก็ยังไม่แน่ใจว่าปลายทางจะเป็นอย่างไร?

แต่ดิฉันคิดว่า อย่างน้อยก็ให้สื่อรับรู้เรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องซีเรียสและเป็นเรื่องที่ผิดจริง และอย่างน้อยช่วยกดดันให้สำนักฯแข่งขันทางการค้าต้องทำอะไรบ้าง ไม่ใช่ให้ผู้ประกอบการทั้งสองรายคิดว่าสบาย ถอยไปเดือนหนึ่งเพื่อออกมาใหม่เหมือนเดิม

ถ้าไม่ทำ ก็เท่ากับว่าบ้านเมืองนี้ไม่มีกฎหมายกำกับ ซึ่งพฤติกรรมอย่างนี้ทำไม่ได้ คุณมาเขียนจดหมายนี้ไม่ได้ เป็นเมืองนอกคุณติดคุกไปแล้ว ถือเป็นความผิดทางอาญา ร้ายแรงพอ โดยไม่ต้องมาบอกว่าคุณทำให้เสียหายหรือเปล่า กรณีฮั้วราคา ถือว่าแรงมาก กล้ามาก เย้ยสำนักฯแข่งขันทางการค้าว่าคุณเป็นเสือกระดาษ กฎหมายของคุณไม่มีความหมาย

+ เหตุผลเรื่องเรียกเก็บเพิ่มเพราะต้นทุนเพิ่มถือว่าฟังขึ้นไหม

เรื่องต้นทุนพูดยากว่าต้นทุนใครเท่าไหร่ เขาบอกว่าแพงขึ้น ถ้าเราไปเถียงว่ามันไม่แพง เราเถียงไม่ขึ้น เพราะเราไม่รู้ มันจะแพงขึ้นจริงหรือไม่จริง ตั้งแต่ทำเรื่องการแข่งขันทางการค้ามา จะไม่มีการชนะเรื่องต้นทุน เพราะเราไม่มีข้อมูล ประเทศอื่นก็ทำกันไม่ได้

มองที่ปลายทาง ผู้บริโภคเองก็ไม่ได้รับรู้หรือตระหนักถึงความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ด้วย

ผู้บริโภคตระหนักในระดับหนึ่ง สามารถฟ้องผ่านองค์กรผู้บริโภคที่ขึ้นทะเบียน ตอนนี้มีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คือ สามารถเป็นผู้ร้องเรียนและดำเนินการแทนได้ แต่ปัญหาคือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พยายามจะใช้กฎหมายนี้หลายครั้งในหลายเรื่อง แต่ไม่เคยสำเร็จ เขาก็รู้สึกเซ็งมาก คนจะฟ้องก็ไม่อยากฟ้องแล้ว

จริงๆ สำนักฯแข่งขันทางการค้ามีอำนาจเยอะนะ อำนาจเยอะกว่า กลต.(สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) เสียอีก กรณี กลต. ถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้อง กลต. ทำอะไรไม่ได้นะ กรณีทุจริตตลาดหลักทรัพย์หลายอันถึงได้ร่วง แต่สำนักฯแข่งขันทางการค้า สามารถสั่งฟ้องได้เอง มีอำนาจเหมือน ป.ป.ช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) แต่กลับไม่ทำ

+ การเมืองเป็นตัวสำคัญทำให้การทำงานของสำนักฯแข่งขันทางการค้าไม่มีประสิทธิภาพหรือเปล่า

ดิฉันคิดว่าใช่ เพราะที่ผ่านมา กรณีผูกขาดมักจะเกี่ยวกับธุรกิจขนาดใหญ่ และตัวแทนจากคณะกรรมการก็มีผู้แทนจากสภาหอการค้า 3 คน สภาอุตสาหกรรม 3 คน โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรมมักเป็นตัวแทนธุรกิจขนาดใหญ่ หรือถึงแม้จะเป็นธุรกิจขนาดกลางก็ตาม ในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า คุณจะไปเอาเรื่องเพื่อนสมาชิกของคุณเหรอ ดังนั้นโครงสร้างมันจึงผิดตั้งแต่ร่างออกมาแล้ว ด้วยโครงสร้างของคณะกรรมการแบบนี้ จะให้กลุ่มธุรกิจเล่นงานกันเอง มันยากมาก

ที่มาภาพ: รายการสยามวาระ ตอน "1% + 99% ประเด็นหนังสือ"
ที่มาภาพ: รายการสยามวาระ ตอน “1% + 99% ประเด็นหนังสือ”

+ ที่ถูกแล้วโครงสร้างควรจะเป็นอย่างไร

ในต่างประเทศ จะไม่เอากลุ่มธุรกิจเข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการ มีคนอยู่ 2 วิชาชีพเท่านั้นที่เข้าไปนั่งได้คือ นักกฎหมาย กับ นักเศรษฐศาสตร์ และต้องเป็นคนที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจ ส่วนมากเป็นนักกฎหมายจากสำนักกฎหมายที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจ ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ก็มาจากมหาวิทยาลัยที่ศึกษาเรื่องการผูกขาดทางการค้า

เหตุผลที่ไม่มีนักธุรกิจเพราะมันขัดกันเรื่องผลประโยชน์ ถ้าเป็นธุรกิจขนาดเล็กจริงๆ ดิฉันยังยอมรับได้ แต่นี่ไม่ใช่ จริงๆ กฎหมายไม่ได้บอกให้ธุรกิจขนาดใหญ่ไปนั่ง กฎหมายเขียนไว้ว่า คณะกรรมการให้มีข้าราชการ ปลัด รองปลัด ของกระทรวงการคลัง ให้มีผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเป็นกรรมการ เขียนไว้แค่นี้ แต่ข้าราชการไปออกระเบียบรองรับกันต่อว่า กึ่งหนึ่ง คือ ประมาณ 6 คน ให้สภาอุตสาหกรรมเสนอมา 3 คน สภาหอการค้าเสนอมาอีก 3 คน เหมือนข้าราชการไม่อยากจะคิดให้เสียสมองว่าจะเอาใครมานั่ง เอกชนไปเสนอกันเองเป็นเรื่องไม่ถูก บริษัทใหญ่ๆ ก็เลยไม่พลาดที่จะเข้ามานั่งอยู่แล้ว

โดยเฉพาะในประเทศไทย โครงสร้างธุรกิจยิ่งไม่เวิร์คใหญ่เพราะธุรกิจในเมืองไทยเกี่ยวโยงดองกันหมด ญาติโกโหติกาเยอะแยะไปหมด เป็นธุรกิจครอบครัวฉัน ครอบครัวเธอ แต่ฝรั่งไม่ใช่ เขาจึงว่าไปตามเนื้อผ้าได้ นักธุรกิจไทยมันทำร้ายกันไม่ได้ ถึงแม้เขาอาจจะไม่ใช่คนที่ไม่ดีนะ ดิฉันเชื่อว่ากรรมการจากภาคธุรกิจหลายคนเป็นคนดี แต่อย่างว่า ธรรมเนียมแบบไทยๆ คุณจะกล้าไปเอาเรื่องธุรกิจที่เขาเป็นเพื่อนของคุณเหรอ มันยาก เขาเองก็อึดอัดใจ บางคนก็ไม่อยากปฏิบัติหน้าที่นี้เพราะรู้ว่าทำได้ยาก

+ ในต่างประเทศ มีประเทศไหนที่เจอปัญหาแบบเดียวกับเรา เพราะมีสภาพสังคมคล้ายๆ กัน

ในภูมิภาคเดียวกัน วัฒนธรรมการทำธุรกิจก็คล้ายๆ กัน
แต่ต้องบอกว่าเราเป็นประเทศที่ล้มเหลวมากที่สุดในกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ไม่มีใครแย่กว่าเราแล้ว เพราะเราไม่เคยใช้สักครั้งเดียว (หัวเราะ) มีมา 13 ปี ไม่เคยเอาใครเข้าคุกหรือปรับ

อินโดนีเซียออกมาพร้อมกับเรา แต่เขามีผลงานมากกว่าเราเยอะ คนเขาเยอะกว่า รัฐให้งบประมาณเยอะ อาจจะเป็นเพราะตอนนั้นธนาคารโลกไปช่วยร่าง แต่เรากลับไปยำออกกฎหมายกันเอง

มาเลเซียไม่มี แต่กำลังจะออก เวียดนามมีการบังคับใช้บ้าง แต่ดิฉันไม่ได้ติดตามผลใกล้ชิด

สิงคโปร์เพิ่งมีไม่กี่ปี หลังเราเยอะ ก็มีการใช้บ้าง ไม่เยอะ 
เพราะธุรกิจครึ่งหนึ่งของประเทศเป็นของรัฐ รัฐเป็นผู้ถือหุ้น รัฐบาลจะตีบริษัทรัฐบาลเองก็ใช่ที่

โดยรวมคิดว่ากฎหมายฉบับนี้ใช้ยากกับสังคมสไตล์ที่การเมืองกับธุรกิจยังเกี่ยวโยงกันอยู่เยอะ

+ แล้วถ้าเป็นประเทศนอกภูมิภาคนี้ เขาใช้กฎหมายนี้กันอย่างไร

ที่ทำกันแข็งขันคือเกาหลีใต้ เป็นประเทศมีกฎระเบียบเคร่งครัด ให้ความสำคัญกับสำนักแข่งขันมาก ผู้อำนวยการสำนักนี้จะมีตำแหน่งเทียบเท่ากับรัฐมนตรี ไปนั่งอยู่ใน ครม.เวลามีนโยบายอะไร คนนี้จะเป็นคนบอกว่าผูกขาดทางเศรษฐกิจหรือไม่ มีผลอย่างไรต่อระบบการแข่งขันที่เป็นธรรม ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะประวัติศาสตร์ของเขามีแชโบล (Chaebol) หรือ กลุ่มกิจการยักษ์ใหญ่ที่ควบคุมดำเนินการกันเป็นครอบครัวของเกาหลีใต้

แชโบลมีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือผลักดันให้ประเทศเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ขณะเดียวกันแชโบลก็เป็นธุรกิจใหญ่มากซึ่งรัฐช่วยมาตลอด อำนาจก็เยอะ เที่ยวไปเกะกะเกเรธุรกิจต่างๆ

ที่เกาหลีใต้แข็งแกร่งขึ้นมาได้เพราะมีเป้าชัดเจนว่าต้องการจัดการกับแชโบล คือยังยินดีให้มีอยู่ แต่ต้องปฏิบัติตัวให้ดีกว่านี้ เพราะมีธุรกิจที่เดือดร้อนเยอะจาก แชโบล คนเกาหลีใต้เองก็ไม่พอใจแชโบล เพราะแชโบลเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤติเศรษฐกิจ รัฐบาลอยากได้คะแนนเสียงก็ต้องขายนโยบายที่จะจัดการกับแชโบล ประชาชนให้ความสำคัญกับนโยบายคุมแชโบล รัฐบาลเลยเอาจริงเอาจัง

แต่กฎหมายของเรามันออกมาโดยที่ยังไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้อะไร ไม่เคยมีการกล่าวถึงหรือให้ความสำคัญต่อกฎหมายฉบับนี้ ไม่เคยมีพรรคการเมืองไหนแถลงนโยบายการป้องกันการผูกขาด ที่ผ่านมาก็เล่นๆ กันอยู่ข้างล่าง เดือดร้อนค่อยมาโวยกันที ข้างบนก็ไม่เห็นสนใจ

+ ปัญหาคือข้างบนก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะสนใจด้วย

ใช่ ยิ่งระบบธุรกิจการเมืองอย่างนี้ ธุรกิจการเมืองขนาดใหญ่บริจาคให้พรรค ยิ่งไปกันใหญ่ ยากมาก

+ ถ้าจะแก้โครงสร้างคณะกรรมการ ขั้นตอนทางเทคนิคทำอย่างไร

จริงๆ กระทรวงพาณิชย์แก้ได้ ถ้าใจกว้างพอ ถ้ารัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เห็นด้วย ก็แก้ได้ จริงๆ อยู่ที่รัฐบาล ถ้านายกฯสั่งให้กระทรวงแก้ กระทรวงก็ต้องแก้

จริงๆ เขา(รัฐบาล) รู้หมดว่าปัญหาอยู่ที่ไหน จะทำหรือไม่ทำเท่านั้น เรารู้หมดว่าปัญหาอยู่ตรงไหน วิจัยจนทะลุปรุโปร่งแล้ว รอแต่ว่าใครจะหยิบขึ้นมาทำ

+ ดูเหมือนจะต้องรอให้มีเรื่องใหญ่เกิดขึ้นก่อน ถึงจะมีการเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนแปลง

คิดว่านะคะ ดิฉันคิดว่ามีเรื่องใหญ่และเดือดร้อนจริงๆ มันก็คงใช้ได้ ถ้าเป็นการเมืองที่กระทบถึงความนิยมปุ๊บ เขาก็ต้องเอามาใช้ แต่ปัญหาคือ คนเล็กๆ น้อยๆ คงตายไปก่อน เพราะเรื่องของคุณไม่ได้กระทบในระดับชาติ

+ เหมือนกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่อำนวจส่วนใหญ่กระจุกอยู่กับคนไม่กี่กลุ่ม

ใช่ ดิฉันเคยทำวิจัยว่าธุรกิจไทยกระจุกตัวมากขึ้นทุกวัน ธุรกิจขนาดใหญ่ กุมทรัพย์สิน กุมรายได้หมด และปัญหาการผูกขาดอย่างสมบูรณ์มีในหลายธุรกิจ ไม่ใช่เฉพาะการจัดจำหน่ายเท่านั้น

+ กรณีหนังสือ มีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าจริงๆ แล้วเป็นกลไกปกติของตลาด ในทางธุรกิจเจ้าใหญ่ก็ต้องทำอย่างนี้อยู่แล้ว

ส่วนหนึ่งก็ใช่ เหมือนกับตลาดค้าปลีก เนื่องจากปัจจุบันมีหนังสือออกมาเยอะ แต่การกระจายมีน้อย ก็เหมือนพวกค้าปลีก แต่ก่อนมีร้านเล็กๆ เต็มไปหมด จะขายอะไรก็กระจายไป แต่เดี๋ยวนี้ทุกอย่างต้องพุ่งไปที่เจ้าใหญ่ไม่กี่เจ้า

มันเป็นวิวัฒนาการให้เห็นว่าโครงสร้างตลาดปัจจุบันมันเปลี่ยนไป มันต้องการสเกลที่ใหญ่ถึงจะได้ต้นทุนต่ำ ดังนั้นเดินไปร้านหนังสือที่ไหนก็ใหญ่หมดแหละ คนเดินเข้าไปในร้านเพราะต้องการหาหนังสือที่ตัวเองต้องการให้เจอ เราจึงเลือกเดินเข้าไปในร้านที่มีชัวร์…เจอแน่ หนังสือต้องเยอะ มีหลากหลาย ไม่ใช่ขายอยู่ 20-30 สำนักพิมพ์

พอมันเป็นอย่างนี้ อำนาจต่อรองก็ย้ายมาจาก Manufacturer คือ ผู้ผลิต ไปสู่ Retailer คือ ผู้ขายที่หน้าร้าน เพราะเขาเป็นคนจัดการหมด ต้องพึ่งพาเขา ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ความผิดของเขา มันคือการเปลี่ยนแปลง เป็นวิวัฒนาการของโครงสร้างตลาดที่เปลี่ยนไปตามพฤติกรรมการซื้อของคน ซึ่งไม่เดินไปร้านเล็กๆ ไปแต่ร้านใหญ่ ซื้อทุกอย่างเรียบร้อย จบ

สภาพตอนนี้คือซัพพลายหนังสือมาก แต่คนที่จะจัดจำหน่ายมีอยู่แค่นี้ อันนั้นเราทำอะไรเขาไม่ได้ แต่สิ่งที่เขาทำไม่ได้คือ ร่วมกันกำหนดราคาแบบนี้

คิดในทางเศรษฐศาสตร์ กรณีร้านมีพื้นที่ไม่พอกับจำนวนหนังสือ เอาอย่างนี้สิ…ใครจ่ายมากที่สุดก็วางเด่น ดังนั้น เขามีอำนาจต่อรอง มีสิทธิ์ที่จะคิดราคายังไงก็ได้ แต่ไม่มีสิทธิ์ไปติดต่อตกลงกับอีกเจ้าหนึ่ง เพราะแสดงให้เห็นว่าคุณไม่กล้าขึ้นราคาเองคนเดียว เพราะกลัวลูกค้าจะเทไหลไปอีกเจ้าหนึ่ง ดังนั้นเราทั้งคู่ต้องมัดลูกค้าให้อยู่หมัด เจตนามันชัดเจน และการจำกัดสิทธิ์เป็นความผิดที่ร้ายแรง

บางพฤติกรรมอาจมีเหตุผลในเชิงพาณิชย์บ้าง เช่น ธนาคารขายพ่วงประกันก็อาจไม่ชัดเจนเท่าเหล้าพ่วงเบียร์ พฤติกรรมบางอย่างไม่ได้มีแค่ขาวกับดำ 100 เปอร์เซ็นต์ มันสีเทาๆ แต่กรณีนี้ดำ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะคุณมีเหตุผลอะไรเหรอในการไปคุยกับอีกเจ้า จะตรึงให้ลูกค้าคุณไม่มีทางเลือก

และถ้าเผื่อเขามีธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ประเด็นนี้สิ่งที่ต้องคอยจับตามองว่า เขามีวิธีการเลือกปฏิบัติระหว่างหนังสือของเขา กับหนังสือนอกสำนักพิมพ์หรือไม่ ถ้าทำจริง อันนี้ผิด คุณทำอะไรต้องทำให้เหมือนกัน

+ ซึ่งพิสูจน์ยาก?

พิสูจน์ยาก ตัวนี้จะเล่นยากกว่า เพราะเขามีหลายธุรกิจ สามารถเลือกปฏิบัติได้ทุกระดับ เช่น การจัดจำหน่าย การวางบนแผง

ถ้าเดินเข้าร้านหนังสือไป เห็นแต่หนังสือสำนักพิมพ์นั้นวางเต็มไปหมด ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเขาเก็บเงินเท่ากันกับสำนักพิมพ์อื่นหรือเปล่า

+ เราจะพยายามคิดเข้าข้างรายใหญ่บ้างได้ไหม ว่า ที่ทำอย่างนี้คือการพยายามดิ้นเพื่อหาทางรอด

ดิฉันเชื่อว่าตอนนี้เขายังไม่ขาดทุน เขายังเอาเปรียบเราอยู่ เพราะเมืองไทยการซื้อขายระดับออนไลน์ยังไม่กว้างขวาง สัดส่วนแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ต่างประเทศ 90 เปอร์เซ็นต์

+ สินค้าอย่างหนังสือ ควรจะมีระเบียบของรัฐเข้าไปควบคุมหรือเปล่า เช่น มีการประเมินว่าเป็นหนังสือที่มีคุณค่า ต้องบรรจุอยู่ในร้านหนังสือทั่วประเทศ หรือไม่ก็มีมาตรการช่วยเหลือสำนักพิมพ์ที่ทำหนังสือแบบนั้น

ธุรกิจก็ต้อง Profit Maximize ทำกำไรสูงสุด ดังนั้นถ้าพฤติกรรมของเขาไม่เอื้อต่อการทำกำไรแล้ว เราไปเรียกร้องจากเขาไม่ได้ สมมุติเขาเป็นบริษัท มีผู้ถือหุ้น หลักธรรมาภิบาลของเขาคือ คืนกำไรสูงสุดให้ผู้ถือหุ้นของเขา เพราะถ้าเขาไม่ทำถือเป็นความผิดของเขาเหมือนกัน

ปัญหาหนังสือหรือเพลงที่ไม่ใช่กระแสหลักมันมีทางออกอย่างไร ตรงนี้ต่างประเทศปัญหาหมดไปแล้ว เพราะไม่ได้พึ่งเชลฟ์หรือหน้าร้าน แต่สั่งซื้อโดยตรงทางอินเทอร์เน็ต รายย่อยอยู่ได้สบายมาก ทำให้ร้านหนังสือใหญ่ๆ อย่าง Borders เจ๊งได้

ดังนั้นเราจะมาคาดหวังให้เขาทำอะไรที่กินเนื้อเขา คงทำไม่ได้ ยกเว้นเป็นรัฐวิสาหกิจ

+ ทำไมกฎหมายการแข่งขันทางการค้าถึงไม่ครอบคลุมไปถึงรัฐวิสาหกิจ

ดิฉันคิดว่าตอนที่จะผลักดันกฎหมายออกมา กระทรวงการคลังบอกว่ามันจะบังคับใช้กับธุรกิจที่ไม่แสวงหากำไรได้ เพราะทุกอย่างอยู่บนข้อสมมุติฐานว่า ทุกธุรกิจอยู่บนพื้นฐานการแสวงหากำไรสูงสุด ดังนั้นพฤติกรรมใดก็ตามที่ขัดกับการแสวงหากำไรสูงสุด จะถือว่าเป็นการกลั่นแกล้ง เช่น การกำหนดราคาต่ำกว่าต้นทุน ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะถือว่าเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่จะแกล้งให้คู่แข่งล้มหายตายไปจากตลาด

แต่ถ้ารัฐวิสาหกิจมีนโยบายคุมราคา หรือนโยบายของรัฐบอกให้ตรึงราคา เขาก็ต้องขายต่ำกว่าต้นทุน ซึ่งตามกฎหมายแข่งขันทางการค้าถือว่าผิด

ทุกประเทศทั่วโลก แทบไม่มีประเทศไหนยกเว้นรัฐวิสาหกิจเลย มีประเทศไทยประเทศเดียว เพราะเราร่างกันเอง

+ เพราะอะไร

เพราะไม่จำเป็น มันชัดเจนว่ากฎหมายแข่งขันทางการค้าไม่บังคับใช้กับพฤติกรรมที่เป็นไปตามกฎหมาย หรือที่เป็นนโยบายของรัฐ

แต่เราไม่ยกเว้นทั้งองค์กร เรายกเว้นเป็นพฤติกรรม เป็นเรื่องๆ ไป เช่น ปตท. ไปตรึงราคาน้ำมัน โดยบอกว่าเป็นนโยบายรัฐบาลที่สั่งมา ก็ไม่ผิด แต่ถ้า ปตท. ไม่ขายน้ำมันให้กับปั๊มอื่นที่ไม่ติดป้าย ปตท. อันนี้ผิดเพราะไม่ใช่นโยบายของรัฐ ดังนั้นการไปยกเว้นหมดเลยโดยที่ไม่สนใจว่าเป็นพฤติกรรมไหน มันไม่ถูก

+ อย่างกรณี ปตท. ที่กินส่วนแบ่งทางการตลาดเยอะกว่าชาวบ้าน ก็ไม่ได้ถือเป็นเรื่องผิดปกติ?

ตัวมาร์เก็ตแชร์ ไม่ใช่ความผิด เพราะกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้บอกว่าคุณใหญ่ไม่ได้ เพียงแต่บอกว่าใหญ่ได้ แต่อย่าไปแกล้งคนอื่น

+ การเข้าเทคโอเวอร์ปั๊มเจ็ททำให้สัดส่วน ปตท. เพิ่มขึ้นไปอีก

มันแย่มาก เพราะมาตรา 26 ว่าเรื่องการควบรวมธุรกิจ  แต่เราไม่มีเกณฑ์ใดๆ ออกมา เราได้แต่นั่งดูตาปริบๆ ทำอะไรเขาไม่ได้

+ ถ้าเป็นต่างประเทศ ทำอย่างนี้ผิดไหม

ถ้าตัวเองมีมาร์เก็ตแชร์อยู่แล้ว 50 ไปถือเพิ่มเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ อย่างนี้ไม่ได้ กรณีเช่น ปตท. ดิฉันเชื่อว่าเขาไม่ให้แน่นอน เพราะมันเกินเกณฑ์ การกระจุกตัวพุ่งขึ้นเยอะ เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่อยู่แล้ว แล้วไปซื้ออีก เบอร์ 1 ไปซื้อเบอร์ 3 ไม่ได้ แต่เราทำอะไรไม่ได้ เพราะมาตรา 26 มันไม่มีเกณฑ์ ส่วนมาตรา 25 มีเกณฑ์ออกมาก็ยังไม่เคยใช้ ออกมาก็ไม่มีประโยชน์ ออกมาช่วงรัฐบาลปฏิวัติด้วย

+ เป็นกรณีเดียวกันกับที่สำนักพิมพ์ใหญ่ตั้งสำนักพิมพ์ย่อยขึ้นมาเพื่อกินรวบ หรือให้ครอบคลุมผู้อ่านทุกกลุ่ม ตั้งแต่โรมานซ์วาบหวิวยันหนังสือธรรมะหรือเปล่า

ที่สุดแล้วมันก็จะเหมือนกับละครทีวีใช่มั้ย คนดูแต่ละคร จนไม่ดูรายการอื่นๆ เลย ถ้าเราปล่อยให้เป็นตามกลไกแบบนี้ มันก็จะเป็นแบบนี้ตามหลักเศรษฐศาสตร์

จำเป็นต้องมีมิติทางสังคมที่รัฐบาลต้องดูแล เหมือนกับการมีไทยพีบีเอส เป็นตัวอย่างการเข้ามาแก้ปัญหาของรัฐ ให้สถานีโทรทัศน์ไม่ต้องพ่ึงพารายได้จากเอกชน ที่ต้องเอาละครมาใส่เพราะคนดูเยอะ เพื่อหารายได้

เรื่องหนังสือดีๆ ยังไม่ค่อยเห็นต่างประเทศทำ แต่ก็เป็นประเด็นน่าสนใจ แต่ก็ยังไม่ทราบว่ามีประเทศไหนมีปัญหาอย่างนี้หรือเปล่า

+ บางทีผู้ประกอบการมักให้เหตุผลว่า สัดส่วนของกำไรจากหน้าร้านไม่เยอะ เผลอๆ บางสาขาขาดทุนด้วยซ้ำ แต่ที่อยู่ได้เพราะได้กำไรจากการหักค่าจัดจำหน่าย 40 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นโดยภาพรวมของบริษัททั้งหมดจึงยังมีผลกำไรอยู่บ้าง ทำไมจึงยังมีการขยายสาขาใหม่เรื่อยๆ ทั้งที่ขาดทุน เรื่องนี้มีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์อย่างไร

ถ้าเขาขยายสาขาใหม่ แสดงว่าเขาก็ยังได้กำไรจากการจัดจำหน่ายอยู่ เพราะตราบใด ตัว 40 เปอร์เซ็นต์จากการจัดจำหน่ายยังเป็นกำไรอยู่ มันก็คุ้มค่ะ ยกเว้น 40 เปอร์เซ็นต์ไม่คุ้มถึงจะเลิกทำ

คิดว่ากำไรตรงไหนกี่เปอร์เซ็นต์ สำหรับเขามันก็คือก้อนเดียวกัน

+ พูดได้ว่า การทำธุรกิจรวบยอด ทำตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ จะก่อให้เกิดผลบั้นปลายแบบนี้เสมอ?

มีปัญหาหมด โดยเฉพาะธุรกิจพวกเกษตร เช่น ไข่ คือ คุณขายแต่ไข่ เลี้ยงแต่ไก่ คุณจะไปแข่งคนที่เขาทำตั้งแต่แม่พันธุ์ยันอาหารไก่ แล้วมาขายไข่แข่ง ทุ่มราคา เราก็สู้เขาไม่ได้ แถมต้นทุนเราก็สูงกว่าเขา เพราะต้นทุนอาหารไก่แพง แม่พันธุ์ก็ซื้อมาแพง ก็เลยต้นทุนสูง ราคาต่ำ เราก็ตาย เพราะไม่มีทางออก

แต่ยังดีว่าหนังสือไม่ใช่ไข่ ไข่มันหน้าตาเหมือนๆ กันหมด อย่างนั้นตายเร็ว ราคาต้องเท่ากันเป๊ะๆ จะไปเพิ่มราคา 1 เปอร์เซ็นต์ ทำไม่ได้เลยนะ แต่หนังสือไม่ใช่ คนอ่านหนังสือมีหลายประเภท หนังสือมีอะไรอีกหลายอย่างที่จะทำให้ไม่ตกอยู่ในสภาพอันตรายเหมือนไข่ เพราะไม่ใช่คนจะอ่านหนังสืออะไรก็ได้

ที่กลัวมากกว่า คือเรื่องการเลือกปฏิบัติ สิ่งที่น่ากลัวในเชิงเศรษฐศาสตร์คือ เขาจะยึดทั้งสายได้หรือไม่ ดิฉันไม่แน่ใจว่าเป็นไปได้ไหม จากการควบคุมต้นน้ำยันปลายน้ำ จัดจำหน่ายเอง ทำสำนักพิมพ์เอง และมีความเป็นไปได้ไหมว่า สุดท้ายแล้ว สำนักพิมพ์เล็กๆ จะยุบแล้วไปรวมกับยักษ์ใหญ่ เพื่อรวมขยายไปกินกับต้นน้ำ ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่จำเป็นต้องมีเจ้าเดียวหรือ 2 เจ้าสำนักพิมพ์จริงๆ มันเป็นธุรกิจที่เข้าง่ายออกง่าย ไม่ใช้ต้นทุนสูง แต่ถ้าเกิดมันไปพ่วงกับอันอื่น ก็จะเหลือแค่ 2 เจ้า ต้องจับตาดูดีๆ ว่าเขาใช้พฤติกรรมยังไงกับสำนักพิมพ์อื่นๆ

ตอนนี้สายส่งเองก็น่าจะมีปัญหานะ โดยเฉพาะสายส่งที่ไม่มีหน้าร้าน ดิฉันเชื่อว่า เขาเองก็ถูกบีบ

+ ถูกครับ ถูกบีบ

เรื่องนี้ถ้าทำเพื่อ 2 เจ้า แต่มีคนเดือดร้อนหลายเจ้า มีทั้งสายส่ง และสำนักพิมพ์ปนกัน รวมหัวกัน คิดว่าโดนกันหมด และคิดว่ามีพฤติกรรมที่ขัดกันเยอะ และสายส่งนี่ก็ต้องบอกว่าเขามีเงื่อนไขอะไรในการเสนอบีบให้ต้องไปใช้สายส่งของเขา หรือว่าเขาเลือกปฏิบัติกับสายส่งที่ไม่ใช่เครือของเขายังไง ซึ่งคิดว่าไม่เหมือนกันแน่นอน แล้วก็ต่อไปถึงสำนักพิมพ์ สำนักพิมพ์ก็ต้องถามว่าเขามีเงื่อนไขอะไรไหมที่มาเสนอให้ใช้สายส่งของเขา แทนที่จะใช้สายส่งของคนอื่น ถ้าเผื่อมันมีแรงจูงใจที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือเป็นการขายพ่วง มันก็ผิด

ดิฉันคิดว่าเขาจะเดินทางไปทางนั้น เพื่อที่จะยึดทั้ง 3 ตลาด ก็เหมือน ปตท. แหละค่ะ เขายึดแต่ท่อ พอเป็นเจ้าของท่อเสร็จ ซื้อแก๊สได้คนเดียว ก็ยึดโรงแยกแก๊ส ทุกคนก็ต้องใช้ของเขาหมด ทั้งๆ ที่
โดยโครงสร้างแล้วมันไม่จำเป็น

มันเป็นเทคนิคมาตรฐานว่า เมื่อคุณเป็นเจ้าของจุดใดที่ผูกขาดอันหนึ่ง คุณจะใช้จุดนั้นบีบ มันเป็นวิธีที่ใช้กันเยอะ

ดิฉันยังเชื่อว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่บริษัทค้าปลีกรายใหญ่จะผลิตสินค้าทุกอย่างเพื่อจะไปใส่หน้าร้านของตัวเอง คือดิฉันไม่รู้ว่าในธุรกิจหนังสือมันสามารถผลิตเองขายเอง เป็นอินเฮาส์ ที่เรียกว่าเฮาส์แบรนด์ได้มากแค่ไหน ถ้าเผื่อเฮาส์แบรนด์มันได้เยอะ มันก็จะน่ากลัวมาก เพราะเขามีทุกอย่างที่คนอื่นทำไม่ได้

+ แนวโน้มเหมือนจะเป็นอย่างนั้น เพราะเดี๋ยวนี้จ้างได้หมดครับ จ้างบรรณาธิการ จ้างนักเขียน ส่วนที่เหลือเป็นแค่การลงทุนของ สำนักพิมพ์ ในทางปฏิบัติทำได้ง่ายมาก

คือเขาเอานักเขียนมาได้ ดึงมาเข้าค่าย เข้าสังกัดเขา เขาอาจจะให้แรงจูงใจมากกว่านิดหน่อย ใช่ไหม

+ มันกลับกัน บางทีก็เป็นธุรกิจ เจ้าใหญ่ให้ส่วนแบ่งน้อยกว่า เพื่อแลกกับโอกาสการขายได้มากกว่า

แสดงว่านักเขียนต้องง้อเขา?

+ เจ้าใหญ่มีความได้เปรียบเรื่องนี้ เพราะอยู่ในสังกัดเรา คุณมีโอกาสมากกว่า พิมพ์หนังสือได้มากกว่า โดยให้เหตุผลว่าส่วนแบ่งที่หายไปจะเอาไปทำรูปเล่มให้ดึงดูดสายตา เอาไปจ่ายค่าการตลาด เพื่อจะไปวางในชั้นที่ดีกว่า 

เขามีข้อได้เปรียบอยู่แล้ว เพราะเขามีหน้าร้านใช่ไหม แต่กับสำนักพิมพ์ที่ไม่มีจะไปทำอย่างนั้นก็ไม่ได้ ก็น่าเป็นห่วงอยู่ (หัวเราะ)

+ ถ้าเป็นอย่างนี้ การเข้าไปแก้โครงสร้าง ถึงแม้จะเป็นองค์กรอิสระ มีคณะกรรมการที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเลย ถ้ามันเลยจุดที่เหลือแค่ 2 เจ้าไปแล้ว จะยังทำอะไรได้ไหม

ถ้าเหลือ 2 เจ้าทั้งหมด คือโครงสร้างมันไปแล้ว ดูพฤติกรรมก็ไม่รู้จะแกล้งใครแล้ว (หัวเราะ) เพราะมันไม่เหลือใครให้แกล้ง ถ้าเหลือ 2 เจ้า ก็ทำได้แค่ป้องกันไม่ให้ฮั้วกันเท่านั้นเอง ซึ่งไม่ให้ฮั้วกันตอนเหลือแค่ 2 เจ้านี่มันก็ป้องกันยากนะ แค่มองตากันก็ได้ ไม่ต้องพูดกัน ง่ายมาก ดูธนาคารสิมีตั้งหลายเจ้ายังฮั้วกันได้เลย คุณขึ้นไปก่อน เดี๋ยวฉันขึ้นตาม อย่างนี้มันก็ทำได้ ป้องกันยาก ถ้าไปถึงจุดนั้น
แล้วมันจะลำบาก

ในต่างประเทศบางทีมีปัญหาเรื่องการรวมกันในแนวดิ่งเยอะ ทำให้ผูกขาด กรณีของโทรคมนาคม หรือสื่อก็ดี ในอเมริกาทำไปแล้ว คือ ถ้าใครจะทำหน้าร้านก็ทำหน้าร้านไป ห้ามมาทำสายส่ง ใครทำสายส่งก็ห้ามมาผลิต เพราะมันจะตัดตอนได้ ไม่มีการอุปถัมภ์ระหว่างกัน เช่น คุณเป็นสายส่ง คุณก็ทำสายส่งไป ใครมาขายคุณ คุณก็คิดราคาเดียวกัน ในโทรคมนาคมมันก็มีลักษณะเหมือนกันว่า มีผู้บริการที่ให้เช่าโครงข่าย คือคุณไม่ได้ให้บริการแค่ให้เช่าโครงข่าย ใครอยากจะมาใช้เสาก็ใช้ไป จะกี่เจ้าก็ได้ อย่างนี้ก็จะไม่ผูกขาด

+ สมมุติเป็นกิจการแบบไทยๆ ให้แม่ทำหน้าร้าน ลูกทำสายส่ง คือโดยนิตินัยแล้วแยกคนละเจ้ากัน

ส่วนมากธุรกิจแบบนี้จะเป็นนิติบุคคล มีผู้ถือหุ้น แต่มันก็ทำได้นะเมืองไทย คือให้ญาติถือ มันเล่นแร่แปรธาตุกันได้ แต่อย่างน้อยพอมันเป็นนิติบุคคลที่ต่างประเภทธุรกิจกัน คิดว่าวิธีการบริหารจัดการมันก็จะแยกส่วนกันโดยสิ้นเชิง การทำงานเช่นการไปใช้ชั้นวางหน้าร้าน มันก็ต้องเหมือนการติดต่ออีกบริษัทหนึ่ง ต้องมี หลักฐานเอกสารสัญญาที่ชัดเจนว่าคุณจ่ายเขาไปเท่าไหร่ เหมือนบริษัทแตกเป็น 2 บริษัท กิจกรรมระหว่างกันก็ต้องมีหลักฐาน แล้วข้อกำหนดหลักฐานก็ต้องเหมือนที่คุณทำกับคนอื่น แทนที่จะเป็นบริษัทเดียวกัน แล้วไปมั่วๆ อยู่ข้างใน เหมือน ปตท. มันแยก ไม่ออกเสียทีว่าท่อแก๊สมันเท่าไหร่ รวมกันไปหมดเลย เพราะไม่แตก เป็นบริษัทย่อย

ดิฉันคิดว่าสุดท้ายพอมันถึงจุดนั้นแล้ว สิ่งที่แก้ได้ก็คือ ต้องไปแก้ว่าจะทำยังไงให้มันมีพื้นที่ทางออกสำหรับรายย่อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินอุดหนุน หรือตั้งร้านหนังสือ เหมือนกับการมี ไทยพีบีเอส ต้องคิดแบบนั้นมีพื้นที่ให้ผู้ผลิตรายการที่ไม่มีโอกาส หรือขนาดเล็ก นี่ก็เหมือนกัน สำหรับทางออก คุณจะให้โอกาสผู้ผลิตรายย่อยมากกว่างานสัปดาห์หนังสือ 2 ครั้งต่อปี มันมีทางอื่นอีกไหม

+ ตอนนี้ว่ากันจริงๆ ก็คือสิ่งพิมพ์อยู่ในสภาพขาลง สื่อสำนักใหญ่ๆ ปรับตัวกันขนานใหญ่ เริ่มแรกทุกคนต้องมีสื่อออนไลน์ หนังสือพิมพ์ก็ต้องทำทีวี ทำทีวีดาวเทียม ประเด็นแบบนี้ จะเป็นปัญหาในอนาคตไหมว่าทำกิจการสื่อหลายอย่าง

คือจริงๆ แล้วถึงสื่อทำหลายอย่าง แต่มันมีหลายเจ้า มันไม่เป็นไร คือมันไม่มีใครผูกขาดอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง สมมุติว่ามีเจ้าเดียวที่เป็นเจ้าของดาวเทียม แล้วเขาคุมได้ว่าจะส่งสัญญาณให้ใคร อย่างนี้จะเป็นปัญหา เพราะมีใครผูกขาดจุดหนึ่งในระบบไว้ แต่ถ้าทุกคนทำได้เหมือนกันหมด แล้วก็มีหลายคน มันก็ไม่เป็นไร สมมุติทุกคนก็มีดาวเทียม คุณก็มี มันก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าสมมุติมีเจ้าหนึ่งมีดาวเทียมอยู่คนเดียว อันนี้ยุ่งแล้ว เพราะเขาก็อาจจะเลือกปฏิบัติ

ตอนนี้ดิฉันกำลังต่อสู้เรื่องดาวเทียมอยู่ มันมีดวงเดียว ซึ่งคิดว่ามันไม่สมควรอย่างยิ่ง แล้วมันการเมืองด้วย มันไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องบังคับให้คนไทยใช้ดาวเทียมดวงเดียว ทั้งๆ ที่มันมีหลายดวงลอยอยู่บนเมืองไทย แล้วเราก็สามารถใช้ได้ทันทีนะ ไม่ใช่ว่าเราไม่มีนะ มีคู่แข่งเต็มไปหมดเลย สิบกว่าดวง

อย่างที่บอกค่ะ ถ้ามีหลายเจ้าก็ไม่เป็นอะไร อย่างธนาคารจะขายพ่วงประกัน มันมี 22 แบงก์ ถ้า 22 แบงก์จะทำเหมือนกันหมด
ก็ช่างมัน แต่ถ้าเกิดมีเจ้าเดียว อย่างเหล้ามีเจ้าเดียว แล้วเจ้าเดียวขายเบียร์พ่วง อย่างนี้ยุ่ง

+ ยังต้องให้มีการแข่งขันอยู่?

ในทุกระดับ (เน้นเสียง) อย่าให้มีการผูกขาดที่จุดใดจุดหนึ่ง เพราะว่าคนที่ผูกขาดจุดนั้นจะใช้ข้อได้เปรียบของตัวเองไปบีบตรงอื่น ต้องสลายจุดนั้นให้ได้ ถ้าสลายไม่ได้ก็ต้องตัด แยกจุดนั้นออกมาจากจุดอื่น ไม่ให้มีกิ่งก้านสาขา ให้เขาอยู่แต่ตรงนั้น เช่น คุณจะทำท่อแก๊สคุณก็ทำแต่ตรงนั้น ไม่ต้องไปขายแก๊ส

+ คนโพสต์เรื่องการเรียกเก็บ 1 เปอร์เซ็นต์ นี้ลงบนเว็บบอร์ดต่างๆ หลายคนบอกว่า ไม่เกี่ยวกับคนอื่น มันเป็นเรื่องของสายส่งและสำนักพิมพ์ไปจัดการกันเอง เขามีหน้าที่แค่ซื้อและอ่าน กรณีนี้ถือว่าเขาไม่สนใจหรือไม่รู้

ดิฉันคิดว่าตอนที่กฎหมายฉบับนี้ออกมาใหม่ๆ ผู้บริโภคเองก็คิดว่ามันเป็นเรื่องของธุรกิจทะเลาะกัน…ฉันไม่เกี่ยว ซึ่งดิฉันพยายามจะบอกเสมอมา จริงๆ แล้วมันก็คือเรื่องของผู้บริโภคนั่นแหละ เขาส่งต่อมาที่คุณ คุณไม่รู้สึก แต่มันก็เกิดขึ้น

ทีนี้เราจะทำยังไงให้ผู้บริโภครู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ คิดว่ามันไม่ง่ายนะคะ คือเรื่องอะไรที่มันกระทบตัวเขา เช่น ของแพงขึ้น แบบเห็นกับตา เขาจะรู้สึก อย่างตอนที่มีกรณีผูกขาดเคเบิลทีวี ทำให้ราคาแพ็คเกจแพงขึ้น เขาจะรู้สึกทันที

+ เรื่องแบบนี้บางครั้งเขาก็ทำแนบเนียนจนเราไม่รู้สึก

กรณีนี้มันซ่อนอยู่ตรงกลาง มันไปโผล่ที่ปลายทางนิดหน่อย ซึ่งยังไม่รู้สึก แต่เขาก็จะค่อยๆ เขยิบไปทีละนิด ทีละเปอร์เซ็นต์ เขาจะไม่ค่อยรู้สึก เราควรจะทำยังไงให้เขารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัวเขา หรือให้เข้าใจว่าเรื่องความไม่เป็นธรรมมันเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งคิดว่าเรายังไม่ค่อยรู้ว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจ

เรื่องหนึ่งที่ดิฉันพยายามทำมานานแล้ว แต่ยังทำไม่ได้ คือเรื่องธุรกิจต่างชาติ ซึ่งผู้บริโภค โดยเฉพาะเอ็นจีโอทั้งหลายจะมองว่า ไม่อยากได้คนต่างชาติในประเทศไทย เพราะเป็นการแย่งชิงทรัพยากรของคนไทย คือดิฉันพยายามจะบอกว่า คนอะไรก็ตาม สุดท้ายขอให้มันมีการแข่งขันกันในตลาดเถอะ จะเป็นไทยเป็นฝรั่ง สุดท้ายคุณ(ผู้บริโภค) นั่นแหละเป็นคนได้ประโยชน์

ดิฉันหงุดหงิดมากทุกทีตอนมีคนบอกว่า เราต้องรักษา ผลประโยชน์ของคนไทย…ถามว่าผลประโยชน์ของคนไทยคืออะไร คือผู้ประกอบการไทยสองสามราย หรือผู้บริโภคไทย 60 ล้านคน ไม่เคยคิดกัน พูดแต่ว่าทรัพย์สมบัติไทย ต้องรักษาไว้ บางคนแกล้งพูด แต่ดิฉันเชื่อว่าบางคนพูดด้วยน้ำใสใจจริง ซึ่งดิฉันก็งงว่าการที่เขาต้องใช้ของแพงๆ มันดีเหรอ ซึ่งก็ยังไม่รู้นะว่าจะพยายามสร้างความเข้าใจยังไง

สุดท้ายแล้วมันไม่ใช่ฝรั่ง - ไทยหรอก มันอยู่ที่ว่าแข่งกัน หรือเปล่า ถ้าเผื่อไม่แข่ง ไทยหรือเทศก็เอาเปรียบกันหมดแหละ แต่ถ้าเกิดมีหลายรายเข้ามาช่วยได้ ทำไมไม่เอาล่ะ ถ้ามีรายที่ 3 รายที่ 4 เข้ามาเถอะ พอคุณบอกไม่ให้เขาเข้ามา มันก็กลายเป็นการรักษากำไรให้เจ้าหรือ 2 เจ้า อันนี้รับไม่ได้จริงๆ

ต้องเจอกับตัวเองถึงจะรู้ว่า สุดท้ายผู้ประกอบการเหมือนกันหมด ที่สำคัญที่สุดคือให้มีผู้ประกอบการหลายราย มีการแข่งขัน ให้ตัวเราเองมีทางเลือก ถามง่ายๆ คุณอยากมีทางเลือกไหม หรือคุณไม่อยากมีทางเลือก ถ้าเผื่อคนไทยมีทางเลือกแค่รายเดียวหรือ 2 ราย คุณจะอยากได้ต่างชาติมาเป็นรายที่ 3 รายที่ 4 ไหม สุดท้ายแล้วมันอยู่ที่การแข่งขันหมดเลย ถ้ามันถูกบล็อกเมื่อไหร่จะมีปัญหา

ตรงนี้ จุดที่หน้าร้าน ถ้าเผื่อคลายปมตรงนี้ได้ มันก็จะคลายหมดทั้งสาย ไปแก้ที่ต้นน้ำมันไม่แก้หรอก เสียเวลา ถ้าเผื่อจะไปแก้สำนักพิมพ์ สายส่ง มันไม่เวิร์ค ต้องแก้ตรงหน้าร้าน ว่าจะทำยังไงให้มีช่องทางให้ผู้เขียนรายย่อยมีทางออกว่าไม่ต้องพึ่ง 2 เจ้านี้ ตรงไหนที่มันเป็นคอขวดอยู่

————–

ตีพิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร Way Magazine, ฉบับที่ 53, กันยายน 2555

บายไลน์ : กองบรรณาธิการ Way Magazine ภาพ : อนุช ยนตมุติ