tdri logo
tdri logo
19 ธันวาคม 2012
Read in Minutes

Views

แลกเปลี่ยนความคิดเห็นบทบาทของทีดีอาร์ไอ

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ตอบ เกษียร เตชะพีระ

อาจารย์เกษียร เตชะพีระ ได้เขียนบทความเรื่อง “ปัญหาของขวาไทยในปัจจุบัน” ตีพิมพ์ในมติชนรายวัน วันที่ 7 ธันวาคม 2555 และเรื่อง “กระบวนการกำหนดนโยบายของไทย – ที่มา ที่เป็นและที่ไป” ตีพิมพ์ในมติชนรายวัน วันที่ 14 ธันวาคม 2555 บทความทั้งสองมีเนื้อหาคล้ายคลึงกันมากจนคล้ายการตีพิมพ์ซ้ำ โดยส่วนที่คล้ายกันดังกล่าวมีเนื้อหาวิจารณ์สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ใน 2 ประเด็นคือ

หนึ่ง ทีดีอาร์ไอเป็นพวกที่เชื่อในตลาดเสรี   แม้ว่าอาจารย์เกษียรไม่ได้เขียนตรงๆ ในบทความทั้งสองว่า ทีดีอาร์ไอเป็น  “ฝ่ายขวา”  แต่การนำเอาทีดีอาร์ไอไปกล่าวรวมกับกลุ่มคนที่อาจารย์เรียกว่า “ฝ่ายขวา” ทำให้ผู้อ่านส่วนหนึ่งก็เกิดความรู้สึกว่า อาจารย์เหมารวมเอาทีดีอาร์ไอเป็น “ฝ่ายขวา” ไปด้วย

สอง ทีดีอาร์ไอขยายบทบาทเชิงผลักดันหรือต่อต้านนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล จนทำให้ระบบปั่นป่วนผิดฝาผิดตัวเพราะ “สถาบันวิจัยเชิงวิชาการก็กลับกลายเป็น policy lobbyist ไปเสียฉิบ” และเสนอว่า “สถาบันวิจัยก็ (ควร) จะได้ทุ่มเทค้นคว้าวิจัยข้อมูลทางเลือกเชิงนโยบายต่างๆ แทนที่จะแปรบทบาทตนเองเป็นกลุ่มรณรงค์กดดันต่อต้านนโยบาย”

ในฐานะผู้บริหารของทีดีอาร์ไอ  ผมใคร่ขอแลกเปลี่ยนกับอาจารย์เกษียรและผู้อ่านใน 2 ประเด็น ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะดังนี้

ประการที่หนึ่ง  ผมเห็นว่า การเอาฉลาก “ขวา” หรือ “ซ้าย” ไปแปะใส่บุคคลหรือองค์กรหนึ่งๆ แทนที่จะถกเถียงกันเรื่องประเด็นด้านนโยบายแต่ละเรื่อง น่าจะไม่มีประโยชน์นัก เพราะการเป็น “ขวา” หรือ “ซ้าย” ทั้งในทางการเมืองและทางเศรษฐกิจเป็นเพียงการสะท้อนจุดยืนของตัวผู้แปะฉลาก ซึ่งในที่นี้คือตัวอาจารย์เกษียรเอง เปรียบเทียบกับผู้ถูกแปะฉลาก มากกว่าที่จะสะท้อนคุณภาพหรือคุณค่าอะไรที่มากไปกว่านั้น

ในความเห็นของผม การเหมาเอาว่าทีดีอาร์ไอเป็น “ฝ่ายขวา” เป็นเรื่องที่ออกจะแปลกอยู่ เพราะในฐานะองค์กรทางวิชาการ เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของอาจารย์เกษียร เราไม่เคยกำหนดว่า นักวิจัยแต่ละคนจะต้องมีความเชื่ออย่างไร   ตราบเท่าที่การวิเคราะห์และข้อเสนอทางนโยบายของเขามีหลักฐานทางวิชาการและข้อมูลรองรับ อันที่จริง ที่ผ่านมา นักวิจัยของเราหลายคนได้พยายามผลักดันให้เกิด การปฏิรูปภาษีและการใช้จ่ายของรัฐเพื่อสร้างความเท่าเทียมในสังคม สนับสนุนให้ใช้ระบบสวัสดิการสังคมในการแก้ไขปัญหาคนจน  ไม่สนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดตลาด และมีท่าทีอย่างระมัดระวังต่อระบบทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ ในด้านเกษตร เราไม่ได้ปฏิเสธการแทรกแซงตลาดโดยรัฐ แต่เสนอให้ใช้แนวทางที่ก่อให้เกิดความเสียหายน้อยลงและให้ประโยชน์ตกถึงมือเกษตรกรกลุ่มที่ยากจนจริงๆ มากขึ้น ท่าทีดังกล่าวน่าจะสะท้อนถึงความเชื่อของนักวิจัยหลายคนในทีดีอาร์ไอที่ว่า รัฐและตลาดต่างมีข้อจำกัดในตัวเอง ไม่สามารถเป็นคำตอบในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในทุกๆ เรื่องได้ แต่ต้องผสมผสานกันและในหลายกรณีก็ต้องใช้กลไกอื่น เช่น ชุมชนและกลไกทางสังคมประกอบด้วย ผมคิดว่า ท่าทีเหล่านี้ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่พวก “ฝ่ายขวา” ชื่นชอบนัก

ผมเชื่อว่า การถกเถียงทางวิชาการอย่างมีคุณภาพในแบบที่อาจารย์อยากเห็น น่าจะเกิดขึ้นจากการศึกษาความคิดของกันและกันอย่างจริงจัง โดยวิเคราะห์ว่า ข้อเสนอของแต่ละฝ่ายในแต่ละเรื่อง จะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้หรือเสียประโยชน์อย่างไร และจะสามารถตรวจสอบข้ออ้างของแต่ละฝ่ายด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์กันได้อย่างไร  มากกว่าการติดฉลากว่าใครเป็น “ขวา” หรือ “ซ้าย” แบบเหมาเข่ง

ประการที่สอง ผมไม่เห็นว่า การวิจัยและการดำเนินการต่างๆ ของทีดีอาร์ไอในปัจจุบัน จะทำให้ระบบในการกำหนดนโยบายปั่นป่วนผิดฝาผิดตัว หรือ ทำให้เรากลายเป็น policy lobbyist ตามความหมายที่ใช้กันทั่วไปในประเทศไทยแต่อย่างใด เพราะทีดีอาร์ไอไม่มีนโยบายที่จะโน้มน้าวนักการเมืองหรือข้าราชการให้กำหนดนโยบายเพื่อกลุ่มผลประโยชน์ (interest group) ใด ถ้าจะมีสิ่งที่ใกล้เคียงกับคำว่า “ล็อบบี้” มากที่สุดก็คือ การให้ข้อมูลแก่ประชาชน โดยยึดประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง เพราะในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนในฐานะพลเมืองย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารต่างๆ เพื่อลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและติดตามการทำงานของรัฐบาล

นอกจากนี้ ทีดีอาร์ไอไม่มีแนวทางที่จะฟ้องร้องหน่วยงานใดเพื่อกดดันทางนโยบาย และไม่คิดที่จะล้มรัฐบาลไหนๆ เราตระหนักดีว่า เราเป็นสถาบันทางวิชาการที่ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะสามารถโน้มน้าวรัฐบาล สื่อมวลชนและประชาชน ให้เห็นคล้อยตามแนวคิดของพวกเราได้ นอกจากพลังแห่งเหตุผลทางวิชาการ ที่มีข้อมูลจากการวิจัยรองรับ ตลอดจนความเชื่อถือที่สังคมมอบให้แก่เราว่า เรานำเสนอข้อเสนอทางนโยบายต่างๆ เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนในวงกว้าง โดยไม่มีผลประโยชน์อื่นใดแอบแฝง


เกษียร เตชะพีระ ตอบ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

สวัสดีครับอาจารย์สมเกียรติ

มีผู้ส่งลิงค์ข้อเขียนที่อาจารย์ตอบข้อสังเกตของผมในคอลัมน์มติชนมาให้ ขอบคุณที่แสดงความเห็นมา (ความจริงผมก็รออยู่ว่าคงมาแน่ ไม่เร็วก็ช้า) อย่างไรก็ตาม ผมขอแสดงความเห็นตอบกลับเป็นส่วนตัวดังนี้

๑) บทความ ๒ บทนั้นคล้ายกันบางส่วน เพราะบทหลังเป็นการประมวลข้อสังเกตของผมเรื่องกระบวนการกำหนดนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปจากโอกาสต่าง ๆ ที่เคยเสนอความเห็นไว้ ก็เลยรวมเอาส่วนท้ายที่เพิ่งเขียนเอาไว้ด้วย ขณะที่ส่วนต้นและกลางมาจากแหล่งอื่นข้อเขียนอื่น คงเหมือนกันในส่วนดังกล่าว แต่ถ้าบอกว่าเป็นบทความเดียวกัน ออกจะไม่ตรงนักนะครับ

๒) เรื่องขวา/ซ้าย ไม่ได้เป็นสาระสำคัญ ดังที่อาจารย์สมเกียรติก็เห็นอยู่ว่าผมระมัดระวังไม่เอายี่ห้อ “ขวา” ไปคล้องใส่ TDRI แต่หากอาจารย์คิดว่าการวิเคราะห์รวม TDRI ในบทความเรื่องฝ่ายขวา ชวนให้คิดไปแบบนั้น ผมก็ต้องขออภัย เพราะผมไม่คิดว่าเหมือนกันหรือเป็นกลุ่มเดียวกันในทางการเมืองกับพลังฝ่ายอื่นที่ผมเรียกว่า “ขวา” อย่างไรก็ตาม หากถามผมในแง่แนวนโยบายที่เสนอ ผมก็เห็นว่าสิ่งที่ TDRI เสนอบางเรื่องคงต่างจากข้อเสนอของฝ่ายสังคมนิยมหรือสังคมประชาธิปไตยหรือสหภาพแรงงานบางกลุ่มไปบ้าง

๓) ผมพูดตรง ๆ แบบจริงใจ ผมคิดว่าอาจารย์สมเกียรติและนักวิจัยแห่ง TDRI มีเจตนาดี เสนอทางเลือกนโยบายที่มีงานค้นคว้าวิจัยทางวิชาการรองรับ เพื่อให้มีความหลากหลายและไม่ต้องจำนนกับข้อเสนอนโยบายซึ่งมักมีผลประโยชน์แอบแฝงของกลุ่มทุนใหญ่และฝ่ายการเมือง/ราชการ ผมนับถือและเห็นด้วยว่าควรมีและควรทำ

อย่างไรก็ตาม บทบาทที่เล่นนี้ อาจารย์จะนิยามและบรรยายอย่างใส ๆ ว่าวิชาการล้วน ๆ แล้วเสนอให้สังคมเลือกแบบ innocent ก็คงไม่ใช่ มันเป็นบทบาททางการเมืองเชิงนโยบาย ถ้าคำว่า policy lobbyist แรงไป ผมคิดว่าอย่างน้อย policy advocacy ก็คงใช้ และในฐานะนั้นก็ควรถูกสังเกตจับตามองและตรวจสอบ ทั้งหลักคิด ข้อมูล เป้าหมาย วิธีการดุจเดียวกัน ในฐานะนักรัฐศาสตร์ นี่เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองและกระบวนการนโยบายที่น่าสนใจ และน่าศึกษาวิจัยนะครับ ไม่ควรที่จะละสายตาหรือการมองไปเพราะสถาบันนั้นประกาศตนเป็นสถาบันวิจัย/วิชาการ เพียงเท่านั้น คงใช่ แต่บทบาทมากไปกว่านั้นด้วย และส่วนที่มากไปกว่านั้น และความสัมพันธ์ระหว่างส่วนที่มากไปกว่าวิชาการกับส่วนที่เป็นวิชาการ เป็นเรื่องควรศึกษาค้นคว้าติดตามตรวจสอบเช่นกัน

ผมขอบคุณที่อาจารย์ตอบด้วยน้ำเสียงเป็นมิตร เพราะผมก็รู้สึกเป็นมิตรกับ TDRI และนักวิจัยอาจารย์อาวุโสและรุ่นเยาว์ของที่นี่เช่นกัน เพียงแต่ผมคิดว่ามีปรากฏการณ์บางอย่างที่เป็นบทบาทใหม่น่าสนใจเพิ่มขึ้นมา และอยากจะสังเกตไว้ เพราะคิดว่าเป็นความจริงใหม่ที่พึงติดตาม แน่นอน อาจารย์อาจเห็นต่างจากผม แต่ความต่าง ไม่จำต้องแปลว่าไม่เห็นด้วยหรือคัดค้านเสมอไปนะครับ

ระลึกถึงและปรารถนาดี
เกษียร เตชะพีระ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ