“TDRI” องค์กรแห่งปี

ปี2012-12-31

เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง ยังเอากระดูกมาแขวนคอ?

ย้อนไปในอดีต “ทีดีอาร์ไอ” เกิดขึ้นมาพร้อมกับการเร่งขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งรัฐบาลหลายชุดให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศ บทบาทของทีดีอาร์ไอก็เช่นเดียวกัน ให้ความสำคัญกับสถานะทางเศรษฐกิจมากกว่าด้านอื่นๆ มองผิวเผินองค์กรนี้จึงมีภาพของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผ่านมา 20 กว่าปี หลายสิ่งหลายอย่างคงได้พิสูจน์แล้วว่า ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยที่แม้จะผ่านร้อนผ่านหนาว และรอดพ้นวิกฤติยืนหยัดมาได้ และยืนอยู่แถวหน้าของอาเซียนนั้น ไม่ได้ทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปทั้งองคาพยพ ดังที่เห็นได้ว่า เรายังมีทั้งปัญหาคอรัปชั่น การย่ำอยู่กับที่ทางการเมืองที่มีโฉมหน้าเป็นประชาธิปไตย แต่เนื้อหาแท้จริงภายในก็คือ การเมืองแบบเก่าๆ การสร้างอิทธิพลทางการเมืองโดยอาศัยบันไดประชาธิปไตยปีนขึ้นมาไขว่คว้าซึ่งอำนาจ แทบไม่แตกต่างจากการปกครองแบบเผด็จการ โดยมีความคิดความเห็นของประชาชนเป็นฐานของอำนาจ นำไปสู่ความขัดแย้งการเมืองรุนแรงครั้งประวัติศาสตร์ไทยอีกครั้งหนึ่งในปี 2553

ทั้งหมดนี้ จึงทำให้ทีดีอาร์ไอในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ เบี่ยงเบนทิศทางงานวิจัยไปให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาของประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานของการพัฒนาคุณภาพของคนในชาติ

ตลอดปี 2555 เป็นปีที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางการเมือง และปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ที่ถูกตั้งข้อสงสัยถึงความไม่โปร่งใส โดยเฉพาะนโยบายประชานิยมสุดขั้ว เช่น โครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ที่คาดการณ์กันว่าจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศหลายแสนล้านบาท ทั้งจากการขายออกแบบยอมขาดทุน และการคอรัปชั่นโดยแวดวงคนในรัฐบาลเอง

การประมูลคลื่นความถี่ 3 จี 4.16 หมื่นล้านบาท โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีการฮั้วประมูล สมรู้กันระหว่าง กสทช.กับบริษัทเอกชน

ทั้ง 2 กรณีนี้ หากพิจารณาตามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบตามกฎหมาย เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), ศาลปกครอง ทำหน้าที่ได้ในระดับหนึ่ง แต่มีบางองค์กรทำหน้าที่เหมือนปิดทองหลังพระ คอยให้ความรู้กับประชาชน มีงานวิจัยแสดงตัวเลขให้เห็นถึงข้อเท็จจริง ทั้งโครงการรับจำนำข้าว หรือการประมูลคลื่นควมถี่ 3 จี นั่นคือทีดีอาร์ไอ

การออกมาพูดถึงข้อเท็จจริง ทำให้ทีดีอาร์ไอตกเป็นจำเลยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์มาโดยตลอด ถูกกล่าวหาว่าบิดเบือนข้อมูลข้อเท็จจริง เล่นงานรัฐบาลเพื่อหวังผลทางการเมือง หรือช่วยเหลือการเมืองฝ่ายตรงข้าม บางครั้งไปไกลถึงขั้นกล่าวหาว่ารับงานจากอำมาตย์ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทีดีอาร์ไอภายใต้การดูแลของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ที่มีตำแหน่งเป็นประธานคนล่าสุด กลับไม่พบความทะเยอทะยานทางการเมืองแม้แต่น้อย

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งดังกล่าวเมื่อช่วงเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา พูดอย่างถ่อมตนกับไทยโพสต์ หลังทราบว่ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ยกให้สถาบันทีดีอาร์ไอเป็น “องค์กร-บุคคลแห่งปี 2555”

“ขอบคุณไทยโพสต์ที่ให้เกียรติทีดีอาร์ไอเป็นองค์กรแห่งปี เราเป็นองค์กรเล็กๆ ที่ไม่ใช่ทำอะไรสำเร็จด้วยตัวคนเดียวได้ ก็อยากเชิญชวนนักคิด นักวิชาการต่างๆ ในสังคมไทยที่อยู่ในมหาวิทยาลัยและนอกมหาวิทยาลัย ให้มาช่วยกันคิดทิศทางของประเทศ และมองให้ไกลมากกว่าความขัดแย้งทางการเมือง ณ ปัจจุบัน มองให้ไกลไปอีก 10-20 ปีข้างหน้า แล้วผมคิดว่าเราจะหาทางออกหาจุดร่วมด้วยกันได้”

——————–
“วิจัย” เพื่อพัฒนาชาติ

ประเทศกำลังพัฒนาที่พยายามถีบตัวขึ้นเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ล้วนกำหนดวิสัยทัศน์ของประเทศเอาไว้ชัดเจน อย่างเช่น มาเลเซีย ที่มีวิสัยทัศน์ 2020 แม้ประเทศไทยเองก็ได้ประกาศวิสัยทัศน์ 2020 เอาไว้โดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์เช่นกัน แต่ยังไม่พบวี่แววว่าเราจะก้าวไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในอีก 8 ปีข้างหน้าได้เลย ผิดกับมาเลเซียที่แซงไทยและเดินเข้าใกล้จุดหมายเข้าไปทุกที

ความต่างคืออะไร? นักวางยุทธศาสตร์ในโลกนี้ต่างรู้ดีว่า การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะก้าวขึ้นเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้นั้น จะต้องมีส่วนประกอบสำคัญนั่นคือ “งานวิจัย”

เรามักพูดถึงการพัฒนาของประเทศ โดยดูจากอัตราการเพิ่มของ GDP เราพยายามเป็น “เสือตัวใหม่แห่งเอเชีย” โดยปั่นตัวเลขทางเศรษฐกิจ นั่นเป็นความผิดพลาดมาโดยตลอด เพราะเราละเลยงานวิจัยและค้นคว้า (Research and Development)

จากรายงานของธนาคารโลก (World Bank) เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายด้านงานวิจัยและพัฒนาเทียบเป็นสัดส่วนของ GDP พบว่า

สวีเดน 3.74%
ญี่ปุ่น 3.4%
เกาหลี 3.27%
สหรัฐอเมริกา 2.82%
สิงคโปร์ 2.27%
ออสเตรเลีย 2.06%
จีน 1.42%
มาเลเซีย 0.64%
ไทย 0.25%
มองโกเลีย 0.21%

จะเห็นว่า ประเทศไทยให้ความสนใจเรื่องงานวิจัยนอกมาก นี่ยังไม่รวมไปถึงงานวิจัยที่มีน้อยอยู่แล้วซ้ำยังด้อยคุณภาพจำนวนมาก ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ อาทิ นักวิจัยของไทยมีน้อย, รัฐบาลจัดงบประมาณให้ไม่เพียงพอ เพราะมองว่าการทุ่มงบประมาณไปกับนโยบายประชานิยมจะสร้างคะแนนนิยมได้มากกว่า ประเทศที่อุดมไปด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างประเทศไทย จึงต้องล้าหลังในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ

เราจึงเป็นประเทศผู้ซื้อมากกว่าจะเป็นประเทศผู้ขาย

เมื่อรู้ถึงความสำคัญของงานวิจัยแล้ว จะเข้าใจทีดีอาร์ไอมากขึ้น เพราะทีดีอาร์ไอเป็นหน่วยงานที่ทำงานในลักษณะเดียวกันนี้

งานวิจัยของทีดีอาร์ไอเน้นไปที่ เศรษฐกิจมหภาค, เศรษฐกิจรายสาขา, ระบบกำกับดูแลและกฎหมาย, เศรษฐกิจระหว่างประเทศ, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ทรัพยากรมนุษย์, โครงสร้างพื้นฐาน, ระบบสวัสดิการสังคม ซึ่งล้วนมีความจำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศทั้งสิ้น

มาดูกรอบความคิด บทบาท และวิธีการของของทีดีอาร์ไอผ่าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ว่าทำไมงานของทีดีอาร์ไอถึงได้รับการยอมรับในความเที่ยงตรง และเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างแท้จริง

– ในฐานะผู้นำองค์กร มีทิศทางนโยบายอย่างไร?

สิ่งที่เราทำมามีทั้งเหมือนเดิมและอาจเปลี่ยนไป สิ่งที่เหมือนเดิมคือ ต้องเน้นงานวิจัยเชิงนโยบายที่มีคุณภาพ สอดคล้องหลักวิชาการ และมีข้อมูลสนับสนุนครบถ้วนรอบด้าน วิเคราะห์แบบตรงไปตรงมา ส่วนตรงนี้ก็เหมือนเดิม ทีดีอาร์ไออยู่มา 28-29 ปีแล้ว ตรงนี้เป็นคุณภาพหลักที่ต้องไม่เปลี่ยน ไม่ว่าเวลาจะเปลี่ยนไปอย่างไร

ส่วนที่ผ่านมาที่เรายังเห็นว่าทำได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ คือการตอบโจทย์ที่เห็นว่าเป็นโจทย์ที่เล็กเกินไป และไม่ทันกับความต้องการของสังคม เวลานี้ที่ประเทศมีปัญหาเยอะมา ถ้ามีหน่วยงานเยอะๆ แบบทีดีอาร์ไอหลายแห่ง ก็คงไม่เดือดเนื้อร้อนใจเท่าไหร่ คือเราก็ทำโจทย์ปัญหาเล็กๆ ไปได้ แล้วให้อีกหน่วยงานช่วยทำอีกหลายปัญหา

แต่ตอนหลังวงการวิชาการค่อนข้างซบเซาไป มีการแตกแยกทางความคิด คนมองปัญหาเฉพาะหน้ากันเยอะ ไม่ได้คิดเรื่องใหญ่ๆ กัน ภาคราชการเองก็มีหน่วยงานที่มองภาพรวมใหญ่ แต่ไม่ได้มองภาพรวมใหญ่มากเหมือนในอดีต

เราก็เลยคิดว่า เราจะขอเป็นหน่วยงานหนึ่งที่จะช่วยคิดโจทย์ของประเทศใหญ่ๆ เช่น ทิศทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งเราคิดว่าทิศทางการพัฒนาประเทศที่ผ่านมามีปัญหาเยอะมาก แล้วคิดว่าประเทศไทยไปแบบนี้ต่อไม่ได้ จะหวังพึ่งค่าแรงราคาถูก การส่งออก การพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองน่าจะถึงทางตันแล้ว ปัญหาเยอะ เกิดความเหลื่อมล้ำของประชาชนกลุ่มต่างๆ เพราะไปกดค่าแรงไว้ แล้วค่าแรงเป็นส่วนสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของสังคม ไปกดค่าแรงไว้ ไม่ขึ้นค่าแรงให้ได้ เพราะว่าจะไม่สามารถผลิตสินค้าบริการไปขายได้ในตลาดโลกได้มูลค่าดี แบบนี้ต่อไปมันก็จะไปไม่ได้ ก็อยากช่วยคิดร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ในการหาโมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศ จะช่วยนำเสนอให้สังคมพิจารณากัน

แล้วก็มีอีก 2-3 เรื่องที่พ้นจากการเมือง คือไม่ว่าพรรคไหนก็พูดคล้ายๆ กัน คืออยากจะลดการทุจริตคอรัปชั่น อยากทำให้ภาครัฐมีความโปร่งใสมากขึ้น ก็อยากช่วยภาครัฐทำการวิจัย เพื่อช่วยสนับสนุนในการลดการทุจริตคอรัปชั่นในภาครัฐ ทำให้ภาครัฐไม่เป็นอุปสรรคในการทำให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจ ขณะเดียวกันก็ทำให้ประชาชนไม่ถูกเอาเปรียบรังแก เพราะการคอรัปชั่นทำให้เกิดปัญหาเยอะมาก

นอกจากนี้ ที่เราจะทำและคิดไว้และเป็นเรื่องที่พ้นจากการเมืองเช่นกัน ก็คือเรื่องการปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพดีขึ้น ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาลดน้อยลง ทุกวันนี้เรามีนักเรียนที่เรียนเก่งส่วนหนึ่ง แต่ก็มีโรงเรียนที่คุณภาพไม่ถึงเกณฑ์เยอะ แล้วก็ทำให้ประชาชนไทยไม่มีโอกาสไต่เต้าทางสังคม ในระยะยาวก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำและเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาเยอะ

อีกเรื่องหนึ่งที่เราสนใจก็คือ การเฝ้าระวังระบบเศรษฐกิจไม่ให้เกิดปัญหาจากการสร้างหนี้ ที่เกิดจากความไม่รับผิดชอบทางการคลัง

คิดว่ามีแนวโน้มใหม่ที่น่าเป็นห่วงในระบบการเมืองไทย ก็คือทุกพรรคการเมืองพยายามหาเสียงเพื่อเอาใจผู้ลงคะแนน โดยการลดแลกแจกแถมเยอะมาก
อย่างผู้จะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพรรคหนึ่ง บอกว่าจะให้ประชาชนโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถบีอาร์ทีไม่ต้องเสียเงิน ทั้งที่บีทีเอสตอนนี้คนก็ขึ้นก็เต็มอยู่แล้วโดยเฉพาะช่วงเร่งด่วน

การที่ไปบอกจะลดราคา-ให้ขึ้นฟรี ก็ออกไปในทางประชานิยม มันจะก่อให้เกิดปัญหาเยอะมาก ทั้งที่มีคนพร้อมจะจ่ายพร้อมจะนั่งอยู่แล้ว แต่จะไปทำให้เป็นบริการที่ฟรี ทำให้เกิดความแออัด แล้วในที่สุดก็จะเกิดปัญหา ไม่มีเงินทุนที่จะมาขยายบริการได้อีกต่อไป

มีแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง กับการที่การเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่นมุ่งไปในทางนี้กันหมด ไม่มีคนบอกว่าอยากจะปฏิรูปภาษีให้เกิดความเป็นธรรม เพราะกลัวคนออกคะแนนเสียงเลือกตั้งจะไม่เลือก ทุกคนพร้อมจะแจกเงินให้ประชาชนหมด

คำถามก็คือภาษีก็ไม่ขึ้น เงินที่จะแจกก็เยอะขึ้น แล้วคุณจะเอาเงินที่ไหนมาแจก ของพวกนี้ถ้าทำต่อไปเรื่อยๆ จะเกิดวิกฤติ ทางเศรษฐกิจขึ้นได้ เราอยากมีส่วนช่วยในการคิดโจทย์ของปัญหาเหล่านี้ เราเป็นองค์กรที่ไม่ได้ใหญ่มาก อยากขอทำเรื่องที่เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ที่คุยกับคนทุกคนแล้วเห็นพ้องต้องกันหมด

– มาวันนี้บทบาทของทีดีอาร์ไอ หลังจากนี้คือคงต้องมาจากโซนนักวิชาการ หรือต้องปรับบทบาท ไม่ใช่เป็นแค่นักวิชาการที่อยู่บนหอคอย?

การเป็นนักวิชาการบนหอคอยก็มีประโยชน์ เพราะหอคอยเป็นหอสูง มองเห็นได้ไกล สามารถช่วยเตือนภัยให้กับสังคมได้ แต่ก็ต้องมีคนที่ทำงานที่ไม่ได้อยู่บนหอคอยด้วย ต้องไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนที่อยากช่วยกันพัฒนาประเทศทุกๆ กลุ่ม ของเราเป็นสถาบันวิจัยด้านนโยบายเศรษฐกิจ ไม่ใช่การเมืองโดยตรง เราก็อยากจะทำให้การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงและปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจริงๆ เราก็ยังอยากจะไปสัมผัสปัญหา ไปฟังเสียงของคนกลุ่มต่างๆ นักธุรกิจ ผู้กำหนดนโยบาย ประชาชนทั่วไปให้มากขึ้น

ที่ผ่านมาก็มีกระบวนการเหล่านี้อยู่ แต่ต่อจากนี้ไปกระบวนการเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับคนในสังคมมากขึ้น อย่างโจทย์ 3-4 ข้อที่ยกมาข้างต้น ก็ได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับคนจำนวนมาก และระหว่างการทำวิจัยก็ไม่ใช่ว่ารอจนเมื่อวิจัยเสร็จแล้วบอกว่านี่คือผล แต่เราก็จะมีกระบวนการแลกเปลี่ยนและสื่อสารกับสังคมอยู่อย่างต่อเนื่อง

– ฟังจากที่บอก ดูเหมือนทีดีอาร์ไอเข้ามาจับเรื่องการคอรัปชั่นมากขึ้น?

เรื่องปัญหาทุจริตคอรัปชั่น รัฐบาลที่ผ่านมาและรัฐบาลปัจจุบันพูดเหมือนกันว่า คอรัปชั่นเป็นปัญหาและอยู่ในนโยบายรัฐบาล ล่าสุดที่มีโพลสำรวจออกมาว่า สงสารนายกรัฐมนตรีที่ไม่สามารถปราบหรือลดคอรัปชั่นได้ ซึ่งจริงๆ แล้วผมคิดว่าการจะลดหรือปราบคอรัปชั่น ไม่ใช่จะทำได้โดยใช้อำนาจรัฐ คือไม่ใช่ใครเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี แล้วไปสั่งให้ลดคอรัปชั่นได้อย่างเดียว

ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นเป็นปัญหาที่ยาก ดังนั้นต้องมีความรู้ที่เกิดขึ้นจากการวิจัย เราจึงคิดว่าจะต้องมีการวิจัยเรื่องคอรัปชั่น ให้มันทันกับวิวัฒนาการของคอรัปชั่นที่มันไปไกลแล้ว เราก็อยากเอาข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์และสื่อสารกับประชาชน เพราะอาจมีประชาชนจำนวนหนึ่งไม่คิดว่าการคอรัปชั่นจะมากระทบกับตัวเอง คือทำให้ตัวเองเสียประโยชน์

มันยากมากที่จะตีความกับโพลที่บอกว่า ประชาชนยอมรับได้กับการคอรัปชั่น ถ้าการคอรัปชั่นนั้นประชาชนได้ประโยชน์ มันแปลว่าอะไร มันอาจแปลได้ว่า เมื่อมีการคอรัปชั่นแล้วตัวเองก็เสียหายด้วย เงินงบประมาณของรัฐที่รั่วไหลไปเป็นเงินของใครก็ไม่รู้ ไม่ใช่เงินของตัวเอง เราก็อยากทำพวกนี้แล้วสื่อสารออกมาเป็นระบบให้คนเข้าใจ กำลังทำอยู่ แล้วคิดว่าทุกรัฐบาลที่บอกอยากลดคอรัปชั่นก็น่าจะไปทางเดียวกัน

– ที่ผ่านมา หลายแนวคิดหลายข้อเสนอที่สถาบันเสนอไป เช่น เรื่องรับจำนำข้าว, 3 จี เสนอไปแล้วฝ่ายการเมืองหรือผู้เกี่ยวข้องก็ไม่ตอบรับ แล้วนับจากนี้จะขับเคลื่อนข้อเสนอ หรืองานวิจัยของสถาบันอย่างไรให้มีผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น?

ผมว่าเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลไหนๆ ก็ต้องทำตามความต้องการของประชาชน หากเราคิดว่าสิ่งไหนที่จะมีผลทำให้ประเทศไทยไปข้างหน้าได้ไม่สะดุด ก็คือต้องให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนโยบายมากขึ้น

เพราะฉะนั้นเรื่องรับจำนำข้าว เรื่องการประมูล 3 จี สิ่งที่เราพยายามทำทั้งที่เราไม่มีอำนาจไม่มีอะไรเลย แต่เราเป็นองค์กรวิชาการ สิ่งที่เราทำได้คือ เราศึกษาข้อมูลแล้วก็สื่อสารกับประชาชน เราไม่มีอำนาจใดๆ จะไปทำให้รัฐบาลไปทำอะไรได้ เราเป็นองค์กรวิชาการเล็กๆ แห่งหนึ่ง แต่เราเชื่อว่าถ้าสิ่งที่เรานำเสนอ สิ่งที่เราวิเคราะห์ มีความถูกต้องบนข้อมูลที่เป็นจริง แล้วสื่อสารให้สาธารณชนเข้าใจ

สุดท้ายระยะยาว นโยบายของประเทศมันเปลี่ยนได้ รัฐบาลไหนๆ ก็คงไม่ค่อยพอใจคนที่เห็นต่าง โดยเฉพาะกับรัฐบาลปัจจุบัน รัฐบาลอื่นๆ ก่อนหน้านี้ก็เคยมองเราด้วยความเข้าใจผิด ว่าเราเป็นฝั่งที่ไม่ชอบรัฐบาล

จริงๆ แล้ว ทีดีอาร์ไอไม่ได้มีหน้าที่ไปสนับสนุนรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง สิ่งที่เราทำคือ เราจะวิเคราะห์ดูว่านโยบายแต่ละนโยบายนั้น เป็นนโยบายที่ดีหรือไม่ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการชอบหรือไม่ชอบตัวบุคคลในรัฐบาล หรือชอบรัฐบาลแต่ละชุดๆ

– ฝ่ายการเมืองมักผลักนักวิชาการ หรือคนที่เห็นแตกต่างจากรัฐบาลว่าเป็นคนมีกลุ่มมีค่าย เสนออะไรก็บอกเป็นคนของฝั่งนั้นบ้าง ฝั่งตรงข้ามบ้าง?

ธรรมชาติของนักการเมือง เขาอยู่ในระบบที่มันต้องมีการต่อสู้กันเยอะ ดังนั้นจึงมีความโน้มเอียงอยู่แล้ว ที่เขาจะมองว่าคนที่เห็นต่างกับเขาเป็นฝ่ายตรงกันข้าม เราไม่ได้เพิ่งมาเจอกับรัฐบาลนี้รัฐบาลเดียว แต่เราก็เจอมาหลายรัฐบาล แต่ผมคิดว่าเป็นเหมือนกัน สื่อมวลชนก็เหมือนกัน นักวิชาการก็มีหน้าที่ต้องตรวจสอบต้องติดตาม วิเคราะห์นโยบายรัฐบาลที่จะมากระทบกับประชาชน

– มีเสียงสะท้อนกลับมาว่า การท้วงติงหรือตรวจสอบนโยบายอะไรต่างๆ ในรัฐบาลชุดนี้ของทีดีอาร์ไอ ทำไมไม่เห็นมีบ้างในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการบอกว่าเป็นเพราะทีดีอาร์ไอเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เลยทำให้ทีดีอาร์ไอตั้งแง่อะไรหรือเปล่า?

สมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว ทีดีอาร์ไอก็มีการท้วงติงรัฐบาล อย่างผมเองก็ท้วงติงเรื่องนโยบายสัญญาโทรคมนาคม ว่าน่าจะมีความไม่โปร่งใส ผมเรียกว่าเป็นนโยบายสัมปทานจำแลง เขียนบทความออกมา หรือนโยบายแจกเงินสองพันบาทที่บอกจะทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์โดยอาจารย์อัมมาร สยามวาลา แต่รัฐบาลแต่ละรัฐบาลอาจมีปฏิกิริยาต่อการวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ค่อยเหมือนกัน

– มองยังไงกับที่คนเรียกทีดีอาร์ไอเป็นพวกขาประจำ?

สิ่งที่อยากให้ฟังอยากให้คิด คือไม่ใช่ดูว่าใครพูด องค์กรใดพูดอย่างเดียว แต่ให้ดูเนื้อหาและตรวจสอบดูว่า เนื้อหาที่พูดมาสมเหตุสมผลหรือไม่ อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงหรือไม่ เกี่ยวข้องและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของใคร ผมคิดว่าประเทศไทยอยู่ในสภาพที่เดินไปข้างหน้าได้ยากมาก เพราะว่าแทนที่คนจะดูเนื้อหาว่าสารเป็นอย่างไร แต่กลับไปพูดแต่เรื่องคนส่งสาร คนรับสารกันหมด ไปบอกว่าคนที่พูดนี้สีอะไร ผมคิดว่านี่คือความสูญเสียที่เกิดขึ้นที่ใหญ่มากจากความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา

เป็นเรื่องจริงที่ทีดีอาร์ไอเกิดในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี โดยการก่อตั้งของนายเสนาะ อูนากูล (อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและอดีตรองนายกรัฐมนตรี) ที่เป็นเลขาธิการสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเวลานั้น วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งทีดีอาร์ไอก็คือ เห็นว่าสภาพัฒน์ควรมีหน่วยงานที่มาสนับสนุนการทำวิจัยให้กับสภาพัฒน์ที่เป็นหน่วยงานวางแผน และมีงานประจำที่ต้องทำอยู่เยอะมาก ไม่มีเวลาที่จะสามารถไปทำวิจัยเพื่อมองปัญหาไกลๆ ได้ ไม่ปฏิเสธว่าเรามีกำเนิดมาแบบนั้น ภายใต้การเมืองแบบนั้น ทีดีอาร์ไอก็มีข้อเสนอนโยบายต่างๆ ออกไป

ซึ่งการเสนอนโยบายตอนนั้นก็ง่าย เพราะว่าอาจารย์เสนาะก็เป็นเลขาธิการสภาพัฒน์ บางเรื่องที่เสนอไปอาจารย์เสนาะก็สามารถส่งผ่านไปถึงรัฐบาล คณะรัฐมนตรีได้โดยตรง นโยบายก็ปฏิบัติได้ แต่สถานการณ์การเมืองเวลานี้ได้พัฒนามาจากยุคประชาธิปไตยมามากแล้ว

เราก็เข้าใจในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แล้วเราก็เข้าใจอีกว่าในระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย สถาบันวิชาการอย่างเราก็มีหน้าที่ที่สำคัญ ซึ่งไม่ใช่แค่การสื่อสารกับผู้กำหนดนโยบายอย่างเดียว เพราะว่านโยบายไม่ได้ถูกกำหนดจากผู้กำหนดนโยบาย หรือนักการเมืองเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่นโยบายต่างๆ ต้องเกิดขึ้นจากความต้องการของประชาชน

สิ่งสำคัญคือ เราต้องสื่อสารกับประชาชนให้มากขึ้น เราก็ปรับตัวตลอดเวลาตามบริบทการเมือง เศรษฐกิจ

– การแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการเวลานี้ ก็ถูกคนในสังคมบางส่วนนำไปแบ่งค่ายแบ่งสีกันหมด?

ก็ทำให้การแสดงความเห็นใดๆ ตอนนี้ทำได้ยากมาก และเวลาทำอะไรก็ถูกเข้าใจผิดได้ง่ายๆ ซึ่งผมคิดว่าเป็นบรรยากาศที่ไม่สร้างสรรค์เท่าไหร่ ตัวผมที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการประมูล 3 จีของ กสทช. ก็ถูกเหมารวมไปว่าเป็นคนที่จะมาล้ม 3 จี มาขวางการพัฒนาของประเทศ ทั้งที่หากดูบทสัมภาษณ์และการเขียนบทความ ก็ได้บอกมาตลอดว่าอยากเห็น 3 จีเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ก็อยากเห็นคนที่ต้องรับผิดชอบกับการทำให้ประเทศเสียหาย เราไม่คิดว่าเรื่องที่ผิดปกติมากมายอย่างเรื่องการประมูล 3 จี ถ้าสังคมไทยให้ผ่านไปโดยไม่มีใครต้องรับผิดชอบเลย แบบนี้ต่อไปเรื่องอะไรต่างๆ ก็ย่อมเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะเรื่องที่ผิดปกติ เพราะครั้งนี้ถือเป็นการผิดปกติที่ชัดยิ่งกว่าชัดอีก ว่าเป็นการประมูลแค่ 3 รายแล้วชิงใบอนุญาตกัน 3 ใบอนุญาต ประชาชนทั่วไปก็มองเห็น แต่การแสดงออกเรื่องแบบนี้ก็กลับถูกตีขลุม ถูกเหมาว่าต้องการล้ม 3 จี ที่ไปกันใหญ่เลยก็คือบอกว่าจะล้มรัฐบาล ทั้งที่เรื่อง 3 จีไม่ได้เกี่ยวอะไรกับรัฐบาลเลย 3 จีเป็นเรื่องของ กสทช.ที่เป็นหน่วยงานอิสระ

ผมรู้สึกว่าตอนนี้คนไทยมีความอดทน ที่จะฟังเหตุฟังผลของแต่ละฝ่ายกันน้อยลง และตัวนี้คือสิ่งที่เป็นห่วงมากว่า บรรยากาศที่จะถกเถียงกันในสังคมเวลานี้ มีความอดทนกันน้อยมาก ไม่ได้ฟังกันให้ดีๆ แต่มองเหมารวม เชื่อว่าพวกนี้เป็นพวกไหน มองว่าจะต้องมีวาระซ่อนเร้นอะไรต่างๆ บรรยากาศเหล่านี้เป็นบรรยากาศที่มีปัญหาความขัดแย้งการเมืองของสีเสื้อ

ผมก็ยังไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมคู่ขัดแย้งการเมืองสองสีเสื้อถึงไม่สามารถทำงานด้วยกันได้ ฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าตัวเองสนับสนุนประชาธิปไตย อีกฝ่ายหนึ่งสนับสนุนนิติรัฐ นิติธรรม ธรรมาภิบาล สองเรื่องนี้ไม่ได้มีอะไรขัดกันเลย แต่ทำไมเราต้องถูกบังคับให้เลือกว่าจะเอาประชาธิปไตย ไม่เอานิติรัฐ ธรรมาภิบาล หรือจะเอาธรรมาภิบาลก็ต้องไม่เอาประชาธิปไตย ทั้งที่สองเรื่องนี้ต้องไปด้วยกัน เปรียบเสมือนเป็นคนละหน้าของเหรียญเดียวกัน

สิ่งที่สังคมไทยต้องไปให้ถึงก็คือ เราต้องการประชาธิปไตยที่อยู่บนฐานของนิติรัฐ นิติธรรม ทุกอย่างอยู่ภายใต้กติกา

– แล้วจะก้าวข้ามพ้นการติดหล่มปัญหาที่เกิดขึ้นตรงนี้ได้อย่างไร?

ความขัดแย้งทางการเมือง ผมคิดว่าต้องช่วยกันสื่อสารกันให้ชัดว่า มันไม่จำเป็นต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง มันสามารถไปด้วยกันทั้งสองทางได้ ซึ่งผมคิดว่าอยากเชิญชวนเพื่อนนักวิชาการด้วยกัน อยากให้ทุกฝ่ายเปิดใจกันให้กว้างๆ มองประเทศไปให้ไกลๆ ในฐานะที่เราเป็นหน่วยงานวิจัยด้านเศรษฐกิจ ท่ามกลางบรรยากาศที่ขัดแย้งกันทางการเมืองแบบนี้ ได้ก่อให้เกิดความเสียหายมากมายตามมา

ตอนนี้คนไม่ได้สนใจอีกแล้วว่า มีการทุจริตคอรัปชั่น เรื่องการปฏิรูปการศึกษา การพัฒนาประเทศ ไม่ได้สนใจปัญหาใหญ่ๆ ของประเทศ เพราะว่าติดหล่มอยู่ที่ว่าต้องเอาแพ้เอาชนะกันในระยะสั้นๆ เช่น มีการรณรงค์ต่อต้านการคอรัปชั่นของกลุ่มภาคีต่อต้านคอรัปชั่น ก็ยังถูกตั้งข้อสงสัยอีกว่าเป็นกลุ่มการเมืองอีกหรือเปล่า

ความขัดแย้งทางการเมืองไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายทางการเมืองอย่างเดียว แต่ทำให้ทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนี้พร้อมที่จะละเลยปัญหาที่เกิดขึ้น เพียงเพราะว่าคนที่เกี่ยวข้องถูกมองว่าเป็นพวกของใคร ถ้าเป็นพวกของเรา เราก็ปิดตายอมรับได้ แต่ถ้าเป็นพวกของเขา ถ้าทำถูกเราก็สงสัยไว้ก่อนว่ามีวาระซ่อนเร้น เรื่องแบบนี้ก่อให้เกิดความเสียหายที่ลุกลามไปลึกมาก

– นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ที่ทีดีอาร์ไอโฟกัสติดตาม นอกจากเรื่องจำนำข้าวแล้วมีอะไรอีกบ้างที่เป็นห่วง หรือต้องการมีข้อเสนอแนะไป?

จริงๆ แล้วสิ่งที่เราเป็นห่วง ไม่ใช่นโยบายรัฐบาลปัจจุบัน แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือ ทิศทางของการได้มาซึ่งการเข้าสู่อำนาจรัฐ ที่ใช้นโยบายที่ไม่มีความรับผิดชอบทางการคลังในการไปหาเสียงกับประชาชน เช่น นโยบายลดแลกแจกแถมต่างๆ ที่แม้จะเริ่มต้นโดยพรรคการเมืองบางพรรค แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นมรดกของการเมืองไทยเรียบร้อยไปแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่านโยบายของรัฐบาลปัจจุบันบางนโยบาย ก็คือเรื่องของกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะของประเทศไทย ที่ทุกคนซื้อใจผู้ออกเสียงเลือกตั้ง โดยใช้นโยบายที่ไม่มีความรับผิดชอบทางการคลัง และจะทำให้เกิดวิกฤติในระยะยาวได้แล้ว นโยบายแบบนี้จะเป็นนโยบายที่จะทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงในการเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจอาจจะเกิดจากข้างนอก เช่น วิกฤติการเงินระหว่างประเทศ แต่ถ้ามากระทบประเทศไทยแล้วภาครัฐไม่มีความพร้อม มีหนี้มีสินเยอะ ภาคเอกชนไม่มีความพร้อม เพราะขาดความสามารถในการแข่งขันหรือไปสร้างหนี้ไว้เยอะ ก็มีโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยง

มีงานวิชาการที่ทำการศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์การเกิดวิกฤตการณ์ในรอบ 700-800 ปีในระดับโลก พบว่าเกือบทุกกรณีเกิดขึ้นจากการสร้างหนี้ แต่ธรรมชาติของกระบวนการทางการเมืองมองปัญหาระยะสั้น ผลักต้นทุนของปัจจุบันไปอยู่ในอนาคตในระยะยาว และคนที่จะมาแบกรับก็คือรุ่นลูกรุ่นหลาน เรื่องการคลังเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด

ของไทยจะไม่เหมือนกรีซ แต่ละประเทศจะมีเงื่อนไขมีบริบทแตกต่างกัน แต่ปัญหาร่วมกันของการเกิดวิกฤตการณ์โลก ตั้งแต่อดีตหลายร้อยปีจนถึงวิกฤติใหม่ๆ เกิดจากการสร้างหนี้เกินตัวเกือบทั้งสิ้น

– แล้วจะให้ประชาชนเลิกการเสพติดนโยบายประชานิยมอย่างไร?

สิ่งที่เป็นโจทย์ยากและเรายังคิดไม่ตกก็คือ ฝ่ายการเมืองเองก็อยู่ในเกมที่มีเดิมพันสูงมาก การแพ้-ชนะกันที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป ทำให้ทุกฝ่ายพยายามทำนโยบายหาเสียงกับประชาชนโดยการลดแลกแจกแถม การแก้กับพรรคการเมืองคงไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งที่เราคิดว่าจะยั่งยืนถาวรกว่าคือ การสื่อสารกับประชาชนและผู้นำความคิดทางสังคม เช่น สื่อมวลชน เพื่อให้เห็นว่าแนวทางอย่างยั่งยืนในการแก้ปัญหาก็คือ การที่จะต้องเข้าใจถึงอันตรายของนโยบายการคลังที่ไม่มีความรับผิดชอบ.


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ไทยโพสต์ วันที่ 30 ธันวาคม 2555 ในชื่อ “TDRI” องค์กรแห่งปี