อสมการของชาวนากับความยากจน โดย อัมมาร สยามวาลา

ปี2012-12-13

 “นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลนั้น ช่วย ‘ข้าว’ ไม่ได้ช่วย ‘ชาวนา’ คุณดันราคาข้าวขึ้นไป คุณต้องผลิตข้าวมาก คุณถึงจะได้มาก ผมพยายามเน้นอยู่ตลอดเวลาว่านโยบายที่มีต่อสินค้า มันเอาไปแก้ปัญหาความยากจนซึ่งเป็นปัญหาของบุคคลหรือของครอบครัวไม่ได้ มันคนละเรื่องกัน” – ดร. อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ

วิวาทะข้ามปีของประเทศที่ฝันว่าสักวันหนึ่งเราจะเป็นครัวโลก เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลก เป็นซาอุดิอาระเบียแห่งทุ่งข้าวสีทอง ฝันถึงขั้นอยากตั้งองค์กร OREC ขึ้นเพื่อเป็น OPEC (Organization of Petroleum Exporting Countries) แห่งบูรพทิศ โดยสอดคำว่า Rice เข้าไปแทน Petroleum คือ ปัญหาเรื่อง ข้าว ชาวนา และการจำนำ

ในสายตาคนทั่วไป ‘ความยากจน’ กลายเป็นสร้อยห้อยท้ายเกษตรกรผู้ทำนา จนกลายเป็นภาพจำติดหูติดตามานานนมว่า ‘ชาวนาผู้ยากจน’

เพื่อแก้สมการความจน โครงการ ‘จำนำข้าว’ ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงถูกนำเสนอขึ้นมาด้วยเป้าหมายขจัดความข้นแค้นให้มลายหายไปจากท้องทุ่ง

แต่ก่อนถอดสมการดังกล่าว ต้องย้อนมาทำความเข้าใจเรื่องภาษาไทยถึงความหมายของคำว่า  ‘จำนำ’ เสียก่อน

เคยมีคนเปรียบเทียบไว้ว่า หากซื้อทีวีมา 1,200 บาท โรงจำนำรับซื้อ 2,000 บาท…มีที่ไหนกัน ให้ราคาจำนำสูงกว่าราคาตลาด กับกรณีข้าว เจอราคานี้เข้าไป มั่นใจได้เลยว่าไม่มีชาวนาคนไหนกลับไปที่โรงสีเพื่อไถ่ข้าวตัวเองคืนมาแน่นอน ดังนั้น โดยสาระสำคัญแล้ว นโยบายนี้ถ้าเรียกให้ถูกควรจะเป็น ‘ขายฝาก’ มากกว่า

ความเห็นที่ไม่ลงรอยจึงเกิดระหว่างผู้คัดค้านที่บอกว่า นี่คือการควักเงินนับแสนล้านเพื่อแสดงการเกามั่วซั่ว โดยไม่ต้องสนใจว่าถูกที่คันหรือไม่ ขณะที่ผู้สนับสนุนก็โต้กลับว่า พวกที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะนักวิชาการไม่รักชาวนา เพราะราคาจำนำ 15,000 บาท คือปัจจัยสำคัญในการลืมตาอ้าปากของคนยากคนจน

หนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหญ่ที่ลงไปคลุกคลีกับเกษตรกร จนกระทั่งเข็นงานวิจัยระดับตำนาน ประมวลความรู้เรื่องข้าว ร่วมกับ วิโรจน์ ณ ระนอง เมื่อปี 2533 อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ยืนอยู่ในฟากที่ถูกกล่าวหาว่า ไม่รักชาวนา

ในวงวิชาการ อาจารย์อัมมารเป็นหนึ่งในผู้สถาปนาคำว่า ‘ยากจน’ ผูกติดกับชีวิตชาวนา แต่ ณ พ.ศ. นี้ เขาเห็นว่าคำนามที่มีสร้อยตามหลังแบบนั้นเป็นการมองชาวนาแบบโรแมนติกเกินไป เพราะชาวนาไม่ได้ยากจนหมดทุกคนอีกต่อไปแล้ว นักวิชาการผู้นี้จึงออกมาโต้นโยบายจำนำข้าว เพราะเห็นว่าผลประโยชน์ส่วนใหญ่ไม่ได้ตกกับชาวนายากจนเต็มเม็ดเต็มหน่วย อย่างที่เข้าใจกัน

WAY จึงขออนุญาตพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจประเด็นนี้กันชัดๆ สักครั้ง เพื่อสะสางความโรแมนติกเกี่ยวกับชาวนาไทยและความยากจน และไขความข้องใจว่าเงินที่คนจนควรได้ ลอยไปเข้ากระเป๋าใครบ้าง

ข้อมูลชาวนาไทย 2554 
จน ปานกลาง รวย รวม หน่วย
จำนวนคน 7.7 7.3 2.6 17.6 ล้านคน
จำนวนครัวเรือน 1.9 2.1 0.9 4.8 ล้านครัวเรือน
มูลค่าข้าวที่ผลิตได้ 126.1 239.6 202.7 568.4 พันล้านบาท
มูลค่าขาย (สุทธิ) ก่อนปรับราคา 75.9 181.9 172.6 430.4 พันล้านบาท
มูลค่าขาย (สุทธิ) หลังปรับราคา 102.3 242.6 229 573.9 พันล้านบาท
ส่วนเพิ่มหลังปรับราคา
มูลค่ารวม 26.4 60.7 56.4 143.5 พันล้านบาท
เฉลี่ยต่อคน 3,418 8,359 21,455 8,147 บาท/คน
เฉลี่ยต่อครัวเรือน 14,208 29,169 65,000 29,854 บาท/ครัวเรือน
ส่วนแบ่งส่วนเพิ่ม 18 42 39 100 %

ที่มา: มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) คำนวณจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน 2554 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

ข้อสมมุติ: เปรียบเทียบราคา มีนาคม 2554 กับ กันยายน 2555

ราคาซื้อข้าวสารเพิ่ม -1.69%

ราคาขายข้าวเปลือกเพิ่ม 32.11%

+ ที่เราต้องมีนโยบายต่างๆ มาช่วยเหลือชาวนา ก็มีต้นตอมาจากความยากจนของชาวนาเป็นหลัก จากที่อาจารย์ทำวิจัยเรื่องข้าวมาโดยตลอด ทราบไหมว่าทำไมเป็นชาวนาแล้วต้องยากจน

สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจ คือ ประเทศไทยหาชาวนาที่ทำนาเป็นหลักไม่ได้แล้ว แต่ไหนแต่ไรมา บางคนบอกว่าถ้าเป็นชาวนาจะอดตาย เพราะมันไม่พอกิน คือคุณต้องเข้าใจว่าชาวนาแบบที่ทำนาเป็นอาชีพหลักเต็มตัวน่ะไม่มีแล้ว

ถ้าคิดว่าเป็นอาชีพที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ของรายได้มาจากการทำนา แบบนั้นหายากมาก แทบไม่มีใครอยู่ได้ แม้กระทั่งกลุ่มที่ผมเรียกว่ารวยก็มีรายได้แค่ 40 เปอร์เซ็นต์จากการทำนา หรือเป็นชาวนา 40 เปอร์เซ็นต์ ถ้ายิ่งจนเปอร์เซ็นต์รายได้จากการทำนาก็ยิ่งน้อยลง อาจจะทำนาได้รายได้แค่ 30 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้น อย่าคิดว่าทำไมชาวนาถึงจน คนไทยที่อยู่ในชนบท ปีหนึ่งๆ มันมีวัฏจักรในการทำงาน มีฤดูกาลมากำหนดงานที่ทำ อย่างบางคนที่หมดนาแล้วเข้าเมืองไปขับแท็กซี ก็ไม่ได้เป็นชาวนาร้อยเปอร์เซ็นต์

สมัยเมื่อนานมากแล้ว ชาวนาอาจจะมีอาชีพเป็นชาวนา เพราะในช่วงปีหนึ่ง 6 เดือนเขามีงานทำ แต่อีก 6 เดือนไม่มีอะไรจะทำ แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็จะจับปลา หรือมีกิจกรรมต่างๆ ให้ทำ ถ้าคุณเป็นเกษตรกร โดยทั่วไปจะมีเวลาว่างเยอะ แต่เดี๋ยวนี้เขามีนาให้ทำสม่ำเสมอทั้งปีถ้ามีชลประทาน และถ้าพูดถึงครัวเรือน แต่ก่อนเราจะคิดว่าทั้งครัวเรือนทุกคนร่วมกันทำนา อันนั้นเป็นความคิดโรแมนติก เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว ลูกก็อาจจะออกไปทำงานข้างนอก ซึ่งทำให้บางครอบครัวถึงแม้จะไม่รวย แต่ก็จะจ้างคนมาช่วยทำนา แล้วเดี๋ยวนี้เราก็ใช้เครื่องจักรเครื่องกลกันหมด

‘อาชีพ’ ชาวนาเดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปเยอะ แต่เราก็ยังติดกับความคิดเดิมๆ กันอยู่

เท่าที่เห็นงานวิจัยทั้งใน TDRI และข้างนอกอีกประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ ก็ได้รู้ว่านอกจากทำนาแล้ว เกษตรกรก็ทำอาชีพนอกฟาร์มกันเยอะแยะ ไปรับจ้างบ้าง เปิดร้านขายของบ้าง ไม่ก็ทำอาชีพอย่างอื่น บางคนมีรถปิกอัพก็ตะลอนซื้อผลไม้จากทางใต้ขึ้นไปขายทางเหนือ เมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว ผมลงพื้นที่ไปเจอชาวนาครอบครัวหนึ่ง เหมือนที่ใครๆ เชื่อว่าเขาต้องจมปลักอยู่กับความยากจน แต่ไม่เลย เขาก็ไปรับจ้างทำหน้าต่างตามหมู่บ้าน คือ ทุกคนยุ่งมากกับงานการ ไม่ใช่ทำแต่นาทั้งปีทั้งชาติ

+ แต่มันก็น่าจะมีเหตุที่ทำให้คนติดภาพแบบนั้น?

ประเด็นแรกที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกัน คือ หนึ่ง ความยากจนมีจริง และความยากจนนั้นมาจากการทำนา และ สอง กลุ่มบุคคลที่ผมเรียกว่า ‘ชาวนา’ ผมให้คำจำกัดความไว้ว่า แม้จะปลูกข้าวได้ผลผลิตเพียง 1 กิโลกรัม ก็ถือว่าเป็นชาวนา

แต่ที่ระบุว่ามีชาวนาทั้งหมด 17.6 ล้านคน หรือ 4.8 ล้านครัวเรือน ไม่ได้หมายความว่าทุกคนในครัวเรือนจ้ำจี้จ้ำไชอยู่กับการทำนาแล้วไม่ทำอะไรอย่างอื่น เศรษฐกิจของครัวเรือนโดยเฉพาะในชนบทไทยมันซับซ้อนมาก เพราะมีแหล่งที่มาของรายได้หลายแหล่ง ถ้าคุณมีแหล่งที่มาของรายได้น้อย คุณก็มีเงินน้อย ถ้าคุณอยู่ในครัวเรือนที่ทำนาก๊อกแก๊กๆ ไปตามเรื่อง ไม่มีลูกหลาน หรือต้องรอลูกหลานส่งเงินมาให้ อย่างนั้นคุณก็จนแน่ๆ

+ เส้นแบ่งชาวนา จน – ปานกลาง – รวย มาจากที่ไหน

ตอนทำวิจัย ผมนิยามเอง โดยเอารายได้คนไทยทั้งประเทศมาขีดเส้น 30 เปอร์เซ็นต์ที่จนที่สุด พูดง่ายๆ คือจับเขาเข้าแถวกัน จากจนไปหารวย 30 เปอร์เซ็นต์แรกผมจะบอกว่าเป็นคนจน 30 เปอร์เซ็นต์บนสุดก็บอกว่าเป็นคนรวย ส่วน 40 เปอร์เซ็นต์ตรงกลางก็บอกว่าเป็นคนฐานะปานกลาง แล้วค่อยมาดูในแต่ละกลุ่มว่าทำนากี่คน

+ ปัญหาเรื้อรังที่ทำให้ชาวนายากจนคืออะไร หรือระบบการขายข้าวมีปัญหา ทำให้ชาวนามีรายได้น้อย จนรัฐบาลต้องเข้ามาแทรกแซง

ผมรู้สึกว่าการค้าข้าวของไทยไม่ได้มีปัญหาอะไรมาก ปัญหาใหญ่ที่เกิดกับชาวนาทุกระดับ แต่ชาวนาจนจะถูกกระทบกระเทือนมากกว่าคือ เกษตรกรรมโดยทั่วไปเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงมาก ทั้งในด้านผลผลิตที่ต้องพึ่งพาดินฟ้าอากาศ แต่ในบรรดาเกษตรกรรมทั้งหลาย ในแง่ผลผลิตทำนาถือว่าเสถียรที่สุด นอกจากจะทำนาน้ำฝนในเขตที่ค่อนข้างแห้งแล้ง อันนั้นความไม่แน่นอนย่อมมากกว่า และชาวนากลุ่มนี้มักจะจน ซึ่งนี่ไม่เกี่ยวกับการตลาด แต่เกี่ยวกับพื้นที่ที่คนอยู่ และแน่นอนว่าข้าวส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากที่เหล่านั้น อันนี้ต้องแยกแยะให้ดี

นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลนั้น ช่วย ‘ข้าว’ ไม่ได้ช่วย ‘ชาวนา’ คุณดันราคาข้าวขึ้นไป คุณต้องผลิตข้าวมาก คุณถึงจะได้มาก ผมพยายามเน้นอยู่ตลอดเวลาว่านโยบายที่มีต่อสินค้า มันเอาไปแก้ปัญหาความยากจนซึ่งเป็นปัญหาของบุคคลหรือของครอบครัวไม่ได้ มันคนละเรื่องกัน ถ้าคุณทำแบบนี้มันจะกลายเป็นคุณเอาเงินไปให้คนรวยเสียเป็นส่วนใหญ่

ตลอดมา กระบวนการผลิตข้าวจะไล่เลียงไป ตั้งแต่ขนข้าวเปลือกไปส่งโรงสี ก็ต้องผ่านกระบวนการเป่าข้าวให้แห้ง แต่ปกติชาวนาจะยอมให้โรงสีไปทำเอง โดยยอมให้หักค่าความชื้นไป แต่ในที่สุดก็ต้องขายข้าวให้โรงสี หลังจากสีข้าวเสร็จ โรงสีก็จะขนข้าวมาตลาดกลาง ซึ่งเป็นระบบตลาดที่ทำงานมาเป็นเวลานาน และก็ทำงานได้ รายได้ของเกษตรกรส่วนใหญ่ก็มาจากตลาดกลางที่ว่า

ประเทศไทยผลิตข้าวเปลือก 35 ล้านตันซึ่งสีแล้วได้ข้าวสารประมาณ 23 ล้านตัน ในจำนวนนี้เราส่งออกประมาณครึ่งหนึ่ง หรือราว 10 ล้านตัน เราบริโภคเองประมาณ 12-13 ล้านตัน ตีว่าส่งออกครึ่งหนึ่ง แล้วบริโภคในประเทศอีกครึ่งหนึ่งก็ได้ ซึ่งปริมาณข้าวที่เราส่งออกถือเป็นปริมาณส่วนใหญ่ และตรงนี้แหละเป็นตัวที่ทำให้เกิดความแกว่งของราคา เพราะเป็นตัวเลขที่ไม่สม่ำเสมอ ราคาที่เราได้จากการส่งออกขึ้นอยู่กับการผลิต

ความเสี่ยงอีกประการของเกษตรกร คือ ความแกว่งในเรื่องของราคา สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ผมก็เน้น และรัฐบาลก็ไปทำด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือเน้นปัญหาเรื่องความเสี่ยง ซึ่งวัดได้ด้วยความแกว่งของราคา

คุณบอกว่าฤดูที่แล้วขายข้าวได้ 12,000 แต่ฤดูถัดมาได้แค่ 8,000 อันนั้นจะเรียกว่าความเสี่ยงก็ได้ แต่ผมกำลังจะบอกว่าเวลาที่เกษตรกรลงมือปลูกข้าว จนกระทั่งถึงช่วงเก็บเกี่ยวและขายข้าว ราคาไม่ควรจะเปลี่ยนแปลงไปมากนัก เกษตรกรควรจะได้ความมั่นใจว่าจะได้ราคาเท่าไหร่ก่อนที่เขาจะตัดสินใจลงปุ๋ย จ้างคนมาทำ ใส่ input ต่างๆ เข้าไป หรือเขาอาจจะตัดสินใจไม่ลงข้าวก็ได้ถ้ามีทางเลือกอื่น เราควรจะลดความเสี่ยงตรงนั้น และนั่นคือสิ่งที่รัฐบาลอภิสิทธิ์นำไปทำ ซึ่งเป็นการ ‘ประกันราคาข้าว’

+ หมายความว่ามีการรับประกันราคาตั้งแต่ก่อนปลูกเลยใช่ไหม

ใช่ ที่ผ่านมาเกษตรกรปลูกข้าวเรียบร้อยจนจะเก็บเกี่ยวแล้ว รัฐบาลค่อยวิ่งแจ้นออกมาพยุงราคา ประกันราคา คือเราใช้ศัพท์กันมาเยอะแยะแล้ว จนมาเป็นรับจำนำข้าวในที่สุด

+ ถ้าราคาส่งออกมีผลทำให้ราคาข้าวในประเทศ แล้วปัจจัยที่ทำให้ราคาส่งออกเปลี่ยนหรือแกว่งคืออะไร

มันก็เกิดจากความผันผวนของหลายๆ ปัจจัยในตลาดโลก ซึ่งรัฐบาลพยายามจับเป็นประเด็น แต่ผมไม่แน่ใจว่าเขาเข้าใจวิธีการหรือเปล่า คือถึงแม้ว่าเราส่งออกประมาณ 10 กว่าล้านตัน ซึ่งถือเป็นส่วนแบ่งค่อนข้างใหญ่สำหรับตลาดซื้อขายข้าวในตลาดโลกที่มีอยู่ประมาณ 30 กว่าล้านตัน

เรียกว่าเราเป็นเบอร์หนึ่งเรื่องขายข้าวก็คงได้ แต่พอคิดว่าเราเป็นเบอร์หนึ่งปุ๊บ ไม่ได้แปลว่าเรามีอำนาจในตลาดโลกเหมือนอย่างประเทศซาอุฯหรือกลุ่ม OPEC ผมคิดว่าแม้เราจะรวมตัวกับผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อื่นๆ เช่น เวียดนาม อินเดีย และต่อไปคงเป็นพม่า แต่อย่าคิดว่าจะสามารถขึ้นราคาข้าวได้แบบ OPEC ขึ้นราคาน้ำมัน

อย่าลืมว่าข้าวที่ซื้อขายกันเป็นส่วนน้อยของข้าวที่ผลิตและบริโภคกัน 300-400 ล้านตันทั่วโลก 10 ล้านตันของเราต้องถือว่าเล็กน้อยมาก และสิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาคือ พอประเทศไทยดึงข้าวหลายล้านตันออกจากตลาดโลกด้วยการลดการส่งออก ปีที่แล้วเราส่งออก 10 กว่าล้านตัน ปีนี้เราส่งออก 5 ล้านตัน รวมกับข้าวที่เราผลิตเพิ่มขึ้น ไปๆ มาๆ ก็หมายความว่ารัฐบาลมีข้าวในสต็อก 10 ล้านตัน ถ้าเป็นอดีต ข้าวส่วนนี้ก็จะเข้าไปในตลาดโลก ราคาที่อยู่ในตลาดโลกขณะนี้เราก็จะอยู่ไม่ได้ เราช่วยทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกยังยืนพื้นอยู่ได้ในราคาที่สูง แต่เราได้ประโยชน์น้อย เพราะเราส่งออกน้อย เหมือนตอนนี้เรากำลังบริการให้กับประเทศส่งออกทั้งหมดอยู่คนเดียว

+ อาจารย์กำลังบอกว่าเราพยายามทำตัวเป็นซาอุฯที่ทำให้กลุ่มประเทศ OPEC อยู่ได้ใช่หรือเปล่า เพราะเอาเข้าจริงการสต็อก น้ำมัน กับ ข้าว ไม่น่าจะใช้วิธีเดียวกันได้

วิธีที่รัฐบาลทำกับข้าวก็คือวิธีที่รัฐบาลเก็บเป็นสต็อกไว้ แต่ข้าวถ้าเก็บไว้นาน มอดก็จะขึ้น หนูก็มากิน ถ้าเป็นข้าวหอมมะลิเก็บไว้นานเข้าความหอมก็หมดไป ไหนจะต้นทุนในการเก็บข้าวอีก

ซาอุฯทำอย่างไรเวลาต้องการไม่ให้น้ำมันราคาตก เขาก็หยุดขุด แม่พระธรณีเป็นโกดังที่ดีที่สุด ทิ้งไว้นานราคามันยิ่งขึ้น เขาไม่เสียหายจากการสต็อกน้ำมัน แต่เราเสียหายเยอะมากจากการสต็อกข้าว และถ้าเราจะต้องเสียหายแบบนี้เพื่อดันราคาข้าวในตลาดโลกให้สูงขึ้น เรื่องอะไรที่เราจะต้องทำคนเดียว รัฐบาลก็พูดแล้วพูดเล่า และนักการเมืองก็ดูจะหลงใหลทฤษฎีนี้ อยากจะให้เราเป็นเหมือน OPEC คือเป็น OREC (The Organization Of Rice-Exporting Countries) ก็ฝันหวานกันไป แต่มันไม่เคยสำเร็จ เพราะมันไม่ make sense ไม่มีประเทศไหนเหมือนเราที่จะเก็บข้าวเข้าสต็อกเอาไว้นานๆ เพื่อดึงราคา วิธีเดียวที่จะทำให้ราคาข้าวขึ้นได้ นั่นคือต้องรวมหัวกันหยุดผลิต หรือลดการผลิตลง

+ การหยุดผลิตเป็นทางเดียวเลยหรือที่ทำให้ราคาขึ้นได้

อย่าง OPEC ก็เหมือนกัน ภารกิจใหญ่ของเขาคือการแบ่งโควต้าการผลิตน้ำมันในแต่ละประเทศ เพื่อจะได้รักษาราคาให้ดีขึ้น ยกระดับราคาขึ้น ซึ่งกว่าจะเจรจากันได้ก็หืดขึ้นคอพอสมควร แต่ในที่สุดแม้ว่าทุกคนจะเบี้ยวกันหมด แต่ซาอุฯก็เข้ามาช่วยด้วยการลดกำลังการผลิตของตัวเอง ซึ่งถือว่าซาอุฯเสียผลประโยชน์จากการอยู่ใน OPEC และช่วยอุ้มทั้งระบบให้อยู่ได้ แต่ซาอุฯก็มีเหตุผล เพราะเขามีน้ำมันอยู่ใต้ดินมากกว่าประเทศอื่นๆ แม้ไม่ต้องขุดมาขายก็ตาม เมื่อเป็นอย่างนั้น ถึงทุกคนจะเบี้ยว ซาอุฯก็บอกไม่เป็นไร เพราะเขามองยาว เขาช่วยสมาชิกประเทศอื่นๆ ได้ เพราะเขาจะได้ประโยชน์ทีหลังเวลาราคาน้ำมันขึ้น ซาอุฯทำอย่างนั้นได้และซาอุฯก็ได้ช่วยอุ้ม OPEC ตั้งแต่นั้นมา ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นภาพที่เป็นจริงไม่ได้สำหรับข้าว

+ เพราะลักษณะของทรัพยากรมันคนละอย่างกันเลย

ใช่ ถ้าเก็บไว้นานๆ ข้าวก็ยิ่งเสื่อมเสียคุณภาพไปเรื่อยๆ แต่น้ำมันไม่ใช่อย่างนั้น

+ ถึงเราจะสต็อกข้าวเอาไว้ แต่ข้าวล็อตต่อไปๆ ก็จะต้องทยอยออกมาเรื่อยๆ อยู่ดี ข้อเสนอที่ว่าเราอาจจะต้องรวมหัวกันหยุดผลิตข้าว เป็นไปได้จริงหรือ

เราคงไปบังคับใครไม่ได้หรอก คุณลองคิดดูสิว่าถ้าเกิดรัฐบาลกำหนดโควต้าว่าจะต้องผลิตข้าวไม่เกินเท่านั้นเท่านี้ คุณกิตติรัตน์ (ณ ระนอง) พูดเมื่อต้นปีที่แล้วตอนที่นโยบายออกมา เขาก็คล้ายๆ จะกลัวเหมือนกันว่าเราจะมีปัญหาข้าวล้นสต็อกและปัญหาตามมาอีกเยอะแยะไปหมด เขาเคยพูดครั้งหนึ่งว่าบางครั้งเราต้องคิดถึงการจัดการการผลิต ซึ่งผมสวนทันทีเลยว่า แล้วอำมาตย์หน้าไหนจะไปบอกชาวนาว่าควรปลูกข้าวเท่านั้นเท่านี้ และถ้าเราทำไม่ได้ ประเทศอื่นๆ จะทำได้ยังไง เขาก็จะอ้างได้เหมือนเราว่ามันควบคุมไม่ได้

+ ย้อนกลับไปเรื่องการขายข้าวของเกษตรกรตามปกติ ครั้งแรกที่รัฐเริ่มเข้าไปแทรกแซงราคาซื้อขายข้าวนี่ประมาณช่วงไหน

ในประวัติศาสตร์ประเทศไทยเหรอ เราแทรกแซงตลาดข้าวกันมานานแล้วนะ จนกระทั่งปี 2529 ที่รัฐบาลกดราคาข้าวเพื่อช่วยคนในเมืองและข้าราชการเป็นหลัก

+ เกิดอะไรขึ้นในปีนั้น?

มีหลายเหตุผล ตั้งแต่เป็นห่วงข้าราชการ เพราะเป็นรัฐบาลของข้าราชการ และเงินเดือนของราชการไม่เพียงพอ ถ้าขึ้นราคาข้าวก็จะต้องขึ้นเงินเดือนข้าราชการด้วย ทำให้รัฐต้องกดราคาข้าวด้วยการเก็บภาษีส่งออก นั่นถือเป็นวิธีแทรกแซงตลาดที่เงียบที่สุด แยบยลที่สุด ซึ่งมันทำได้กับประเทศส่งออกข้าวอย่างเรา

+ แสดงว่าเมื่อเราเก็บภาษีส่งออก ราคาข้าวทั่วประเทศจะโดนกดโดยอัตโนมัติ?

ใช่ ไม่ต้องทำอะไรเลย ไปกดเฉพาะที่จุดส่งออกก็พอ ตอนนั้นเรายังส่งออกข้าวแค่ 2-3 ล้านตัน หรือประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์จากข้าวที่ผลิตประมาณ 10 ล้านตัน คุณเพียงไปเก็บภาษีตรงนั้น ราคาข้าวทั้งประเทศมันจะลดลงมาเองโดยอัตโนมัติ

ความจริงก็ไม่ได้ตั้งใจให้ข้าวมันลดราคา เขามีอีกเหตุผลหนึ่ง บอกว่าเรามีอำนาจตลาด ถ้าเราขึ้นภาษีที่นี่ พ่อค้าส่งออกจะเอาราคาข้าวในประเทศบวกกับภาษี ไปเอาเงินจากผู้บริโภคต่างประเทศมาให้รัฐบาลใช้ แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะผู้ส่งออกก็บอกว่าต้องสู้ราคากับต่างประเทศเหมือนกัน ซึ่งพอได้ราคานั้นมา เขาก็มากดราคาในประเทศ และถ้ารัฐเก็บภาษีด้วย ราคาก็ยิ่งถูกกดเข้าไปใหญ่ เพราะทำให้ต้นทุนส่งออกมันเพิ่มขึ้น คือรัฐบาลคิดว่าผู้ส่งออกจะเอาราคาในประเทศไปบวกภาษีแล้วไปชาร์จจากต่างประเทศอีกที แต่ความจริงเขาเอาราคาต่างประเทศมาหักต้นทุนจากภาษีต่างหาก

+ ครั้งนั้นก็เลยเงียบ เพราะเขาไปกดตรงปลายทางอย่างนั้นใช่ไหม

ที่เงียบคือเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าที่เขาได้เงินต่ำเพราะรัฐบาลเก็บภาษี แต่รัฐบาลจะกล่าวหาว่าเป็นเพราะพ่อค้าคนกลาง โดยเฉพาะผู้ส่งออกเป็นคนกดราคาข้าว

+ ช่วงนั้นเริ่มเป็นช่วงที่เกษตรกรรู้สึกว่าตัวเองมีรายรับน้อยลงแล้วหรือยัง จะพูดว่าเริ่มจนได้หรือเปล่า

คือผมว่าเขาก็จนมานานแล้วนะ

+ แต่ครั้งนั้นถือว่าโดนกดราคาไปอีก ไม่ยิ่งจนหนักกว่าเดิมหรือ

ก็ยิ่งจน ถ้าลองเทียบเวลาดู แต่ภาษีมันมีก่อน และจริงๆ แล้ว เพื่อให้ยุติธรรมกับรัฐบาล รัฐบาลเองก็ค่อยๆ ลดภาษีนั้นจนกระทั่งยกเลิกไป

+ มีการแทรกแซงครั้งไหนไหมที่ทำให้เกษตรกรและทุกคนในระบบรู้ตัวว่ารัฐเข้ามาแทรกแซงระบบตลาดและราคาข้าว

ถ้ากดราคานี่ไม่เคยมีใครรู้ เพราะรัฐบาลฉลาดพอที่จะทำแล้วบอกว่าผู้ส่งออกหรือพ่อค้าคนกลางมากดราคา รัฐบาลไม่โง่หรอก แต่หลังจากนั้นก็มีการแทรกแซงเยอะแยะไปหมด ทั้งพยุงราคา ประกันราคา ซึ่งทั้งหมดเป็นการที่รัฐบาลไปซื้อข้าวจากเกษตรกร ที่ตอนหลังกลายเป็นการจำนำข้าว นั่นก็คือ มาตรการที่รัฐบาลพยายามไปซื้อข้าวโดยตรงจากเกษตรกร ซึ่งก็ไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ เกษตรกรที่โชคดีขายข้าวให้รัฐบาลได้ อาจจะได้ราคาเหนือกว่าราคาตลาดบ้าง รัฐบาลก็ต้องขาดทุนในส่วนนั้น แต่รัฐบาลก็มีงบจำกัด ทำได้ไม่ทุกเมล็ดเหมือนอย่างครั้งนี้

กรรมวิธีก็คือรัฐบาลจะไปรับซื้อข้าว เมื่อได้ข้าวมาปั๊บก็จะขายออก แต่ถ้าไม่มีการเก็บข้าวหรือดูดข้าวออกไปจากตลาด แค่เอาออกไปแล้วคืนกลับเข้าไปใหม่ มันก็จะไม่มีผลอะไรต่อราคาตลาด

+ ทราบมาว่าเคยมีโครงการจำนำข้าวที่ถือว่าเป็นการจำนำจริงๆ มาก่อน ซึ่งเป็นคนละแบบกับนโยบายรับจำนำข้าวทุกเมล็ดอย่างทุกวันนี้

จำนำข้าวนี่เกิดตอนต้นๆ รัฐบาลเปรม (ติณสูลานนท์) คนที่ผลักดันคือ พันเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ (ยศขณะนั้น) เขาคิดและทำเรื่องจำนำข้าวขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ที่ไม่เหมือนกับปัจจุบัน แต่ต้องเรียกว่าเป็นต้นฉบับการจำนำข้าว ซึ่งเดี๋ยวนี้ลักษณะที่เหมือนการจำนำมันหายไป จนแทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเป็นการจำนำข้าว

คือหลังเก็บเกี่ยวข้าวปีนั้น ผลผลิตทะลักออกมาเต็มบ้านเต็มเมือง แล้วสมัยนั้นชาวนายังปลูกข้าวปีละหน นาปรังยังไม่ค่อยมี พอข้าวเทลงมา โรงสีก็จะได้เปรียบเพราะมีข้าวเยอะมาก แต่ชาวนาจำต้องขาย ราคาก็จะตก

โครงการจำนำข้าวถือกำเนิดขึ้นเพื่อไม่ให้ชาวนาถูกเอาเปรียบ ชาวนาสามารถใช้ยุ้งฉางตนเองจำนำกับ ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์) ได้เลยไม่ต้องแบกข้าวไปจำนำ พอราคาข้าวในตลาดขึ้นก็ไถ่เอาข้าวไปขายได้

+ ราคาที่ทาง ธ.ก.ส. ให้เป็นราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดให้ใช่ไหม

ใช่ ต่ำกว่าท้องตลาดประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ก็มีชาวนามาใช้บริการบ้าง เพราะการจำนำเกิดขึ้นเมื่อชาวนากำลังเสี่ยง แต่ราคาข้าวไม่ได้ขึ้นเสมอไป ถ้าราคาต่ำกว่าที่จำนำไว้ชาวนาก็จะไม่มาซื้อคืน ข้าวจะถูกยกไปให้ ธ.ก.ส. นำไปขายต่อเพื่อแบ่งเบาการขาดดุลของรัฐบาล แต่เกษตรกรไม่ขาดทุน กรณีนี้ถือว่าโอเค นี่คือนโยบายสมัยต้นๆ ของการจำนำข้าว ก็เป็นอย่างนี้เรื่อยมา จนกระทั่งเกิดโครงการรับจำนำข้าวขึ้นมาในสมัยรัฐบาลทักษิณ (ชินวัตร) ข้าวจะมาอยู่ในสต็อกของรัฐบาล แต่ถือว่าราคายังไม่สูงกว่าราคาตลาดเท่าไหร่ สูงกว่าประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์

+ พอเป็นอย่างนี้ แทบจะเรียกได้ว่าเป็นการรับซื้อโดยรัฐเลยหรือเปล่า

ใช่ คือปกติถ้าจำนำแล้วคุณเบี้ยวหนี้ถือว่าไม่ดี แต่ในระบบอย่างนี้ถือว่าธรรมดา เป็นสิทธิ์ของคุณถ้าคุณจะทิ้งข้าว จริงๆ เป็นการขายฝากมากกว่า คือถ้าเลยกำหนด กรรมสิทธิ์มันก็จะกลายเป็นของเจ้าหนี้ไปเลย

+ ระหว่างนโยบายประกันราคาข้าวของรัฐบาลก่อนหน้า กับนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทำไมสามารถเปรียบเทียบกันได้หรือไม่ เพราะดูเหมือนจะเป็นการแทรกแซงระบบตลาดเหมือนกัน

โครงการของรัฐบาลชุดที่แล้วไม่มีการแทรกแซงตลาด มีการสังเกตว่าตลาดกำลังบอกอะไร รัฐบาลจะบอกว่าคุณจะมีสิทธิ์เข้าโครงการก็ต่อเมื่อมาลงทะเบียนก่อนปลูกข้าวว่าอยากจะได้รับการประกันราคา ซึ่งปกติในต่างประเทศ การประกันราคาต้องเสียเงิน เพราะคุณซื้อประกัน แต่ของเรารัฐบาลแจกประกันให้ฟรี แล้วรัฐบาลก็จะประกาศว่าจะให้การประกันราคาข้าวที่ X บาท ซึ่งรัฐบาลก็ต้องดูว่ามีเงินเท่าไหร่ มีความเป็นไปได้แค่ไหน ต้นทุนเท่าไหร่ พอถึงเวลาตลาดข้าวก็จะเดินของมันไป โดยที่รัฐบาลไม่ต้องไปเต้นแร้งเต้นกา รัฐบาลอยู่เฉยๆ คอยดูตลาด พอถึงเวลาเก็บเกี่ยว รัฐบาลก็บอกว่าคุณสามารถขายข้าวได้ตามใจชอบ แต่ต้องมาแจ้งให้ทราบว่าจะขายข้าวในช่วงไหน

เกษตรกรก็จะได้เงิน 2 ส่วน หนึ่ง จากรายได้ที่ขายข้าวได้ สมมุติราคาประกันอยู่ที่ 12,000 บาท ชาวนาขายข้าวได้ 8,500 ก็เอา 12,000 ลบด้วย 8,500 จะได้ 3,500 รัฐบาลก็จะบอกให้ ธ.ก.ส. เติมเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรคนนั้นอีก 3,500 บาทต่อตัน แต่ก็มีปัญหาเหมือนกัน เพราะราคาข้าวทั่วประเทศมันไม่เท่ากัน สูงบ้างต่ำบ้าง นั่นก็เป็นเรื่องที่จะต้องปรับกันให้เหมาะสม

กระบวนการนี้ข้อดีคือ หนึ่ง รัฐบาลไม่ต้องออกไปเต้นแร้งเต้นกาในตลาดให้มันวุ่นวายไปหมด สอง จุดรั่วไหลต่างๆ มีน้อย ปัญหาคอรัปชั่นก็จะเกิดยากขึ้นตามไปด้วย อย่างน้อยในกระบวนการซื้อขายข้าว

แต่ปัญหาใหญ่ที่สามารถลดให้เป็นปัญหาเล็กในระยะยาว คือรัฐบาลไม่มีข้อมูลในมือเลยว่าเกษตรกรแต่ละคนที่มาขึ้นทะเบียนมีที่ดินเท่าไหร่ ไม่มีฐานข้อมูลที่สามารถเปิดคอมพิวเตอร์เช็คได้เลย ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นจุดอ่อนของระบบนั้น

อย่างไรก็ตาม ผมยังเชื่อว่าทุกบาททุกสตางค์ไปถึงเกษตรกร จริงๆ แล้ว มีความพยายามที่จะให้จำกัดปริมาณรับประกันเพื่อให้เงินดังกล่าวไปถึงชาวนาขนาดย่อมเท่านั้นด้วย จากที่เราคำนวณออกมาว่าผลผลิตไม่เกิน 10 ตันจะครอบคลุมชาวนากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ในบ้านเรา แต่ถ้าเกินกว่า 10 ตันเริ่มไม่จำเป็นแล้ว คือทันทีที่คุณใช้วิธีนี้คุณจะควบคุมอะไรได้หลายๆ อย่าง ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ราชการควบคุมได้ แต่ถ้าคุณไปเซ็งลี้ (เก็งกำไร) ข้าวเองอย่างที่รัฐบาลกำลังทำอยู่นี่ปัญหามันเยอะมาก

ผมอยากเติมข้อสังเกตในหลักการตรงนี้ การที่รัฐบาลจะทำอะไรฝืนตลาด ไม่ใช่ทำไม่ได้ หรือไม่ควรทำ แต่เวลาคุณแทรกแซงตลาด คุณได้ฝืนการตัดสินใจของผู้ผลิตและผู้บริโภคเป็นจำนวนล้านๆ ราย การที่คุณฝืนตัดสินใจไม่ใช่ทำไม่ได้ แต่รัฐบาลจะต้องทุ่มแรงไม่ใช่น้อยที่จะฝืนใจเราได้สำเร็จ เรามีเสรีภาพที่จะทำอะไรได้ตั้งเยอะแยะ แต่คุณมาบอกให้เราทำอะไรอย่างอื่นที่ปกติเราไม่ทำ และทันทีที่คุณเป็นคนให้ประโยชน์แก่ผู้ผลิตและผู้บริโภค แล้วถ้าคุณไม่ให้โดยตรง คุณให้ผ่านคนอื่น คนอื่นก็จะยักยอก

+ ต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง ถึงจะถือว่าเป็นการแทรกแซงตลาด

การแทรกแซงตลาดมันเป็นภาระของรัฐบาล แต่อาจจะเป็นหน้าที่ที่จะต้องรับภาระอันนั้นมา ซึ่งก็ต้องมีเหตุผล เช่น จำเป็นต้องแทรกแซงเพื่อให้ชาวนายากจนรวยขึ้น ก็ทำไป แต่ถ้าคุณเข้าไปเล่นตลาดอย่างโครงการจำนำข้าว ไปลงมือเซ็งลี้เอง แล้วในทางปฏิบัติเท่ากับรัฐบาลไปเซ็งลี้ข้าวทั้งประเทศ ซึ่งเป็นการแทรกแซงที่ใหญ่มาก ถ้าคุณดูจำนวนชาวนายากจนจะเห็นว่ามีอยู่ 7.7 ล้านคน ทำไปก็เหมือนขี่ช้างจับตั๊กแตน

+ นโยบายรับจำนำข้าวทุกเม็ดของรัฐบาลมีช่องว่างหรือจุดอ่อน ตลอดจนประเด็นที่สื่อพูดถึงกรณีทุจริตอะไรบ้าง

การทุจริตเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ง่ายมาก เพราะรัฐบาลลุกขึ้นมาเป็นพ่อค้าข้าวเสียเอง ทั้งที่ไม่มีความชำนาญ ซึ่งการสีข้าว ขนย้ายข้าว แม้กระทั่งการดูคุณภาพข้าว เป็นงานที่ละเอียดซับซ้อนมาก มันเหมือนคุณกำลังสู้กับโรงสีหรือผู้ที่คร่ำหวอดกับงานนี้มาไม่รู้กี่ปี ซึ่งเขารู้ตื้นลึกหนาบางกว่ารัฐบาลเยอะ ด้วยการตัดสินใจที่ฝืนความรู้สึกอย่างนั้น คอรัปชั่นจึงเกิดขึ้นตามช่องโหว่ต่างๆ ตั้งแต่ กระบวนการซื้อข้าว ขนข้าวเข้าโกดัง การประเมินคุณภาพข้าว

ต้องยอมรับว่าข้าวไทยเป็นข้าวที่มีคุณภาพแตกต่างกันมาก แต่เราก็มีกลไกตลาดที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อแยกแยะข้าวคุณภาพระดับต่างๆ อย่างละเอียดไม่แพ้กัน ถ้าคุณอยู่ในวงการค้าข้าว คุณต้องมีความชำนาญพอที่จะประเมินคุณภาพข้าวได้ดี ไม่ว่าในฐานะผู้ซื้อหรือผู้ขาย แต่พอนโยบายนี้เกิดขึ้น มันก็พังกันไปทั้งหมด แล้วกระบวนการคอรัปชั่นก็เข้ามาแทน เพราะพ่อค้าข้าวกับโรงสียังอยากได้ข้าวคุณภาพดีอยู่ แต่ต้องทำภายใต้เงื่อนไขต่างๆ เช่น ต้องจัดให้มีการประเมินคุณภาพข้าว ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้เจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) ไปนั่งอยู่หน้าโรงสี 800 กว่าโรงสี ก็เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า ไม่มีพ่อค้าคนไหนรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้าเป็นปัญหาสำหรับเขา เขาสามารถก้าวข้ามปัญหาทุกอย่างไปได้ ซึ่งเราก็เข้าใจกันดีว่ามันคืออะไร

+ การจำนำข้าว มีขั้นตอนทั้งกระบวนการอย่างไรบ้าง

ที่จำนำคือจำนำกับ ธ.ก.ส. ซึ่งจะเป็นคนจัดการเรื่องเงิน แต่ข้าวจะต้องส่งให้โรงสี และการทุจริตส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่นั่น ก่อนรับข้าว โรงสีก็ต้องตรวจดูคุณภาพ วัดความชื้น ชั่งน้ำหนักข้าว ก่อนจะรับมอบข้าวจากชาวนา แล้วออกใบประทวนให้ คล้ายๆ ใบเสร็จรับเงิน นี่ก็เป็นใบเสร็จรับข้าว ชาวนาก็จะนำใบประทวนไปที่ ธ.ก.ส. ยืนยันว่าส่งมอบข้าวแล้ว

ข้าวก็จะอยู่ในมือของโรงสี เงินก็จะออกจาก ธ.ก.ส. ไป ซึ่งทางทฤษฎี ข้าวยังถือว่าเป็นของชาวนาอยู่ แต่ ธ.ก.ส. จะถือว่าข้าวนั้นกลายเป็นของรัฐบาล โดย อคส. คือไม่มีใครสนใจว่าจะมีชาวนาคนไหนกลับมาซื้อข้าวตนเองอีกหรือเปล่า ทุกคนเข้าใจร่วมกันว่าถ้าไปถึงโรงสีเมื่อไหร่ก็เหมือนกับร้อยทั้งร้อยที่เกษตรกรจะไม่มาแล้ว

+ กรณีนี้ถือว่าโรงสีทำงานให้รัฐ แล้วโรงสีจะได้ค่าตอบแทนอะไรบ้าง

คุณพูดถูกว่าเดี๋ยวนี้โรงสีเป็นลูกจ้างของรัฐ เพราะรัฐ (กระทรวงพาณิชย์) ซึ่งเป็นเจ้าของข้าวมีกฎออกมาว่าเมื่อได้ข้าวมา 7 วันโรงสีต้องสีให้เสร็จ เพราะคิดว่าการดูแลคุณภาพข้าวเปลือกยากกว่าข้าวสาร

แต่ที่เสียหายมากอย่างหนึ่งที่คนไม่ค่อยสังเกต คือปัจจุบันโรงสีมีกำลังการผลิตเกินกว่าความต้องการ พูดกันว่าอยู่ที่ 90 ล้านตัน จากปริมาณข้าวที่เราผลิตได้ปีละ 30 ล้านตัน ซึ่งข้าวมันไม่ได้ออกมาสม่ำเสมอทั้งปี ส่วนใหญ่จะมาเป็นช่วงๆ แต่ยังไงก็ต้องสีข้าวที่ทะลักออกมาพร้อมๆ กันให้เสร็จภายใน 7 วัน เป็นการบีบให้กำลังการผลิตต้องขยายขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้เราต้องลงทุนในโรงสีมหาศาล เพราะเกิดการขาดแคลนกำลังการผลิตมากๆ จากกฎดังกล่าว

+ แล้วรัฐจ่ายให้โรงสีอย่างไร

รัฐก็บอกว่าข้าวที่ส่งเข้ามามีข้าวเปลือกหลากหลายชนิด ให้โรงสีเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องคุณภาพข้าวที่ซื้อเข้ามา ซึ่งรัฐบาลจะจ่าย 15,000 ทั้งหมด และจะจ่ายตามสัดส่วน คือข้าวเปลือก 1 ตัน จะให้ต้นข้าวถึงปลายข้าวเป็นสัดส่วนลดหลั่นกันไป รัฐก็บอกว่าคุณต้องเอาทุกส่วนที่สีได้มาให้รัฐ สมมุติว่าโรงสีได้ข้าวมา 1 แสนตัน โรงสีสามารถเก็บข้าวเปลือกเอาไว้เองส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นมันถึงมีข้าวเปลือกขายในตลาดอยู่พอสมควร

+ ข้าวที่สีแล้วจะถูกส่งไปเก็บไว้ที่ไหน

ก็เก็บไว้ในสต็อกของรัฐบาล ซึ่งในความเป็นจริงมันก็อยู่ในการครอบครองของโรงสี รัฐบาลจะจ้างโรงสีเก็บข้าวไว้ ความสำคัญของเรื่องคุณภาพข้าวจะโผล่มา ซึ่งโรงสีจะรู้ว่าข้าวออกมาดีเลวอย่างไร เขาก็จะเก็บข้าวไว้ แบ่งตามคุณภาพ โรงสีจะรู้ไส้ลึกของมันและจัดแบ่งตามหมวดหมู่เอาไว้เอง แต่ในทางทฤษฎีถือว่าข้าวเป็นของรัฐบาล

+ ก่อนนำข้าวออกจากโกดังมาประมูล รัฐบาลต้องจัดการสต็อกอย่างไร

ช่วงที่สต็อกไว้อาจเกิดคอรัปชั่นขึ้นอีกจุด ซึ่งเป็นจุดสำคัญ คือ จะมีการโยกย้ายถ่ายเทข้าวประเภทต่างๆ ที่เก็บไว้ แม้ข้าวในโกดังจะเป็นของรัฐบาล แต่เมื่อไม่มีโกดังเป็นของตัวเองก็ต้องอาศัยเช่าจากโรงสี แต่เรียกว่า โกดังกลางของกระทรวงพาณิชย์ ทางโรงสีจะรู้ว่าคุณภาพของข้าวในนั้นเป็นอย่างไร แต่เวลารัฐบาลประมูลก็จะประมูลตามข้อมูลในกระดาษที่ระบุว่าเป็นข้าวปีไหน ฤดูไหน แล้วก็บอกคนซื้อว่าข้าวดีเลวอย่างไรไม่รู้แต่คุณต้องซื้อตามนี้ แล้วต้องขนไปทั้งหมด

สิ่งที่ตามมาคือ คุณต้องประมูลราคาเดียวสำหรับข้าวที่มีหลายคุณภาพ ซึ่งมีคนรู้คนเดียวคือโรงสี แล้วโรงสีก็จะได้ประมูลทุกที นั่นก็เป็นกระบวนการอันหนึ่งที่เกิดขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงที่รับข้าวมากับช่วงที่ขายข้าวออกไป ก็จะมีการลักลอบเปลี่ยนแปลงข้าว พูดง่ายๆ คือพอข้าวใหม่ออกมา ก็สามารถลักลอบเอาออกไปขายข้างนอกได้ แต่ก็มีวิธีที่แยบยลกว่านั้น คือการแก้ไขในเอกสารว่าได้มีการขนย้ายจริง แต่ข้อดีของคอรัปชั่นอันนี้คือ ตลาดข้าวยังเป็นตลาดที่ปกติเหมือนเดิม แต่ความเสียหายถูกผลักมาให้รัฐบาล เพราะการปลอมแปลงเหล่านี้ ทำให้ข้าวที่มีขายในตลาดเป็นข้าวใหม่

ตามทฤษฎีแล้ว ข้าวเก่าเข้าไปก่อน ก็ต้องออกมาก่อน แต่เวลานี้เขาเอาข้าวดีออกมาก่อน เพราะมันขายได้ราคาดีกว่า ส่วนข้าวที่เก็บเอาไว้ มันจะค่อยๆ เน่าเสียไป แต่นั่นเป็นข้าวของรัฐบาล การเน่าเสียก็เป็นภาระของรัฐบาล

+ แล้วจะทำอย่างไรกับข้าวเก่าที่เก็บอยู่ในโกดัง

มันก็จะเน่า ไม่ก็เอาไปขายในราคาต่ำ หรือที่สุดโรงสีก็จะประมูลเอาข้าวเก่านั้นออกไป เมื่อไม่มีคนอื่นประมูล เขาจะกดราคาอย่างไรก็ได้กับรัฐบาล

+ ข้าวหอมมะลิเมื่อสีแล้วเราสามารถเก็บไว้ได้นานแค่ไหน

เท่าที่ทราบ ข้าวหอมมะลิถ้าเป็นข้าวสารไม่เกิน 3 เดือน เมื่อความหอมหายไปมันก็กลายเป็นข้าวธรรมดา ก็จะสูญเงินไป 4,000-5,000 บาท ตามราคารัฐบาล

+ แต่อย่างโครงการจำนำข้าว คนที่จะสามารถเอาข้าวไปขายให้กับโรงสี ต้องเป็นเจ้าของที่ดินตัวจริงที่จ้างคนอื่นมาทำนาหรือเปล่า

ไม่จำเป็น ตอนประกันราคาข้าวมีประเด็นคล้ายๆ อย่างนี้เกิดขึ้น เจ้าของก็มาเป็นคนทำนาเสียเอง ไล่คนเช่าออก หรืออย่างน้อยก็ยังให้คนเช่าทำต่อ แต่ตัวเองขอใช้สิทธิ์ในการได้เงินจากรัฐบาล ข้อนี้ก็มีคนกล่าวถึง แต่ไม่มีคนยืนยัน

+ รัฐบาลมีขั้นตอนในการประมูลข้าวอย่างไร

เวลานี้เกิดขึ้นน้อยครั้งมาก ก็เข้าใจว่ามีการระบายข้าวออกพอสมควร อย่างน้อยข้าวที่เราบริโภคอยู่ทุกวันๆ จะสังเกตได้ว่าไม่มีเสียงบ่นว่าราคาข้าวแพงขึ้น และจริงๆ ราคาข้าวก็ไม่ได้แพงขึ้น แสดงว่ามันต้องมีการระบายข้าวออกเพื่อป้อนผู้บริโภคทั้งปี ก็ยังเป็นที่สงสัยกันอยู่ ไม่รู้ว่าข้าวมันมาจากไหน เพราะไม่มีการแจงว่าข้าวระบายออกมาอย่างไร เพราะมีการประมูลสองสามครั้ง ครั้งสุดท้ายเขาว่าจะเอา 2-3 ล้านตันมาประมูล แต่ได้ราคาเป็นที่พอใจของรัฐบาลเพียง 7 แสนตัน การประมูลสำหรับตลาดส่งออกไม่ค่อยได้ แต่มันก็ยังมีข้าวอยู่ในตลาดนอกรัฐบาลอยู่ ไม่อยากจะเรียกว่าตลาดเสรี เป็นตลาดของพ่อค้า แล้วเราก็ส่งออกได้ถึง 5 ล้านตัน ซึ่งเราควรจะส่งออกได้น้อยกว่านั้นมาก แต่ก็ปรากฏว่า มันมีข้าวป้วนเปี้ยนอยู่ในตลาด ซึ่งมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ที่รัฐบาลอนุญาตให้โรงสีเก็บข้าวเปลือกเอาไว้เอง

+ มีส่วนที่รัฐสามารถส่งออกเองได้บ้างไหม

รัฐบาลอ้างว่า เวลานี้เขามีข้อตกลงอะไรบางอย่างที่จะส่งออกได้อีก 6 ล้านตัน แต่ไม่ทราบว่า หนึ่ง ภายในระยะเวลาเท่าไหร่ สอง ภายใต้ ‘สัญญา’ กับใคร

+ ซึ่งถ้าอย่างนั้นก็ต้องส่งออกในราคาขาดทุนอยู่แล้วหรือเปล่า  

ก็ใช่ คงไม่มีใครให้ราคา 15,000 บาทต่อเกวียน ถ้าคิดราคาเป็นดอลลาร์ สำหรับข้าวขาวก็ประมาณ 800 เหรียญ เวลานี้ราคาในตลาดโลกมันป้วนเปี้ยนอยู่ราวๆ 400-500 เหรียญเท่านั้น

+ จุดที่เป็นข้อเสียที่สุดของการจำนำข้าวคืออะไร

ที่สำคัญที่สุด คือ รัฐบาลเปลืองเงินมากปีละเรือนแสนล้าน แล้วที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันก็คือ ถ้าเผื่อว่าเงินจำนวนนั้นตกไปถึงชาวนาจนจริงๆ ผมก็ไม่ว่าอะไร และผมคิดว่าประชาชนไทยส่วนใหญ่ก็รับได้ แต่ทั้งหมดนี้ ตกแก่ชาวนาจนไม่กี่เปอร์เซ็นต์

+ หมายความว่า ถ้าลงทุนขนาดนั้น แต่เงินยังกระจายไม่ถึง สู้เอาเงินไปให้เขาโดยตรงยังดีเสียกว่า

ใช่ คุณก็ไม่ขาดทุนอะไรเยอะแยะ จริงๆ แล้วประกันราคามันเป็นอย่างนั้น คุณไม่ต้องเต้นแร้งเต้นกาอะไรมาก เซ็นเช็คให้เขาได้เลย ทำให้เขามีรายได้ดีขึ้น

+ อาจารย์หมายความว่า ถ้าเราต้องการแก้ปัญหาให้กับชาวนาจน รัฐก็ต้องเป็นฝ่ายควักกระเป๋าอยู่ดีใช่ไหม

ใช่ แต่การประกันรายได้ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่ต้องแทรกแซงมาก แต่ก็ทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นในจำนวนที่เท่ากัน ถ้าเขาบอก 15,000 ก็ควรจะทำประกันรายได้มากกว่า เพราะถ้าใช้วิธีแทรกแซงตลาด คุณกลายเป็นเจ้าของข้าวทั้งประเทศ คุณลองนึกถึงการบริหารจัดการดูสิ มันยากมากนะ

+ ถ้าเรื่องมันดำเนินมาถึงจุดยากขนาดนี้ แล้วรัฐบาลจะมีทางลงไหม

อันนั้นก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของรัฐบาลว่าจะลงจากหลังเสืออย่างไร เสือถึงจะไม่เขมือบ

+ มองที่ภาพใหญ่ นโยบายรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นการรับซื้อข้าวในราคาสูงกว่าท้องตลาด จะทำให้คนหันมาปลูกข้าวกันเยอะขึ้นกว่าเดิมด้วยใช่ไหม

มีหลายคนบอกผมมาว่า ปกติเคยทำสวนผัก แต่พอได้ยินว่าข้าวทำแล้วได้ราคาดี เขาก็เปลี่ยนจากทำสวนผักมาปลูกข้าวก็มี หนึ่ง ผมว่ามันเป็นการสูญเสีย เหมือนคุณกำลังแลกเปลี่ยนของที่มีคุณค่ามากกว่าอย่างผัก กับสิ่งที่คุณค่าน้อยกว่าอย่างข้าว เพราะการปลูกผักต้องใช้แรง ใช้ความทุ่มเทพอสมควร

สอง ชาวนาทุกคนเวลานี้กำลังอัดปุ๋ย อัดยาฆ่าแมลง และอะไรต่อมิอะไรลงไปในที่ของตัวเองเพื่อเพิ่มผลผลิต เพื่อจะได้เงิน 15,000 บาท เขาก็พร้อมที่จะจ่ายต้นทุนที่สูง แต่ในภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศไทย คุณกำลังทิ้งสิ่งที่มีค่าทั้งหมดมาลงกับผลิตข้าว ซึ่งชะตาของมันคือการเน่าเสียในโกดังของรัฐบาล มันคุ้มไหมล่ะ

+ พอจะทราบตัวเลขปริมาณข้าวที่อยู่ในโกดังรัฐบาลไหม เขาเปิดเผยหรือเปล่า

อันนั้นเป็นความลับสุดยอด (เน้นเสียง) เขาจะแย้มออกมาแก้ตัวตอนนั้นตอนนี้ อย่างบางครั้งเขาบอกว่า 4 ล้านตัน ซึ่งพอเช็คไปเช็คมา มันหัก 6 ล้านตันที่อ้างว่ามีสัญญาซื้อขาย ซึ่งผมเองก็แปลกใจนะเพราะปกติพ่อค้านักธุรกิจเขาไม่ค่อยตบหน้ารัฐบาล แต่สมาคมผู้ส่งออกข้าวออกมาบอกว่า ไม่มีหรอก 6 ล้านตันที่ว่า

+ แล้วกรณี G2G ที่เป็นการตกลงซื้อขายระหว่างรัฐบาลช่วยระบายข้าวได้หรือไม่

การซื้อขายระหว่างรัฐบาลไม่ได้หมายความว่าพ่อค้าไม่เกี่ยว เพราะเวลาขายข้าวแต่ละล็อต คุณก็ตกลงกับลูกค้าคุณ ลูกค้าก็จะกำหนดมาตรฐานอะไรต่ออะไรมา ข้าวที่มีอยู่ในประเทศมันอาจจะไม่บรรลุตามมาตรฐาน เขาก็จะมีกระบวนการ ‘เปาเกา’ คือเอาข้าวมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ผสมใหม่ให้เป็นไปตามสเป็ก คุณจะเห็นว่ากระบวนการค้าข้าวของเรามันมีความซับซ้อนมาก

+ ซึ่งถ้าเราเน้นแต่ผลิตปริมาณมากๆ มันย่อมส่งผลต่อคุณภาพข้าวไทยในระยะยาวใช่ไหม

ในระยะยาวคุณภาพจะด้อยลง เพราะเราเน้นที่ปริมาณ พอมันกลายเป็นข้าวของรัฐบาล แล้วมันเกิดกระบวนการอะไรที่ทำให้ข้าวรัฐบาลมันเสื่อมลงๆ ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดปัญหาในด้านชื่อเสียงของข้าวไทยตามมาแน่นอน

+ การจำนำทำลายระบบอุตสาหกรรมข้าวไทยเพราะไปแทรกแซงทุกกลไกหรือเปล่า

แทรกแซง…คุณใช้คำที่ดีเกินไป ผมว่ามันเหมือนคุณเอาน้ำตาลไปใส่ในถังน้ำมันรถแล้วมันก็เข้าไปในกลไกต่างๆ ทำให้กลไกทั้งหลายพังไปหมด ก็เรียบร้อย

ท่าข้าวก็หมด อย่างท่าข้าวนี่เป็นกระบวนการต้นน้ำหน่อย คือเป็นการทำให้โรงสีได้ข้าวเปลือกตามคุณภาพที่ต้องการ ด้วยการประมูลที่แฟร์กับผู้ขาย ซึ่งบางกรณีจะเป็นชาวนา หรือสมัยนี้เขาเรียกชาวยุ้ง ก็คือพวกที่รวบรวมข้าวจากชาวนา แล้วขนมาที่ท่าข้าว

+ พอสรุปว่าการจำนำข้าวไม่ดีอย่างนี้ อาจารย์คิดอย่างไรกับคำพูดที่ว่า นักวิชาการออกมาต้านนโยบายนี้เพราะไม่รักชาวนา

อันนี้ผมโกรธมากที่สุด ถ้าบอกว่าผมไม่รักชาวนา คือชาวนาใครก็ได้ ก็อาจจะแฟร์…ไม่แคร์ แต่ผมรักชาวนาที่คุณอ้างว่ายากจน ซึ่งเป็นจำนวนมากของชาวนา แล้วผมเสียดายว่าเขาไม่ได้เงินเท่าที่ควร คุณเอาเงินที่เซฟจาก 5 หมื่นกว่าล้านที่เอามาให้ชาวนารวยเอามาให้พวกนั้นสิ เขาต้องการเงินเหล่านั้นมากกว่า แล้วก็มีคนจนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นชาวนา

ประเทศไทยควรจะมีนโยบายสำหรับคนจนที่ไม่ได้แฝงร่างอยู่ในประชานิยม แล้วอ้างคนจน ผมเคยพูดชัดเจนว่าผมหงุดหงิดกับคนที่อ้างความยากจนของคนอื่นมากอบโกยเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง ผมถือว่าอันนั้นบาป ผมอธิบายให้คุณเห็นแล้วนะว่าเงินมันไม่ถึงคนยากจนยังไง นโยบายสินค้ามันไม่ได้แก้ปัญหาความยากจนจริงๆ

+ จากที่ทำวิจัยมา อาจารย์เคยเจอชาวนารวยบ้างไหม

ก็เคย แต่ต้องยอมรับความจริงว่าระยะหลังผมไม่ค่อยได้ลงพื้นที่ ผมดูตัวเลขอย่างเดียว แต่คนที่ไปมาเขาบอกมันของธรรมดา เอาง่ายๆ เดี๋ยวนี้มีชาวนาจำนวนไม่น้อย ไม่ใช่คนรวยด้วย ส่วนใหญ่แล้วก็ใช้เครื่องจักรกลเกือบทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบ การทำนามันไม่ใช่เป็นอุตสาหกรรมครอบครัวของคนจนๆ ทำกับลูกเมีย แบบนั้นไม่ค่อยมีแล้ว ถ้ามีมันก็อยู่ในคนจน ซึ่งอันนั้นโครงการ 15,000 บาทช่วยจริงแต่ก็ไม่มาก อย่างที่บอกถ้าคุณจะช่วยคนพวกนี้ ผมคิดว่าคุณออมทรัพย์จากพวกคนรวยซึ่งผมคิดว่าเขาช่วยตัวเองได้อยู่แล้ว เอามาแบ่งปันโดยรัฐบาลเอง ชาวนารวยควรเอามาแบ่งให้ชาวนาจน

+ ถ้ามองความกว้าง หากรัฐอยากช่วยคนจน ไม่ต้องรีบทำให้เขามีรายได้เพิ่ม แต่ทำให้รายจ่ายของเขาลดลงก่อน ถูกไหม

ใช่ ถ้าเกิดเราตั้งระบบอะไรที่เป็นระบบสวัสดิการ เช่น เราจะต้องจัดหาเงินให้คนแก่ยังไง ความยากจนในหมู่คนสูงวัยมีเยอะ

จริงๆ ผมไม่อยากสรุปอย่างนั้นทั้งหมด แต่อันที่สำเร็จจริงๆ ก็คือรายจ่ายที่เขาไม่มีทางควบคุมได้ เช่นการรักษาพยาบาลนี่แน่นอน แล้วมันก็ยังมีคนจนที่คุณสามารถให้ได้ แล้วก็ให้ได้เป็นกอบเป็นกำ

ปีที่มีนโยบายจำนำข้าว เอาเงินสองสามแสนล้านบาทไปช่วยแก้ปัญหาของคนที่ถูกน้ำท่วมยังจะดีกว่าเสียอีก 20,000 ต่อครัวเรือน ผมรู้สึกมันไม่ช่วยอะไรเลย แต่มันก็เป็นปัญหาของประเทศไทยอีกแหละ ที่รัฐบาลอยากทำนู่นทำนี่เหลือเกิน แต่ไม่มีข้อมูล อย่างน้ำท่วมนี่แค่รู้ว่าน้ำท่วมที่ไหน ลึกแค่ไหน มีครัวเรือนที่น้ำลึก 2 เมตรแค่ไหน ใครบ้าง แต่ไม่มีการเก็บข้อมูล

อย่างของฝรั่งจะมีระบบที่ว่าเวลามีคนมาขอความช่วยเหลือจากรัฐ อย่างมีปัญหาเศรษฐกิจอะไรก็ตาม เขาก็จะมีเจ้าหน้าที่ไปสืบเสาะแสวงหาเป็นรายๆ ไป แต่หมายความว่าต้องเป็นคนที่ยากลำบากจริงๆ

+ ทำไมนักวิชาการถึงให้ความสนใจและวิจารณ์นโยบายรับจำนำข้าว ขณะที่นโยบายลดภาษีรถคันแรก บ้านหลังแรก ก็เป็นการทำให้รัฐเสียรายได้ ในระยะยาวก็ไม่น่าจะส่งผลดีต่อประเทศ แต่กลับไม่ค่อยมีใครออกมาพูดถึงเท่าไหร่

ในบรรดานโยบายต่างๆ ที่กระทรวงการคลังรวบรวมมา มี 2 นโยบายต้นทุนสูงมาก แล้วกรณีจำนำข้าวเป็นการประมาณการต่ำเกินไปอย่างแรง จำนำข้าวประมาณการอยู่ที่ปีละ 40,000 ล้านบาท ส่วนอีกอันหนึ่งที่สูงกว่าจำนำข้าว คือ การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับธุรกิจ อันนั้นก็ 60,000 ล้าน

นอกจากนั้นงบมันน้อยกว่านี้ทั้งนั้น อย่างลดภาษีรถคันแรก คนได้ประโยชน์มีไม่มาก วงเงินรวมนับเป็นพันล้าน แต่ถ้าพูดในแง่ความยุติธรรมมันก็ด่าได้นั่นแหละ ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องไปทำวิจัย ไปศึกษาตลาดรถยนต์อีก เพราะเรื่องมันเยอะเหมือนกัน

แต่ที่ออกมาพูดเรื่องโครงการรับจำนำข้าวเพราะเป็นโครงการที่ผมคิดว่านอกจากการสูญเสียต่อภาครัฐโดยตรงแล้ว มันมีโอกาสจะคอรัปชั่นและส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมข้าวอย่างรุนแรง แล้วมันใช้เหตุผลช่วยเหลือคนยากจนมาเป็นส่วนประกอบในการจะทำอะไรอีกหลายอย่างที่ไม่ชอบมาพากล ที่บัดนี้ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าล้มเหลว

+ ถ้าพูดเรื่องจำนำข้าว คนทั่วไปอาจจะคิดว่าไม่ใช่เรื่องของเขา คิดว่าเป็นเรื่องของชาวนา ทั้งที่รัฐบาลกำลังบริหารเงินภาษีที่เขาจ่ายไปอยู่?

พวกผู้เสียภาษีที่ยากจนก็มีเยอะ คนชอบนึกว่าผู้เสียภาษีคือคนที่เสียภาษีเงินได้ แต่พวกคุณทุกคนน่ะจ่ายทุกวันเวลาไปซื้อของนะ พวกคุณก็เสียภาษีและอีกอันหนึ่งที่ผมอยากให้คุณช่วยทำ คือ ให้แยกนาม คือ ‘ชาวนา’ กับคุณศัพท์ คือ ‘ยากจน’ ว่ามันเป็น 2 คำนะ ไม่ได้หมายความเหมือนกัน


เรื่อง : อภิรดา มีเดช / ภาพ : อนุช ยนตมุติ
พิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Way Magazine ฉบับเดือนกันยายน 2555