คอลัมน์: สัมภาษณ์: ‘ดร.ฉลองภพ’ อดีตขุนคลังชำแหละ’จุดอ่อน’แผนลงทุน 2 ล้านล้านบาท

ปี2013-01-24

ขณะที่รัฐบาลกำลังโหมโรงประกาศยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พร้อมกับแผนการลงทุนครั้งมโหฬาร ทั้งจาก พ.ร.ก.เงินกู้บริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ พ.ศ. …(พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท) ที่เตรียมส่งเข้า ครม.ในต้นเดือน ก.พ.นี้

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์” นักวิชาการเกียรติคุณ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ที่มีดีกรีอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วิพากษ์แผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และความท้าทายของประเทศไทยในช่วงเวลาถัดจากนี้

ชี้จุดอ่อนขาดเชื่อมโยงเป็นระบบ

“จากการที่รัฐบาลกำลังจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน วงเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ถือว่าไม่ได้มาก เพราะเป็นเงินกู้ 7 ปี เฉลี่ยก็ปีละ 2.8 แสนล้านบาท เทียบเป็น 2.7% ของจีดีพี การลงทุนขนาดนี้ถือเป็นทิศทางที่ถูกต้อง เพราะปัญหาของไทยตั้งแต่วิกฤตการเงินปี 2540 การลงทุนของประเทศหดตัวไปมาก ทั้งที่ก่อนวิกฤตมีการลงทุนมากเกินไป ระดับ 140-145% ของจีดีพี แต่ตอนนี้มีการลงทุน 20-25% ของจีดีพีเท่านั้น และถ้ารัฐบาลจะลงทุนเพิ่มปีละ 2.7% ของจีดีพีจึงไม่มากมายอะไร หากลงทุนได้ดีย่อมช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ”

แต่สิ่งสำคัญที่เป็นห่วง คือโครงการที่จะนำไปลงทุนต้องมีประสิทธิภาพและประโยชน์อย่างแท้จริง ต้องมีการวิเคราะห์อย่างโปร่งใส มีการศึกษาอย่างละเอียด การให้ข้อมูลต่อสาธารณะหรือจัดทำรับฟังความคิดเห็น (public hearing) ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เห็นข้อมูล และวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่า สมมติฐานที่รัฐบาลใช้นั้นสอดคล้องกับความจริงแค่ไหน และได้ประโยชน์จริงหรือไม่

ดร.ฉลองภพอธิบายว่า อดีตปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่คือ หน่วยงานที่ต้องการลงทุนมักให้ภาพสวยหรู แม้ในอดีตการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาพัฒน์ แต่ปัญหาก็ยังเกิดขึ้น เมื่อรัฐให้เอกชนรับสัมปทาน ผลที่ตามมาคือ โครงการเหล่านั้นกลับประสบปัญหาทางการเงิน ไม่ว่าโครงการสร้างถนน ทำรถไฟลอยฟ้า แล้วสุดท้ายรัฐบาลก็ต้องเข้ามาอุ้มในบางส่วน

นอกจากนี้ การออก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ก็ถือเป็นการลงทุนโดยเลี่ยงการตรวจสอบภายใต้ระบบงบประมาณว่าจะคุ้มค่าการลงทุนจริงหรือเปล่า

อดีตขุนคลังชี้ประเด็นสำคัญว่า จุดอ่อนขณะนี้คือโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และรถไฟความเร็วสูงที่กำลังจะลงทุนจะมีการเชื่อมโยงกันอย่างไร อย่างรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟใต้ดิน รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีแดง แต่ละอันเป็นการลงทุนแบบเอกเทศ ไม่มีการวางแผนเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ ทั้งเรื่องระบบเทคโนโลยี ระบบตั๋ว ระบบการเชื่อมต่อการเดินทาง ระหว่างโครงการหรือปลายทาง เป็นต้น

รัฐบาลควรมีการวางสเป็กระบบให้มีความเชื่อมโยงกัน แล้วใช้ประโยชน์จากการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับระบบขนส่งทางรางในประเทศ ผ่านการกำหนดสเป็กที่เปิดโอกาสให้ธุรกิจไทยเข้ามาผลิตหรือร่วมพัฒนาได้

หวั่นปัญหาซ้ำรอย “แอร์พอร์ตลิงก์”

“ในประเทศที่พัฒนาแล้ว รถไฟฟ้าจะต้องเป็นระบบเดียวกัน มีระบบการเชื่อมโยงที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ประเทศเดียวมี 5 ระบบ กลายเป็นภาระสร้างความไม่สะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการ และไม่มี economy of scale ตัวอย่างเช่น โครงการแอร์พอร์ตลิงก์ที่ลงทุนสร้างขึ้นมาแล้ว แต่ไม่ตอบโจทย์การใช้งาน ระบบไม่เชื่อมต่อกับการจราจรในเมืองเลย เพราะขาดการวางแผนการเชื่อมโยงระบบจนกลายเป็นปัญหา หากการลงทุนจำนวนมหาศาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีสภาพเป็นเหมือนโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ อีก 10 โครงการ มันก็น่าเสียดาย” ดร.ฉลองภพกล่าว

รัฐบาลต้องมีการศึกษาแผนการลงทุนที่เป็นภาพรวม ในระยะยาว 20 ปีว่าต้องการให้โครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นอย่างไร เชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร และเดินไปทีละก้าวตามแผนที่ศึกษาไว้ เพื่อให้การลงทุนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

“สิ่งที่ต้องการไม่ใช่การดูโครงการแบบเอกเทศ แยก ๆ กันทำ แต่ต้องมีคนมองภาพใหญ่ ภาพรวม ว่าในที่สุดเงินที่ใช้ไปจะทำให้เกิดอะไรขึ้น และการลงทุนที่ใหญ่และมากขนาดนี้ ควรมีการจัด workshop ระดับชาติ เพื่อให้คนเข้ามามีส่วนร่วม คืออย่างน้อยต้องให้นักวิชาการ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ความเห็น เพราะคนเหล่านี้มีความรู้ มีประสบการณ์ รู้ปัญหาและอุปสรรค”

ฉวยโอกาสเพิ่มศักยภาพอุตฯไทย

ดร.ฉลองภพกล่าวว่า โครงการลงทุนที่จะเกิดขึ้น นอกจากจะเป็นการยกระดับขนส่งระบบรางทั่วประเทศแล้ว ยังควรใช้ประโยชน์จากการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องภายในประเทศด้วย อย่างกรณีที่จีนเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมอากาศยาน ด้วยการเพิ่มการลงทุนขนาดใหญ่และใช้เป็นอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตระดับโลก จนแอร์บัสต้องเข้าไปเปิดโรงงานประกอบเครื่องบินในจีน ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ เวลาผ่านไป 10 ปี วันนี้ จีนสามารถผลิตเครื่องบินได้เอง

“วิธีการอย่างนี้จะเปิดโอกาสยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศ ไม่ใช่ต้องนำเข้าอย่างเดียว หรืออาจใช้การรวมกลุ่มในอาเซียนมาร่วมต่อรองกับอุตสาหกรรมระดับโลกให้เข้ามาตั้งโรงงาน ถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาศักยภาพร่วมกันทั้งภูมิภาคอาเซียนก็ได้”

หลุดกับดัก ปท.รายได้ปานกลาง

การยกระดับอุตสาหกรรมจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ถ้าทำอย่างรอบคอบและมีแผนดำเนินการที่มีประสิทธิภาพจะมีส่วนช่วยให้ไทยหลุดจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (middle income trap) เพื่อก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงขึ้นและอยู่ในแถวเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ได้อย่างยั่งยืนมั่นคง

เรื่องนี้เป็นความท้าทายของประเทศ เพราะการจะออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ต้องเกิดจากการยกฐานในทุกส่วน ทั้งเรื่องคน โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมให้อยู่ในมาตรฐานประเทศพัฒนาแล้ว และการลงทุนขนาดใหญ่ก็จะเป็นแม่แรงที่สำคัญ หากทำอย่างรอบคอบและครอบคลุม

สร้างแบรนด์พรรค-ทำลายแบรนด์ ปท.

นอกจากนี้ ดร.ฉลองภพยังระบุว่ารัฐบาลต้องให้ความสำคัญต่อประสิทธิภาพในการใช้เงิน อย่าให้เกิดการสูญเปล่า ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสภาพัฒน์ ต้องเป็นผู้คัดกรองอย่างเข้มงวดในกระบวนการจัดทำงบประมาณและเสนอโครงการ เพราะสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เวลานี้การเมืองแข็ง แต่ข้าราชการอ่อน

“อย่าให้โครงการของรัฐบาล เป็นเพียงการสร้างแบรนด์ให้กับพรรคการเมือง อย่างเรื่องการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน หรือโครงการรับจำนำข้าว ที่เป็นโครงการสร้างแบรนด์ให้กับพรรคเพื่อไทย แต่กำลังทำลายแบรนด์ของประเทศไทย เพราะเน้นแต่ปริมาณ ไม่ได้สร้างให้เกิดคุณภาพ ชาวนาจะผลิตข้าวออกมายังไงก็ได้ รัฐบาลก็จ่ายเงินให้ในราคาสูง แรงงานก็ได้ขึ้นค่าแรงแต่ไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพผลิตภาพ”

ทั้งที่การรักษาคุณภาพ ประสิทธิภาพของทั้งคน สินค้า และระบบ เป็นสิ่งสำคัญและเป็นพื้นฐานหลักของการดำเนินนโยบายเพื่อสร้างรากฐานของประเทศให้พัฒนาในระยะยาว


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 24 – 27 ม.ค. 2556 ในชื่อ คอลัมน์: สัมภาษณ์: ‘ดร.ฉลองภพ’ อดีตขุนคลังชำแหละ’จุดอ่อน’แผนลงทุน 2 ล้านล้าน