tdri logo
tdri logo
4 มกราคม 2013
Read in Minutes

Views

TDRI Factsheet 06: ผลประโยชน์จากการส่งเสริมการค้าและการขนส่งระหว่างประเทศ

การค้าระหว่างประเทศมักเผชิญกับการปิดกั้นและอุปสรรคที่แต่ละประเทศสร้างขึ้นมาเพื่อกีดกันคู่แข่งถึงแม้ว่าในปัจจุบันหลายประเทศจะมีการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจเพื่อลดอุปสรรคดังกล่าวและเพิ่มความสะดวกในการค้าและการขนส่งระหว่างกันให้มากขึ้น

ในส่วนของอาเซียนเอง ถึงแม้จะมีการทยอยลดภาษีอากรลงเหลือร้อยละ 0 หรืออยู่ในระดับที่ประเทศสมาชิกพอใจ ผู้ประกอบการในประเทศไทยและอาเซียนยังเผชิญหน้ากับอุปสรรคทางการค้าที่เพิ่มต้นทุนการดำเนินธุรกิจ

งานวิจัย การค้าสินค้าและการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดย ดร.เชษฐา อินทรวิทักษ์ ดร.สุเมธ องกิตติกุล และณัฐวุฒิ ลักษณาปัญญากุล นำเสนอบทวิเคราะห์ถึงอุปสรรคทางการค้าประเภทต่าง ๆ และประโยชน์ที่ประเทศไทยและเหล่าประเทศอาเซียนจะได้รับหากมีการเปิดเสรีการค้าอย่างแท้จริง

จากกราฟข้างต้น หากมีการเปลี่ยนแปลงใน 3 สถานการณ์ได้แก่ 1) ลดอัตราภาษีอาการเป็นศูนย์ระหว่างประเทศอาเซียนใหม่ 2) ปรับปรุงระบบขนส่งในภูมิภาค และ 3) มีการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวในทุกประเทศ ไทยจะมีประโยชน์ในรูปตัวเงินถึงกว่า 4,500 ล้านดอลลาห์สหรัฐและมีการเติบโตของ GDP กว่าร้อยละ 1.5 ในขณะที่ประเทศลาว กัมพูชาและเวียดนาม (CLV) จะได้รับประโยชน์ในรูปตัวเงินกว่า 3,000 ล้านดอลลาห์สหรัฐและมีการเติบโตของ GDP กว่าร้อยละ 3.5 หากมีการลดอุปสรรคทางการค้าในอาเซียนในรูปแบบต่าง ๆ

อุปสรรคทางการค้าในอาเซียน

1) การใช้ประโยชน์จากการลดภาษีศุลกากรยังไม่เต็มที่

  • เนื่องจากกระบวนการยุ่งยากและไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ

2) อุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barriers)

  • มาตรการควบคุมราคา มาตรการทางการเงิน เช่น การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา มาตรการควบคุมปริมาณ (โควต้า) และมาตรการผูกขาดการนำเข้าโดยรัฐวิสาหกิจ

3) ความไม่สะดวกในการขนส่งสินค้า

  • ระบบคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศและการเชื่อมโยงกันที่ไม่สมบูรณ์ ทั้งด้านกายภาพ (ถนน รางรถไฟ ท่าเรือ สนามบิน) และกฎระเบียบ (กฎระเบียบในการขับขี่)

4) กระบวนการศุลกากรที่ยุ่งยากซับซ้อน

  • ทำให้ใช้เวลานานในการดำเนินการ นอกจากนี้ กฎระเบียบของแต่ละประเทศยังมีข้อแตกต่างสูงทำให้กระบวนการศุลกากรมีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

ขยายการเก็บเกี่ยวประโยชน์ด้านภาษีอากร

  • เพิ่มความชัดเจนในกระบวนการพิจารณาการใช้สิทธิประโยชน์
  • กระตุ้นให้ข้อมูลและจัดทำคู่มือการใช้สิทธิประโยชน์แก่ธุรกิจไทย
  • ผลักดันให้กลุ่มประเทศอาเซียนใหม่ (พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม) ลดภาษีศุลกากรให้ได้ตามกำหนด

เร่งลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs)

  • ผลักดันให้ประเทศสมาชิกอาเซียนยกเลิก NTBs ในรูปแบบต่าง ๆ
  • ผลักดันให้นำมาตรฐานสากลมาปรับใช้ในการตรวจสอบความปลอดภัยและสุขอนามัยของสินค้า
  • วางกลไกการเฝ้าระวังและรับมือ NTBs กับสินค้าไทย

เร่งพัฒนาระบบการอำนวยความสะดวกทางการค้า

  • ในระยะสั้น – ควรเร่งพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของประเทศ (National Single Window)
  • ในระยะยาว – ควรเร่งพัฒนาไปสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) เพื่อลดต้นทุนการนำเข้าส่งออกสินค้าของกลุ่มประเทศอาเซียน
  • เร่งผลักดันให้ความตกลงข้ามพรมแดนที่ไม่ต้องเปลี่ยนยานพาหนะให้มีผลบังคับใช้อย่างเต็มที่ในทางปฎิบัติ

ท่านสามารถดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มได้ที่นี่

นักวิจัย

ดร. สุเมธ องกิตติกุล
รองประธานสถาบัน ดูแลงานด้านการบริหารระบบงานภายใน / ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด