ถึงแม้ว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศของรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่านมาจะส่งผลดีต่อแรงงานไทยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น นโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
งานวิจัย ผลกระทบของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ: การวิเคราะห์โดยใช้แบบจำลอง ของ ดร. เชษฐา อินทรวิทักษ์ ได้ทำการวิเคราะห์ถึงผลกระทบของการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำโดยทำการจำลองสถานการณ์ทางเศรษฐศาสตร์ในกรณีต่าง ๆ ที่มีผลจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าว
ผลการศึกษาพบว่า การเพิ่มค่าจ้างเป็น 300 บาทจะช่วยเพิ่มรายได้ที่แท้จริงให้แก่แรงงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มแรงงานทักษะต่ำได้ถึงร้อยละ 11.24 แต่หากผู้ประกอบการและแรงงานไม่มีการปรับตัวใด ๆ เลย ต้นทุนในการผลิตสินค้าที่สูงขึ้น การหดตัวของการผลิต การลงทุน และการบริโภคจะส่งผลให้ผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะลดลงร้อยละ 2.55 และการส่งออกลดลงร้อยละ 2.35 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มและเครื่องหนัง ไม้และเฟอร์นิเจอร์จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก
กราฟข้างบนแสดงให้เห็นว่า การส่งออกภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานทักษะต่ำเช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนังและไม้จะมีสัดส่วนลดลงมาก เนื่องจากราคาสินค้าเหล่านี้สูงขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงเช่น เคมี ไฟฟ้า เครื่องจักรกลและยานยนต์ มีการส่งออกลดลงบ้างแต่ไม่มากนักหากเทียบกับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานทักษะต่ำ ไทยอาจจะถูกแย่งตลาดส่งออกสินค้าในกลุ่มที่ใช้แรงงานทักษะต่ำจากประเทศคู่แข่งในเอเซียตะวันออก เอเซียตะวันออกเฉียงใต้และเอเซียใต้