tdri logo
tdri logo
30 มกราคม 2013
Read in Minutes

Views

ทีดีอาร์ไอ – 3 อดีตรัฐมนตรีคลัง วิพากษ์และทางออก “หนี้สาธารณะ”

ดร.สมชัย จิตสุชน นักเศรษฐศาสตร์ ทีดีอาร์ไอ
ดร.สมชัย จิตสุชน นักเศรษฐศาสตร์ ทีดีอาร์ไอ

ถือเป็นกิจกรรมทุกปีที่เมื่อถึงช่วงระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านระหว่างปีเก่ากับปีใหม่ สถาบันวิชาการหรือสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจจะออกมาประเมินเศรษฐกิจของช่วงปีที่ผ่านมา และคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ ธนาคารโลกออกมามองทิศทางเศรษฐกิจ และประเมินค่าใช้จ่ายจากโครงการประชานิยม ปี 2555 เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา

ขณะที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ จัดงานเสวนาสาธารณะครั้งแรกของปี เมื่อ 25 มกราคม 2556 ด้วยการนำเสนอประเด็นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ โดยสถาบันเห็นว่า เรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจต้องมองไปในระยะกลางและระยะยาว งานเสวนาสาธารณะเรื่อง “ประมาณการเศรษฐกิจปี 2556 และแนวโน้มหนี้สาธารณะ 2556–2560 การบริหารโอกาสและความเสี่ยง” จึงเกิดขึ้น

ในการเสวนา ดร.สมชัย จิตสุชน นักเศรษฐศาสตร์ ทีดีอาร์ไอ ได้พูดถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในปี 2556 โดยระบุว่า ในปีนี้ เศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในช่วงการฟื้นตัวที่ยังไม่เสร็จสิ้นจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 และจะได้รับอานิสงจากการเคลื่อนย้ายการลงทุนจากจีนมาสู่ไทย การบริหารเศรษฐกิจในปี 2556 จึงต้องคำนึงถึงการสร้างความต่อเนื่องทางเศรษฐกิจจากปีที่แล้ว และมองว่าปีนี้เป็นโอกาสของไทยที่มีปัจจัยภายนอกและปัจจัยทางการเมืองภายในที่ดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้า

ขณะที่ในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจโลก ดร.สมชัย ระบุว่า ปีนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น เศรษฐกิจยุโรปกำลังฟื้นตัว และเศรษฐกิจจีนอาจมีความเสี่ยงมากขึ้น แต่โอกาสที่จะเกิดวิกฤติยังคงไม่เกิดภายในปีนี้ ทำให้ภูมิภาคอาเซียนจะถูกจับตาตามองมากที่สุด เนื่องจากเงินทุนและเทคโนโลยีที่จะเคลื่อนตัวเข้ามาในภูมิภาคนี้

thaipublica20130127b

“หากเศรษฐกิจในโลกยังเป็นแบบนี้ และประเทศไทยยังคงมีการส่งออกและการลงทุนในประเทศที่ดีขึ้น ประกอบกับการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐ ที่การลงทุนยังคงมีความต่อเนื่อง ทำให้ผลประมาณการเศรษฐกิจของไทยในปี 2555 รายได้ประชาชาติจะขยายตัวที่ 5.8% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% และในปี 2556 รายได้ประชาชาติจะขยายตัวที่ 5% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.8%” ดร.สมชัยกล่าว

ในส่วนการบริหารหนี้สาธารณะของประเทศไทย ดร. สมชัยได้พูดถึงแนวคิดในการบริหารหนี้สาธารณะว่า การมีหนี้สาธารณะเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับประเทศที่มีฐานภาษีต่ำ และต้องการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างประเทศไทย แต่การบริหารหนี้สาธารณะจำเป็นจะต้องมี “พื้นที่ทางการคลัง” (Fiscal Space) ให้มากพอที่จะรองรับความจำเป็นในอนาคต หากมีวิกฤติเศรษฐกิจขึ้น

แนวทางในการบริหารหนี้สาธารณะจึงควรมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มรายได้รัฐอย่างเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ โดยการเพิ่มรายได้จากการจัดเก็บภาษี ด้วยการจัดระบบภาษีใหม่ให้มีอัตราก้าวหน้า และเพิ่มฐานภาษีใหม่ๆ โดยเฉพาะฐานทรัพย์สิน ที่ปัจจุบันยังมีการจัดเก็บน้อย และต้องมีการบริหารหนี้สาธารณะที่โปร่งใส

“การวางแผนใช้จ่ายต้องทำอย่างระมัดระวัง การใช้นโยบายประชานิยมเป็นเรื่องที่มีได้ ไม่ใช่เรื่องผิดในระบอบประชาธิปไตย แต่การใช้นโยบายควรให้มีผลในการลดความเหลื่อมล้ำด้วย ที่ผ่านมา ในการบริหารหนี้ เรามักจะหาเหตุผลในการใช้เงินมาตลอด ซึ่งเป็นหลักการที่ผิดพลาด หลักการที่ควรจะเป็นในการบริหารหนี้สาธารณะคือ ขาดดุลเมื่อจำเป็น และเกินดุลเมื่อมีโอกาสทุกครั้ง” ดร.สมชัยกล่าว

ในการเสวนา ดร.สมชัยได้ประมาณการแนวโน้มหนี้สาธารณะของประเทศในระยะยาว 5 ปีขึ้นไป โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2555 ภายใต้เงื่อนไข 3 ชุด ทำให้ได้ 3 แบบจำลองที่มีแนวโน้มหนี้สาธารณะที่ต่างกัน คือ สมมติฐานที่ให้ขยายตัวทางเศรษฐกิจต่างกันที่ระดับ 4%, 5%, และ 6% ต่อเนื่องทุกปี และความสามารถในการคุมรายจ่ายประจำที่ระดับการขยายตัว 7% และ 10% เป็นการให้สมติฐานที่ลดลงจากรายจ่ายประจำของไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ที่การขยายตัวคือ 9.7% และมีการรวมผลกระทบจากโครงการพิเศษ ช่วงปี 2556–2560 ในแบบจำลองด้วย

thaipublica20130127c

thaipublica20130127d

thaipublica20130127e

thaipublica20130127f

ผลประมาณการแนวโน้มหนี้สาธารณะจากทั้ง 3 แบบจำลอง จะพบว่าหนี้สาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกกรณี โดยเป็นผลมาจากภาวะทางการคลังไทยที่มีโครงสร้างขาดดุลโดยพื้นฐาน รายจ่ายประจำสูงใกล้เคียงรายได้ และรายจ่ายลงทุนต้องกู้ทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ ทำให้เกิดภาระดอกเบี้ยทับถม และโครงการพิเศษมีส่วนทำให้หนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โดยในกรณีที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่า 6% ต่อปี หากไม่มีการควบคุมรายจ่ายประจำ และปรับลดงบพิเศษลง จะทำให้หนี้ต่อรายได้ประชาชาติเกิน 60% ดังนั้น การควบคุมรายจ่ายประจำจะมีผลช่วยควบคุมการเพิ่มของหนี้สาธารณะได้ค่อนข้างดี ซึ่งการจะป้องกันไม่ให้แนวโน้มหนี้เพิ่มขึ้นเกิน 60% ดร.สมชัยมองว่า การบริหารโอกาสจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงขึ้น และอาจสูงถึง 6% ได้

“หากมีการบริหารจัดการให้การใช้จ่ายส่วนนี้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีการรั่วไหลน้อย และดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับการมีมาตรการอื่นๆ เพื่อช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางด้วย เช่น การพัฒนาคน พัฒนาเทคโนโลยี และพัฒนาสถาบันหลักของเศรษฐกิจ” ดร.สมชัยกล่าว

thaipublica20130127g

สำหรับความเสี่ยงในอนาคตจากระบบภาษีของไทยที่มีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจสูง โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจมีปัญหา หากเศรษฐกิจตกต่ำจะทำให้ภาษีของไทยลดลงเร็วมาก ความเสี่ยงในระยะสั้นที่จะต้องระวังจึงเป็นกรณีที่เศรษฐกิจขยายตัวช้า (หากได้รับผลกระทบจากจีนที่ขยายตัวช้าลง) เพียงต่ำกว่าร้อยละ 4-5 ก็จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มแรงขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอาจปรับตัวขึ้นในระยะ 2 ปีข้างหน้าตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ทำให้หนี้เพิ่มเร็วกว่าที่แสดงไว้มากพอสมควร

thaipublica20130127h

ดังนั้น ในภาวะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขาขึ้น ข้อเสนอแนะของ ดร.สมชัยจึงมุ่งเน้นที่การสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยรัฐ และควรมีการสร้าง “พื้นที่ทางการคลัง” ให้เพิ่มขึ้นในระยะ 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต ด้วยการควบคุมการขยายตัวของรายได้ประจำ ปรับเพิ่มภาษีบางประเภท โดยเฉพาะภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษี VAT และปรับลดโครงการพิเศษที่ใช้งบประมาณสูง เช่น จำนำข้าว

thaipublica20130127i

“แนวทางการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังอย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลควรพิจารณาปรับลดโครงการพิเศษที่ใช้งบประมาณสูง เช่น โครงการจำนำข้าว ที่ปีที่แล้วคาดว่าจะขาดทุนที่ 1.5 ล้านบาท และในปีนี้คาดว่าจะขาดทุน 2 แสนล้านบาท หากในอนาคตรัฐบาลสามารถควบคุมการขาดทุนจำนำข้าวให้ไม่เกิน 70,000 ล้านบาทต่อปีได้ จะทำให้ความเสี่ยงของหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มเป็น 60% มีแนวโน้มลดลง ทำให้มีพื้นที่การคลังรองรับความเสี่ยงอื่นได้มากขึ้น” ดร.สมชัยกล่าว

อดีตขุนคลัง “ปรีดิยาธร-กรณ์-ธีระชัย” ห่วงรัฐบาล “ขาดวินัยคลัง” เสี่ยงหนี้สาธารณะพุ่ง

ด้านสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จัดงานสัมมนาประจำปี เรื่อง “โจทย์ท้าทาย อนาคตเศรษฐกิจไทยปี 2556” ในวันที่ 23 ม.ค. 2556 โดยมี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง ปาฐกถาพิเศษ และมี 3 อดีตรัฐมนตรีคลังร่วมสัมมนา ได้แก่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีคลัง นายกรณ์ จาติกาวานิช อดีตรัฐมนตรีคลัง และนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีคลัง

อาจกล่าวได้ว่า การสัมมนาฯ นี้เป็นครั้งแรกที่สามารถรวบรวมขุนคลังในอดีตและปัจจุบันมาอยู่ในเวทีเดียวกันได้มากที่สุด และให้แสดงวิสัยทัศน์ตอบโจทย์ท้าทายอนาคตเศรษฐกิจไทยปี 2556 แม้เวทีนี้ไม่ให้ 4 ขุนคลังนั่งร่วมวงสัมมนาพร้อมกัน เนื่องจากให้ขึ้นเวทีแสดงวิสัยทัศน์ทีละคน แต่วิวาทะก็ดุเดือดเหมือนเผชิญหน้ากัน โดยเฉพาะประเด็นวินัยการคลัง ที่อดีตขุนคลังเหมือนนัดหมายกันมา “ฉะ” รัฐบาล

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีคลัง
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีคลัง

“กิตติรัตน์” ไม่ห่วงหนี้สาธารณะ เดินหน้ากู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

เริ่มจากองค์ปาฐกพิเศษ “นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง” ที่มองเศรษฐกิจปี 56 ว่าเป็นปีที่กำลังซื้อของประเทศดี รวมถึงการลงทุนภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนบริหารจัดการน้ำและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องเดินหน้าต่อ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานระบบราง ที่ปัจจุบันรองรับการขนส่งของประเทศได้เพียง 2%

“ดังนั้น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจึงมีความจำเป็น ซึ่งดีที่หนี้สาธารณะต่อจีพีดีอยู่ระดับไม่สูง การที่รัฐบาลจะสร้างหนี้คู่กับสร้างทรัพย์สินที่มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างการเติบโตที่ดีจึงเดินต่อได้” นายกิตติรัตน์กล่าว

“ปรีดิยาธร” จวกรัฐบาล “มือเติบ-มักง่าย-ไร้สำนึก-ขาดวินัยการคลัง”

ด้าน “ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล” มองว่า โจทย์อนาคตประเทศไทยที่น่าห่วงมากคือ “ฐานะการคลัง” ถึงกับรวบรวมข้อมูลและประมาณการหนี้สาธารณะในช่วงปี 2555-2562 มาแสดงให้เห็นทิศทางหนี้สาธารณะในระยะยาว ซึ่งพบว่า ภายใต้สมติฐานเศรษฐกิจขยายตัว 4-5% และงบประมาณทยอยขาดดุลลดลงจนถึงสมดุลตามที่รัฐบาลตั้งไว้ รวมถึงนับหนี้สาธารณะที่เกิดจาการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท และที่กำลังจะกู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานกว่า 2 ล้านล้านบาท จะทำให้หนี้สาธารณะ ณ ก.ย. 2562 จะมีจำนวน 8,696,000 ล้านบาท หรือ 53.8% ของจีดีพี ซึ่งยังไม่นับรวมผลขาดทุนจากการจำนำข้าว

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีคลัง ดำรงตำแหน่งระหว่าง 9 ต.ค. 2549 – 1 มี.ค. 2550
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีคลัง ดำรงตำแหน่งระหว่าง 9 ต.ค. 2549 – 1 มี.ค. 2550

ทั้งนี้ ม.ร.ว. ปรีดิยาธรประเมินผลขาดทุนจากโครงการจำนำข้าวว่า ในฤดูการผลิต 2554/55 จะขาดทุนประมาณ 140,000 ล้านบาท และตั้งแต่ฤดูการผลิต 2555/56-2561/62 จะขาดทุน 1,470,000 ล้านบาท หรือขาดทุนประมาณปีละ 210,000 ล้านบาท

เพราฉะนั้น หากรวมภาระขาดทุนจากการจำนำข้าว จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 10,306,000 ล้านบาท หรือ 63.7% ของจีดีพี ทั้งนี้ ณ ก.ย. 2555 หนี้สาธารณะมีจำนวน 4,937,000 ล้านบาท หรือ 43.9% ของจีดีพี

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า หนี้สาธารณะต่อจีพีดีในระดับ 63.7% ประเทศคงไม่ยังตาย แต่อ่อนแอกว่าระดับ 43.9% และ อ่อนแอกว่า 53.7% ที่น่าเป็นห่วงคือ ในเมื่อรัฐบาลทำเรื่องจำนำข้าวได้โดยไม่ฟังคำทักท้วงก็คงทำอย่างอื่นได้ และจะมีประชานิยมอื่นๆ ออกมาอีก เนื่องจาก

1. รัฐบาลนี้ไม่มีใครให้ความสำคัญกับวินัยการคลังเลย วันที่เขาทักท้วงเรื่องจำนำข้าวก็ยังยืนยันจะทำ เพราะคราวนี้ไม่มีใครเข้าใจวินัยการคลัง ใช้เงินกัน “มือเติบ” ไม่มีใครระวังเลย ตอนนี้ทุกคนสายตาสั้นหมด ไม่มีใครมองยาวๆ เลย

2. รัฐบาลนี้วิธีหาคะแนนนิยมโดยใช้วิธี “มักง่าย” คือ “ลด แลก แจก แถม” และยังทำเป็น “ทองไม่รู้ร้อน” อีก และไม่เกรงใจประชาชนผู้เสียภาษี เพราะมักง่ายใช้เงินงบประมาณไปแจกดื้อๆ เลย เห็นชัดที่สุดคือนโยบายรถคันแรก และพอทำอย่างนี้ได้ พอคิดใหม่ก็จะมักง่ายกว่านี้อีก ซึ่งน่าเป็นห่วงเพราะรัฐบาลนี้ไม่มีใครที่จะเป็นหลักคอยดูแลเรื่องฐานะการคลัง

3. รัฐบาลนี้ นักการเมืองขาด “หิริโอตตัปปะ” คือ ละอายต่อความชั่ว และกลัวต่อบาป โดยทำโครงการจำนำข้าวเสียหาย รู้ทั้งรู้ขนาดนี้แล้วยัง “ไม่รู้สึกรู้สา” จึงน่ากลัว และไม่ค่อยเกรงใจประชาชนผู้เสียภาษีสักเท่าไร อยากจะบอกว่าเขา “ขาดสำนึก” ของความเป็นผู้นำผู้บริหารประเทศให้ดีที่สุด แต่ที่น่ากลัวที่สุดคือ กรณีเหนือเมฆ เป็นอันที่กล้าท้าทายความรู้สึกประชาชนมากที่สุด อันนี้ค้านความรู้สึกคนอย่างแรง เชื่อว่าจากนี้ต่อไปอะไรก็ทำได้ และจะเห็นประชานิยมที่เรานึกไม่ถึงเกิดขึ้นมา

“เพราะความที่รัฐบาลมักง่ายอยู่แล้ว คิดยาวไม่เป็น และไม่มีวินัยการคลัง ไม่มีหิริโอตตัปปะ ผมไม่คิดว่าหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 63% แต่จะเป็น 70-80% เร็วกว่าที่เราคิดไว้” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวและบอกว่า ประการสุดท้ายที่ห่วงคือ ต่อไปรัฐบาลไหนจะมาก็ตาม เราก็จะติดกับดักที่เรียกว่า “ติดกับดักประชาธิปไตย” เหมือนยุโรป คือ ทุกพรรคจะแข่งกันหาเสียงชูนโยบายประชานิยม ซึ่งจะสร้างหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดจะมีปัญหาทางการคลัง

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรยอมรับว่า “หาทางออกไม่เจอ” ที่จะรอดจากกับดักประชาธิปไตยที่จะไม่ให้พรรคการเมืองใช้งบประมาณภาษีของประชาชนไปใช้ทำประชานิยมหาคะเสียง

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีคลัง ดำรงตำแหน่งระหว่าง 20 ธ.ค. 2551-10 พ.ค. 2554
นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีคลัง ดำรงตำแหน่งระหว่าง 20 ธ.ค. 2551-10 พ.ค. 2554

“กรณ์” เสนอห้ามใช้เงินนอกงบประมาณทำประชานิยม

ส่วน “กรณ์ จาติกวณิช” กล่าวว่า เห็นด้วยกับที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรว่ารัฐบาลนี้ไม่ทำเรื่องการรักษาวินัยการเงินการคลัง เห็นได้จากการดำเนินนโยบายที่สร้างความเสียหายอย่างจำนำข้าว และมีข้อเสนอแนะที่จะทำให้ประเทศไทยหลบเลี่ยงจากกับดักประชาธิปไตยหรือนโยบายประชานิยม และนโยบายที่ไม่สร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจ โดยยกรูปแบบของสหรัฐที่ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ที่มีกระบวนการแก้ไขปัญหาหน้าผาการคลังผ่านกระบวนการรัฐสภา โดยเสนอว่า

“ฐานะการคลังของเราจะมั่นคงถ้าเรามีการปรับกฎหมาย คือ ควรมีบทบัญญัติว่าถ้ารัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินมากกว่าที่กำหนดไว้ในกรอบงบประมาณ จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาที่รวมทั้งสองสภา โดยจะต้องมีเสียง 2 ใน 3 เพื่อจะได้เป็นข้ออ้างที่ดีพอในการจะละเมิดกฎหมาย”

ส่วนฐานะการคลังของไทยที่ยังมั่นคงอยู่ นายกรณ์กล่าวว่า เป็นเพราะเรามีบุญเก่า เนื่องจากบรรพบุรุษได้ตั้งกรอบวินัยทางการคลังประเทศ โดยกำหนดเพดานกู้ว่าต้องไม่เกินเท่าไรในแต่ละปีงบประมาณ มีภาระหนี้ไม่เกินเท่าไร และมีกรอบภาระหนี้สาธารณะต้องเป็นเท่าไร แต่รัฐบาลนี้ นอกจากจะขาดดุลงบประมาณจนชนเพดานแล้ว ยังให้สิทธิพิเศษออกกฎหมายกู้เงินเกินเพดาน ซึ่งแบบนี้จะมีเพดานไว้ทำไม และต่อไปทุกๆ รัฐบาลก็อ้างจะมาขอใช้สิทธิพิเศษนี้กู้เงินเกินเพดาน โดยอ้างรัฐบาลนี้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลประชาธิปัตย์ก็ใช้สิทธิพิเศษออกกฎหมายกู้เงินในโครงการไทยเข้มแข็งเป็น พ.ร.ก. วงเงิน 400,000 ล้านบาท และ พ.ร.บ. ในวงเงินที่เท่ากัน แต่นายกรณ์ชี้แจงว่า ในปี 2552 ตอนนั้นมีความจำเป็นเนื่องจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก แต่เมื่อแก้ปัญหาได้แล้ว รัฐบาลประชาธิปัตย์ก็ยกเลิก พ.ร.บ. 400,000 ล้านบาท เพราะเมื่อไม่มีความจำเป็นเราก็ควรยกเลิกการกู้แบบใช้สิทธิพิเศษ

“แต่ปัจจุบันรัฐบาลกำลังเมินเรื่องกรอบวินัยการเงินคลัง และเดินหน้าไปสู่การทำลายทางการคลังที่สร้างความมั่นคงให้เศรษฐกิจไทยมายาวนาน” นายกรณ์กล่าว

“ธีระชัย” ชี้ “หนี้สาธารณะ” แก้ยาก ต้องตั้งกติกาควบคุม

ขณะที่ “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” มีความเห็นว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยมี 3 เรื่องที่ควรต้องระวัง คือ ปัญหาหนี้สาธารณะ ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และปัญหาเรื่องระบบการคุ้มครองระบบราชการไทย

เรื่องแรก ปัญหาหนี้สาธารณะ นายธีระชัยระบุว่า มีความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นจากนโยบายประชานิยมที่มองไปข้างหน้าแล้วมีโอกาสจะเลิกยาก เพราะทุกครั้งที่เลือกตั้ง แต่ละพรรคจะคิดโครงการใหม่ๆ ลด แลก แจก แถม มากกว่าคู่แข่ง นโยบายอย่างนี้จะไม่เสี่ยงถ้าไฟแนนซ์โดยการเก็บภาษี หรือมีแหล่งรายได้จากภาษีหรือกำไร แต่รัฐบาลใช้วิธีไฟแนนซ์จากแหล่งเงินกู้ จะทำให้หนี้สาธารณะเกินระดับอันตราย และเมื่อหนี้สาธารณะเกินระดับอันตรายจะแก้ยาก

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีคลัง ดำรงตำแหน่งระหว่าง 9 ส.ค. 2554-18 ม.ค. 2555
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีคลัง ดำรงตำแหน่งระหว่าง 9 ส.ค. 2554-18 ม.ค. 2555

ดังนั้นเสนอว่า แหล่งเงินที่จะนำไปใช้ในโครงการประชานิยม ควรกำหนดว่า ถ้าเป็นประชานิยมที่มีความจำเป็น เช่น เรื่องการศึกษา การสาธารณะสุข ก็ให้ใช้เงินจากงบประมาณได้ แต่ถ้าเป็นประชานิยมที่ไม่จำเป็น เช่น จำนำข้าว รถคันแรก จะต้องมีกรอบกติกาไม่ให้รัฐบาลใช้เงินจากการกู้เงินก่อหนี้สาธารณะ แต่ต้องเกิดจากการเก็บภาษีหรือลดรายจ่าย ทำแบบนี้จะไม่ก่อความเสี่ยงด้านหนี้สาธารณะ

นอกจากนี้ เวลาพรรคการเมืองหาเสียงโดยใช้นโยบายประชานิยมจะมีกติกาว่า พรรคการเมืองต้องประกาศด้วยว่าแต่ละนโยบายจะใช้เงินเท่าไร และนำเงินจากแหล่งใดมาใช้ เพื่อให้ประชาชนรู้ว่านโยบายประชานิยมไม่ใช่ของ “ฟรี” และควรมีการแก้รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐบาลเสนอเป้าหมายรายได้แต่ละปี และสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีต่อรัฐสภาทุกปี ว่ามีเป้าหมายอย่างไร เพื่อให้รัฐสภาติดตามการปฏิบัติงานของรัฐบาล ถ้ารัฐบาล “เบี้ยว” ไม่ทำตามที่เสนอ ก็ให้รัฐสภามีสิทธิ “เบรก” การดำเนินการของรัฐบาล

สุดท้ายเสนอว่า ควรบังคับให้กระทรวงการคลังต้องทำการประเมินภาระหนี้ของรัฐบาลแบบ mark to market และคำนวณโครงการประชานิยมและโครงการอื่นๆ ที่ดำเนินการผ่านธนาคารการเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อให้เห็นข้อมูลภาระของรัฐเป็นปัจจุบันทันสมัยที่สุดแม้จะเป็นการประมาณการ แต่หากรอโครงการปิดบัญชีแล้วค่อยคำนวณจะช้าเกินไป ที่สำคัญ จะต้องเปิดเผยตัวเลขที่ประเมินให้ประชาชนทราบทุกไตรมาส

เรื่องที่สอง ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นเหมือน “ตัวด้วง” ถ้าไม่แก้ไข ผ่านไประยะหนึ่งยอดมะพร้าวก็จะไม่เหลือ ดังนั้น ถ้าสังคมองพฤติกรรมนี้เป็นเรื่องธรรมดา ระยะหนึ่งสังคมก็จะเข้าสู่จุดเสื่อม ทำให้ต้นทุนการค้าขายสูงขึ้น ต้องป้องกันและปราบปราม โดยเสนอว่า จะต้องมีการเปิดข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อความโปรงใส และที่สำคัญคือ การช่วยเหลือสินค้าเกษตร ที่ปัจจุบันช่วยเหลือเกินราคาตลาด การทำแบบนี้โดยใช้รูปแบบสัญญาทางการเมืองถือเป็นแหล่งเกิดของการทุจริต ดังนั้น หากยังดำเนินการช่วยเหลือสินค้าเกษตรแบบเกินราคาตลาด ก็ควรเปลี่ยนเป็นรัฐบาล “ซื้อ” เพราะเมื่อเป็นสัญญาซื้อจะได้ใช้ระเบียบวัสดุมาดำเนินการ ก็จะป้องกันการทุจริตได้

เรื่องที่สาม ปัญหาเรื่องการคุ้มครองระบบราชการไทย ข้าราชการเป็นกลุ่มไม่สังกัดพรรคการเมือง ควรมองผลประโยชน์ของประเทศระยะยาวเป็นหลัก แต่เมื่อข้าราชการต้องวิ่งเต้นใช้เงินเพื่อเลื่อนตำแหน่งผ่านนักการเมือง แปลว่าข้าราชการมีความเสี่ยงที่จะไม่ท้วงติงนโยบายของรัฐบาลหรือนักการเมืองที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว การแก้ปัญหาเรื่องนี้ควรป้องกันไม่ให้มีการวิ่งนักการเมืองเพื่อเลื่อนตำแหน่ง โดยการแต่งตั้งโยกย้ายควรมี “คณะกรรมการ” พิจารณา และคณะกรรมการชุดนี้ต้องไม่มีนักการเมืองนั่งอยู่ และมีกฎหมายห้ามไม่ให้กลั่นแกล้งเจ้าหน้าที่ที่พบการทุจริต

นอกจากนี้ ควรจะมีหน่วยงานแยกออกจากราชการ เป็นองค์กรอิสระ เพื่อจ้างบุคคลากรที่มีความรู้แข่งขันกับเอกชนได้

“ที่เสนอมานั้น โอกาสที่จะมีการแก้ไขกติกาตามนี้จะมีจริงหรือไม่ แต่คิดว่ารัฐบาลอาจไม่สนใจ” นายธีระชัยกล่าวและทิ้งท้ายว่า ในระยะสั้น ทางออกที่ดีที่สุดในเรื่องนี้คือ แก้ที่ “จิตสำนึก” อย่างที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา วันที่ 27 มกราคม 2556 ในชื่อ ทีดีอาร์ไอ – 3 อดีตรัฐมนตรีคลัง วิพากษ์และทางออก “หนี้สาธารณะ”

นักวิจัย

ดร. สมชัย จิตสุชน
ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด