ดร.นิพนธ์ พบความผิดปกติ มีการแอบขายข้าวอย่างลับๆ ชี้ใบเสร็จใบใหญ่ ทุจริตแน่ ถามทำได้อย่างไร ทั้งที่รับจำนำข้าว ข้าวนึ่งต้องหายไปจากตลาด แต่กลับมีการส่งออกมาตลอดเกือบ 2 ล้านต้น
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดสัมมนาพิเศษเรื่อง “ทิศทางข้าวไทยในปี 2556″ ณ อาคารวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรกรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ โดยมี ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ และร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และประธานบริษัท อุทัย โปรดิวส์ จำกัด ร่วมอภิปราย
ดร.นิพนธ์ กล่าวถึงการผลิตข้าวนาปี 2555/2556 ว่า เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ 26 ล้านตัน หรือ เพิ่มขึ้น 9% จากอิทธิพลโครงการรับจำนำข้าวในราคาสูง ขณะที่ปริมาณการจำนำข้าวปี 2555/2556 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2556 มีการรับจำนำข้าว 8.66 ล้านตัน (ยังไม่จบฤดู) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวเจ้า เกือบ 5 ล้านตัน ข้าวหอมเกือบ 2.7 ล้านตัน โดยใช้เงินสูงถึง 1.4 แสนล้านบาทแล้ว
“ประมาณการณ์ว่า จำนำข้าวรัฐบาลขาดทุนไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ดูจากขีดความสามารถในการระบายข้าวที่ค่อนข้างแย่ และหากดำเนินนโยบายนี้ติดต่อกัน 4 ปี ก็ขาดทุน 8 แสนล้านบาท”
ส่วนการส่งออกข้าวของรัฐบาลในปี 2555 นั้น นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า จากตัวเลขของกรมศุลกากรไม่ปรากฏหลักฐานว่า มีการส่งออกข้าวแบบจีทูจี ในปี 2555 อาจมีบ้างที่รัฐบาลอาศัยบริษัทเอกชน อย่างน้อย 3-4 บริษัท ส่งข้าวออกไปยังอินโดนีเซีย โกตดิวัวร์ ประมาณ 0.7 ล้านตัน แต่ไม่ข้อมูลเรื่องการส่งออกข้าวไปจีน
“ที่น่าแปลกใจ มีตัวเลขการส่งออกข้าวนึ่งระหว่างเดือนม.ค.-ก.ย.ปี 2555 ปริมาณ 1.8 ล้านตัน เชื่อว่า ถึงเดือนธ.ค.2555 อาจถึง 2 ล้านตัน ทั้งๆ ที่การรับจำนำข้าวทุกเมล็ดไม่มีระเบียบให้มีการนำข้าวเปลือกมานึ่ง แสดงว่า มีคนไปเสนอ “เปาเกา” ข้าวสารให้กับผู้ส่งออก แล้วนำข้าวเปลือกของรัฐมาส่งให้แทน” ดร.นิพนธ์ กล่าว และเชื่อว่า มีการทุจริตคอรัปชั่นตรงจุดนี้แน่นอน ขณะที่ตลาดส่งออกข้าวปีนี้ก็ไม่แจ่มใส ทำให้การขายข้าวจีทูจีไม่แจ่มใสตามไปด้วย เพราะการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง ทั้งอินโดนีเซีย จีน ฟิลิปปินส์ มาเลย์เซีย อิหร่าน ไนจีเรีย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวไทยรายใหญ่ทั้งสิ้น ต่างก็ลดการนำเข้าข้าวลง
กรณีหากมีการประมูลข้าวเกิดขึ้น ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า ก็จะได้ราคาต่ำแน่นอน เพราะผู้ประมูลไม่แน่ใจคุณภาพข้าวในโกดัง หรือแน่ใจคุณภาพแย่แน่นอน และเมื่อได้ราคาต่ำกระทรวงพาณิชย์ก็จะไม่ขาย ด้วยกลัวขายข้าวขาดทุน ทำให้สถานการณ์การประมูลข้าวแบบโปร่งใสจะไม่เกิดขึ้น จะเป็นการเจรจาลับ ๆ รวมทั้งเชื่อมั่นว่า จะไม่มีการขายข้าวผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) เพราะต้องมีการจัดเกรดข้าว ทำมาตรฐานข้าวก่อนการซื้อขาย
“ผมเชื่อว่า ขณะนี้การแอบขายข้าวในประเทศ โดยนักการเมืองจะได้ประโยชน์ 2 ต่อ คือ ปิดบังการขาดทุนได้ และนักการเมืองได้ค่านายหน้าด้วย ซึ่งปริมาณที่แอบขายในประเทศ รวมทั้งให้เอกชนส่งออกไปต่างประเทศ ประมาณ 1.6 – 1.9 ล้านตัน รวมการส่งออกข้าวนึ่ง มีปริมาณการแอบขายข้าว 3.8 ล้านตันข้าวสาร (8 ล้านตันข้าวเปลือก) ส่งผลให้ข้าวเปลือกแพง ข้าวสารราคาถูก ถูกกว่าสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ และรัฐบาลมีโกดังเก็บข้าวเพียงพอ”
ดร.นิพนธ์ กล่าวด้วยว่า การที่ไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้ 8 ล้านตัน ก็ต่อเมื่อรัฐบาลยินยอมขายข้าวให้เอกชนอย่างโปร่งใส่ และยอมรับภาระขาดทุนจากการขายข้าว และหากรัฐบาลยังมี “ทิฐิ” ก็จะยิ่งขาดทุนหนักขึ้น
“โครงการจำนำข้าวนอกจากจะถลุงทรัพยากรอันมีค่าของชาติ เพิ่มการปลูกข้าว เพิ่มจำนวนโรงสี เพิ่มโกดัง กลับนำข้าวไปเก็บให้เน่า, ทำให้คุณภาพข้าวไทยเสื่อม, ทำลายธุรกิจค้าการข้าวที่อยู่บนพื้นฐานการแข่งขันแล้ว สุดท้ายวงการค้าข้าวในเมืองไทยจะเหลือแค่ “โรงสี พ่อค้าส่งออกที่มีเส้นสาย” และอุตสาหกรรมข้าวไทยจะเป็นแหล่งแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจของนักการเมืองเท่านั้น”
เชื่อเก่งสุด ปี’56 ไทยอาจส่งออกข้าวได้ 6.5 ล้านตัน
ขณะที่ ร.ต.ท.เจริญ กล่าวถึงการส่งออกข้าวไทยปี 2555 มีปริมาณ 6.9 ล้านตัน จำนวนลดลงถึง 38% เมื่อเทียบกับปี 2554 ขณะที่คู่แข่ง เช่น ประเทศอินเดีย ซึ่งใช้นโยบายรับจำนำข้าวเหมือนไทย จนทำให้สต๊อกข้าวเวลานี้มีถึง 30 ล้านตัน จากปกติมีสต๊อกข้าวมีประมาณ 10 ล้านตัน สุดท้ายท้องแตก ไม่มีที่เก็บ ต้องขายออกมา ไทยกำลังมีอนาคตไม่ต่างจากอินเดีย
“ปัจจุบันนี้ตลาดมีสินค้ามากเหลือเกิน และหลากหลาย พอที่ให้ผู้ซื้อเลือกซื้อได้ แน่นอนการซื้อขายอยู่ที่ราคา การมาหลงมายาคติว่า ข้าวไทยคุณภาพดี หรือข้าวไทยดีที่สุดในโลก วันนี้ไม่ใช่แล้ว โดยเฉพาะนโยบายรับจำนำข้าว เป็นส่วนหนึ่งทำให้คุณภาพข้าวไทยมีปัญหา และยิ่งมาเจอปัญหาใหม่ คือ การแข็งค่าของเงินบาท”
อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวอีกว่า อนาคตข้าวหอมมะลิไทย หากรัฐบาลยังดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวต่อไป เราจะเสียตลาดไปอย่างน่าเสียดาย ให้แก่ เวียดนาม และกัมพูชา ยกตัวอย่างการส่งออกข้าวหอมมะลิไปฮ่องกง ปีละประมาณ 3 แสนตัน ปัจจุบันเหลือประมาณ 1.5 แสนตัน ที่หายไปครึ่งหนึ่ง เพราะถูกข้าวหอมของเวียดนาม กัมพูชา แย่งชิงตลาด ไม่ต่างจากที่ตลาดสิงคโปร์ แคนนาดา ออสเตรเลีย
“ราคาข้าวไทยที่สูง บังคับให้ประเทศต่างๆ เหล่านี้จำเป็นต้องลอง เมื่อลองแล้วชอบ ใช้ได้ เห็นว่า ดี และยังราคาถูกกว่า 400 -500 เหรียญฯ ในที่สุดตลาดข้าวไทยก็จะหดตัวลง ยิ่งการจำนำในราคาเดียว ทำให้คุณภาพข้าวหอมมะลิด้อยคุณภาพลง กลายเป็นข้าวเกรดเดียวกันหมด”
ร.ต.ท.เจริญ กล่าวด้วยว่า ปีนี้เก่งที่สุดไทยอาจส่งออกข้าวได้ 6.5 ล้านตัน และเป็นปีที่ยากลำบากต่อไป พร้อมกับแสดงความเป็นห่วง อนาคตวันหนึ่งชาวนาตื่นขึ้นมา เกี่ยวข้าวแล้วจะขายให้ใคร ประเทศไทยอาจจะหมดไปจากแผนที่การค้าข้าวก็ได้ ในเมื่อรัฐบาลคิดนโยบายจำนำ ก็ต้องคิดยุทธศาสตร์ระยะยาวด้วยว่า เราจะทำอย่างไรลดปริมาณการผลิต ทำแต่ข้าวคุณภาพสูง ทำอย่างไรลดต้นทุนการผลิต เป็นต้น
ด้าน รศ.สมพร กล่าวว่า ปี 2556 เป็นวิกฤติตลาดส่งออกข้าวไทย ยิ่งหากเรายังมีนโยบายเก็บสต๊อกข้าวไว้เป็นคนสุดท้ายที่จะขาย เชื่อว่า ในอนาคตก็จะขายไม่ได้เลย ดังนั้น ทางแก้ที่ถูกกดดันด้วยสต๊อกข้าวที่มีอยู่ ทางเดียวที่รัฐบาลต้องทำคือ ตั้งทีมไทยแลนด์ขึ้นมาเพื่อขายข้าว และเอาตลาด AFET เข้ามาช่วย ขาดทุนก็ต้องยอม พร้อมๆ กับแสดงความโปร่งใสขอให้นำข้อมูลการรับจำนำข้าวทุกขั้นตอนเผยแพร่ต่อสาธารณะผ่านเว็บไซต์
ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556 ในชื่อ ‘จำนำข้าว’ ทำตลาดข้าวนึ่งโผล่ พบส่งออกเกือบ 2 ล้านต้น