2 อดีตขุนคลังจี้รื้อแบงก์รัฐ อยู่ภายใต้ ธปท.

ปี2013-02-19

“ธีระชัย-ฉลองภพ”เสนอรื้อการกำกับแบงก์รัฐ แก้กฎหมายอยู่ใต้ธปท.ปิดช่องการเมืองแทรก แนะเอสเอ็มอีแบงก์ “ควบ”กรุงไทย ผ่าทางตันหนี้เน่า

ปัญหาหนี้เสียในสถาบันการเงินเฉพาะกิจ กำลังเป็นโจทย์ให้ทางการแก้ไข โดยเฉพาะหนี้เสียที่อยู่ระดับ 40% ทำให้กระทรวงการคลังต้องส่งทีมเข้ามาดูแลเป็นการเฉพาะ แต่ในระยะกลางและระยะยาวนั้น จำเป็นต้องรื้อระเบียบ แก้ไขกฎหมายเพื่อสร้างมาตรฐานกำกับดูแลให้เข้มงวดมากขึ้น

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์กับ กรุงเทพธุรกิจทีวี โดยอธิบายถึงจุดกำเนิดสถาบันการเงินของรัฐ ว่า เดิมนั้น อาจจะมีการตั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจขึ้นมา เพื่อจะเน้นการอุดช่องว่างเฉพาะจุด ตอนหลังปรากฏมีบางแห่งไปทำธุรกิจขยายขอบเขตออกไปลักษณะคล้ายคลึงกับแบงก์พาณิชย์มากขึ้น

ที่สำคัญมีหลายรายพยายามจะเน้นไปให้กู้กับลูกค้า ที่เป็นประเภทธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นพวกบริษัท ห้างร้าน ขนาดใหญ่ ซึ่งบริษัทพวกนี้เขาไม่จำเป็นจะต้องมาอาศัยแบงก์รัฐ เขาเป็นลูกค้าที่เน้นการกู้ยืมจากแบงก์พาณิชย์เป็นหลัก เพราะฉะนั้น พอแบงก์รัฐไปเน้นลูกค้าแบบนี้มากขึ้น ก็กลายเป็นว่าแบงก์รัฐพยายามทำตัวเหมือนแบงก์พาณิชย์แล้วก็จะแข่งกับแบงก์พาณิชย์ได้ยาก

@ไอแบงก์ปล่อยกู้คนอิสลามแค่ 3%

“เวลานี้ถึงจะเห็นว่ามีแบงก์รัฐ ซึ่งประสบปัญหาทางด้านฐานะ การเงินหลายรายที่รู้สึกจะรุนแรงมากที่สุดเวลานี้ก็คือจะมีธนาคารอิสลาม แล้วก็ธนาคารเอสเอ็มอี แต่ ธนาคารอิสลามฯ เท่าที่สอบถามดู เท่าที่ดูข้อมูลปรากฏว่าตั้งขึ้นมาเดิมมีวัตถุประสงค์ให้กู้จากธุรกิจของคนอิสลาม แต่จริงๆ แล้วเวลานี้ให้กู้กับธุรกิจที่เป็นของคนอิสลามจริงๆ แค่ 3% เท่านั้นเอง ที่เหลือเป็นการให้กู้กับธุรกิจแข่งกับแบงก์พาณิชย์เป็นหลัก โดย 60% เป็นการให้กู้บริษัทขนาดใหญ่ ได้รับทราบมาว่าลูกค้าบางรายกู้แบงก์ออมสินก็ดี แบงก์อิสลามก็ดี บางที่เป็นระดับหลายร้อยล้าน แต่ละราย ซึ่งผมคิดว่าผิดวัตถุประสงค์ ”

ในช่วงที่ตนเองดำรงตำแหน่งเป็น รมว.คลัง ได้มีหนังสือไปยังแบงก์รัฐแต่ละแห่ง ย้ำว่าขอให้แก้ปัญหาโดยการวางแผนมองไปข้างหน้า ให้กลับไปสู่วัตถุประสงค์เดิม คือแทนที่จะไปทำธุรกิจเหมือนกับแบงก์พาณิชย์แข่งกับแบงก์พาณิชย์ ให้กลับไปเน้นในธุรกิจเดิมของตัวเอง

ส่วนแนวทางเพิ่มทุน ที่กำลังคิดและดำเนินการขณะนี้ เป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว เพราะหากเพิ่มทุน แต่ไม่มีการตีกรอบในการทำงาน ก็จะเกิดความเสียหายอีกในอนาคต แล้วในอนาคตก็ต้องมีความจำเป็นกลับมาเพิ่มทุนอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นภาระภาษีประชาชนโดยตรง

นายธีระชัย กล่าวว่า ธนาคารโลกได้ทำการศึกษาระบบแบงก์รัฐของเมืองไทยแล้ว บอกมีปัญหาเพราะว่าปล่อยให้ใหญ่มาก ขณะที่สัดส่วนธุรกิจของสถาบันการเงินเฉพาะกิจขณะนี้สัดส่วน 1 ใน 4 ของทั้งระบบใหญ่มากเกินไป แล้วถ้าเกิดบริหารจัดการไม่ดี มันจะมาเป็นภาระกับหนี้สาธารณะ เพราะฉะนั้นต้องมีการแก้กฎหมาย กำหนดขอบเขตการดำเนินการให้ชัด และหากองค์กรใดไปซ้ำกับแบงก์พาณิชย์ แล้วแบงก์พาณิชย์ให้บริการได้ดีอยู่แล้ว ก็ควรยุบกิจการไป เช่นตัวอย่างของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรม (ไอเอฟซีที) ที่ควบรวมกับธนาคารทหารไทย

@เสนอเอสเอ็มอีควบกรุงไทย

“ผมคิดว่า เอสเอ็มอีแบงก์ หากจะยุบ คิดว่าไปรวมกับแบงก์กรุงไทยน่าจะเหมาะที่สุด เพราะว่าแบงก์กรุงไทยนั้นเขาจะทำธุรกิจที่คล้ายคลึงกันมากแล้วรัฐก็คงจะต้องชดเชยให้แบงก์กรุงไทย สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ว่าทำไปแล้ว มันก็จะทำให้มีอนาคต สำหรับพนักงานธนาคารเอสเอ็มอีได้อย่างดี”

สำหรับปัญหาธนาคารรัฐ เกิดปัญหาเพราะนักการเมืองเข้าไปก้าวก่ายนั้น นายธีระชัย กล่าวว่า ประการแรกธนาคารรัฐ โครงสร้างในการบริหารมันประกอบด้วยคณะกรรมการ ซึ่งไม่ใช่แต่งตั้งโดยผู้ถือหุ้น แต่งตั้งโดยรมต.คือพูดง่ายๆ อาศัยการเมืองเป็นคนแต่งตั้ง เพราะฉะนั้นต้องยอมรับว่าคณะกรรมการอาจจะไม่ได้มีความรู้ความชำนาญภาคเอกชน จากธุรกิจเท่าที่ควรประการที่หนึ่ง

ประการที่สอง มันก็ต้องยอมรับว่าถ้าหากว่ามันมีนักการที่อยากกู้ หรือมีโครงการของตัวเอง หรือเครือญาติ อยากจะกู้ ก็มักจะใช้ตรงนี้เป็นหลักช่องทาง ซึ่งในส่วนนี้ ต้องหาทางที่จะป้องกันขบวนการ ในการบริหารจัดการ ต้องหาทางให้มีการถ่วงดุลในตัวองค์กรให้มากกว่านี้ ซึ่งที่ผ่านมาทางแบงก์ชาติมีการเข้าไปตรวจธนาคารรัฐ แต่แบงก์ชาติไม่มีอำนาจในการที่จะสั่งการให้มีการกันสำรอง ที่จะแก้ไขและป้องกันปัญหาได้เต็มที่ จึงควรจะแก้กฎหมายธปท.ให้มีอำนาจกำกับดูแลเต็มที่มากกว่านี้

“สถาบันการเงินของรัฐควรอยู่ภายใต้ของแบงก์ชาติ เหมือนกับแบงก์พาณิชย์เลย ผมคิดว่าจะทำให้การดำเนินการนั้นออกมาแล้ว ความรอบคอบจะดีกว่า แต่ว่าแน่นอนในเรื่องของการกำหนดนโยบาย ต้องให้ทางกระทรวงการคลัง เป็นคนกำหนดนโยบาย แต่การกำกับดูแล การสั่งการ มีการกันสำรอง การสั่งการให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ผมคิดว่าควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ขององค์กรที่มีความชำนาญในการกำกับดูแลอย่างแบงก์ชาติเต็มที่”

@ฉลองภพแนะให้ ธปท.กำกับแบงก์รัฐ

นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เห็นด้วยที่จะให้ ธปท.เข้ามากำกับดูแล เพราะปัจจุบันตลาดมีการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกัน สถาบันการเงินเฉพาะกิจมีความได้เปรียบหลายด้าน ยกตัวอย่างเช่น ไม่ต้องส่งเงินเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ไม่ต้องจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ใน เวลาเดียวกันเขาก็ต้องส่งกำไรส่วนหนึ่งเข้าคลัง รวมทั้งการกำกับดูแลก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งปัจจุบันกระทรวงการคลังให้ธปท.เข้าไปตรวจสอบ แต่อำนาจในการที่จะแก้ไขอะไรทั้งหมดอยู่ที่กระทรวงการคลัง ธปท.เพียงไปตรวจสอบแล้วให้ข้อมูลกระทรวงการคลัง กระทรวงการคลังจะทำหรือไม่ขึ้นอยู่กับนโยบาย

“ในรายงานของธนาคารโลก ได้ตั้งข้อสังเกต คือ ว่าในระยะปานกลาง ระยะยาว ควรจะมีภาพให้ชัดว่าสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จะไปในทิศทางไหน ที่ ผมประหลาดใจก็คือว่าช่วงที่ผมเขามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง ช่วงปี 2007 ธนาคารโลกออกรายงาน ปี 2009 แต่จากนั้นมาบทบาทของสถาบันเฉพาะกิจ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขนาดใหญ่ขึ้นมากตอนนี้ ธนาคารออมสินเกือบจะเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุด”

@ชี้ปัญหาการเมืองแทรกระบบ

นายฉลองภพ กล่าวว่า สิ่งที่ควรตั้งข้อสังเกตตอนนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของไทยเมื่อขยายใหญ่มากขึ้น ธุรกิจทับซ้อนกันระหว่างตลาดของธนาคารพาณิชย์กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เมื่อเป็นอย่างนี้สิ่งที่ธนาคารโลก ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าควรมีแผนระยะยาวหรือระยะปานกลาง ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น

ปัญหาคือว่าในระบบการกำกับดูแล มันจะมีช่องว่าง ทำให้ถูกแทรกแซงทางการเมืองได้ง่าย จึงมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องมาก เป็นที่มาของปัญหาทำให้เกิดปล่อยกู้ให้กับโครงการ กับบริษัทที่มันไม่ควรจะได้เงินกู้ จึงเกิดเอ็นพีแอลค่อนข้างมาก

นายฉลองภพ กล่าวถึงธนาคารออมสิน ว่าตอนนี้ขยายกิจการเยอะมาก โดยออมสินมีเครือข่ายของในแวดวงราชการ แต่ในเวลาเดียวกัน ออมสินเป็นธนาคารที่สนองนโยบายของรัฐเยอะในการปล่อยสินเชื่อ ให้กับทางชนบทพอสถาบันการเงินพวกนี้เริ่มใหญ่ขึ้นๆ ก็เลี่ยงหลีกไม่ได้ที่จะมีการแย่งลูกค้ากัน

เขาเห็นว่า แนวทางการเพิ่มทุน เพื่อแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินของรัฐ ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ เพราะปัญหาจะเกิดขึ้นซ้ำๆ อีก 4-5 ปีก็ต้องเพิ่มทุน ในระยะปานกลาง ก็ต้องมานั่งดูว่า จะเปลี่ยนระบบการดูแลอย่างไร ส่วนหนึ่งก็คือให้ ธปท.เข้ามากำกับดูแล แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบาย ว่า ปัจจุบัน ธปท.ได้แค่ทำการตรวจสอบ แต่ไม่มีอำนาจสั่งการ

“ช่องว่างที่เห็น เช่น ตัวอย่างธนาคารเอสเอ็มอี กฎหมายเปิดช่องให้ไปร่วมลงทุนก็ได้ ปล่อยกู้โดยไม่มีหลักประกันก็ได้ อย่างนี้มันทำให้เกิดช่องว่างที่คนจะเอาไปใช้ประโยชน์แล้วทำให้เกิดความเสียหายจริงๆ ”

@ไม่เห็นด้วยเอสเอ็มอีควบออมสิน

นายฉลองภพ เห็นว่าข้อเสนอให้ธนาคารออมสินควบรวมกับเอสเอ็มอีแบงก์ก็ต้องดูว่า ออมสินมีความสามารถรับได้มากน้อยแค่ไหน เพราะหากควบกันแล้วอาจจะสร้างปัญหาเพิ่มมากขึ้นให้ธนาคารออมสินก็เป็นได้ ทั้งนี้ หัวใจสำคัญต้องคิดถึงการวางแผนเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว เริ่มจากสร้างความโปร่งใสให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่งมากกว่า


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 ในชื่อ 2อดีตขุนคลังจี้รื้อแบงก์รัฐ อยู่ภายใต้ธปท.