เลื่อนเปิดเออีซีความเชื่อ…ข้อเท็จจริง

ปี2013-02-12

อนัญญา มูลเพ็ญ

ในโอกาสจัดตั้งชมรมนักข่าวอาเซียน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดเสวนาเรื่อง”ผลกระทบจากการเลื่อนกำหนดการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ซึ่งเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและคนที่เกาะติดความเคลื่อนไหวของอาเซียนมาร่วมเสวนา

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การเลื่อนการรวมตัวของประชาคมอาเซียน ไม่ว่าจะช้าออกไปหรือเร็วขึ้นไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย เนื่องจากส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายสินค้าและการลงทุนที่สำคัญ โดยเฉพาะส่วนของการลดภาษีนำเข้าให้เหลือ 0% ได้ลดไปแล้วตั้งแต่ปี 2536 พร้อมเกิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) จะมีเปลี่ยนก็เพียงชาติกลุ่ม CLMV คือ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนามที่ต้องลดภาษีในปี 2558 ส่วนประเด็นเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานก็เกิดการเข้าใจผิดว่ามีความเสรีทุกอาชีพทุกระดับ แต่ตามข้อตกลงได้เปิดให้เคลื่อนย้ายเพียง8 สาขา และทั้งหมดเกิดขึ้นไม่ง่าย เนื่องจากแต่ละประเทศมีมาตรฐานวิชาชีพภายในที่ยังไม่ได้แก้ไขเช่น คนที่จะเข้ามาเป็นแพทย์หรือวิศวกรในไทยจะต้องสอบข้อสอบของสภาวิชาชีพเป็นภาษาไทย

การถือหุ้นในภาคบริการได้ 70% ก็ยังเข้าใจกันผิดเพราะจริงๆ ไม่ได้เปิดให้ถือหุ้นทุกกิจการ และในแต่ละประเภทก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อย ที่สำคัญคือการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ สมเกียรติกล่าวว่ามีการเข้าใจว่าจะเกิดการเคลื่อนย้ายการลงทุนมากขึ้น แต่ในความจริงเกิดการเคลื่อนย้ายมานานเช่น บริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ 100 อันดับแรก (SET100) ไปลงทุนตั้งบริษัทในอาเซียนแล้ว 126 แห่ง ส่วนเอสเอ็มอีก็ลงทุนตามตะเข็บชายแดนมาโดยธรรมชาติ

นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอยังชี้ให้เห็นอีกประเด็นใหญ่ที่อาจฉุดให้ความร่วมมือของอาเซียนเป็นไปอย่างล่าช้าได้ว่า ชาติอาเซียนยังมองการรวมตัวในแง่ต้องมีฝ่ายได้ฝ่ายเสีย แต่ความจริงทุกฝ่ายสามารถได้ประโยชน์และยังคงมีการตีความผลประโยชน์ของประเทศโดยมุ่งไปที่ผลประโยชน์ของผู้ประกอบการ ทำให้กฎหมายภายในยังมุ่งปกป้องธุรกิจขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน ขนส่ง สื่อสารซึ่งล้วนเป็นพื้นฐานของธุรกิจอื่นๆจนต้นทุนรวมของทั้งธุรกิจและประชาชนในประเทศยังสูง ดังนั้นควรทำความเข้าใจกันใหม่

ด้าน บันลือศักดิ์ ปุสสะรังสีผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มีความคิดเห็นสอดคล้องกัน โดยมองว่าการเลื่อนการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชาติสมาชิกโดยเฉพาะไทยและในกรณีของภาคธนาคาร ธนาคารขนาดใหญ่ของอาเซียนก็มีการเปิดดำเนินการในไทยหมดแล้ว แต่ที่คาดว่าจะเกิดผลกระทบมากกว่าคือธุรกิจประกันวินาศภัย เพราะส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็ก

ขณะเดียวกัน ได้แนะนำสิ่งที่ไทยต้องให้ความสนใจหลังปี 2558 คือ การปรับลดภาษีของประเทศกลุ่มCLMV ซึ่งจะเป็นโอกาสในการส่งออกไปแต่ละประเทศรวมถึงเป็นโอกาสขยายลงทุนเพิ่ม เนื่องจากประเทศเหล่านี้ยังคงได้สิทธิพิเศษภาษีศุลกากร (จีเอสพี)

ดังนั้น ที่ภาครัฐควรเร่งทำคือ การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะขั้นตอนพิธีศุลกากร ให้สอดรับกับการที่ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค

ด้าน นพพร อัจฉริยวณิชรองอธิบดีกรมอาเซียนกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การรวมตัวของอาเซียนที่ช้าออกไป 1 ปีนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรและแม้จะรวมตัวแล้วก็ไม่ได้ทำให้ภาพทั้งมิติของเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ต่างจากปัจจุบันทุกๆ มิติจะเปลี่ยนค่อยเป็นค่อยไป เช่น กฎหมายการทำธุรกิจต่างๆ หากกฎหมายในประเทศไม่แก้ไขให้สอดรับกับข้อผูกพันอาเซียนก็ไม่มีประโยชน์อะไรเกิดขึ้น

ได้เห็นทั้งข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นจากทั้งนักวิชาการ ภาคเอกชน และรัฐแล้ว คงพอได้ภาพชัดขึ้นว่า การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนที่ยืดเวลาให้ช้าออกไป 1 ปีนั้น ไม่ได้สร้างผลกระทบใดกับไทย แถมยังช่วยแก้ไขความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่างๆด้วย


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 ในชื่อ “เศรษฐศาสตร์อมาตย์” ว่าด้วย “เอกสิทธิ์ของคนที่ร่ำรวยและซูเปอร์การผูกขาด”