ยื่น 5 ข้อเสนอ “กสทช.” ป้องกันลูกค้า “ซิมดับ”

ปี2013-02-14

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เปิดเผยว่า ความล่าช้าของ กสทช.ในการเตรียมขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อรองรับการสิ้นสุดสัมปทานของคลื่น 1800 MHz วันที่ 15 ก.ย. 2556 ที่มีผู้ให้บริการ 2 ราย คือทรูมูฟ และดิจิตอล โฟน ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนรองรับลูกค้าหลังหมดสัมปทาน, การวางแผนประมูลคลื่น หรือแม้กระทั่งการประกาศให้ผู้บริโภครับรู้ เป็นต้น ทั้งหมดอาจทำให้การนำคลื่นดังกล่าวมาประมูลต้องล่าช้าออกไป 1-2 เดือน คาดว่าอย่างเร็วที่สุด กสทช.จะเริ่มต้นดำเนินการได้ในเดือน ต.ค.

ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ กสทช.เข้ามารับผิดชอบในเบื้องต้น เพื่อเป็นรากฐานในการนำคลื่นที่สิ้นสุดสัมปทานคืนและจัดการประมูล โดยคณะอนุกรรมการเห็นว่าควรนำคลื่นที่หมดสัมปทานจำนวน 25 MHz ตัดให้เหลือ 20 MHz แล้วนำมาประมูล เพราะการใช้งานระบบ 4G เทคโนโลยี LTE ต้องมีคลื่นรับและส่งฝั่งละ 5 MHz หากนำคลื่นทั้งหมดมาประมูลจะเหลือเศษฝั่งละ 2.5 MHz

“การประมูลควรเป็นช่วงคลื่นเดียว หรือ 20 MHz ให้ได้ผู้ชนะรายเดียว หรือแบ่งเป็นช่วงละ 10 MHz เพื่อให้ได้ผู้ชนะสองราย แต่ไม่ควรชะลอการประมูลออกไปจนถึงปี 2561 เพื่อรอให้คลื่นที่ดีแทคถืออยู่สิ้นสุดสัมปทาน เพราะล่าช้าเกินไป ส่วนเรื่องการนำคลื่น 25 MHz ของดีแทคที่ไม่ได้ใช้บริการมาจัดประมูลก่อนไม่ควรนำมาประมูลร่วม แต่ กสทช.ควรไปเจรจากับทรูมูฟ, กสทฯ และดีแทค เพื่อนำคลื่นนี้ให้ กสทฯไปให้บริการ รองรับลูกค้าที่ยังไม่ได้โอนออกไปเครือข่ายอื่นก่อน หรือทำ MVNO ก็ได้ จากนั้นค่อยนำคลื่นทั้งหมดมาให้บริการอีกครั้ง”

สำหรับหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภค คณะอนุกรรมการมีข้อเสนอ 5 ข้อ ได้แก่

1.กสทช.ต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบว่าบริการของทั้งสองบริษัทจะสิ้นสุดลงภายใน ก.ย.นี้ พร้อมข้อแนะนำเรื่องการโอนย้ายค่ายได้ตามที่ลูกค้าต้องการ

2.ต้องเร่งให้โอเปอเรเตอร์ร่วมมือกันเพิ่มขีดความสามารถของเคลียริ่งเฮาส์ในการโอนย้ายลูกค้า จากเดิม 4 พันเลขหมาย/วัน เป็น 4 หมื่นเลขหมาย (ทรูมูฟมีลูกค้า 17 ล้านราย ใช้เวลาประมาณ 425 วัน)

3.ผู้ประกอบการต้องแจ้งให้ลูกค้าที่ยังไม่ลงทะเบียนซิมรับรู้ด้วย

4.ผู้ประกอบการต้องปรับแพ็กเกจที่วันสิ้นสุดสัญญาเกิน 15 ก.ย. หรือพร้อมเจรจากับค่ายใหม่ที่ได้ความถี่คลื่นไป และ

5.กสทช.ต้องออกประกาศหลักในการโอนผู้ใช้บริการอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาใช้งานไม่ได้ หรือ “จอดำ” เหมือนกรณี “ฟุตบอลยูโร”

โดยแผนดังกล่าวต้องมีรายละเอียดในการโอนย้ายลูกค้าโดยไม่เลือกปฏิบัติ, ความรับผิดชอบหลังสัมปทานสิ้นสุดลง, แผนโอนย้ายที่ชัดเจนเกี่ยวกับวันที่หยุดให้บริการ, วิธีดำเนินการลูกค้าที่ไม่ยอมย้ายเครือข่าย, วิธีโอนเงินคงค้างในระบบ และแนวทางในการระงับข้อพิพาท

“ยังมีอีกข้อสำคัญที่ กสทช.ไม่ได้ปฏิบัติ ทั้ง ๆ ที่ได้เสนอไปตั้งแต่ก่อนการประมูล 3G คือออกประกาศ 3 ฉบับ ได้แก่ เรื่องโรมมิ่ง, การให้บริการแบบ MVNO และการทำ Infrastructure Sharing เพราะ กสทช.ไม่ยอมเริ่ม ทำให้การประมูลครั้งนั้นไม่มีการแข่งขัน รายเล็ก ๆ เข้ามาไม่รู้จะทำอย่างไร ดังนั้นถ้าจะประมูล 4G ก็ควรมองเรื่องนี้ด้วย เพื่อให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น และมีรายเล็กมาเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค”

นางเดือนเด่นกล่าวต่อว่า ค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (ไอซี) ที่ กสทช.ปรับลดลงเหลือ 45 สตางค์/นาทีเป็นเรื่องดี ทำให้รายเล็กเกิดง่ายขึ้น หากต้องปฏิบัติตามราคา 99 สตางค์/นาที แต่ กสทช.ควรชี้แจงด้วยว่า ทำไมคิดออกมาเช่นนี้ เพราะไม่ว่าอย่างไร ค่าไอซีต้องต่ำกว่า 50 สตางค์ อีกทั้งมีนักวิชาการหลายฝ่ายคำนวณออกมาได้เพียง 25-27 สตางค์เท่านั้น

ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยว่า การร้องเรียนของผู้บริโภคยังมีต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องค่าบริการที่ห้ามเกิน 99 สตางค์/นาที รวมถึงการไม่กำหนดวันหมดอายุของซิมในระบบเติมเงิน เช่น โอเปอเรเตอร์รายหนึ่งคิดค่าบริการ 30-49 บาทในการเปลี่ยนแพ็กเกจให้เป็นแบบที่ กสทช.กำหนด ส่วนเรื่องวันหมดอายุกลับแจ้งผู้บริโภคว่าต้องเป็นซิมใหม่ ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างมาก


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556 ในชื่อ ยื่น5ข้อเสนอ”กสทช.”ป้องกันลูกค้า”ซิมดับ”