สมชัย จิตสุชน ผอ.วิจัยการพัฒนาอย่างทั่วถึง กล่าวถึงเรื่องหนี้สาธารณะว่าโดยแนวคิดแล้วหนี้สาธารณะเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อการลงทุนในระบบสวัสดิการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดูแลประชาชน แต่ต้องบริหารให้มี “พื้นที่การคลัง”มากพอเพื่อรองรับความจำเป็นหรือวิกฤติในอนาคตโดยแนวทางการบริหารหนี้สาธารณะนั้นทำได้โดยการ1.เพิ่มรายได้รัฐทั้งการจัดระบบภาษีอัตราก้าวหน้า เพิ่มฐานภาษีใหม่ๆ เช่นภาษีทรัพย์สิน 2.การวางแผนการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง นโยบายประชานิยมที่พรรคการเมืองทำนั้นไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่ในเมื่อจะเสียเงินทั้งทีก็ควรเป็นไปเพื่อให้เกิดการลดความเหลื่อมล้ำที่แท้จริง
3.บริหารหนี้สาธารณะอย่างโปร่งใสมีการวางแผน5ปีเป็นอย่างน้อย
สำหรับผลการประมาณการหนี้สาธารณะในช่วง 5 ปีข้างหน้านั้น สมชัยระบุว่าหนี้สาธารณะในช่วง 5 ปีข้างหน้าที่จะอยู่ที่70-80% ของจีดีพี ซึ่งเป็นกรณีที่แย่ที่สุดและไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นเพราะเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวมากกว่า4%ซึ่งเป็นค่าที่ตั้งสมมติฐานไว้โดยสัดส่วนหนี้นี้คำนวณรายจ่ายจากความสามารถในการคุมรายจ่ายประจำที่ระดับการขยายตัว7 และ10%(เฉลี่ยในอดีตปี33-56อยู่ที่9.7%),โครงการพิเศษต่างๆที่จะเกิดในช่วง5ปีไม่ว่าจะเป็นการขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว-การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับAEC-การลงทุนป้องกันน้ำท่วมการลดลงของภาษีนิติบุคคลตามนโยบายรัฐบาล รวมถึงนโยบายพิเศษอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง
ทั้งนี้หนี้สาธารณะของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากโครงการพิเศษที่ใช้งบประมาณมากแล้วยังเป็นเพราะแม้ในภาวะปกติ การคลังไทยก็มีโครงสร้างขาดดุลโดยพื้นฐานอยู่แล้ว และยังมีภาระดอกเบี้ยทับถมการควบคุมรายจ่ายประจำจะมีผลช่วยควบคุมการเพิ่มของหนี้สาธารณะได้ค่อนข้างดี
ภายใต้หนี้สาธารณะที่จะเกิดขึ้นนี้ยังมีแนวทางการบริหารโอกาสเพื่อไม่ให้หนี้สูงเกินไปได้ เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน2ล้านล้านจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว (อาจถึง 6%) ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้หนี้สาธารณะเพิ่มเกิน60%จึงควรบริหารจัดการให้งบส่วนนี้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและควรมีมาตรการอื่นๆเพื่อให้ประเทศหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางเช่นการพัฒนาแรงงาน พัฒนาเทคโนโลยี
ส่วนแนวโน้มหนี้สาธารณะในระยะยาวกรณีที่ไทยหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง โดยมีจีดีพีโต 6% ต่อเนื่องทุกปีกราฟของหนี้สาธารณะก็จะดิ่งหัวลงมาอยู่ที่20-40%ของจีดีพีเท่านั้นซึ่งโดยทิศทางแล้วมีความเป็นไปได้ไม่มากนักและขึ้นอยู่กับความเสี่ยงหลายอย่าง เช่นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอาจปรับตัวขึ้นภายใน 2 ปีข้างหน้า (จากปัจจุบันที่ติดลบอยู่) ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอเมริกาประกอบกับรัฐยังไม่มีแผนการปรับระบบภาษีที่ควรจะเป็นดังนั้นข้อเสนอแนะสำหรับช่วงนี้ซึ่งแนวโน้มเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้นคือ การควรมี “พื้นที่การคลัง”เพิ่มขึ้นในระยะ 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากยังมีความเสี่ยงหลายด้านโดยแนวทางเพิ่มพื้นที่การคลังที่เป็นรูปธรรมคือพิจารณาปรับลดโครงการพิเศษที่ใช้งบประมาณสูงเช่น โครงการรับจำนำข้าว, คุมการขยายตัวของรายได้ประจำ,ปรับเพิ่มภาษีบางประเภท เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างภาษีVAT
ภายในไม่กี่ปีข้างหน้าสังคมไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุแต่ด้วยสถานการณ์ทางการเงินและเศรษฐกิจที่เป็นอยู่นี้ทำให้คาดหวังได้ว่าเราจะหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางและเป็นประเทศที่มีรายได้สูง อาจเรียกได้ว่า เราคงแก่ก่อนรวย
“โดยแนวคิดแล้วหนี้สาธารณะเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อการลงทุนในระบบสวัสดิการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดูแลประชาชน แต่ต้องบริหารให้มี”พื้นที่การคลัง”มากพอเพื่อรองรับความจำเป็นหรือวิกฤติในอนาคต”
ตีพิมพ์ครั้งแรง: หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ ฉบับวันที่ 2 – 5 ก.พ. 2556