ระดมหัวกะทิชาติพลิกโฉมหลักสูตร ทั้งสมเกียรติแห่งทีดีอาร์ไอ, สมพงษ์ จิตระดับ คณบดีมหา’ลัยสังคายนาการศึกษา
ศึกษาธิการ * “พงศ์เทพ” ลงนามตั้งคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาแล้ว เชิญนักวิชาการระดับหัวกะทิของประเทศ “สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, สมพงษ์ จิตระดับ และบรรดาคณบดีมหาวิทยาลัย มาร่วมสังคายนาหลักสูตรและตำราเรียน เปิดโครงการตำราเรียนแห่งชาติขึ้น พร้อมเปิดขอบเขตอำนาจให้คณะกรรมการให้ตั้งอนุกรรมการ หรือคณะทำงานได้ ประชุมนัดแรกเดือน ก.พ.นี้
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 ศ.(พิเศษ) ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ศธ. ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ เพื่อมาขับเคลื่อนการปฏิรูปหลักสูตร รวมถึงการพัฒนาตำราเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรฯ จะแบ่งเป็น 2 คณะย่อย ได้แก่
1. คณะกรรมการกำหนดวิสัยทัศน์การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 22 คน ซึ่งมี รมว.ศธ.เป็นประธานฯ รมช.ศธ.เป็นรองประธานกรรมการ และมีกรรมการ 20 คน อาทิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย นายกสมาคมหลักสูตรและการสอนแห่งประเทศไทย เป็นต้น โดยคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่กำหนดวิสัยทัศน์ เพื่อเป็นแนวทางการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงวางแนวทางระบบการจัดศึกษาขั้นพื้นฐานของชาติ และให้ความเห็นชอบระบบการจัดการศึกษาและหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องได้ทำการพัฒนาและยกร่าง
ที่ปรึกษา รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า 2. คณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 32 คน มีตนเป็นประธาน และมีกรรมการอีก 31 คน อาทิ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ, ศ.ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬากรณ์มหาวิทยาลัย, ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ, ศ.ดร.วิชัย ริ้วตระกูล ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย, รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เป็นต้น
ศ.(พิเศษ) ภาวิช กล่าวต่อว่า คณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรฯ มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ คือ
1.ออกแบบระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จะให้ประกาศใช้เป็นระบบการศึกษาของประเทศ โดยศึกษาวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียของระบบการศึกษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เปรียบเทียบกับระบบการศึกษาของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศที่การศึกษามีคุณภาพสูง
2.ร่างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ทั้งระบบให้เป็นหลักสูตรที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางวิชาการของโลก สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.กำหนดรายวิชาต่างๆ ในหลักสูตร รวมทั้งเนื้อหารายวิชา รายละเอียดการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งลำดับขั้นในการเรียนรู้ของเนื้อหาในรายวิชาต่างๆ ที่เหมาะกับพัฒนาการของนักเรียนไทย โดยมุ่งให้เกิดระบบการจัดการศึกษาที่มีผลสัมฤทธิ์สูง
4.ดำเนินโครงการ “ตำราเรียนแห่งชาติ” ที่รัฐบาลแถลงไว้ต่อรัฐสภา โดยการกำหนดโครงสร้างของตำราเรียนทุกรายวิชา เพื่อเป็นแนวทางการจัดทำตำราเรียนของโรงเรียน ครูอาจารย์ สำนักพิมพ์ และนักวิชาการต่างๆ ทั้งตำราเรียนแบบสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์
5.พัฒนาระบบการอนุมัติฉบับตำราเรียนที่มีประสิทธิภาพและมีหลักประกันด้านคุณภาพ
6.ดำเนินการทดสอบหลักสูตรและรายวิชาต่างๆ รวมทั้งตำราเรียนในโรงเรียนนำร่องที่มีความเหมาะสม
7.วางแผนการประกาศและใช้หลักสูตรใหม่ให้ทั่วระบบการศึกษาของประเทศ และ
8.มีอำนาจในการตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการโครงการให้บรรลุตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ภายในเดือน ก.พ.นี้ จะมีประชุมคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดเพื่อผลักดันเรื่องนี้กัน.
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556 ในชื่อ ระดมหัวกะทิชาติพลิกโฉมหลักสูตร ทั้งสมเกียรติแห่งทีดีอาร์ไอ, สมพงษ์ จิตระดับ คณบดีมหา’ลัยสังคายนาการศึกษา