คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจี้ กสทช. หนุนการแข่งขัน จัดแผนก่อนสัมปทานคลื่น 1800 หมดอายุ

ปี2013-02-12

thaipublica20130212a

คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เสนอแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคในยุค 3G และ 4G เสนอให้เกิดการแข่งขันในตลาด และให้ กสทช. เตรียมแผนจัดการก่อนสัมปทานคลื่น 1800 หมดอายุ คาดจะมีผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 17 ล้านราย

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยในฐานะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ และอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ กสทช. ระบุปัญหาที่มีผู้ร้องเรียนด้านการบริโภคที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งค่าโทรแพง และการโฆษณาเกินจริง ซึ่งเป็นเรื่องเดิมที่ซ้ำซาก เกิดจากสาเหตุหลักที่ กสทช. ต้องรีบแก้ไขในอนาคตคือ “การส่งเสริมการแข่งขันในตลาด”

“ที่ผ่านมา กสทช. ได้ละเลยมาตรการในการส่งเสริมการแข่งขันในตลาดโดยสิ้นเชิง ทำให้ตลาดโทรคมนาคมไทยเป็นตลาดที่มีการแข่งขันที่จำกัด มีผู้ประกอบการเพียง 3 ราย โดยไม่มีรายใหม่เข้ามาแข่งขันแต่อย่างใด ซึ่ง กสทช. ควรปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีก่อน ผู้ประกอบการแต่ละรายก็จะแข่งขันกันจนผู้บริโภคได้ประโยชน์ แต่หากเปิดให้มีการแข่งขันแล้วไม่มีรายใหม่เข้ามา กสทช. จึงค่อยไปกำกับดูแล” ดร.เดือนเด่นกล่าว

โดยแนวทางที่จะทำให้เกิดการแข่งขันในตลาด ดร.เดือนเด่นระบุว่า ต้องมีมาตรการที่จะช่วยส่งเสริมการแข่งขัน ได้แก่ มาตรการในการกำหนดอัตราค่าเชื่อมต่อ (IC Charge) ที่สามารถให้รายใหม่เข้ามาได้ ในปัจจุบันมีการคิดค่า IC นาทีละ 1 บาท แต่ผู้ประกอบการไม่สามารถคิดค่าบริการเกิน 0.99 บาทต่อนาทีได้ จึงถือเป็นการกีดกันรายใหม่ไม่ให้เข้ามาแข่งขัน แต่ในอนาคตที่ กสทช. กำลังจะปรับลดค่า IC เหลือนาทีละ 0.45 บาท ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ กสทช. ควรออกมาชี้แจงว่า 0.45 บาทนั้น คิดมาจากอะไร

“ตอนที่ค่า IC นาทีละ 1 บาท ผู้ประกอบการรายใหม่ไม่กล้าเข้ามา เพราะรู้ว่าเข้ามาแล้วจะแข่นขันไม่ได้ ยังไงก็แพ้ เพราะค่า IC แพงกว่าค่าบริการสูงสุดนาทีละ 0.99 บาท แต่เมื่อปรับลดมาเป็น 0.45 บาท กสทช. ก็ต้องออกมาชี้แจง เพราะมีหลักฐานชี้ชัดว่าค่า IC ที่แท้จริงต่ำกว่า 0.50 บาท แต่เราไม่รู้ว่าต่ำกว่าเท่าไร และเคยมีผู้ทำการศึกษาเสนอ กสทช. ก่อนหน้าว่า ค่า IC ที่แท้จริงเพียง 0.25 บาท ทำไม กสทช. จึงคิดที่ 0.45 บาท ต้องอธิบาย” ดร.เดือนเด่นกล่าว

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ

ขณะที่มาตรการในการส่งเสริมการเชื่อมต่อโครงข่าย (interconnection) การเช่าใช้โครงข่าย (infrastructure sharing) การทำโรมมิง (roaming) ตลอดจนมาตรการในการส่งเสริมผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง MVNO แต่ประกาศเหล่านี้ซึ่งควรที่จะออกมาก่อนมีการประมูล 3G กลับถูกละเลย การขาดกฎ-กติกาเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ไม่มีโครงข่ายไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายเก่าได้ เนื่องจากไม่สามารถติดตั้งโครงข่ายที่ครอบคลุมพื้นที่ตามข้อกำหนดในการประมูลได้

“หากไม่มีการประกาศใช้กฎหมาย 3 เรื่องนี้ออกมา ผู้ประกอบการรายใหม่ก็จะไม่เข้ามาแข่งขันในตลาด ซึ่งการไม่เร่งรัดให้มีการประกาศใช้ 3 มาตรการนี้เป็นการสะท้อนว่า ประเทศไทยยังคงมีการกีดกันรายใหม่ และไม่เปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรี” ดร.เดือนเด่นกล่าว

ขณะที่แนวทางการคุ้มครองผู้บริโภค ในกรณีของการหมดอายุสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 ของ TRUE และ DCP ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กันยายน 2556 ดร.เดือนเด่นเสนอให้ กสทช. ต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบว่าบริการของทั้งสองบริษัทจะสิ้นสุดลง ซึ่งมีเวลาเหลืออีกเพียง 8 เดือน และดำเนินการให้ผู้บริโภคสามารถเลือกโอนย้ายค่ามือถือตามความประสงค์

ทั้งนี้ กสทช. ต้องมีมาตรการในการโอนย้ายลูกค้าที่ต้องการรักษาเลขหมายเดิม (number portability) โดยดำเนินการให้ผู้ประกอบการเพิ่มขีดความสามารถของบริการโอนย้ายเลขหมายให้เพิ่มจากในปัจจุบันที่ 4,000 เลขหมายต่อวัน เป็น 40,000 เลขหมายต่อวัน ตามศักยภาพของ clearing house เพื่อรองรับจำนวนลูกค้า True กว่า 17 ล้านรายที่จะได้รับผลกระทบจากการโอนย้าย (หากโอนย้ายได้วันละ 40,000 เลขหมาย จะยังคงใช้เวลา 425 วัน)

ขณะที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการตรวจสอบรายชื่อผู้ใช้บริการที่ไม่ได้ลงทะเบียนทาง SMS เพื่อแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบและให้แสดงเจตจำนงในการย้ายเครือข่าย โดยผู้ประกอบการต้องระงับและปรับ package ที่ผูกพันหลังการสิ้นสุดสัญญาโดย กสทช. ให้ความเห็นชอบ มิฉะนั้นแล้ว จะต้องกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการรายใหม่ต้องรับผิดชอบ package โดยต้องเจรจาร่วมกับผู้ประกอบการรายเดิมเรื่องการโอนย้ายรายได้

ในขั้นตอนสุดท้าย กสทช. จะต้องออกประกาศหลักการในการโอนย้ายผู้ใช้บริการ (migration rules) อย่างเร่งด่วน ซึ่งจะกำหนดแผนงานในการดำเนินการของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องเพื่อมิให้เกิดปัญหาจอดำในวันที่ 16 กันยายน 2556 ในแผนจะต้องมีขั้นตอนและระยะเวลาที่ชัดเจน ต้องมีการคิดเผื่อลูกค้าที่ไม่ต้องการย้าย (non order disconnection or transfer) โดยต้องมีแนวทางในการระงับข้อพิพาทที่เกิดจากการโอนย้าย และมีวิธีการโอนเงินคงค้างในระบบให้แก่ผู้ประกอบการรายใหม่ด้วย

“กสทช. ได้ออกมายืนยันแล้วว่า เมื่อสัมปทานหมดอายุ ต้องนำคลื่นไปคืน กสท. และให้มีการประมูลใหม่ แต่ปัญหาคือ จะทำอย่างไรกับลูกค้าทรู 17 ล้านราย และเวลาที่มีอยู่ 8 เดือน เพราะ กสท. มีโครงข่ายแต่ไม่มีคลื่น ทางเลือกในตอนนี้จึงมี 2 ทาง คือ ทางแรก หากจัดให้มีการประมูลทัน ผู้ที่ประมูลได้ต้องไปเจรจากับ กสท. ส่วนทางเลือกที่ 2 หากประมูลไม่ทัน กสท. อาจเก็บตกดูแลแบบชั่วคราวโดยยืดระยะเวลาช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่ง กสท. อาจเจรจากับดีแทค เพื่อนำคลื่น 1800 จำนวน 25 MHz ที่ดีแทคถือครองแต่ไม่ได้ใช้ มาใช้ชั่วคราวก่อน ” ดร.เดือนเด่นกล่าว

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ในฐานะประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ได้เปิดเผยถึงเรื่องร้องเรียนที่ผู้บริโภคได้ร้องเรียนมายังคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ อาทิ การใช้บริการ SMS ผ่านระบบเสียง ที่คิดค่าบริการโดยบังคับให้สมัครสมาชิกโดยไม่สมัครใจ กรณีซิมฟรีที่ไม่มีการใช้งานแต่มีการเรียกเก็บเงิน และผู้ใช้บริการแบบเติมเงินขอใช้งานแบบไม่มีวันหมดอายุ แต่ผู้ให้บริการกลับอ้างว่าใช้ได้เฉพาะซิมใหม่เท่านั้น ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ไทยพับลิก้า วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 ในชื่อ