tdri logo
tdri logo
28 กุมภาพันธ์ 2013
Read in Minutes

Views

ค่าแรง 300 บาททั่วไทยยังได้ไม่ทั่วถึง

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ทีดีอาร์ไอวิเคราะห์ผลกระทบนโยบายค่าแรงวันละ 300 บาทรอบ 2 โดยภาพรวมเป็นนโยบายที่ดีแต่ยังมีลูกจ้างอีกเกือบ 5 ล้านคนยังได้ค่าจ้างต่ำกว่า 300 บาท  ส่วนผลกระทบกับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ไร้ปัญหาแต่เอสเอ็มอีขนาดเล็กกว่าแสนรายไปไม่รอด โดยเฉพาะเอสเอ็มอีขนาด 6-9 คน ปรับตัวได้ยาก(ทุนสูง-กำไรน้อย)  แนะรัฐเพิ่มช่องทางช่วยเหลือครอบคลุมทั่วประเทศ

…………………………………………………………………………………………………………………………………………

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์
ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยเปิดเผยว่า จากการติดตามผลกระทบนโยบายค่าแรงวันละ 300 บาท โดยเปรียบเทียบข้อมูลจากปี 2554 และ 2555  รายไตรมาส มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนนายจ้าง  การจ้างงาน  และค่าจ้าง สะท้อนการปรับตัวของผู้ประกอบการและการมีงานทำของแรงงาน รวมถึงอัตราค่าจ้างที่ได้รับ  โดยพบว่า ในส่วนจำนวนสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมใหญ่ปี 2553 ซึ่งหยุดกิจการไปจำนวนมากนั้น ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ได้กลับมาฟื้นกิจการใหม่ โดยมีจำนวนนายจ้างเพิ่มกลับขึ้นมาอยู่ในระดับเกือบ 1.05 ล้านราย มีเพียง 1 หมื่นรายที่ล้มหายไป และในช่วงเดียวกันนี้ได้มีการประกาศใช้นโยบายค่าแรงวันละ 300 บาทและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ผลไตรมาส 3 พบว่ามีจำนวนนายจ้างลดลงเหลือราว 9.3 แสนราย  หายไปราว 1.1 แสนราย กระจายอยู่ในสถานประกอบการขนาดกลางขนาดเล็ก โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีขนาด1-9 คน  โดยปัจจัยที่ทำให้ไม่สามารถฟื้นตัวได้คือ ผลกระทบจากน้ำท่วม และการขึ้นค่าจ้าง 300 บาทในระยะเวลาต่อเนื่องกันทำให้กิจการขนาดเล็กกระทบกระเทือนมาก

สำหรับผลกระทบต่อลูกจ้างในส่วนของจำนวนผู้ว่างงานและภาวะการมีงานทำ พบว่า เมื่อมีการปรับขึ้นค่าจ้าง300 บาทรอบแรก ส่งผลมีอัตราการว่างงานขยับขึ้นเล็กน้อย จาก 0.6 เป็น 0.8 เปอร์เซ็นต์นายจ้างชะลอการรับคนงานใหม่  โดยผู้ได้รับผลกระทบคือแรงงานใหม่ไม่มีประสบการณ์และแรงงานระดับล่าง ความรู้น้อย  แต่ในไตรมาส 3 พบว่าอัตราการว่างงานดีขึ้นโดยมีอัตราการว่างงานลดลง 12 เปอร์เซ็นต์  โดยภาพรวมแทบไม่เห็นผลกระทบ เนื่องจากมีการปรับตัว และการขึ้นค่าจ้างทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าไปมีการดูดซับแรงงานเข้าไปในส่วนทดแทนแรงงานที่ขาดแคลนตึงตัวอยู่แล้ว

ขณะเดียวกันในประเด็นค่าจ้าง แม้จะมีผลดีที่แรงงานกลุ่มใหญ่จะได้ค่าจ้างวันละ 300 บาท แต่ในทางกลับกันผลทางลบคือในระหว่างการปรับตัวยังมีลูกจ้างจำนวนมากเกือบ 5 ล้านคนจากการปรับค่าจ้างทั้งสองรอบที่ยังได้ค่าจ้างต่ำกว่า300 บาท โดยเฉพาะในกลุ่มลูกจ้างเอกชน ซึ่งไม่มีศักยภาพเพียงพอจะจ่ายได้ และเป็นความสมัครใจร่วมกันของลูกจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งบางส่วนเป็นการปรับตัวในลักษณะร่วมทุกข์ร่วมสุขเพื่อให้กิจการอยู่รอดได้ ขณะที่ในส่วนของสถานประกอบการขนาดใหญ่สามารถปรับตัว ได้ประโยชน์จากผลกระทบ เช่น  หาแรงงานได้ง่ายขึ้น โดยแรงงานนั้นอาจเคยเป็นเจ้าของหรือลูกจ้างของธุรกิจขนาดเล็กมาก่อน

ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า นโยบายค่าจ้างวันละ 300 บาททั่วไทยนั้นสามารถทำได้ในเชิงนโยบาย แต่ต้องดูแลผลกระทบ โดยเฉพาะที่ชัดเจนตอนนี้คือส่งผลกระทบให้กับผู้ประกอบกิจการขนาดเล็กที่มีลูกจ้าง 1-9 คน ที่ต้องอยู่ในภาวะสูญเสียคนงานให้กับสถานประกอบการที่ใหญ่กว่า ซึ่งสามารถจ่ายค่าจ้างที่สูงกว่าได้ส่งผลให้คนงานในกลุ่มกิจการขนาดเล็กที่มีอยู่ประมาณ 5.8 ล้านคน เหลือเพียง 5.5 ล้านคน หายไปเกือบ 3แสน ยิ่งทำให้ขาดแคลนแรงงานตึงตัวมากขึ้น และนายจ้างส่วนหนึ่งที่อยู่ไม่รอดก็ต้องผันตัวเองกลับไปเป็นลูกจ้างในกิจการขนาดใหญ่  โดยเฉพาะนายจ้างในกลุ่มธุรกิจที่มีลูกจ้าง 6-9 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำไรจากผลประกอบการต่ำอยู่แล้วไม่มีความสามารถในการจ่ายจึงเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เช่น กลุ่มทำสินค้าโอท็อป สินค้าชุมชน และผู้ประกอบการภาคบริการ ซึ่งน่าเป็นห่วงโดยอาจจะมีวิธีแก้โดยให้หันมาธุรกิจครอบครัวทดแทน

“ผลกระทบที่น่าเป็นห่วงคือจะทำให้การสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ทำได้ยากขึ้น ธุรกิจขนาดเล็กเกิดยากและอยู่รอดได้ยาก จากผู้ประกอบหรือนายจ้างจะกลายเป็นลูกจ้างของธุรกิจที่มีขนาดใหญ่สูญเสียความมั่นใจในการสร้างฐานะซึ่งสวนทางกับการสร้างผู้ประกอบการใหม่ จึงควรดูแลเป็นพิเศษ”

ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า สำหรับแนวทางการช่วยเหลือภาครัฐจึงควรเพิ่มช่องทางให้นายจ้างสามารถแจ้งความเดือดร้อนได้สะดวกมากขึ้น เพราะผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะกระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานภาครัฐกระจายอยู่ทั่วพื้นที่พร้อมให้คำแนะนำในการปรับตัว โดยอาจจะใช้เครือข่ายชมรม เอส เอม อี มหาวิทยาลัยซึ่งรัฐเคยให้การอบรมเพื่อตั้งศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ โดยบางรายอาจจะเข้าไปช่วยเหลือด้านการจัดทำระบบการบริหารจัดการภายใน เทคนิคการบริหารต้นทุนหรือของเสีย  ช่วยเหลือด้านช่องทางการตลาดและเทคโนโลยี เงินอุดหนุน แม้กระทั่งการฝึกอบรม ปรับเปลี่ยนอาชีพ และชี้แนะช่องทางอาชีพใหม่ๆหากจำเป็นรวมถึงความร่วมมืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่สนับสนุนกิจการขนาดเล็กในเรื่องการบริหารจัดการ ในลักษณะ B to B (Business to Business)หรือการบริหาร แบบ LEAN เป็นต้น.

นักวิจัย

ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์
ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ